อภิรักษ์ โกษะโยธิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อภิรักษ์ โกษะโยธิน
อภิรักษ์ โกษะโยธิน

ดำรงตำแหน่ง
29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 – 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551 (ครบวาระ)
8 ตุลาคม พ.ศ. 2551 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 (ลาออก)[1]
สมัยก่อนหน้า นายสมัคร สุนทรเวช
สมัยถัดไป หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ดำรงตำแหน่ง
6 มกราคม พ.ศ. 2552 – ปัจจุบัน

เกิด 30 มีนาคม พ.ศ. 2504 (อายุ 49 ปี)
อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
สังกัดพรรค พรรคประชาธิปัตย์
สมรสกับ ปฏิมา โกษะโยธิน
ศาสนา ศาสนาพุทธ

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน (30 มีนาคม พ.ศ. 2504 — ) อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2504[2] ที่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จึงทำให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดในยุคกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. 2500) นายอภิรักษ์มีชื่อเล่นว่า "ต้อม" เป็นบุตรคนโตของ นายบุญลักษณ์ โกษะโยธิน และ นางอมรา โกษะโยธิน (สกุลเดิม จามรมาน) มีน้องสาว 1 คนคือ อภิสรา โกษะโยธิน (ทำงานที่ ธนาคารนครหลวงไทย)

นายอภิรักษ์ สมรสกับ นางปฏิมา โกษะโยธิน (สกุลเดิม พงศ์พฤกษทล) มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน คือ อนรรฆ โกษะโยธิน (พี)

นายอภิรักษ์มีฉายาจากสื่อมวลชนว่า "หล่อเล็ก" คู่กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีฉายาว่า "หล่อใหญ่" และต่อมามีนักการเมืองพรรคเดียวกันได้รับฉายาทำนองนี้อีกเช่น นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคที่ได้รับฉายา "หล่อโย่ง" และ ม.ล.อภิมงคล โสณกุล รองโฆษกพรรคที่มีฉายาว่า "หล่อจิ๋ว"


[แก้] การทำงาน

นายอภิรักษ์เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรธุรกิจหลายแห่ง ก่อนที่จะเข้าสู่วงการเมือง เริ่มจากการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนาม พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2547 การลงคะแนนเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติเป็นเอกฉันท์ ประกาศให้ นายอภิรักษ์ เป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2547 หลังได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อมานายอภิรักษ์ได้รับเลือกตั้งให้เป็น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2548

ขณะออกรายการ ตอบโจทย์ ทางไทยพีบีเอสชี้แจงถึงการยุติการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ

ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 นายอภิรักษ์ได้ยุติการทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชั่วคราว พร้อมกับได้ตั้ง ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ รักษาการแทน เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) แจ้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดกรณีซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นการชี้มูลความผิดหรือส่งเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลแล้ว[3] และในวันที่ 12 เมษายน ปีเดียวกัน ได้กลับมาทำงานอีกครั้งเนื่องจากครบวาระการพักงาน โดยเริ่มงานแรกคือ การสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ที่ท้องสนามหลวง เนื่องในงานเทศกาลสงกรานต์ของกรุงเทพมหานคร

ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดในคดีนี้ นายอภิรักษ์ได้แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งในเวลา 15.30 น. ทั้ง ๆ ที่กฎหมายมิได้มีผลบังคับให้ต้องทำถึงขนาดนั้น แต่นายอภิรักษ์ระบุว่าต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่การเมืองไทย ทั้งนี้ให้มีผลในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสร็จสิ้น[1]

  • ปี 2526-2527 : ผู้ช่วยผู้จัดการร้านฝึกหัด (Management Trainee) บริษัท พิซซ่าฮัท ไทยแลนด์ จำกัด[4]
  • ปี 2528-2530 : Account Executive บริษัท Lintas Worldwide มีลูกค้าหลักคือ ลีเวอร์ บราเธอร์ส
  • ปี 2530-2532 : Account Director บุกเบิกก่อตั้ง บริษัท ดามาร์กส์ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด (Damask Advertising)
  • ปี 2532-2537 : ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทเป๊ปซี่-โคล่า อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ จากนั้นขึ้นเป็นผู้อำนวยการขายและการตลาดของเป๊ปซี่ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ปี 2537-2543 : กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟริโต-เลย์ ไทยแลนด์
  • ปี 2543-2545 : กรรมการผู้จัดการ CEO บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
  • ปี 2545-2547 :
    • กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม หรือ Co-CEO บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด (คู่กับ นายศุภชัย เจียรวนนท์)
    • ประธานกลุ่มการตลาดและบริหารงานสื่อ กลุ่มบริษัทในเครือเทเลคอมเอเชีย จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือ ทรู คอร์ปอเรชั่น)
    • กรรมการ บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
    • กรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
    • นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย
  • ปี 2547 : ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในโทรศัพท์มือถือเครือข่าย ออเร้นจ์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ทรูมูฟ) เพื่อลงสมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนน 911,441 เสียง
  • ปี 2548 : รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
  • ปี 2551 : ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 991,018 คะแนน คิดเป็น 45.93 %

[แก้] การดำรงตำแหน่งอื่นๆ

  • อดีตประธานนักศึกษา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (พ.ศ. 2527- พ.ศ. 2528)
  • อดีตกรรมการศูนย์ฟื้นฟูรักษาสิ่งแวดล้อมในเมือง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2534)
  • อดีตกรรมการสมาคมศิษย์เก่า คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2536)
  • อดีตกรรมการที่ปรึกษา และคณะอนุกรรมการอำนวยการ การส่งเสริมการประเมินคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2542)
  • อดีตประธานกลุ่มบริหารการตลาด และกรรมการอำนวยการ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2545)
  • อดีตกรรมการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2546)
  • อาจารย์พิเศษ
    • คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ
    • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    • บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • กรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ที่ปรึกษา สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาในพระบรมราชูปถัมภ์

[แก้] ผลงานบริหารกรุงเทพมหานคร

นายอภิรักษ์ได้ประกาศลาออกในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้แจ้งผิดกรณีรถดับเพลิง[5]

[แก้] เกียรติประวัติ

  • ศิษย์เก่าดีเด่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปี พ.ศ. 2542
  • ศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2543

[แก้] เกี่ยวกับตระกูลนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ตระกูลโกษะโยธิน สืบเชื้อสายมาจาก หลวงพินิจปรีชา (คลัง) โดยนามสกุล "โกษะโยธิน" (Kosayodhin) เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 2962 ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และเนื่องจากเป็นสกุลทหารบก จึงมีคำว่า "โยธิน" ประกอบในนามสกุล

นายอภิรักษ์มีปู่คือ พันโทจมื่นศักดิ์สงคราม (นายร้อยเอกนายไกรพลแสน) รับราชการในกรมทหารรักษาวังของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างระบบราชการ เพื่อลดจำนวนคนจากหน่วยงานต่างๆ ลง ปู่จึงลาออกจากราชการ มาเก็บค่าเช่าจากที่ดินและตึกแถว

รุ่นถัดมาคือบิดาของนายอภิรักษ์ ที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยรับราชการ ที่กรมชลประทาน ก่อนจะออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ในขณะที่ลุงของนายอภิรักษ์คือ พันเอกพิเศษทำนุ โกษะโยธิน รับราชการเป็นทหารจนเกษียณอายุ ส่วนป้า ของนายอภิรักษ์ คือ ร้อยเอกหญิงกานดา โกษะโยธิน เคยเป็นอาจารย์ในโรงเรียนเตรียมทหารจนได้ยศร้อยเอกหญิงนำหน้าชื่อ ก่อนจะย้ายไปเป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ส่วนทางตระกูลจามรมานของมารดานายอภิรักษ์ มีต้นตระกูลคือ พระยานิติศาสตร์ไพศาล ที่เป็น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเป็น คณบดีคนแรกของ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้] เกร็ดข้อมูล

  • นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เริ่มได้รับฉายาว่า "หล่อเล็ก" ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพในปี พ.ศ. 2547
  • ในการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2547 นั้น นายอภิรักษ์จับได้เบอร์ 1
  • นายอภิรักษ์ ใช้แคมเปญในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า "กรุงเทพ 360 องศา"
  • นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จัดรายการ "พบผู้ว่า กทม." เป็นประจำทุกวันพุธ เวลา 20.00 - 21.00 น. ทางคลื่นวิทยุ จส.100 โดยเปิดสายให้ผู้ฟังโทรเข้าไปพูดคุยได้ สามารถรับฟังได้ทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์จส.100
  • ในการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2551 นั้น นายอภิรักษ์จับได้เบอร์ 5 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 5 ตุลาคม 2551

[แก้] อ้างอิง

สมัยก่อนหน้า อภิรักษ์ โกษะโยธิน สมัยถัดไป
สมัคร สุนทรเวช 2leftarrow.png Seal Bangkok green trans.png
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
(สมัยที่ 1 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สมัยที่ 2 8 ตุลาคม พ.ศ. 2551 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551)

2rightarrow.png หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ภาษาอื่น