เปลว สีเงิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เปลว สีเงิน.jpg

เปลว สีเงิน เป็นนามปากกาของ นายโรจน์ งามแม้น ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยเจอร์นัลกรุ๊ป จำกัด นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้เขียนบทความวิเคราะห์การเมืองและสังคม ตีพิมพ์ในหน้า 5 ของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ชื่อคอลัมน์ "คนปลายซอย"

โรจน์ งามแม้น เคยเขียนบทความวิเคราะห์ปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ชื่อคอลัมน์ "สะบัดปากกา ตีแสกหน้า" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ระหว่างปี พ.ศ. 2523-2534 ใช้นามปากกา เปลว สีเงิน ก่อนจะลาออกมาร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ และไทยโพสต์ในเวลาต่อมา

เปลว สีเงิน ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัล "นักเขียนอมตะ" (อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด) คนที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2548 จากมูลนิธิอมตะ โดยนายวิกรม กรมดิษฐ์ [1]

[แก้] ประวัติ

โรจน์ งามแม้น เกิดเมื่อ พ.ศ. 2487 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม จบชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดโพธิ์ กรุงเทพฯ เริ่มเขียนหนังสือเมื่ออายุ 14 ปี เขียนเรื่องส่งหนังสือพิมพ์ต่างๆ เคยเป็นนักการเฝ้าโรงพิมพ์ "ประชาธิปไตย" และฝึกหัดตนเองจนได้เป็นนักข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ "เกียรติศักดิ์" พ.ศ. 2514 เป็นหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง และได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าข่าวภูมิภาค เขียนคอลัมน์ข่าวอาชญากรรมใช้นามปากกา "นายจิบ" ด้วยสำนวนสนุกสนานเฉพาะตัว ต่อมาจึงย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์ดาวสยาม

โรจน์เริ่มใช้นามปากกา "เปลว สีเงิน" เมื่อเขียนคอลัมน์ "เตะผ่าหมาก" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ก่อนจะลาออกไปรับตำแหน่งหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเขียนคอลัมน์ "สะบัดปากกา ตีแสกหน้า" ต่อมา พ.ศ. 2534 รับตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการ และเขียนคอลัมน์ "ระหว่างบรรทัด" ในหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยในเครือบางกอกโพสต์ และลาออกไปก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2538 [2]

นายโรจน์ได้รับพระราชทานปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยให้เหตุผลว่า นายโรจน์ประสบความสำเร็จในการประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนอย่างสร้างสรรค์และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักหนังสือพิมพ์รุ่นหลัง ทั้งในด้านความรู้ความสามารถในการเขียนคอลัมน์ ที่มีสำนวนภาษาเฉพาะตัว การใช้ภาษาไทยเรียบง่ายและน่าสนใจ ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ สามารถอธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่าย ซึ่งแต่ละข้อเขียนล้วนแต่ให้ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

  1. ^ ผลการตัดสินรางวัล "อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด" ครั้งที่ 2
  2. ^ ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2550 ฉบับขึ้นปีที่ 12