ทวีปแอนตาร์กติกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แอนตาร์กติกา
Flag of Antarctica.svg

แผนที่โลกแสดงที่ตั้งของทวีปแอนตาร์กติกา

พื้นที่ 14,000,000 กม²
(ไม่มีน้ำแข็ง 280,000 กม²
ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง 13,720,000 กม²)
ประชากร ~1,000 (ไม่มีประชากรถาวร)
รัฐบาล ไม่มี, ปกครองโดย ระบบสนธิสัญญาแอนตาร์กติกา (Antarctic Treaty System)
การอ้างสิทธิ ในการถือครองดินแดน ธงของประเทศอาร์เจนตินา อาร์เจนตินา
ธงของประเทศออสเตรเลีย ออสเตรเลีย
ธงของประเทศชิลี ชิลี
ธงของประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส
ธงของประเทศนิวซีแลนด์ นิวซีแลนด์
ธงของประเทศนอร์เวย์ นอร์เวย์
ธงของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร
Internet TLD .aq
รหัสโทรศัพท์ +672
ภาพถ่ายดาวเทียมของทวีปแอนตาร์กติกา

ทวีปแอนตาร์กติกา เป็นทวีปที่อยู่รอบขั้วโลกใต้ของโลกล้อมรอบด้วยมหาสมุทร มีตำแหน่งอยู่ตรงข้ามกับเขตอาร์กติก ที่อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือ ตัวทวีปถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดย เทือกเขาทรานส์แอนตาร์กติก (transantarctic mountains) ถือว่าเป็นดินแดนที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในโลก โดยพื้นที่เกือบทั้งหมดปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และยังนับเป็นดินแดนร้างแล้ง (desert) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยไม่มีมนุษย์ตั้งรกรากอยู่อาศัยถาวร (แต่มีสถานีวิจัยกระจายอยู่ทั่วทวีป) สิ่งมีชีวิตพื้นเมืองได้แก่ เพนกวิน แมวน้ำ และสาหร่าย

แม้ว่ามีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับการมีอยู่ของดินแดนใต้ ("Terra Australis") ย้อนไปถึงยุคโบราณ แต่ส่วนใหญ่ยอมรับกันว่ามีการพบเห็นทวีปแอนตาร์กติกาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2363 (ค.ศ. 1820) และลงเหยียบพื้นน้ำแข็งครั้งแรกในปีต่อมา อย่างไรก็ตาม แผนที่ของพลเรือเอกปีรี รีส ที่เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2056 (ค.ศ. 1513) ได้บรรจุดินแดนนี้ไว้ โดยมีรูปร่างคล้ายคลึงกับชายฝั่งแอนตาร์กติกา

ทวีปแอนตาร์กติกามีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 5 รองจากเอเชีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ แต่มีประชากรน้อยที่สุดในโลก (ความจริงแล้วไม่มีประชากรอยู่ถาวร) นอกจากนี้ยังเป็นทวีปที่มีระดับความสูงเฉลี่ยสูงที่สุด ความชื้นเฉลี่ยและอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำที่สุดในโลก

เนื้อหา

[แก้] การศึกษาวิจัยในขั้วโลกใต้

เพื่อให้การศึกษาวิจัยด้านทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในทวีปแอนตาร์กติกา ประเทศต่างๆ จึงได้ตกลงร่วมมือสร้างศูนย์วิจัย โดยเริ่มเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1957 ทำให้สามารถวัดความหนาและปริมาณของน้ำแข็งที่ปกคลุมทวีปแอนตาร์กติกาได้ และยังค้นพบว่าภายให้น้ำแข็งที่หนากว่า 2000 เมตรนั้น ยังมีแผ่นดินที่กว้างใหญ่อยู่ หลังจากนั้นการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับทวีปแอนตาร์กติกาก็ได้รับความสนใจมากขึ้นทีเดียว และในปี ค.ศ. 1959 หลายประเทศได้ร่วมลงนามก่อตั้งสนธิสัญญาสำหรับทวีปแอนตาร์กติกาขึ้น โดยให้ทุกประเทศสามารถเข้าทำการศึกษาวิจัยได้ ยกเว้นแต่การทำกิจกรรมด้านทหาร

[แก้] ศูนย์วิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติกา

ดินแดนหลายส่วนในทวีปแอนตาร์กติกาถูกประเทศต่างๆ อ้างสิทธิ์ครอบครองดังเช่น ประเทศอาร์เจนตินา ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ เป็นต้น และในดินแดนเหล่านี้ก็จะมีศูนย์วิจัยของประเทศต่างๆ ตั้งอยู่ ทั้งทวีปแอนตาร์กติกามีศูนย์วิจัยของประเทศต่างๆมากกว่า 20 ประเทศ จำนวน 60 แห่ง ในช่วงฤดูหนาวจะมีนักวิจัยทำงานอยู่ที่นี่ประมาณ 1000 คน และจะเพิ่มเป็น 4000 คนในฤดูร้อน ในศูนย์วิจัยแมคเมอร์โดที่อยู่ในเขตของประเทศนิวซีแลนด์ เป็นศูนย์วิจัยและชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในแอนตาร์กติกา สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากถึง 1000 คน

[แก้] ภูมิประเทศ

แอนตาร์กติกาเป็นทวีปที่อยู่ทางทิศใต้สุดของโลก โดยตั้งอยู่ในเขตแอนตาร์กติกเซอร์เคิล รอบขั้วโลกใต้ ล้อมโดยมหาสมุทรใต้ มีพื้นที่มากกว่า 14 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นทวีปที่ใหญ่เป็นอันดับที่ห้าของโลก มีชายฝั่งยาว 17,968 กิโลเมตร[1]

ประมาณร้อยละ 98 ของแอนตาร์กติกาถูกปกคลุมด้วยแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกา แผ่นน้ำแข็งซึ่งหนาเฉลี่ย 1.6 กิโลเมตร ทวีปนี้มีน้ำแข็งถึงราวร้อยละ 90 ของน้ำแข็งทั้งหมดบนโลก ทำให้มีน้ำจืดประมาณร้อยละ 70 ของโลก ถ้าน้ำแข็งทั้งหมดละลายแล้ว ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 61 เมตร[2]

จุดที่สูงที่สุดของทวีปคือยอดเขาวินสันแมสซีฟ มีความสูง 4892 เมตร ตั้งอยู่ในเทือกเขาเอลส์เวิร์ท ถึงแม้ว่าแอนตาร์กติกาจะมีภูเขาไฟจำนวนมาก แต่มีเพียงแห่งเดียวที่ทราบแน่ชัดว่ายังคงคุกรุ่นอยู่คือภูเขาไฟเอเรบัส บนเกาะรอสส์ ในปีพ.ศ. 2547 นักสำรวจชาวอเมริกันและแคนาดาค้นพบภูเขาไฟใต้น้ำในคาบสมุทรแอนตาร์กติก โดยหลักฐานแสดงให้เห็นว่าภูเขาไฟนี้อาจยังคุกรุ่นอยู่เช่นกัน[3]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Antarctica จากเวิลด์แฟกบุก เรียกข้อมูลวันที่ 13-07-2550 (อังกฤษ)
  2. ^ How Stuff Works: polar ice caps. howstuffworks.com. สืบค้นวันที่ 13-07-2550 (อังกฤษ)
  3. ^ Scientists Discover Undersea Volcano Off Antarctica. United States National Science Foundation. สืบค้นวันที่ 13-07-2550 (อังกฤษ)

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น


Gnome-globe.svg ทวีปแอนตาร์กติกา เป็นบทความเกี่ยวกับ แม่น้ำ ภูเขา หรือสถานที่ทางภูมิศาสตร์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ ทวีปแอนตาร์กติกา ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ

ภาษาอื่น