สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จย่า 3.jpg
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมราชนนี
ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี

พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง พลตำรวจเอกหญิง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า (พระราชสมภพ วันอาทิตย์ ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 จังหวัดนนทบุรี - สวรรคตวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 พระชนมายุ 94 พรรษา กรุงเทพมหานคร) พระองค์เป็นพระราชชนนีใน

เนื้อหา

[แก้] พระประวัติ

[แก้] ขณะทรงพระเยาว์

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ (ไม่มีนามสกุล เนื่องจากพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเริ่มมีในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ) พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงเป็นบุตรคนที่ ๓ ใน พระชนกชู และ พระชนนีคำ ทรงมีพระภคินี และพระเชษฐา ๒ คนซึ่งได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย คงเหลือแต่พระอนุชาอ่อนกว่าพระองค์ ๒ ปี คือ คุณถมยา

พระชนกชู มีอาชีพเป็นช่างทอง เป็นบุตรชายของคหบดี ชื่อ ชุ่ม มีเชื้อสายสืบมาจากผู้ดีเก่าแถวตึกขาว มีนิวาสสถานอยู่ใกล้ๆวัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี พระชนกชูได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่สมเด็จย่ามีพระชนมายุ ๓ พรรษา และพระชนนีคำถึงแก่กรรมเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ เพียง ๙ พรรษา หลังจากนั้นพระองค์ทรงอยู่ในความอุปการะของ ป้าซ้วย พี่สาวของพระชนนีคำ ซึ่งมีอาชีพรับจ้างม้วนบุหรี่ และทำขนมขาย

พระชนนีคำ มีมารดาชื่อผา และเชื่อว่ามีเชื้อสายชาวเวียงจันทน์ เนื่องจากทางครอบครัวนิยมรับประทานข้าวเหนียว[1] พระชนนีคำเป็นสตรีที่รู้หนังสือซึ่งหาได้ยากในสมัยนั้น จึงได้นำความรู้นี้มาสอนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยพระอุปนิสัยที่ชอบการเรียนรู้ และการอ่านหนังสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์จึงทรงเป็นผู้ที่มีไหวพริบ และเฉลียวฉลาด

วันหนึ่ง ญาติของครอบครัวพระชนกชู มาแนะนำพระชนนีคำ ให้นำสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไปฝาก คุณจันทร์ แสงชูโต ญาติ และพระพี่เลี้ยงใน สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระเชษฐภคินีในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อถวายตัวเป็นข้าหลวง ในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง ๗-๘ พรรษา

[แก้] ขณะยังทรงศึกษา

ท่านศึกษาที่ โรงเรียนศึกษานารี ได้ไม่นาน พระองค์ก็ได้ถูกส่งไปศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา โดยประทับอยู่บ้าน คุณหวน หงสกุล วัดมหรรณพาราม โรงเรียนเพื่อประชาชนสามัญแห่งแรก พระองค์ทรงถูกเข็มเย็บผ้าตำฝ่าพระหัตถ์ ต้องเข้ารับผ่าตัดกับ พระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด วีระไวทยะ)

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงตัดสินพระทัยเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ตามคำชักชวนจากพระยาดำรงแพทยกุล หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการคัดเลือกให้ไปทรงศึกษาวิชาพยาบาลต่อที่ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์

เมื่อไปเรียนต่างประเทศจำเป็นที่จะมีนามสกุลในหนังสือเดินทาง เมื่อขณะนั้นยังไม่มีนามสกุล จึงจำเป็นต้องมีการหานามสกุลให้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้ใช้นามสกุลของข้าราชบริพารที่มีนามสกุลคนหนึ่งคือ ขุนสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฎ) เจ้ากรมของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ( เจ้านายที่ทรงกรมคือ เป็นกรมขุน หลวง ฯลฯ จะทรงมี "เจ้ากรม" ซึ่งทำหน้าที่เป็นราชเลขา หรือ ผู้จัดการส่วนพระองค์ ซึ่งจะมีบรรดาศักดิ์ตามเจ้านายของตน เมื่อหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้เป็นกรมหลวงสงขลานครินทร์ ขุนสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฏ) ก็เลื่อนเป็นหลวงสงขลานครินทร์ ) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงมีพระนามในหนังสือเดินทางว่า นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ( มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสตรี พ.ศ. ๒๔๖๐ ) ต่อมา คุณถมยา พระอนุชาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปขอจดทะเบียนที่อำเภอใช้นามสกุล "ชูกระมล" ถึงแม้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไม่เคยใช้นามสกุลชูกมล ก็อยากจะถือว่าทรงเกิดมาในสกุลนี้

ขณะที่กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงพบและพอพระทัยกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยมีพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่นๆ ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์

และเมื่อถึงวันศุกร์ที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้มีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม และหลังจากได้อภิเษกสมรสแล้ว ทั้ง ๒ พระองค์ได้ตามเสด็จด้วยกันไปประพาสเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป และ สหรัฐอเมริกา เพื่อทรงไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเอ็มไอที เมืองบอสตัน ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงเรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน

[แก้] ประสูติพระราชธิดาและพระราชโอรส

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระราชโอรส พระราชธิดา

หลังจากทั้ง ๒ พระองค์ทรงจบการศึกษาแล้ว จึงทรงเสด็จไปที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนี ได้ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรก เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล ซึ่งภายหลังทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ในเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ทั้ง ๒ พระองค์ได้เสด็จกลับเมืองไทยพร้อมด้วยพระราชธิดา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมราชชนกทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ประทับอยู่ได้ประมาณ ๒๐ เดือน ก็ทรงประชวร แพทย์จึงถวายคำแนะนำให้ประทับในที่อากาศเย็น ที่เมือง ไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมนี สมเด็จพระบรมราชชนนี และพระราชธิดาจึงได้ตามเสด็จไปประทับด้วย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ประสูติพระราชโอรสพระองค์แรก เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล

ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ทั้ง ๒ สมเด็จพระบรมราชชนกจึงทรงต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯเพียงพระองค์เดียว เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ และประทับอยู่จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ประสูติพระราชโอรสองค์ที่สองที่ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช

ขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีสุดท้ายอยู่ที่เมืองบอสตัน ทรงประชวรโรคพระวักกะกำเริบ และพระโรคหวัด แต่ก็ยังทรงสามารถสอบได้ปริญญาแพทยศาสตร์ขั้นเกียรตินิยม แต่หลังจากสอบเสร็จ และประชวรพระโรคไส้ติ่งอักเสบ ทั้งสองพระองค์ได้พาพระราชโอรสธิดาเดินทางกลับประเทศไทย โดยประทับที่พระตำหนักใหม่สร้างขึ้นในวังสระปทุม ถนนพญาไท

เมื่อเดือน เมษายนพ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับเชิญเป็นแพทย์ประจำบ้าน จากโรงพยาบาลแมคคอร์มิก จังหวัดเชียงใหม่ และในเดือนต่อมาก็ทรงเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นก็ทรงพระประชวรอยู่ เป็นระยะเวลาประมาณ ๔ เดือนก็สิ้นพระชนม์ เมื่อ วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม

สัญลักษณ์ประจำพระองค์สมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี

[แก้] ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงมีพระชนมายุเพียง ๒๙ พรรษา ทรงต้องรับหน้าที่อบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาทั้งสามพระองค์ตามลำพัง

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงทรงแนะให้สมเด็จพระบรมราชชนนีพาพระราชนัดดาทั้ง ๓ พระองค์ เสด็จไปศึกษาต่อที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติเห็นชอบตามกฎมณเฑียรบาลให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป พระองค์ที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา

ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติแต่งตั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทน ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงต้องทรงย้ายไปประทับที่บ้านเช่าขนาดใหญ่ที่เมืองปุยยี ใกล้กับเมืองโลซาน เพื่อให้สมพระเกียรติของพระราชโอรส ทรงตั้งชื่อให้พระตำหนักใหม่ว่า วิลล่าวัฒนา

[แก้] รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา ได้เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรเป็นครั้งแรกโดยประทับอยู่ในพระนครเป็นเวลากว่า ๒ เดือน

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์[2] นอกจากนั้นพระองค์ยังพระราชทานเงินส่วนพระองค์สร้างโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี สร้างสุขศาลา จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ สมเด็จพระบรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยสมเด็จพระพี่นางเธอฯ ทรงเข้าศึกษาวิชาเคมี ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ และอีกสองปีต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ก็เสด็จเข้าศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

[แก้] พระราชกรณียกิจ

พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อชาวไทยและประเทศชาตินั้นใหญ่หลวงมาก เพราะตั้งแต่ทรงเศกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงมีพระอุตสาหวิริยะสูงในการทรงงาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ตั้งแต่เหนือสุด จรด ใต้สุด

[แก้] การแพทย์ พยาบาล การสาธารณสุข และการศึกษา

สมเด็จย่าทรงจัดตั้งหน่วยและมูลนิธิที่สำคัญขึ้นดังนี้

  1. หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) เป็นหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ที่เดินไปในถิ่นทุรกันดาร ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสมาชิกสมทบอีกคณะหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับสิ่งตอบแทน และ เบี้ยเลี้ยง เงินเดือน
  2. มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดตั้งเมื่อ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อทำขาเทียมและพระราชทานให้แก่ผู้พิการขาขาดที่ยากจนในชนบท โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และไม่คิดมูลค่า ซึ่งมูลนิธิขาเทียมฯนี้ ทรงก่อตั้งร่วมกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยพระองค์ท่านพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการก่อตั้งมูลนิธิและทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์อีกด้วย
  3. มูลนิธิถันยรักษ์ ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เพื่อใช้เป็นสถานที่ตรวจวินิจฉัยเต้านม
  4. ทรงบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงเรียนกว่า ๑๘๕ โรงเรียน และทรงรับเอาโครงการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไว้ในพระราชูปถัมภ์
  5. เสด็จเยี่ยมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2510โดยการนี้ได้ทรงม้าเสด็จเยี่ยมชม "สวนนอก" มี ศ. บรรเจิด คติการ และ ศ. ระพี สาคริก กราบทูลรายงาน อนึ่ง ในขณะเสด็จอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้ สมเด็จพระราชชนนีทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับรับสั่งกับผู้ติดตามว่า "เกษตรนี้น่าอยู่จริง ๆ ฉันควรจะได้มาเยี่ยมที่นี่ตั้งนานแล้ว.."[3]

[แก้] การอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นพระราชวงศ์ที่โปรดธรรมชาติมาก ทรงสร้างพระตำหนักดอยตุง ขึ้นบริเวณดอยตุง เนื้อที่ ๒๙ ไร่ ๓ งาน ที่บ้านอีก้อป่ากล้วย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เอง ในพื้นที่เช่าของกรมป่าไม้เป็นเวลานาน ๓๐ ปี มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๑๐๐๐ เมตร โดยทรงเรียกพระตำหนักนี้ว่า บ้านที่ดอยตุง ทรงพัฒนาดอยตุง และส่งเสริมงานให้ชาวเขาอีกด้วย ดังนี้

  1. โครงการพัฒนาดอยตุง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑
  2. ทรงพระราชทานกล้าไม้แก่ผู้ตามเสด็จ และทรงปลูกป่าด้วยพระองค์เอง
  3. ทรงนำเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิกา และไม้ดอกมาปลูก
  4. โครงการขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่ง กล้วย กล้วยไม้ เห็ดหลินจือ สตรอเบอรี่
  5. จัดตั้งศูนย์บำบัด และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่บ้านผาหมี ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

จากพระราชอุตสาหดังกล่าว และโครงการที่ยังมิได้นำเสนอขึ้นมาข้างต้นนี้ ยอดดอยที่เคยหัวโล้นด้วยการถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยปลูกฝิ่น จึงได้กลับกลายมาเป็นดอยที่เต็มไปด้วยป่าไม้ตามเดิม ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงได้รับขนานนามว่า สมเด็จย่า จากชาวไทยบนพื้นราบ หรือ แม่ฟ้าหลวง จากชาวไทยภูเขา


สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคตมื่อวันอังคารที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ แต่พระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงปรารถนาให้ชาวไทยมีความสุข ยังคงสถิตถาวรอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรทั่วไทยตลอดกาล

[แก้] พระเกียรติยศ

[แก้] พระอิสริยยศ

  • นางสาวสังวาลย์
  • นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ
  • หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา
  • พระราชชนนีศรีสังวาลย์
  • สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์
  • สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้] พระยศทางทหาร

[แก้] บุคคลสำคัญของโลก

วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพครบรอบ ๑๐๐ ปี องค์การวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้เฉลิมพระเกียรติยกย่องให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” [4]

[แก้] สถานที่ พรรณพืช และพันธุ์สัตว์อันเนื่องด้วยพระนามาภิไธย

[แก้] สถานที่

ศาสนสถาน
การแพทย์ และการสาธารณสุข
สถาบันการศึกษา
ค่าย
สวนสาธารณะ
อื่น ๆ

[แก้] พันธุ์สัตว์

[แก้] พรรณพืช

  • กล้วยไม้รองเท้านารีลูกผสม
    • Princess Sangwan[10] - รองเท้านารีเหลืองตรัง Paphiopedilum godefroyae x รองเท้านารีดอยตุง Paphiopedilum charlesworthii
    • Sangwan Anniversary 108th[11] - Paphiopedilum charlesworthii x Paphiopedilum Rosita ฉลอง ๙ รอบพระนักษัตร
    • Sangwan Celebration 108th[12] - Paphiopedilum charlesworthii x Paphiopedilum Holdenii ฉลอง ๙ รอบพระนักษัตร

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ แม่เล่าให้ฟัง พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  2. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนา พระราชชนนีศรีสังวาลย์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์, เล่ม ๕๕, ตอน ๐ก, ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ , หน้า ๖๗๑
  3. ^ เสด็จเยี่ยมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ http://kuhistory.ku.ac.th/01/sep19_2510.htm
  4. ^ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี บุคคลสำคัญของโลก มติเอกฉันท์จากยูเนสโก (UNESCO)
  5. ^ http://www.wat-srinagarin.com/th/temple/watsrin.php
  6. ^ http://hospital.md.kku.ac.th/
  7. ^ http://www.bpp.go.th/bpp42/prawat.htm
  8. ^ http://www.rta.mi.th/61500u/camp.htm
  9. ^ http://www.theprincessmothermemorialpark.org/
  10. ^ Quarterly Supplement to the International Register of Orchid Hybrids (Sander’s List) September - December 2004 Registrations https://www.rhs.org.uk/NR/rdonlyres/844EE925-BB31-4838-AC8E-3C23DD64516E/0/orrevmar05.pdf
  11. ^ Quarterly Supplement to the International Register of Orchid Hybrids (Sander’s List) July – September 2008 Registrations http://www.rhs.org.uk/NR/rdonlyres/3B12F6C5-8B67-41E2-93AF-FAFA5E30222E/0/SandersJulSep08.pdf
  12. ^ Quarterly Supplement to the International Register of Orchid Hybrids (Sander’s List) July – September 2008 Registrations http://www.rhs.org.uk/NR/rdonlyres/3B12F6C5-8B67-41E2-93AF-FAFA5E30222E/0/SandersJulSep08.pdf

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น