โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
“ เพาะนิสัย บุคลิก อีกทั้งสามัคคี ภักดีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ”

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ขั้นตอนการจัดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ที่โรงเรียนเตรียมอุดมสามพราน ที่ดินแปลงในขณะนั้นมีพื้นที่ ๕๑ไร่ ๑งาน ๖๘ตารางวา มีตึกทำเนียบพร้อมห้องครัวหนึ่งหลัง อาคารเรียนกึ่งถาวร ๘ ห้องเรียนฝาไม้ พื้นเทปูน1หลัง หอนอนบรรจุนักเรียนหอละ๑๐๕คน ๒หลัง โรงอาหารมีเวทีใช้เป็นห้องประชุม ๑หลัง โรงเก็บเรือ1หลัง บ้านพักริมน้ำ ๕ หลัง บ้านพักคนงาน ๒ แถว พร้อมบ่อน้ำบาดาล เครื่องสูบน้ำ ซึ่งได้ใช้สถานที่ทำเนียบสามพรานหรือบ้านพักตากอากาศเดิมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น จะย้ายนักเรียนกลับไปเรียนต่อที่กรุงเทพ พื้นที่ของโรงเรียนจึงว่างลง ทางกองบังคับการกองการศึกษาของกรมตำรวจ(ซึ่งขณะนั้นอาศัยตึกกองอำนวยการของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ)จึงได้ติดต่อขอเข้ามาใช้ที่ตั้งของโรงเรียนเป็นกองบัญชาการแห่งใหม่

แต่ด้วย Esprit de Corps ของนักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (บุตรของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) ซึ่งเมื่อครั้งท่านยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ได้เคยเป็นผู้ตรวจการศึกษาและคอยควบคุมดูแลโรงเรียนราชวิทยาลัย และเป็นผู้กราบบังคมทูลรายงานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น ได้ตระหนักถึงปณิธานอันแรงกล้าของชาวราชวิทย์ที่จักจัดตั้งโรงเรียนที่ตนเองรักและเทิดทูนกลับมาให้ได้ ม.ล.ปิ่น ท่านเลือกที่จะให้สมาคมราชวิทยาลัยเข้ามาใช้พื้นแผ่นดินแห่งนี้เพื่อเป็นโรงเรียนราชวิทยาลัย

ในที่สุดความปรารถนาอันแรงกล้าของบรรดาครู และนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย ก็บรรลุจุดหมายปลายทาง โดยได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาธิการ (ม.ล.ปิ่น มาลากุล) และประธานกรรมการ ราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษาพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ร่วมกันวางโครงการจัดตั้ง และดำเนินกิจการ โรงเรียนราชวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมราชวิทยาลัย นำผู้แทนของสมาคมอันประกอบด้วย, พระยามานวราชเสวี (ปลอดวิเชียร ณ สงขลา) องคมนตรี และนายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสมาคมราชวิทยาลัย ศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๐๕ เวลา ๑๑.๐๐ น. เพื่อกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอรับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เกี่ยวกับการจัดตั้ง โรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระมหากรุณารับโรงเรียนไว้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ประกอบกับในนามโรงเรียน นับแต่นั้นมาโรงเรียนราชวิทยาลัย สมัยที่๔ หรือสมัยสามพรานจึงได้ใช้นามอันเป็นมหามงคลยิ่งว่า โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย นับเป็นศุภนิมิตมิ่งมงคลอันมหัศจรรย์ โดยที่ได้ถือกำเนิด ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ แห่งสามมหาราชของชาติไทย คือ พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช พระผู้พระราชทานกำเนิด สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระผู้ทรงเสริมสร้างและพัฒนา และสมเด็จพระภัทรมหาราช พระพระราชทานกำเนิดใหม่ นับจากนั้นอีก ๒ ปี สมาคมราชวิทยาลัยก็ได้ดำเนินขั้นตอนการตั้งโรงเรียนไปตามลำดับ

  • ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๗ ถึง ๒๓ เมษายน ๒๕๐๗โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ เปิดรับสมัครนักเรียนเป็นครั้งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ มีนักเรียนสมัครเข้าเรียน ๗๙ คน ครั้งที่๒ รับสมัครเพิ่มเติมจนถึงวันเปิดเรียนอีก ๓๘ คน รวมนักเรียนทั้งหมด ๑๑๗ คน
  • ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๗ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีหนังสือถึงนายสนั่น สุมิตร อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา (บุตรของนาย เออร์เนสต์ สเปนซ์ สมิธ หนึ่งในนักฟุตบอลทีมศึกษาธิการที่ลงเล่นนัดเดียวกันในปี๒๔๔๓ เป็นชาวยอร์กเชียร์ (Yorkshire) ประเทศอังกฤษ อดีตนักฟุตบอลทีม Aston villa XI จบการศึกษาจากวิทยาลัยเบอร์โรโรด เข้ามารับราชการกรมศึกษาธิการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานนามสกุล "สุมิตร" และตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมศึกษาธิการ ถึงแก่กรรมวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๖๓) กำหนดให้ใช้สีประจำวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ เป็นสีประจำบ้านของนักเรียนทั้ง ๔ บ้าน
  • ๑๘ พฤษภาคม๒๕๐๗ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ เปิดทำการสอนเป็นวันแรก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกดปุ่มเปิดโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ
  • ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนมัธยมศึกษา ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเข้าประจำกองลูกเสือสามัญ
  • ๑๘ สิงหาคม ๒๕๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานถ้วยรางวัลระเบียบแถวระหว่างบ้าน
  • ๑ ธันวาคม ๒๕๑๗ กระทรวงศึกษาธิการรับมอบ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ
  • ๑๓ มกราคม ๒๕๑๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายเกรียง กีรติกร ) ได้มารับมอบโรงเรียน จาก หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ประธานองคมนตรีและประธานราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา นับแต่นั้น โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้แปรสภาพจากโรงเรียนเอกชนมาเป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เช่นเดียวกับเมื่อแรกสถาปนา

[แก้] รายนามผู้บริหารโรงเรียน พ.ศ. ๒๔๔๐-ปัจจุบัน

๑.มิสเตอร์ เอ. ซีซิล การ์เตอร์ (A.Cecil Carter) การศึกษา Trinity College M.A. Oxford ตำแหน่ง King’s college Head Master สมัย บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, สายสวลี พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๕๓

๒.มิสเตอร์ เอ. ไตรส์ มาร์ติน (A.Trice Martin) การศึกษา M.A. Oxford ตำแหน่ง King’s college Head Master สมัย บางขวาง พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๘

๓.พระภักดีบรมนาถ (สุดใจ สันธิโยธิน) การศึกษา ตำแหน่ง ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย สมัย บางขวาง พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๔๖๑

๔.พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) การศึกษา ตำแหน่ง รักษาการผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย สมัย บางขวาง พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๖๑

๕.พระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์) การศึกษา ตำแหน่ง ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย สมัย บางขวาง พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๖๘

๖.นาย ชื่น วัฒโน การศึกษา ตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๐๘

๗.นาย พิทยา ไทยวุฒิพงศ์ การศึกษา วชิราวุธวิทยาลัย ตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๑

๘.นาย เรวัตร ชื่นสำราญ การศึกษา ตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒

๙.นาย บัญชา ตุลาธร การศึกษา ตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๓

๑๐.ศจ.ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ การศึกษา ราชวิทยาลัย ตำแหน่ง รักษาการครูใหญ่-ผู้จัดการโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ 'สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๔

๑๑.นาย วรรณ จันทร์เพชร การศึกษา ตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๕

๑๒.นาย กล่อม สัจจบุตร การศึกษา ตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๖

๑๓. นาย ไชย เตชะเสน การศึกษา ราชวิทยาลัย ตำแหน่ง ผู้จัดการโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๖

๑๔.นาย สง่า ดีมาก การศึกษา ตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗

๑๕.หลวงศรีสารสมบัติ (วงศ์ ศรีไชยยันต์) การศึกษา ราชวิทยาลัย ตำแหน่ง ผู้จัดการโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗

๑๖.นาย อนันต์ หิรัญญะชาติธาดา (หิรัญเวทย์) การศึกษา ราชวิทยาลัย, โรงเรียนกฎหมาย ตำแหน่ง ผู้จัดการโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗

๑๗.นาย วินัย พัฒนรัฐ (เชื้อสกุล) การศึกษา ตำแหน่ง ผู้จัดการ,ครูใหญ่,อาจารย์ใหญ่, ผู้อำนวยการโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๓๔

๑๘.นาย วิชัย เวียงสงค์ การศึกษา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๗

๑๙.นาย สุรินทร์ ต่อเนื่อง การศึกษา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๔๐

๒๐.นาย สุวรรณ เค้าฝาย การศึกษา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๒

๒๑.นาย สุทธิศักดิ์ เฟื่องเกษม การศึกษา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๖

๒๒.นาย สุวัฒน์ อ้นใจกล้า การศึกษา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ สมัย สามพราน พ.ศ. ๒๕๔๖-ปัจจุบัน

ไฟล์:รับเสด็จสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ.jpg
เครื่องแบบของนักเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัยฯ

[แก้] กีฬา

โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นกีฬา รวมทั้ง มีการจัดการแข่งขันกีฬาภายในทุกปี ได้แก่ รักบี้ฟุตบอล ว่ายน้ำ กรีฑา เทนนิส ฟุตบอล และยังมีกีฬาด้านอื่นๆ ที่โรงเรียนสนับสนุน ได้แก่ วอลเลย์บอล ยิงปืน กล๊อฟ ซึ้งล้วนได้รับรางวัลระดับประเทศมากมาย กีฬาหลักของโรงเรียน คือ รักบี้ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ารักบี้นั้นจะเป็นกีฬาที่สอนให้นักเรียนรู้จักแพ้ ชนะ และอภัย และจะฝึกให้นักเรียนเป็นสุภาพบุรุษอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีรักบี้ประเพณีกับโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นประจำทุกๆ ปี และยังมีรักบี้ประเพณีกับ Sekolah Dato' Abdul Razak (SDAR) ซึ้งเป็นโรงเรียนเก่าแก่ของประเทศมาเลย์เชีย เป็นประจำทุกๆ ปีเช่นกัน

[แก้] หอพัก หรือ บ้าน

โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีหอพัก หรือที่เรียกว่า "บ้าน" เพื่อให้นักเรียนใช้เป็นที่พักอาศัยในช่วงระหว่างที่อยู่โรงเรียนสองอาทิตย์ บ้านนึงนั้นจะมีนักเรียนประมาณ 300 คน แต่ละบ้านนั้นจะแบ่งกระจายนักเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้เท่า ๆ กัน โดยมีตั้งตั้ง ป.5 จนถึง ม.6 ภายในแต่ละบ้าน และแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือ ชั้นประถม จะอยุ่ที่ตึกเด็กเล็ก ชั้นมัธยมจะอยุ่ที่ตึกเด็กโต แบ่งออก เป็น บ้าน 1 สีแสด บ้าน 2 สีเหลือง บ้าน 3 สีม่วง และบ้าน 4 สีแดง โดยถือเอาวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์ เป็นสำคัญ เรื่องการถือเอาสีวันพระประสูติมาเป็นสีประจำบ้านของนักเรียนทั้งสีบ้านนี้ มีข้อความปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในประวัติการจัดตั้งโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

การปกครองในระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง ตามแบบ Public School โดยจะเน้นอยู่ว่า "การจะเป็นผู้นำที่ดีได้ ต้องเคยเป็นผู้ตามที่ดีมาก่อน" ดังนั้น ก่อนที่นักเรียนแต่ละคนจะมาเป็นหัวหน้าปกครองรุ่นน้อง ก็จะเคยเป็นผู้ตามถูกปกครองโดยรุ่นพี่มาก่อน และเรียนรู้การปกครองนั้นมาปกครองรุ่นน้องถัด ๆ ไป และได้รับการคัดเลือกอย่างดีแล้วในทุกๆ ด้านก่อนจะเป็นนักเรียนชั้นปกครองหรือ Preface

5.00 น. || ตื่นนอน ออกกำลังกายเช้า

5.45 น. || อาบน้ำ แต่งตัว

6.30 น. || เดินแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ ร้องเพลงสดุดีมหาราชา ถวายคำสัตย์ปฎิญาณ

7.00 น. || รับประทานอาหารเช้า

8.00 น. || เรียนคาบ 1 - 3

10.00 น. || พักน้ำชา กาแฟ อาหารว่าง

10.30 น. || เรียนคาบ 4

11.30 น. || รับประทานอาหารกลางวัน

12.30 น. || เรียนคาบ 5 - 7

15.30 น. || ออกกำลังกายเย็น

17.00 น. || อาบน้ำ แต่งตัว

17.30 น. || เดินแถวเคารพธงชาติ

18.00 น. || รับประทานอาหารเย็น

19.00 - 20.30 น. || STUDY

20.30 - 21.00 น. || เข้าประชุม สวดมนต์ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

21.00 น. || ดื่มนม ขนมปัง

21.30 น. || ปิดไฟเข้านอนของ Junior

22.00 น. || ปิดไฟเข้านอนของ Senior

[แก้] เครื่องแบบ

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้เปลี่ยนสีโลหะของเครื่องแบบทุกชิ้นจากสีเงินเป็นสีทอง และเปลี่ยนสีแผงคอจากสีกรมท่าเป็นสีฟ้าซึ่งสีทองนั้นสอดคล้องกับสีเหลืองซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภก และสีฟ้านั้นก็เป็นสีคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชชนนี พระบรมราชินูปถัมภก

เมื่อนำหนังสือและภาพร่างของเครื่องแบบเครื่องแต่งกายของ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัยฯเพื่อขอพระราชทานกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบด้วยพระราชดำริ เครื่องแบบเครื่องแต่งกายพระราชทานจึงมีเช่นเดียวกับโรงเรียนราชวิทยาลัยเดิม มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. มีพระมหามงกุฏ ติดที่แผงคอนั้นคงเดิม แต่เพชราวุธพระมหามงกุฏซึ่งติดบนหมวกหนีบ เปลี่ยนเป็นพระมหามงกุฏมีอักษร "ราชวิทยาลัย" อยู่เบื้องล่าง เป็นบรรทัดโค้งพองาม

ดังนั้นทางโรงเรียนจึงถือเอาสีของแผงคอซึ่งเป็นสี "ฟ้า ทอง" เป็นสีประจำของโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สืบมา

[แก้] เพลงโรงเรียน

เพลงประจำโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯเป็นเพลงที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อเพลงนี้ไว้ว่า “เราเป็นข้าในหลวง”

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นเพลงประจำโรงเรียนราชวิทยาลัย สืบเนื่องจนเป็นโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ

องค์อุปถัมภกทรงพระราชนิพนธ์ในระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งในครั้งนั้นกองลูกเสือหลวงโรงเรียนราชวิทยาลัยซึ่งได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้จัดเป็นกองร้อยที่ ๔

ในสังกัดกรมเสือป่าราบหลวง รักษาพระองค์ซึ่งทรงเป็นผู้บังคับการกรมด้วยพระองค์เอ ได้โดยเสด็จไปในคราวที่ทรงนำทหาร ตำรวจ เสือป่าและลูกเสือ เดินทางไกลไปด่านทับตระโก

และในระหว่างประทับแรม ณ พลับพลาที่ประทับ ที่หลุมดินใกล้วัดสุรชายาราม ริมแม่น้ำแม่กลอง เหนือตัวจังหวัดราชบุรี ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องในทำนอง “ขึ้นพลับพลา”

โดย พลตรี พระเจ้า วรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงแก้ไขบางท่อนให้สมกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

จังหวะ:ไทยเดิมสองชั้น ทำนอง:ขึ้นพลับพลา

ข้าฯเจ้าเหล่านักเรียน ทั้งน้อยใหญ่ ราชวิทยาลัย ข้าในหลวง
กตัญญูฝังจิต ติดแดดวง ภักดีหน่วงเหนี่ยวใจ ไม่จืดจาง
แม้ผู้ใดลืมพระคุณ กรุณา ไม่คบค้าคนเช่นนี้ ตีตนห่าง
ไม่ขอชวนเข้าใกล้ ให้ร่วมทาง ขอแต่ร้างเริดพ้น จากคนพาล
ขอเทิดพระภัทร มหาราช บรมนาถทรงธรรม นำสุขศานต์
ถวายชีวิตไว้ รับใช้งาน เป็นข้าเบื้องบทมาลย์ จนวันตาย
ไฟล์:อาคารประถมศึกษา.jpg
อาคารในโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัยฯ

[แก้] คำปฏิญาณตน

ข้าพระพุทธเจ้า นักเรียนโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ ขอถวายคำสัตย์ปฏิญาณว่า
ข้าพระพุทธเจ้าจะตั้งมั่นอยู่ในสัจจะ ในศีลธรรม
เเละจะประพฤติตนให้สมกับเป็นลูกผู้ชาย
ข้าพระพุทธเจ้าจะตั้งใจเล่าเรียน เคารพบิดามารดา
ครูบาอาจารย์ และจะเทิดทูนไว้ซึ่งความดีทั้งหลาย
ข้าพระพุทธเจ้า จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะนำเกียรติยศ
ชื่อเสียงมาสู่โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ และ
ขอถวายชีวิตไว้ใต้เบื้องพระยุคลพระบาท และ
พร้อมเสมอที่จะสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทุกโอกาส

ปัจจุบัน [1]โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ [2]สมาคมราชวิทยาลัย และราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา ยังคงมุ่งสร้างนักเรียนให้เป็นสุภาพบุรุษราชวิทย์ ตามปรัชญาของสถาบันคือ เพาะนิสัย บุคลิก อีกทั้งสามัคคี ภักดีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นักเรียนทุกยุคของสถาบันจะมีความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ มีความสามัคคีในหมู่คณะหรือEsprit De Corps มีน้ำใจเป็นนักกีฬา ฝึกให้มีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ รู้หน้าที่ มีความมานะอดทน มีความกล้าหาญ และความกตัญญู

[แก้] นักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง

[แก้] อ้างอิง

  • http://www.kcthai.com
  • วิญญูชนก แก้วนอก ราชวิทย์๑๖ นายทะเบียนสมาคมราชวิทยาลัย ผู้จัดทำหอประวัติโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ
School.svg โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นบทความเกี่ยวกับ สถานศึกษา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ