คอซอวอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แอลเบเนีย: Republika e Kosovës
เรพูบลีคา เอ คอซอเวิส
เซอร์เบีย: Република Косово Republika Kosovo
เรปูบลีคา คอซอวอ
สาธารณรัฐโคโซโว
ธงชาติโคโซโว ตราแผ่นดินของโคโซโว
ธงชาติ ตราแผ่นดิน
เพลงชาติยุโรป (Europe)
ที่ตั้งของโคโซโว
ตำแหน่งของคอซอวอในทวีปยุโรป
เมืองหลวง
(และเมืองใหญ่สุด)
พริชตีนา

42°40′N 21°10′E

ภาษาทางการ ภาษาแอลเบเนียและภาษาเซอร์เบีย
รัฐบาล สาธารณรัฐ
 -  ประธานาธิบดี ฟัตมีร์ เซย์ดิว
 -  นายกรัฐมนตรี ฮาชิม ทาชี
ประกาศเอกราช1 จาก เซอร์เบีย 
 -  ประกาศ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 
เนื้อที่
 -  ทั้งหมด 10,887 กม.² (ลำดับที่ 166)
 -  พื้นน้ำ (%) ไม่มี
ประชากร
 -  2007 ประมาณ 1.9 ล้าน (อันดับที่ 141)
 -  ความหนาแน่น 220/กม.² (อันดับที่ 55)
สกุลเงิน ยูโร2 (€) (EUR)
เขตเวลา CET (UTC+1)
 -  ฤดูร้อน (DST) CEST (UTC+2)
1การประกาศเอกราชได้รับการรับรองในระดับนานาชาติเพียงบางส่วน
2ดีนาร์เซอร์เบียใช้กันในเขตอาศัยของชาวเซิร์บและเขตนอร์ทคอซอวอ

คอซอวอ หรือ โคโซโว (Kosovo; ภาษาแอลเบเนีย: Kosova หรือ Kosovë; ภาษาเซอร์เบีย: Косово) เป็นภูมิภาคหนึ่งในคาบสมุทรบอลข่าน ติดกับประเทศเซอร์เบียทางทิศเหนือ มอนเตเนโกรทางตะวันตก แอลเบเนียและสาธารณรัฐมาซิโดเนียทางใต้ ไม่มีทางออกสู่ทะเล คอซอวอได้ประกาศเป็นรัฐเอกราชแบบเอกภาคีในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ใช้ชื่อว่า สาธารณรัฐคอซอวอ (Republic of Kosovo) มีการรับรองจากบางประเทศ ในขณะที่เซอร์เบียยังคงถือว่าคอซอวอเป็นจังหวัดปกครองพิเศษของตน

เมืองหลวงของคอซอวอคือพริชตีนา (Priština) จำนวนประชากรทั้งจังหวัดประมาณ 2 ล้าน 1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์แอลเบเนีย (ร้อยละ 92) ชาวเซิร์บ (ร้อยละ 5.3) และมีชาวตุรกี ชาวบอสเนีย กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อีกเล็กน้อย (รวมกันร้อยละ 2.7)

คอซอวออยู่ภายใต้การบริหารของสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ในขณะที่เอกราชของเซอร์เบียนั้นเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก โดยแท้จริงแล้ว การปกครองของเซอร์เบียมิได้ปรากฏในจังหวัดนี้เลย องค์กรที่ปกครองคอซอวออยู่คือคณะทำงานสหประชาชาติในคอซอวอ (United Nations Mission in Kosovo: UNMIK) และสถาบันการปกครองตนเองชั่วคราวของท้องถิ่น (Provisional Institutions of Self-Government) โดยมีกองกำลังคอซอวอ (Kosovo Force: KFOR) ภายใต้การนำขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เป็นผู้รักษาความมั่นคง

จังหวัดคอซอวอเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองและดินแดนมานานระหว่างชาวเซอร์เบีย (ก่อนหน้านี้คือชาวยูโกสลาฟ) กับชาวแอลเบเนียซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัด การเจรจาในระดับนานาชาติเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2549 เพื่อตัดสินสถานะสุดท้าย จากรายงานของสื่อแขนงต่าง ๆ คาดกันว่า การเจรจาจะนำมาซึ่งเอกราชของดินแดนแห่งนี้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง[1][2][3][4] ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 รัฐสภาของคอซอวอประกาศเอกราชของประเทศแต่เพียงฝ่ายเดียว

เนื้อหา

[แก้] การออกเสียง

ชื่อ คอซอวอ นิยมใช้ในภาษาอังกฤษว่า Kosovo ซึ่งถอดรูปมาจาก Косово ออกเสียง /ˈkɔsɔvɔ/ (คอซอวอ) ในภาษาเซอร์เบีย ในขณะที่ภาษาแอลเบเนียใช้ชื่อว่า Kosova ออกเสียง /kɔˈsɔva/ (คอซอวา) ส่วนเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานได้ระบุชื่อในภาษาไทยไว้เป็น คอซอวอ[5]

[แก้] ประวัติศาสตร์

ดินแดนคอซอวอมีผู้อาศัยดั้งเดิมตั้งแต่ยุคสำริด คือชาวอิลลีเรีย เผ่าดาร์ดานี โดยที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุถึง ราชอาณาจักรดาร์ดาเนีย เมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล ดินแดนคอซอวอถูกเรียกว่า ดาร์ดาเนีย มาจนถึงศตวรรษที่ 19 ต่อมาราว 100 ปีก่อนคริสตกาล ดาร์ดาเนียได้ตกอยู่ใต้การปกครองของโรมันและจักรวรรดิไบเซนไทน์ ชาวเซิร์บอพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนนี้พร้อมคลื่นผู้อพยพกลุ่มต่างๆ ที่ทะยอยกันมาจากเทือกเขาอูราลเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 เพื่อมาตั้งรกรากในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป และกระจัดกระจายกันออกไปในนามต่างๆ กันเช่น เซิร์บ โครแอท มาซีโดเนีย และสโลวีเนีย การอพยพเข้ามาของกลุ่มเหล่านี้ทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าของดินแดนเดิม จนปี พ.ศ. 1749 ชาวเซิร์บจึงเข้ายึดครองดินแดนแถบคอซอวอได้ แต่ต่อมาก็ต้องเจอกับอำนาจที่เหนือกว่าคือจักรวรรดิมุสลิมออตโตมันเติร์ก ซึ่งได้เข้ายึดและปกครองดินแดนแถบนี้ 500 ปี เริ่มตั้งแต่สงครามคอซอวอ (พ.ศ. 1932) ไปจนถึง พ.ศ. 2455

หลังสงครามบอลข่านใน พ.ศ. 2455 เซอร์เบียก็เข้ายึดครองคอซอวอ และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวียใน พ.ศ. 2461 จากนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศได้ถูกปกครองด้วยระบอบคสังคมนิยม (ไม่ขึ้นต่อสหภาพโซเวียต) โดยมีนายพลติโต เป็นประธานาธิบดี และเมื่อระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายในปี พ.ศ. 2532 รัฐต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นยูโกสลาเวียก็พากันแยกตัวเป็นประเทศอิสระ ได้แก่ สโลวีเนีย โครเอเชีย มาซิโดเนีย บอสเนีย มอนเตเนโกร

คอซอวอเองเจอปัญหาจากความคลั่งชาติของอาชญากรสงคราม สโลโบดัน มิโลเซวิช มาตั้งแต่ พ.ศ. 2533 จนกระทั่งเหตุการณ์ตึงเครียดสุดเมื่อเซอร์เบียส่งกองทัพเข้าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมในคอซอวอในปี พ.ศ. 2541 ทำให้นาโต ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด จนเซอร์เบียต้องยอมถอนทหาร และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 กองทหารนาโต 40,000 คนเข้ารักษาความมั่นคงในคอซอวอ เป็นการยุติบทบาทของเซอร์เบียในคอซอวอ ทำให้ตั้งแต่ปี นั้นเป็นต้นมา คอซอวอจึงเป็นแคว้นหนึ่งของเซอร์เบียเพียงแต่ในนาม ในขณะที่การบริหารงานทุกอย่างอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ โดยมีโดยกองกำลังทหารของสหประชาชาติ นำโดยนาโต รักษาความปลอดภัยในประเทศ

ทั้งนี้ หลังจากรัฐสภาคอซอวอลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ฮาชิม ทาซี นายกรัฐมนตรีคอซอวอ ได้ประกาศแยกคอซอวอออกจากเซอร์เบียเป็นประเทศอิสระ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดยมีประเทศหลักที่ให้การสนับสนุนการประกาศเอกราชของคอซอวอคือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (EU)

[แก้] การรับรองเอกราช

แผนที่แสดงการรับรองการประกาศเอกราชของคอซอวอ

หลังจากการประกาศเอกราชของคอซอวอ มีหลายประเทศให้การรับรองการประกาศเอกราช เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ตุรกี แอลเบเนีย เยอรมนี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และอีกหลายประเทศ ในขณะเดียวกัน มีหลายประเทศที่ประกาศชัดเจนว่า ไม่รับรองเอกราชของคอซอวอ นอกจากเซอร์เบียซึ่งเป็นคู่กรณีแล้ว มีรัสเซีย สเปน ไซปรัส และอีกหลายประเทศ

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ "Kosovo's status - the wheels grind on", The Economist, October 6, 2005.
  2. ^ "A province prepares to depart", The Economist, November 2, 2006.
  3. ^ "Kosovo May Soon Be Free of Serbia, but Not of Supervision", by Nicholas Wood, The New York Times, November 2, 2006.
  4. ^ "Serbia shrinks, and sinks into dejection", by WILLIAM J. KOLE, The Associated Press, November 19, 2006.
  5. ^ คำถามที่พบบ่อย: ชื่อประเทศ ราชบัณฑิตยสถาน เรียกข้อมูลวันที่ 28 ก.พ. 2551

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น