ภาษาตุรกี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาษาตุรกี (Türkçe (ตืร์กเช))
พูดใน: ประเทศตุรกี ประเทศไซปรัส ประเทศเยอรมนี ประเทศกรีซ ประเทศเบลเยียม ประเทศฝรั่งเศส ประเทศบัลแกเรีย ประเทศอาเซอร์ไบจาน ประเทศอิรัก ประเทศคีร์กีซสถาน,
จำนวนคนพูดทั้งหมด: คาดว่าประมาณ 60 ในตุรกี และประมาณ 75 ล้านคนทั่วโลก
อันดับ: 19-21 (ใกล้เคียงกับ ภาษาอิตาลี และ ภาษาอูรดู
การจำแนกตระกูลของภาษา: อัลไตอิก (โต้แย้ง)

  เตอร์กิก
   ใต้
    ตุรกี
     ภาษาตุรกี

ฐานะอย่างเป็นทางการ
ประเทศที่ใช้เป็นภาษาราชการ: ประเทศตุรกี ประเทศไซปรัส
องค์กรควบคุม: Türk Dil Kurumu (สถาบันภาษาตุรกี)
รหัสภาษา
ISO 639-1 tr
ISO 639-2 tur, ota
SIL TRK

ภาษาตุรกี (Türkçe ตืร์กเช หรือ Türk dili ตืร์ก ดิลิ) เป็นภาษากลุ่มเตอร์กิก เป็นภาษาที่มีผู้พูด 65 – 73 ล้านคนทั่วโลกซึ่งถือเป็นภาษากลุ่มเตอร์กิกที่มีผู้พูดมากที่สุด ผู้พูดส่วนใหญ่อยู่ในตุรกี และมีกระจายอยู่ในไซปรัส บัลแกเรีย กรีซ และยุโรปตะวันออก และมีผู้พูดอีกหลายสิบล้านคนที่อพยพไปอยู่ในยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะเยอรมัน ต้นกำเนิดของภาษาพบในเอเชียกลางซึ่งมีการเขียนครั้งแรกเมื่อประมาณ 1,200 ปีมาแล้ว ภาษาตุรกีออตโตมันได้แพร่ขยายไปทางตะวันตกซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของจักรวรรดิออตโตมัน พ.ศ. 2471 หลังการปฏิรูปของอตาเตริ์กซึ่งเป็นปีแรกๆของยุคสาธารณรัฐใหม่ มีการปรับปรุงภาษาโดยแทนที่อักษรอาหรับในยุคออตโตมันด้วยอักษรละตินที่เพิ่มเครื่องหมายการออกเสียง มีการตั้งสมาคมภาษาตุรกีเพื่อลดการใช้คำยืมจากภาษาเปอร์เซียกับภาษาอาหรับ หันมาใช้คำดั้งเดิมของภาษากลุ่มเตอร์กิกแทน

ลักษณะเด่นของภาษาตุรกีคือมีการเปลี่ยนเสียงสระและการเชื่อมคำแบบรูปคำติดต่อ การเรียงคำโดยทั่วไปเป็นแบบประธาน-กรรม-กริยา ไม่มีการแบ่งเพศของคำนาม

เนื้อหา

[แก้] การจัดจำแนก

ภาษาตุรกีอยู่ในกลุ่มตะวันตกของภาษากลุ่มโอคุซซึ่งรวมภาษากากาอุซและภาษาอาเซอรีอยู่ด้วย ภาษากลุ่มโอคุซนี้อยู่ในกลุ่มย่อยตะวันตกเฉียงใต้ของภาษากลุ่มเตอร์กิกซึ่งเป็นกลุ่มของภาษาที่ยังใช้พูดในปัจจุบันราว 30 ภาษา กระจายอยู่ในบริเวณจากยุโรปตะวันออก เอเชียกลางและไซบีเรีย นักภาษาศาสตร์บางกลุ่มจัดให้ภาษานี้อยู่ในตระกูลอัลตาอิก [1] ผู้พูดภาษาตุรกีคิดเป็น 40% ของผู้พูดภาษากลุ่มเตอร์กิกทั้งหมด ลักษณะเด่นของภาษาตุรกี เช่น การเปลี่ยนเสียงสระและการเชื่อมคำแบบรูปคำติดต่อ และไม่มีเพศทางไวยากรณ์เป็นลักษณะทั่วไปของภาษากลุ่มเตอร์กิกและภาษากลุ่มอัลตาอิก [2] ผู้พูดภาษาตุรกีและผู้พูดภาษากลุ่มโอคุซซอื่นๆ เช่น ภาษาอาเซอรี ภาษาเติร์กเมน ภาษาควาซไคว และภาษากากาอุซจะเข้าใจกันได้ดี [3]

[แก้] ประวัติศาสตร์

จารึกของภาษากลุ่มเตอร์กิกเก่าสุดพบในบริเวณที่เป็นประเทศมองโกเลียปัจจุบัน จารึกบูคุตเขียนด้วยอักษรซอกเดียมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 .[4][5]จารึกอักษรออร์คอนมีอายุย้อนหลังไปได้ราว พ.ศ. 1275 – 1278 จารึกที่พบบริเวณหุบเขาออร์คอนจำนวนมากจัดเป็นภาษาเตอร์กิกโบราณเขียนด้วยอักษรออร์คอนที่มีลักษณะคล้ายอักษรรูนส์ในยุโรป [6]

ผู้คนที่พูดภาษากลุ่มเตอร์กิกได้แพร่กระจายออกจากเอเชียกลางในยุคกลางตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16) โดยกระจายอยู่ตั้งแต่ยุโรปตะวันออก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงไซบีเรีย กลุ่มโอคุซเติร์กได้นำภาษาของตนคือภาษาเตอร์กิกแบบโอคุซเข้าสู่อนาโตเลียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 .[7] ในช่วงนี้ได้มีนักภาษาศาสตร์ Kaşqarli Mahmud เขียนพจนานุกรมของภาษาเตอร์กิก

[แก้] ภาษาตุรกีออตโตมัน

เมื่อศาสนาอิสลามแพร่มาถึงบริเวณนี้ เมื่อราว พ.ศ. 1393 ชาวเซลจุกเติร์กซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมออตโตมันได้ปรับการใช้ภาษาโดยมีคำยืมจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียเข้ามามาก วรรณคดีในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากภาษาเปอร์เซียมาก ภาษาในการเขียนและภาษาราชการในยุคจักรวรรดิออตโตมันเป็นภาษาผสมระหว่างภาษาตุรกี ภาษาอาหรับ และภาษาเปอร์เซีย ซึ่งต่างจากภาษาตุรกีที่ใช้ในประเทศตุรกีปัจจุบันและมักเรียกว่าภาษาตุรกีออตโตมัน

[แก้] การปรับรูปแบบของภาษาและภาษาตุรกีสมัยใหม่

ลักษณะเด่นของภาษาตุรกี คือใช้ตัว I ทั้งสองแบบเป็นอักษรคนละตัวกัน ได้แก่แบบมีจุดและแบบไม่มีจุด

อัตราการรู้หนังสือก่อนการปรับรูปแบบภาษาในตุรกี (พ.ศ. 2470) ในผู้ชายคิดเป็น 48.4% และผู้หญิงเป็น 20.7% [8] หลังจากก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีและเปลี่ยนระบบการเขียน มีการตั้งสมาคมภาษาตุรกีเมื่อ พ.ศ. 2475 สมาคมได้ปรับรูปแบบของภาษาโดยแทนที่คำยืมจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียด้วยคำดั้งเดิมของภาษาตุรกี [9] มีการสร้างคำใหม่โดยใช้รากศัพท์จากภาษาตุรกีโบราณที่เลิกใช้ไปนาน

ผลจากการเปลี่ยนแปลงภาษาโดยกะทันหันนี้ทำให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ในตุรกีใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกัน คนรุ่นที่กิดก่อน พ.ศ. 2483 ใช้ศัพท์ที่มาจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซีย ส่วนคนที่เกิดหลังจากนั้นใช้คำศัพท์ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ การปราศัยของอตาเติร์กในการเปิดประชุมสภาครั้งใหม่เมื่อ พ.ศ. 2470 ใช้ภาษาแบบออตโตมันซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกไปจากภาษาในปัจจุบันจนต้องมีการแปลเป็นภาษาตุรกีสมัยใหม่ถึงสามครั้งคือเมื่อ พ.ศ. 2506, 2529 และ 2538 [10]

นอกจากนี้ สมาคมภาษาตุรกียังมีการเพิ่มศัพท์เทคนิคทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งโดยมากมาจากภาษาอังกฤษ แต่ก็มีคำศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาแล้วแต่ไม่เป็นที่นิยม เช่น bölem (พรรคการเมือง) ถูกกำหนดให้ใช้แทนคำเดิมคือ firka แต่คำที่ใช้โดยทั่วไปเป็น parti จากภาษาฝรั่งเศส หรือบางคำใช้ในความหมายที่ต่างไปจากที่กำหนด เช่น betik (หนังสือ) ปัจจุบันใช้ในความหมายของระบบการเขียนในคอมพิวเตอร์ คำบางคำที่ถูกบัญญัติขึ้นใหม่ยังใช้ควบคู่กับศัพท์เดิมโดยคำศัพท์เดิมเปลี่ยนความหมายไปเล็กน้อย เช่น dert (มาจากภาษาเปอร์เซีย dard หมายถึงเจ็บปวด) ใช้หมายถึงปัญหาหรือความยุ่งยาก ส่วนความเจ็บปวดทางร่างการยใช้ ağrı ที่มาจากภาษาตุรกี ในบางกรณี คำยืมมีความหมายต่างไปจากคำในภาษาตุรกีเล็กน้อยแบบเดียวกับคำยืมจากภาษากลุ่มเยอรมันและภาษากลุ่มโรมานซ์ในภาษาอังกฤษ

[แก้] การแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์

นอกจากในประเทศตุรกีแล้วยังมีผู้พูดภาษาตุรกีแพร่กระจายอยู่ในประเทศอื่นอีกกว่า 30 ประเทศ โดยมากเป็นประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การแกครองของจักรวรรดิออตโตมัน เช่น บัลแกเรีย ไซปรัส กรีซ มาซีโดเนีย โรมาเนีย และเซอร์เบีย [11]</ref> มีผู้พูดภาษาตุรกีมากกว่า 2 ล้านคนในเยอรมัน และมีชุมชนชาวตุรกีในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร [12]

จำนวนผู้พูดภาษาตุรกีเป็นภาษาแม่ในตุรกีมีประมาณ 60 -67 ล้านคน คิดเป็น 90 – 93% ของประชากรทั้งหมด และมีผู้พูดเป็นภาษาแม่ทั่วโลกราว 65 – 73 ล้านคน .[2][13]

[แก้] สถานะทางราชการ

ภาษาตุรกีเป็นภาษาราชการของประเทศตุรกีและเป็นภาษาราชการร่วมในไซปรัสและมีสถานะเป็นภาษาราชการในตำบลปริซเรนในโคโซโวและในหลายบริเวณของมาซีโดเนียขึ้นกับจำนวนผู้พูดภาษาตุรกีในบริเวณนั้น ในตุรกีสมาคมภาษาตุรกีเป็นอง์กรควบคุมภาษาก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งมีอิทธิพลในการแทนที่คำยืมภาษาอื่นด้วยศัพท์ดั้งเดิมของภาษาตุรกีและพัฒนาระบบการเขียนปัจจุบันของภาษาตุรกี (พ.ศ. 2471) สมาคมเป็นองค์กรอิสระตั้งแต่ พ.ศ. 2494 – 2526 จากนั้นจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล

[แก้] สำเนียง

สำเนียงที่ใช้ในอิสตันบูลเป็นสำเนียงมาตรฐานของประเทศตุรกี สำเนียงอื่นๆมีหลายสำเนียง เช่น สำเนียง Rumelice ใช้ในหมู่ผู้อพยพจากรูเมเลียซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษาในแหลมบอลข่าน ภาษาตุรกีในไซปรัสเรียกว่าสำเนียง Kibris สำเนียง Karadeniz ใช้พูดทางตะวันออกของทะเลดำ ได้รับอิทธิพลทางสัทวิทยาและการเรียงประโยคจากภาษากรีก[14] เป็นต้น

[แก้] เสียง

ภาษาตุรกีมีแต่สระเดี่ยว ไม่มีสระผสม เมื่อสระสองตัวอยู่ใกล้กันซึ่งมักพบในคำยืมจะออกเสียงแยกกัน การเปลี่ยนเสียงสระเป็นเอกลักษณ์ของภาษาตุรกีโดยเสียงสระของปัจจัยจะเปลี่ยนไปตามสระของคำหลักเช่นปัจจัย –dir4 (มันเป็น, อยู่, คือ) เมื่อนำมาต่อท้ายศัพท์จะเป็น tükiyedir (มันเป็นไก่งวง) kapidır (มันเป็นประตู) gündür (มันเป็นวัน) paltodur (มันเป็นเสื้อคลุม) เป็นต้น

[แก้] ระบบการเขียน

ภาษาตุรกีปัจจุบันใช้อักษรละตินที่ดัดแปลงเป็นแบบของตนเอง โดยอักษรรูปแบบดังกล่าวได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2471 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปวัฒนธรรมของอตาเติร์ก เดิมภาษาตุรกีเขียนด้วยอักษรอาหรับแบบตุรกี แต่อักษรแบบดังกล่าวมีรูปเขียนสำหรับเสียงสระยาวเพียงแค่สามรูป ทั้ง ๆ ที่ภาษาตุรกีมีเสียงสระถึงแปดเสียง และยังมีอักษรบางตัวที่แทนเสียงที่ซ้ำกันในภาษาตุรกี (แต่ไม่ซ้ำกันในภาษาอาหรับ คล้ายกับอักษรไทยที่มีทั้ง ศ ษ และ ส ซึ่งมาจากอักษรที่แทนเสียงที่แตกต่างกันในภาษาสันสกฤต) การปฏิรูปดังกล่าวจึงทำให้ได้ตัวเขียนที่เหมาะสมกับภาษาตุรกีมากกว่าอักษรแบบเดิม

การปฏิรูประบบเขียนจึงเป็นก้าวสำคัญในช่วงการปฏิรูปวัฒนธรรม การจัดเตรียมตัวอักษรแบบใหม่รวมทั้งการเลือกอักษรที่พิ่มเติมจากอักษรละตินแบบมาตรฐานนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการภาษา ซึ่งประกอบด้วยนักภาษาศาสตร์ นักวิชาการ และนักเขียน ระบบการเขียนแบบใหม่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การศึกษาของรัฐตามภูมิภาคต่าง ๆ และยังได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งความพยายามของอตาเติร์กเอง ที่ได้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อสอนระบบการเขียนแบบใหม่นี้[15] ซึ่งทำให้อตราการรู้หนังสือของตุรกีเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก[16]

อักษรละตินสำหรับภาษาตุรกีประกอบด้วยอักษรทั้งหมด 29 ตัว โดยอักษรที่เพิ่มขึ้นมาได้แก่ Ç Ğ I İ Ö Ş และ Ü และไม่มี Q W และ X โดยอักษร I จะมีสองแบบ คือแบบมีจุด (İ,i) และแบบไม่มีจุด(I,ı)ซึ่งต่างจากอักษรละตินมาตรฐาน ที่ตัวพิมพ์เล็กจะมีจุด แต่ตัวพิมพ์ใหญ่จะไม่มีจุด

[แก้] การเน้นหนัก

มักเน้นหนักในพยางค์สุดท้าย ยกเว้นคำยืมจากภาษากรีกและภาษาอิตาลีบางกลุ่ม

[แก้] ไวยากรณ์

ภาษาตุรกีเป็นภาษารูปคำติดต่อ นิยมใช้การเติมปัจจัยข้างท้ายคำ [17] คำคำหนึ่งอาจเติมปัจจัยได้เป็นจำนวนมากเพื่อสร้างคำใหม่ เช่นการสร้างคำกริยาจากคำนาม การสร้างคำนามจากรากศัพท์คำกริยาเป็นต้น ปัจจัยส่วนใหญ่จะบอกหน้าที่ทางไวยากรณ์ของคำนั้นๆ [18] สามารถสร้างคำที่มีความยาวมากๆจนมีความหมายเท่ากับประโยคในภาษาอื่นๆได้

คำนามไม่มีคำนำหน้าชี้เฉพาะ แต่มีการชี้เฉพาะวัตถุในคำลงท้ายแบบกรรมตรง ภาษาตุรกีมีคำนาม 6 การก คือ ประธาน ความเป็นเจ้าของ กรรมรอง กรรมตรง มาจาก ตำแหน่ง ซึ่งเปลี่ยนการลงท้ายด้วยการเปลี่ยนเสียงสระ คำคุณศัพท์มาก่อนคำนามที่ขยายคำคุณศัพท์ส่วนใหญ่เป็นคำนามได้ด้วย

คำกริยาในภาษาตุรกีจะแสดงบุคคลและสามารถแสดงความปฏิเสธ ความสามารถหรือไม่สามารถและแสดงกาล มาลา แลละความคาดหวังด้วย การปฏิเสธแสดงด้วยปัจจัย –me2 ที่มาก่อนปัจจัยอื่นๆของคำกริยา คำกริยาในภาษาตุรกีอาจรวมเป็นคำประกอบได้เพื่อให้ประโยคสั้นเข้า

การเรียงลำดับคำในภาษาตุรกีเป็นแบบประธาน-กรรม-กริยาแบบเดียวกับภาษาญี่ปุ่นและภาษาละติน คำขยายมาก่อนคำที่ถูกขยาย สิ่งที่เน้นมาก่อนสิ่งที่ไม่เน้นคำที่มาก่อนกริยาต้องออกเสียงเน้นหนักในประโยคโดยไม่มีข้อยกเว้น

[แก้] คำศัพท์

คำศัพท์ส่วนใหญ่เป็นศัพท์ดั้งเดิมของภาษาตุรกี มีคำยืมเพียง 14% ส่วนใหญ่มาจากภาษาอาหรับ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอิตาลี ภาษาอังกฤษ และภาษากรีก การสร้างคำใหม่ใช้การสร้างคำแบบรูปคำติดต่อโดยเติมปัจจัยเข้ากับรากศัพท์ของนามหรือกริยา คำส่วนใหญ่ในภาษาตุรกีมาจากการสร้างคำด้วยวิธีนี้


[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Gordon, Raymond G., Jr. (ed.)Ethnologue Ethnologue: Languages of the World, Fifteenth edition. Language Family Trees - Altaicaccessdate=2007-03-18 date=2005
  2. ^ 2.0 2.1 Katzner
  3. ^ UCLA International Institute, Center for World Languages Language Materials Project: Turkishaccessdate=2007-04-26 February 2007
  4. ^ Bazin,Louis. Turcs et Sogdiens: Les Enseignements de L'Inscription de Bugut (Mongolie), Mélanges Linguistiques Offerts à Émile Benveniste.Collection Linguistique, publiée par la Société de Linguistique de Paris LXX1975 pages=37–45(ฝรั่งเศส)
  5. ^ Alyılmaz, Cengiz. editor=Matteo, C., Paola, R., Gianroberto, S.Eran ud Aneran. Studies presented to Boris Il'ic Marsak on the occasion of his 70/th birthday|chapter=On the Bugut Inscription and Mausoleum Complexisbn=8875431051 http://www.transoxiana.org/Eran/Articles/alyilmaz.htmlaccessdate=2007-06-28 year=2006 Cafoscarina Venice
  6. ^ Ishjatms
  7. ^ Findley
  8. ^ Taeuber,Irene B.1958April Population and Modernization in Turkey. Population Index 24(2)110id=OCLC|41483131accessdate=2007-04-27 http://links.jstor.org/sici?sici=0032-4701%28195804%2924%3A2%3C101%3APAMIT%3E2.0.CO%3B2-Z laysummary=http://www.jstor.org/journals/00324701.html|laysource=JSTOR
  9. ^ Lewis (2002)
  10. ^ Lewis (2002)
  11. ^ Gordon, Raymond G., Jr. (ed.)Ethnologue http://www.ethnologue.com/show_language.asp?code=tur Ethnologue: Languages of the World, Fifteenth edition. Report for language code:tur (Turkish)accessdate=2007-03-18date=2005
  12. ^ Center for Studies on Turkey, University of Essen Turkish Industrialists' and Businessmen's Association http://www.tusiad.org/haberler/basin/ab/9.pdf The European Turks: Gross Domestic Product, Working Population, Entrepreneurs and Household Data accessdate=2007-01-06date=2003
  13. ^ TNS Opinion & SocialEuropean Commission Directorate of General Press and Communication http://ec.europa.eu/public_opinion/archives/ebs/ebs_243_en.pdf Special Eurobarometer 243 / Wave 64.3: Europeans and their Languagesaccessdate=2007-03-28date=February 2006
  14. ^ Brendemoen, B. (1996), "Phonological Aspects of Greek-Turkish Language Contact in Trabzon", Conference on Turkish in Contact, Netherlands Institute for Advanced Study (NIAS) in the Humanities and Social Sciences, Wassenaar, 5–6 February, 1996
  15. ^ Dilaçar, Agop (1977). "Atatürk ve Yazım". Türk Dili 35 (307). ISSN 1301-465X. เรียกข้อมูลวันที่ 2007-03-19 (ตุรกี)
  16. ^ Coulmas, pp. 243–244
  17. ^ Lewis (2001) และ Lewis (1953)
  18. ^ Lewis (2001) Ch XIV
  • Findley, Carter V. (October 2004). The Turks in World History. Oxford University Press. ISBN 0-19-517726-6.
  • Ishjatms, N. (1996), "Nomads In Eastern Central Asia", History of civilizations of Central Asia, vol. 2, UNESCO Publishing, ISBN 92-3-102846-4
  • Katzner, Kenneth (March 2002). Languages of the World, Third Edition. Routledge, an imprint of Taylor & Francis Books Ltd.. ISBN 978-0-415-25004-7.
  • Lewis, Geoffrey (1953). Teach Yourself Turkish. English Universities Press. (2nd edition 1989
  • Lewis, Geoffrey (2001). Turkish Grammar. Oxford University Press. ISBN 0-19-870036-9
  • Lewis, Geoffrey (2002). The Turkish Language Reform: A Catastrophic Success. Oxford University Press. ISBN 0-19-925669-1.
  • Soucek, Svat (March 2000). A History of Inner Asia. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-65169-1.
วิกิพีเดีย
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ในภาษาตุรกี