ประเทศสวีเดน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Konungariket Sverige
โคนุงงาริเกต สแวริเย
ราชอาณาจักรสวีเดน
ธงชาติสวีเดน ตราแผ่นดินของสวีเดน
ธงชาติ ตราแผ่นดิน
คำขวัญเกิดสวีเดน โตที่สวีเดน ตายสวีเดน1
เพลงชาติDu gamla, Du fria
(ภาษาสวีเดน: "โบราณ อิสระ") (โดยพฤตินัย) 2
ที่ตั้งของสวีเดน
เมืองหลวง
(และเมืองใหญ่สุด)
สตอกโฮล์ม

59°21′N 18°4′E

ภาษาทางการ ไม่ได้กำหนด
ภาษาสวีเดน (โดยพฤตินัย)
รัฐบาล ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ, รัฐสภา
 -  พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ (kung Carl XVI Gustaf)
 -  นายกรัฐมนตรี เฟรดดริค รายน์เฟลท์
การรวมชาติ
เนื้อที่
 -  ทั้งหมด 449,964 กม.² (ลำดับที่ 54)
 -  พื้นน้ำ (%) 8.67%
ประชากร
 -  2549 ประมาณ 9,113,257[1] (อันดับที่ 84)
 -  2533 สำรวจ 8,587,353 
 -  ความหนาแน่น 20/กม.² (อันดับที่ 155)
GDP (PPP) 2549 ประมาณ
 -  รวม $285.1 พันล้าน[2] (อันดับที่ 35)
 -  ต่อประชากร $31,600 (อันดับที่ 19)
HDI (2004) 0.949 (สูง) (อันดับที่ 5)
สกุลเงิน โครนาสวีเดน (Swedish krona, SEK)
เขตเวลา CET (UTC+1)
 -  ฤดูร้อน (DST) CEST (UTC+2)
รหัสอินเทอร์เน็ต .se
รหัสโทรศัพท์ +46
1 För Sverige i tiden (ภาษาสวีเดน: เพื่อสวีเดน ตามกาลเวลา) เป็นคำขวัญประจำพระองค์ของคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ
2 ไม่ปรากฏกฎหมายประกาศอย่างเป็นทางการ

ราชอาณาจักรสวีเดน (สวีเดน: Konungariket Sverige) เป็นประเทศกลุ่มนอร์ดิกตั้งอยู่บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ในยุโรปเหนือ เขตแดนทางตะวันตกจรดประเทศนอร์เวย์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือจรดประเทศฟินแลนด์ และช่องแคบ สแกเกอร์แรก (Skagerrak) ทางตะวันตกเฉียงใต้จรดช่องแคบแคทีแกต (Kattegat) และทางตะวันออกจรดทะเลบอลติก และอ่าวบอทเนีย มีกรุงสตอกโฮล์มเป็นเมืองหลวง ประเทศสวีเดนมีประชากรที่เบาบาง เว้นแต่ในเขตเมืองใหญ่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศประกอบด้วยป่าไม้ และภูเขาสูง

หลังจากสิ้นสุดยุคไวกิ้ง สวีเดนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพคาลมาร์ ร่วมกับเดนมาร์กและนอร์เวย์ (ในช่วงเวลานี้ ฟินแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสวีเดน) สวีเดนได้ออกจากสหภาพในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 และได้รบสู้กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะรัสเซีย และเดนมาร์กกับนอร์เวย์ที่ยังเป็นสหภาพอยู่ ซึ่งไม่ยอมรับการที่สวีเดนออกจากสหภาพ ในคริสศตวรรษที่ 17 สวีเดนได้ขยายเขตด้วยสงครามและกลายเป็นมหาอำนาจด้วยขนาด 2 เท่าของปัจจุบัน ถึงพ.ศ. 2457 สวีเดนได้สูญเสียพื้นที่ราชอาณาจักรรวมถึงฟินแลนด์ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสวีเดน ตั้งแต่พ.ศ. 2457 นั้น สวีเดนอยู่ในภาวะสันติ โดยที่มีนโยบายต่างประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในช่วงสันติและเป็นกลางระหว่างสงคราม

สวีเดนเป็นผู้ส่งออกเหล็ก ทองแดง และไม้ชั้นนำของยุโรปตั้งแต่สมัยยุคกลาง อย่างไรก็ดี การขนส่งและการคมนาคมที่ดีขึ้น ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากส่วนต่าง ๆ ของประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะไม้ และแร่เหล็ก การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการจัดการศึกษาทั่วไป ช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมขึ้นอย่างรวดเร็ว และในทศวรรษ 1890 ประเทศได้เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้เกิดระบบสวัสดิการของรัฐบาลขึ้น ปัจจุบัน สวีเดนมีความโน้มเอียงในทางเสรีนิยม และความต้องการความเท่าเทียมกันในสังคม และมักจะเป็นชาติที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของสหประชาชาติ

เนื้อหา

[แก้] การเมืองการปกครอง

สวีเดนมีการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีรัฐสภา

[แก้] พระประมุข

ตำแหน่งประมุขของสวีเดนเป็นของพระมหากษัตริย์ โดยพระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ พระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่เป็นตัวแทนสูงสุดของประเทศ แต่ไม่มีอำนาจทางการเมืองใดๆ รวมถึงไม่จำเป็นต้องลงพระนามในการตัดสินใจของรัฐสภาด้วย[3]

จากการแก้ไขกฎการสืบราชสมบัติในปีพ.ศ. 2522 ให้สิทธิเท่าเทียมกันกับรัชทายาททั้งชายและหญิง ทำให้ตำแหน่งรัชทายาทสูงสุดในปัจจุบันเป็นของเจ้าฟ้าหญิงวิกตอเรีย ซึ่งเสด็จพระราชสมภพในปีพ.ศ. 2520

[แก้] รัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญของสวีเดนประกอบด้วยกฎหมายมูลฐานสี่ฉบับ ได้แก่

  • Regeringsformen (เครื่องมือของรัฐบาล พ.ศ. 2517)
  • Successionsordningen (กฎการสืบราชสมบัติ พ.ศ. 2353)
  • Tryckfrihetsförordningen (พระราชบัญญัติเสรีภาพสื่อ พ.ศ. 2309)
  • Yttrandefrihetsgrundlagen (กฎหมายมูลฐานว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก พ.ศ. 2534)

การแก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับความเห็นชอบตรงกันจากรัฐสภาสองครั้ง โดยมีการเลือกตั้งทั่วไปคั่นกลาง นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติรัฐสภา พ.ศ. 2517 (Riksdagsordningen) ซึ่งมีสถานะพิเศษ สูงกว่ากฎหมายทั่วไป แต่อยู่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ[4]

[แก้] รัฐสภา

รัฐสภาของสวีเดน เรียกในภาษาสวีเดนว่า Riksdag มีอำนาจนิติบัญญัติ ใช้ระบบสภาเดี่ยวประกอบด้วยสมาชิก 349 คน มาจากการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี การเลือกตั้งนั้นใช้ระบบสัดส่วน โดยพรรคการเมืองจะต้องได้รับเสียงจากทั่วประเทศอย่างน้อยร้อยละ 4 หรืออย่างน้อยร้อยละ 12 ในเขตเลือกตั้ง จึงจะได้รับที่นั่งในรัฐสภา การเลือกตั้งจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยครั้งต่อไปในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปีในวันเลือกตั้ง[5]

ก่อนหน้านี้ สวีเดนเคยใช้ระบบสองสภามาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2403 และได้ยกเลิกไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปีพ.ศ. 2511-2512[6]

[แก้] รัฐบาล

หลังจากการเลือกตั้ง พรรคหรือกลุ่มที่ได้มีจำนวนเสียงสูงสุดจะจัดตั้งรัฐบาล โดยรัฐสภาจะเลือกนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล และนายกรัฐมนตรีเลือกรัฐมนตรีเข้าร่วมรัฐบาล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้แก่ เฟดริก รายน์เฟลท์ (Fredrik Reinfeldt) หัวหน้าพรรคโมเดอเรต ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2549[2]

[แก้] พรรคการเมือง

ปัจจุบัน สวีเดนมีพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภาอยู่ 7 พรรค[6] ได้แก่

ชื่อ ชื่อภาษาสวีเดน ปีที่ก่อตั้ง จำนวนสมาชิกในรัฐสภา
พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย Arbetarepartiet Socialdemokraterna พ.ศ. 2432
130
พรรคโมเดอเรต Moderata samlingspartiet พ.ศ. 2447
97
พรรคกลาง Centerpartiet พ.ศ. 2456
29
พรรคเสรีนิยม Folkpartiet liberalerna พ.ศ. 2445
28
พรรคคริสเตียนเดโมแครต Kristdemokraterna พ.ศ. 2507
24
พรรคซ้าย Vänsterpartiet พ.ศ. 2460
22
พรรคกรีน Miljöpartiet de Gröna พ.ศ. 2524
19

[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง

สวีเดนแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 21 มณฑล (län) [7] โดยมีดังต่อไปนี้ (พร้อมรหัสมณฑลอย่างเป็นทางการ)

Sweden counties.png
  • สตอกโฮล์ม (Stockholm - AB)
  • อุปซอลา (Uppsala - C)
  • เซอเดอร์มันลันด์ (Södermanland - D)
  • เอิสเตร์เยิตลันด์ (Östergötland - E)
  • เยินเชอปิง (Jönköping - F)
  • ครูนูแบร์ย (Kronoberg - G)
  • คาลมาร์ (Kalmar - H)
  • กทลันด์ (Gotland - I)
  • บเลกิงเง (Blekinge - K)
  • สโกเน (Skåne - M)
  • ฮัลลันด์ (Halland - N)
  • เวสตรา เยอตาลันด์ (Västra Götaland - O)
  • แวร์มลันด์ (Värmland - S)
  • เออเรบรู (Örebro - T)
  • แวสต์มันลันด์ (Västmanland - U)
  • ดอลาร์นา (Dalarna - W)
  • แยฟเลบอร์ย (Gävleborg - X)
  • เวสเตอร์นอร์ลันด์ (Västernorrland - Y)
  • แยมต์ลันด์ (Jämtland - Z)
  • เวสเตอร์บอตเตน (Västerbotten - AC)
  • นอร์บอตเตน (Norrbotten - BD)

ในแต่ละมณฑล ยังแบ่งออกเป็นเขตเทศบาล (kommun) ต่างๆ โดยปัจจุบันมีเขตเทศบาลรวมทั่วประเทศ 290 เขต[8]

[แก้] ภูมิศาสตร์

แผนที่ประเทศสวีเดน

สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่เหนือสุดของโลก มีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย สวีเดนมีชายฝั่งที่ค่อนข้างยาว จรดทะเลบอลติกและอ่าวบอทเนีย ทางตะวันตกมีเทือกเขาสแกนดิเนเวีย ทอดตามแนวพรมแดนกับประเทศนอร์เวย์

สวีเดนแบ่งออกเป็นสามภาคหลักๆ ได้แก่ Götaland ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เป็นที่ราบและมีป่าไม้ Svealand เป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์ และมีทะเลสาบจำนวนมาก และ Norrland เป็นภูมิภาคตอนเหนือของสวีเดน มีภูเขา ป่าไม้ และแร่ธาตุมาก ประมาณร้อยละสิบห้าของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศตั้งอยู่เหนือขึ้นไปจากอาร์กติกเซอร์เคิล

ถึงแม้ว่าสวีเดนจะตั้งอยู่ทางตอนเหนือมาก แต่กลับมีภูมิอากาศแบบอบอุ่น เนื่องจากอิทธิพลของกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ทางตอนเหนือของอาร์กติกเซอร์เคิล พระอาทิตย์ไม่ตกดินเลยในบางช่วงของฤดูร้อน และแทบไม่สามารถเห็นได้ในฤดูหนาว สวีเดนจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปรากฏการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืน

[แก้] เศรษฐกิจ

สวีเดนเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสูงมาก เกษตรกรรมที่ในเคยเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศมีการจ้างงานน้อยกว่าร้อยละสองของแรงงานทั้งหมดในปัจจุบัน[9] อุตสาหกรรมดั้งเดิมที่สำคัญของสวีเดนได้แก่ การป่าไม้ เหล็ก และไฟฟ้าพลังน้ำ แต่ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมขั้นสูงเช่นรถยนต์ อากาศยาน อาวุธ และเวชภัณฑ์ เข้ามามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างมาก การที่สวีเดนมีประชากรไม่สูงนัก ทำให้ตลาดภายในประเทศจำกัดและต้องพึ่งพาการส่งออก สวีเดนจึงเป็นแหล่งกำเนิดของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในตลาดโลกจำนวนมาก เช่น วอลโว ซาบ อีริกส์สัน อีเล็กโทรลักซ์ เอชแอนด์เอ็ม เป็นต้น

สวีเดนได้รับอันดับสามจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของเวิลด์อิโคโนมิกฟอรัมประจำปี 2006/07[10] สวีเดนมีการเก็บภาษีในอัตราที่สูง เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค และมีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง ธนาคารแห่งชาติสวีเดน Sveriges Riksbank เป็นธนาคารกลางที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2211[11] โดยปัจจุบัน ธนาคารให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของราคา มีเป้าหมายเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 2[2] ปัจจุบันสวีเดนยังคงใช้สกุลเงินโครนาสวีเดน โดยในปีพ.ศ. 2546 ได้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการใช้ค่าเงินยูโร ซึ่งร้อยละ 56 ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย[6][12]

[แก้] ประชากร

สิ้นปีพ.ศ. 2549 สวีเดนมีประชากร 9,113,257 คน[1] โดยประชากรได้เพิ่มเกินเก้าล้านคนครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 จำนวนประชากรที่เกิดในต่างประเทศนั้นสูงขึ้นอย่างมากในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยในช่วงเริ่มศตวรรษ มีประชากรที่เกิดต่างประเทศราว 36,000 คนจากประชากรทั้งหมด 5 ล้านคน ในปี 2547 ประชากรที่เกิดในต่างประเทศมีสูงกว่าหนี่งล้านคน[13] โดยเป็นผลมาจากการย้ายถิ่นฐานภายในกลุ่มนอร์ดิก การอพยพของแรงงานในช่วงต้น และผู้ลี้ภัยในช่วงต่อมา โดยสวีเดนเป็นประเทศที่มีผู้ย้ายเข้าสูงหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้อพยพจากนอกกลุ่มนอร์ดิกลดลงหลังจากนโยบายการย้ายเข้าประเทศใหม่ออกมาในปีพ.ศ. 2510

จากประชากรในปี 2548 กลุ่มที่ย้ายถิ่นฐานมาจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดมาจากประเทศฟินแลนด์ รองลงมาคือตุรกี เยอรมนี เดนมาร์ก นอร์เวย์ โปแลนด์ อิรัก อิหร่าน และอดีตยูโกสลาเวีย[13] ข้อมูลของผู้ที่ย้ายเข้าในปี 2548 แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เกิดในกลุ่มนอร์ดิกยังคงเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด มากถึงสองหมื่นคน โดยมากกว่าครึ่งเป็นผู้ที่เกิดในสวีเดนย้ายกลับเข้ามา นอกจากนี้ มากกว่า 16,000 คนมีต้นกำเนิดจากทวีปเอเชีย ราวครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้มาจากอิรัก อิหร่าน จีน และไทย[13]

ในปีพ.ศ. 2549 ชาวสวีเดนประมาณ 6.9 ล้านคนเป็นสมาชิกของคริสตจักรแห่งสวีเดน คิดเป็นร้อยละ 75 ของประชากรทั้งประเทศ โดยจำนวนสมาชิกลดลงเรื่อยๆทุกปี[14] คริสตจักรแห่งสวีเดนเป็นโบสถ์นิกายลูเธอรัน นิกายโรมันคาทอลิกในสวีเดนมีสมาชิกราว 80,500 คน นอกจากคริสต์ศาสนา ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ จากการอพยพเข้า[15] จากการสำรวจ "ยูโรบารอมิเตอร์" ในปีพ.ศ. 2548 ร้อยละ 23 ตอบแบบสอบถามว่าเชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริง[16]

ประเทศสวีเดนไม่มีภาษาทางการ โดยมีภาษาสวีเดนเป็นภาษาหลักของประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่พูด สวีเดนรับรองภาษาของชนกลุ่มน้อยห้าภาษา ได้แก่ ภาษาฟินแลนด์ เมแอนเกียลิ (Meänkieli) ภาษาซามิ ภาษาโรมานี และภาษายิดดิช ประเด็นเรื่องการให้ภาษาสวีเดนเป็นภาษาทางการถูกหยิบยกขึ้นมาในปีพ.ศ. 2548 แต่การลงคะแนนเสียงในรัฐสภาแพ้ไป 145-147[17]

[แก้] การจัดอันดับนานาชาติ

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 สำนักงานสถิติสวีเดน (อังกฤษ)
  2. ^ 2.0 2.1 2.2 ซีไอเอ เวิลด์แฟกต์บุก (อังกฤษ)
  3. ^ The Head of State เว็บไซต์รัฐบาลสวีเดน (อังกฤษ)
  4. ^ The Constitution เว็บไซต์รัฐสภาสวีเดน (อังกฤษ)
  5. ^ Elections เว็บไซต์รัฐสภาสวีเดน (อังกฤษ)
  6. ^ 6.0 6.1 6.2 ข้อมูลประเทศสวีเดน กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย
  7. ^ คณะกรรมการการปกครองมณฑลแห่งสวีเดน (อังกฤษ)
  8. ^ สมาคมการปกครองส่วนท้องถิ่นสวีเดน(อังกฤษ)
  9. ^ Sweden กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (อังกฤษ)
  10. ^ http://www.weforum.org/pdf/Global_Competitiveness_Reports/Reports/gcr_2006/sweden.pdf (อังกฤษ)
  11. ^ http://www.law.nyu.edu/centralbankscenter/texts/Swedish%20Central%20Bank-introduction.html (อังกฤษ)
  12. ^ Sweden says No to euro บีบีซีนิวส์ 15 กันยายน 2546 (อังกฤษ)
  13. ^ 13.0 13.1 13.2 Pocket Facts: Statistics on Integration The Swedish Integration Board (อังกฤษ)
  14. ^ สถิติสมาชิกคริสตจักรแห่งสวีเดน ปี 1972-2006 (สวีเดน)
  15. ^ Charlotte Celsing. Are Swedes losing their religion? 1 ก.ย. 2549 เรียกข้อมูลวันที่ 31 ก.ค. 2550 (อังกฤษ)
  16. ^ รายงานผลการสำรวจยูโรบารอมิเตอร์ (อังกฤษ)
  17. ^ Svenskan blir inte officiellt språk, Sveriges Television, 2005-12-07. เรียกข้อมูลวันที่ 25 ก.พ. 2551 (สวีเดน)
  18. ^ Human Development Report 2006. สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ. สืบค้นวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  19. ^ Worldwide Press Freedom Index 2007. องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน. สืบค้นวันที่ 2007-10-19 (อังกฤษ)
  20. ^ Corruption Perceptions Index 2007. Transparency International. สืบค้นวันที่ 2007-10-19 (อังกฤษ)
  21. ^ "สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และ สวีเดน ติด 3 อันดับแรกประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลก", ThaiEurope.net, 2006-09-27. สืบค้นวันที่ 2007-03-31
  22. ^ "US loses top competitiveness spot", BBC News, 2006-09-26. สืบค้นวันที่ 2007-05-28 (อังกฤษ)
  23. ^ Save the Children. State of the World's Mothers (อังกฤษ)

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น