ศาสนาอิสลาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ส่วนหนึ่งของ
ศาสนาอิสลาม


Mosque02.svg
ประวัติศาสนาอิสลาม
พระเจ้า
อัลลอฮฺ
ศาสดา
มุฮัมมัด
การปฏิบัติ
ปฎิญานตน · ละหมาด· ศีลอด · ซะกาต · ฮัจญ์
บุคคลสำคัญ
มุฮัมมัด · อีซา · มูซา · อิบรอฮีม · นุหฺ
คัมภีร์และหนังสือ
อัลกุรอาน · เตารอต · อินญีล · ซะบูร
จุดแยกอะกีดะห์
ซุนนี · ชีอะหฺ
สังคมศาสนาอิสลาม
เมือง · ปฏิทิน ·มัสยิด· สถาปัตยกรรม · ศิลปะ · บุคคล
ดูเพิ่มเติม
จิฮาด · ศัพท์ · หมวดหมู่ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาสำคัญศาสนาหนึ่งของโลก มีคนนับถือประมาณ 1,600 ล้านคน นับว่ามีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสองในโลก พื้นที่รวมของกลุ่มประเทศมุสลิมทั้งหมดประมาณ 34,722,286 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ลองจิจูด 141 องศาตะวันออก ทางด้านตะวันออกของเขตพรมแดนประเทศอินโดนีเซีย ทอดยาวไปจนถึงลองจิจูด 17.29 องศาตะวันตก ณ กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล (Senegal) ซึ่งอยู่ในภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา จนถึงละติจูด 55.26 องศาเหนือ บริเวณเส้นเขตแดนตอนเหนือของประเทศคาซัคสถาน ทอดยาวเรื่อยไปจนถึงเส้นเขตแดนทางตอนใต้ของประเทศแทนซาเนีย ที่ละติจูด 11.44 องศาใต้

ในโลกของเรานี้มีจำนวนประเทศกว่า 200 ประเทศ เป็นประเทศมุสลิมกว่า 67 ประเทศ ในประเทศไทยมีศาสนาอิสลามเข้ามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ศาสดาของศาสนาอิสลามคือ มุฮัมหมัด

ศาสนาอิสลาม คือ ความศรัทธา ข้อบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติและจริยธรรม ซึ่งบรรดาศาสดา ที่อัลลอฮฺ ได้ประทานลงมาเป็นผู้นำ เพื่อมาสั่งสอนและแนะนำแก่มวลมนุษยชาติ สิ่งทั้งหมดเหล่านี้เรียกว่า ดีน หรือ ศาสนา นั่นเอง ผู้ที่มีความศรัทธาจะตระหนักอยู่เสมอว่า ชีวิตของเขาได้พันธนาการเข้ากับอำนาจสูงสุดของพระผู้ทรงสร้างโลก ในทุกสถานภาพของเขาจะรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า และมอบหมายตนเองให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระองค์ตลอดเวลา เขาเป็นผู้มีจิตใจมั่นคงและมีสมาธิเสมอ

เนื้อหา

[แก้] ความหมายของ อิสลาม

อิสลามคือรูปแบบการดำเนินชีวิตทีถูกกำหนดโดยผู้ที่รู้รายละเอียดของมนุษย์มากที่สุดก็คือผู้สร้าง..อัลลอฮฺ

คำว่า อัลลอฮฺ แปลว่า พระเจ้า ซึ่งเป็นคำเรียกเฉพาะที่แยกออกจากคำในภาษาอาหรับอื่นๆที่มีความหมายว่า พระเจ้า

อิสลาม เป็นคำภาษาอาหรับ (ภาษาอาหรับ: الإسلام) แปลว่า การสวามิภักดิ์ ซึ่งหมายถึงการสวามิภักดิ์อย่างบริบูรณ์แด่ อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า ด้วยการปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ อิสลาม มีรากศัพท์มาจากคำว่า อัส-สิลมฺ หมายถึง สันติ โดยนัยว่าการสวามิภักดิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้าจะทำให้มนุษย์ได้พบกับสันติภาพทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนามนุษยชาติตลอดกาล ตั้งแต่แรกเริ่มของการกำเนิดของมนุษย์ คือนบีอาดำ ผ่านศาสดามาหลายท่านในแต่ละยุคสมัย จนถึงศาสดาท่านสุดท้ายคือมุฮัมหมัด และส่งผ่านมายังปัจจุบันและอนาคต จนถึงวันสิ้นโลก

บรรดาศาสนทูตในอดีตล้วนแต่ได้รับมอบหมายให้สอนศาสนาอิสลามแก่มนุษยชาติ ศาสนทูตท่านสุดท้ายคือมุฮัมหมัด บุตรของอับดุลลอฮฺ บินอับดิลมุฏฏอลิบ จากเผ่ากุเรชแห่งอารเบีย ได้รับมอบหมายให้เผยแผ่สาส์นของอัลลอฮ์ในช่วงปี ค.ศ. 610 - 633 เฉกเช่นบรรดาศาสดาในอดีต โดยมี มะลักญิบรีล เป็นสื่อระหว่างอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าและบรรดาศาสดาท่านต่างๆมาโดยตลอด

พระโองการแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่ทะยอยลงมาในเวลา 23 ปี ได้รับการรวบรวมขึ้นเป็นเล่มมีชื่อว่า อัลกุรอาน ซึ่งเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตมนุษย์ และแบบอย่าง และวจนะที่รายงานโดยบุคคลรอบข้างที่ผ่านการกลั่นกรองสายรายงานแล้วเรียกว่า ฮะดีษ เพื่อที่มนุษย์จะได้ยึดเป็นแบบอย่าง และแนวทางในการครองตนบนโลกนี้อย่างถูกต้องก่อนกลับคืนสู่พระผู้เป็นเจ้า

สาส์นแห่งอิสลามที่ถูกส่งมาให้แก่มนุษย์ทั้งมวลมีจุดประสงค์หลัก 3 ประการคือ:

  1. เป็นอุดมการณ์ที่สอนมนุษย์ให้ศรัทธาในอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว ที่สมควรแก่การเคารพบูชาและภักดีโดยไม่นำสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเทียบเคียง ศรัทธาในความยุติธรรมของพระองค์ ศรัทธาในพระโองการแห่งพระองค์ ศรัทธาในวันปรโลก วันซึ่งมนุษย์ฟื้นคืนชีพอีกครั้งเพื่อรับการพิพากษา และรับผลตอบแทนของความดีความชั่วที่ตนได้ปฏิบัติไปในโลกนี้ มั่นใจและไว้วางใจต่อพระองค์ เพราะพระองค์คือที่พึ่งพาของทุกสรรพสิ่ง มนุษย์จะต้องไม่สิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์ และพระองค์คือปฐมเหตุแห่งคุณงามความดีทั้งปวง
  2. เป็นธรรมนูญสำหรับมนุษย์ เพื่อให้เกิดความสงบสุขในชีวิตส่วนตัว และสังคม เป็นธรรมนูญที่ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ หรือนิติศาสตร์ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ไปจนกระทั่งระดับรัฐ อิสลามสั่งสอนให้มนุษย์อยู่กันด้วยความเป็นมิตร ละเว้นการรบราฆ่าฟันโดยไม่มีเหตุอันควร การทะเลาะเบาะแว้ง การละเมิดและรุกรานสิทธิของผู้อื่น ไม่ลักขโมย ฉ้อฉล หลอกลวง ไม่ผิดประเวณี หรือทำอนาจาร ไม่ดื่มของมึนเมาหรือรับประทานสิ่งที่เป็นโทษต่อร่างกายและจิตใจ ไม่บ่อนทำลายสังคมแม้ว่าในรูปแบบใดก็ตาม
  3. เป็นจริยธรรมอันสูงส่งเพื่อการครองตนอย่างมีเกียรติ เน้นความอดกลั้น ความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเมตตากรุณา ความกตัญญูกตเวที ความสะอาดของกายและใจ ความกล้าหาญ การให้อภัย ความเท่าเทียม และความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ การเคารพสิทธิของผู้อื่น สั่งสอนให้ละเว้นความตระหนี่ถี่เหนียว ความอิจฉาริษยา การติฉินนินทา ความเขลาและความขลาดกลัว การทรยศและอกตัญญู การล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น

อิสลามเป็นศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นทางนำในการดำรงชีวิตทุกด้านตั้งแต่ตื่นจนหลับ และตั้งแต่เกิดจนตาย แก่มนุษย์ทุกคน ไม่ยกเว้น อายุ เพศ เผ่าพันธุ์ วรรณะ ฐานันดร หรือ ยุคสมัย ใด

[แก้] หลักคำสอน

หลักคำสอนของศาสนาอิสลามแบ่งไว้ 3 หมวดดังนี้

  1. หลักการศรัทธา
  2. หลักจริยธรรม
  3. หลักการปฏิบัติ

[แก้] หลักการศรัทธา

อิสลามสอนว่า ถ้าหากมนุษย์ พิจารณาด้วยสติปัญญาและสามัญสำนึกจะพบว่า จักรวาลและมวลสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ มิได้อุบัติขึ้นมาด้วยตัวเอง เป็นที่แน่ชัดว่า สิ่งเหล่านี้ได้ถูกอุบัติขึ้นมาโดยพระผู้สร้าง ผู้ทรงสูงสุดเพียงพระองค์เดียว ที่ไม่แบ่งภาค หรือแบ่งแยกเป็นสิ่งใด ไม่ถูกบังเกิด ไม่ถูกกำเนิด และไม่ให้กำเนิดบุตร ธิดาใดๆ ผู้ทรงสร้าง และบริหารสรรพสิ่งด้วยอำนาจและความรอบรู้ที่ไร้ขอบเขต ทรงกำหนดกฎเกณฑ์ที่โดยทั่วไปไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือไว้ทั่วทั้งจักรวาลหรือที่เข้าใจว่าเป็น"กฎธรรมชาติ" ทรงขับเคลื่อนจักรวาลด้วยระบบที่ละเอียดอ่อน มีเป้าหมาย ซึ่งไม่มีสรรพสิ่งใดถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร้สาระ

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตา ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาอย่างประเสริฐจะเป็นไปได้อย่างไร ที่พระองค์จะปล่อยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ไปตามลำพัง โดยไม่ทรงเหลียวแล หรือปล่อยให้สังคมมนุษย์ และสิ่งมีชีวิต กำเนิดขึ้น แล้วดำเนินไปตามยถากรรมของตัวเอง สภาวะแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่จึงเป็นความพอดีอย่างทีสุดที่ผู้ใช้ปัญญา ไม่สามารถอธิบายได้ด้วย"ความบังเอิญ" สอดคล้องตามทฤษฎีความน่าจะเป็นทางคณิตศาสตร์

พระองค์ทรงขจัดความสงสัยเหล่านี้ ด้วยการประทานกฎการปฏิบัติต่าง ๆ ผ่านบรรดาศาสดา ให้มาสั่งสอนและแนะนำมนุษย์ไปสู่การปฏิบัติ สำหรับการดำเนินชีวิต แน่นอนมนุษย์อาจมองไม่เห็นผล หรือได้รับประโยชน์จากการทำความดี หรือได้รับโทษจากการทำชั่ว ของตนในชีวิตบนโลกนี้ ที่เป็นเพียงโลกแห่งการทดสอบ โลกแห่งการตอบแทนที่แท้จริงยังมาไม่ถึง

จากจุดนี้ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า ต้องมีสถานที่อื่นอีก อันเป็นสถานที่ตรวจสอบการกระทำของมนุษย์ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้าเป็นความดีพวกเขาจะได้รับรางวัลเป็นผลตอบแทน แต่ถ้าเป็นความชั่วกจะถูกลงโทษไปตามผลกรรมนั้น ศาสนาได้เชิญชวนมนุษย์ไปสู่หลักการศรัทธา และความเชื่อมั่นที่สัตย์จริง พร้อมพยายามผลักดันมนุษย์ ให้หลุดพ้นจากความโง่เขลาเบาปัญญา ระบอบการกดขี่ การแบ่งชั้นวรรณะ และบังเกิดสันติสุขของมนุษยชาติโดยรวมในที่สุด

[แก้] หลักศรัทธาอิสลามแนวท่านศาสดาที่เชื่อถือได้ (ซุนนีย์)

  1. ศรัทธาว่าอัลลอฮฺเป็นพระเจ้า
  2. ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ต่าง ๆ ที่อัลลอหฺประทานลงมาในอดีต เช่น เตารอต อินญีล ซะบูร และอัลกุรอาน
  3. ศรัทธาในบรรดาศาสนทูตต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺได้ทรงส่งมายังหมู่มนุษย์ และนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นศาสนทูตคนสุดท้าย
  4. ศรัทธาในบรรดามะลาอิกะฮฺ บ่าวผู้รับใช้อัลลอฮฺ
  5. ศรัทธาในวันสิ้นสุดท้าย คือหลังจากสิ้นโลกแล้ว มนุษย์จะฟื้นขึ้น เพื่อรับการตอบสนองความดีความชั่วที่ได้ทำไปบนโลกนี้
  6. ศรัทธาในกฎสภาวะ หรือ สิ่งที่เป็นการกำหนด และเงื่อนไขการกำหนดจากพระผู้เป็นเจ้า

[แก้] หลักจริยธรรม

ศาสนาสอนว่า ในการดำเนินชีวิตจงเลือกสรรเฉพาะสิ่งที่ดี อันเป็นที่ยอมรับของสังคม จงทำตนให้เป็นผู้ดำรงอยู่ในศีลธรรม พัฒนาตนเองไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ดี เป็นคนที่รู้จักหน้าที่ ห่วงใย มีเมตตา มีความรัก ซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น รู้จักปกป้องสิทธิของตน ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นผู้มีความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว และหมั่นใฝ่หาความรู้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นคุณสมบัติของผู้มีจริยธรรม ซึ่งความสมบูรณ์ทั้งหมดอยู่ที่ความยุติธรรม

[แก้] หลักการปฏิบัติ

ศาสนาสอนว่า กิจการงานต่าง ๆ ที่จะทำนั้น มีความเหมาะสมกับตนเองและสังคม ขณะเดียวกันต้องออกห่างจากการงานที่ไม่ดี ที่สร้างความเสื่อมเสียอย่างสิ้นเชิง

ส่วนการประกอบคุณงามความดีอื่น ๆ การถือศีลอด การนมาซ และสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งเหล่านี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นบ่าวที่จงรักภักดี และปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ กฎเกณฑ์และคำสอนของศาสนา ทำหน้าที่คอยควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ทั้งที่เป็นหลักศรัทธา หลักปฏิบัติและจริยธรรม

เราอาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ละเมิดคำสั่งต่าง ๆ ของศาสนา มิได้ถือว่าเขาเป็นผู้ที่ศรัทธาอย่างแท้จริง หากแต่เขากระทำการต่าง ๆ ไปตามอารมณ์และความต้องการใฝ่ต่ำของเขาเท่านั้น

ศาสนาอิสลามในความหมายของอัล-กุรอานนั้น หมายถึง "แนวทางในการดำเนินชีวิต ที่มนุษย์จะปราศจากมันไม่ได้" ส่วนความแตกต่างระหว่างศาสนากับกฎของสังคมนั้น คือศาสนาได้ถูกประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้า ส่วนกฎของสังคมเกิดขึ้นจากความคิดของมนุษย์ อีกนัยหนึ่ง ศาสนาอิสลามหมายถึง การดำเนินของสังคมที่เคารพต่ออัลลอหฺ และเชื่อฟังปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์

อัลลอฮ์ ทรงตรัสเกี่ยวกับศาสนาอิสลามว่า "แท้จริง ศาสนา ณ อัลลอฮฺ คืออิสลาม และบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์มิได้ขัดแย้งกัน นอกจากภายหลังที่ความรู้มาปรากฏแก่พวกเขาเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากความอิจฉาริษยาระหว่างพวกเขาเอง และผู้ใดปฏิเสธต่อบรรดาโองการของอัลลอฮ์แล้วไซร้ แน่นอน อัลลอฮ์ทรงเป็นผู้ทรงรวดเร็วในการชำระ" (อัลกุรอาน อาลิอิมรอน:19)

[แก้] ศาสนวินัย นิติศาสตร์และการพิพากษา

  1. วาญิบ คือหลักปฏิบัติภาคบังคับที่มุกัลลัฟ (มุสลิมผู้อยู่ในศาสนนิติภาวะ) ทุกคน ต้องปฏิบัติตาม ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงทัณฑ์ เช่นการปฏิบัติตาม ฐานบัญญัติของอิสลาม (รุกน) ต่าง ๆ การศึกษาวิทยาการอิสลาม การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เป็นต้น
  2. ฮะรอม คือกฏบัญญัติห้ามที่มุกัลลัฟทุกคนต้องละเว้น ผู้ที่ไม่ละเว้นจะต้องถูกลงทัณฑ์
  3. ฮะลาล คือกฏบัญญัติอนุมัติให้มุกัลลัฟกระทำได้ อันได้แก่ การนึกคิด วาจา และการกระทำที่ศาสนาได้อนุมัติให้ เช่น การรับประทานเนื้อปศุสัตว์ที่ได้รับการเชือดอย่างถูกต้อง การค้าขายโดยสุจริตวิธี การสมรสกับสตรีตามกฏเกณฑ์ที่ได้ระบุไว้ เป็นต้น
  4. มุสตะฮับ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ซุนนะฮฺ (ซุนนะห์, ซุนนัต) คือกฏบัญญัติชักชวนให้มุสลิม และมุกัลลัฟกระทำ หากไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนศาสนวินัย โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรม เช่นการใช้น้ำหอม การขริบเล็บให้สั้นเสมอ การนมาซนอกเหนือการนมาซภาคบังคับ
  5. มักรูฮฺ คือกฏบัญญัติอนุมัติให้มุกัลลัฟกระทำได้ แต่พึงละเว้น คำว่า มักรูหฺ ในภาษาอาหรับมีความหมายว่า น่ารังเกียจ โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรม เช่นการรับประทานอาหารที่มีกลิ่นน่ารังเกียจ การสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ขัดต่อกาลเทศะ เป็นต้น
  6. มุบาฮฺ คือสิ่งที่กฏบัญญัติไม่ได้ระบุเจาะจง จึงเป็นความอิสระสำหรับมุกัลลัฟที่จะเลือกกระทำหรือละเว้น เช่นการเลือกพาหนะ อุปกรณ์เครื่องใช้ หรือ การเล่นกีฬาที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติห้าม

[แก้] ฐานบัญญัติอิสลาม (รุกุน) ของซุนนีย์

  1. การปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอหฺและมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอหฺ
  2. ดำรงการละหมาด วันละ 5 เวลา
  3. จ่ายซะกาต
  4. ถือศีลอดในเดือนรอมะฎอนทุกปี
  5. บำเพ็ญฮัจญ์ หากมีความสามารถ

[แก้] กฎบัญญัติห้ามในอิสลาม (ฮะรอม)

  1. การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ
  2. การแหนงหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ
  3. การหมดหวังในความเมตตาต่ออัลลอฮฺ
  4. การเชื่อว่าสามารถรอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮฺ
  5. การสังหารชีวิตผู้ไม่มีความผิด
  6. การเนรคุณต่อมารดาและบิดา
  7. การตัดขาดจากญาติพี่น้อง
  8. การกินทรัพย์สินของลูกกำพร้าโดยอธรรม
  9. การกินดอกเบี้ย
  10. การผิดประเวณี
  11. การรักร่วมเพศระหว่างชาย
  12. การใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ว่าทำผิดประเวณีหรือรักร่วมเพศ
  13. การดื่มสุราเมรัยหรือทำการใดที่เกี่ยวข้องกับสุราเมรัย
  14. เล่นการพนัน
  15. การอยู่กับการละเล่นบันเทิง
  16. การฟังหรือขับร้องเพลงและเล่นดนตรี
  17. การพูดเท็จ
  18. การสาบานเท็จ
  19. การเป็นพยานเท็จ
  20. การไม่ยอมให้การหรือเป็นพยาน
  21. การผิดสัญญา
  22. การทำลายไม่รับผิดชอบสิ่งที่ได้รับมอบหมาย
  23. การขโมยลักทรัพย์
  24. การหลอกลวง
  25. การรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่ได้มาโดยทุจริตวิธี
  26. การไม่ยอมจ่ายหนี้หรือเหนี่ยวรั้งทรัพย์สินของผู้อื่น
  27. การหนีจากสงครามศาสนา
  28. การกลับคืนสู่อวิชชาหลังจากได้เรียนรู้สัจธรรมอิสลามแล้ว
  29. การฝักใฝ่กับผู้อธรรม
  1. การไม่ช่วยเหลือผู้ถูกอธรรม
  2. การเรียนและทำคุณไสย
  3. ความฟุ่มเฟือย
  4. ความเย่อหยิ่งทรนง
  5. การต่อสู้กับศรัทธาชน
  6. รับประทานซากสัตว์ เลือด เนื้อสุกร และสัตว์ที่ไม่ได้ถูกเชือดตามหลักศาสนา
  7. การละทิ้งการนมาซ (ละหมาด)
  8. การไม่จ่ายซะกาต
  9. การไม่ใยดีต่อการทำฮัจญ์
  10. การละทิ้งกฎบัญญัติศาสนา เช่น การถือศีลอด ญิฮาด การสั่งทำความดี การห้ามทำความชั่ว
  11. การทำบาปเล็กบาปน้อยจนเป็นกิจวัตร
  12. การนินทากาเล
  13. การยุยงให้ผู้คนแตกแยกกัน
  14. การวางแผนหลอกลวงผู้อื่น
  15. อิจฉาริษยา
  16. การกักตุนสินค้าจนทำให้ข้าวยากหมากแพง
  17. การตั้งตัวเป็นศัตรูต่อศรัทธาชน
  18. การรักร่วมเพศระหว่างหญิง
  19. การเป็นแมงดาหรือแม่เล้าติดต่อให้แก่โสเภณี การยินยอมให้ภรรยาและบุตรีผิดประเวณี
  20. การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง (มีทัศนะว่า น่ารังเกียจ)
  21. การทำการอุตริในศาสนา
  22. การพิพากษาคดีด้วยความฉ้อฉล
  23. การทำสงครามในเดือนต้องห้ามทั้งสี่ คือ ซุลกออิดะฮฺ ซุลฮิจญะหฺ มุฮัรรอม และรอญับ นอกจากจะเป็นฝ่ายถูกรุกราน
  24. การล่วงละเมิดสิทธิของศรัทธาชนด้วยการล้อเล่น ลบหลู่ ดูหมิ่น เหยียดหยาม ด่าทอ
  25. การหักห้ามกีดกันผู้อื่นเข้าสู่สัจธรรม
  26. การเนรคุณต่อคุณงามความดีของอัลลอหฺ
  27. การก่อเหตุวุ่นวายในสังคม
  28. การขายอาวุธแก่ที่ก่อความไม่สงบสุข
  29. การใส่ร้ายผู้อื่น
  30. การไม่ให้ความเคารพต่ออัลลอฮฺ
  31. การลบหลู่ดูหมิ่นต่อกะอฺบะฮฺ
  32. การลบหลู่ดูหมิ่นต่อมัสยิด
  33. การที่บุรุษสวมใส่ผ้าไหมและผ้าแพร
  34. การใช้ภาชนะทำด้วยทองคำและเงิน
  • ด้านสิทธิมนุษยชน (Apostasy in Islam) ในมุมมองของคนไม่ใช่มุสลิม กฎหมายอิสลามมีการลงโทษที่รุนแรงเกินโทษที่ควรได้รับ โดยการเฆี่ยน ตัดมือ ประหารโดยการขว้างด้วยหิน แต่กระนั้นการที่อิสลามมีบทบัญญัติการลงโทษที่รุนแรงนั้นเนื่องจาก อิสลามเน้นการป้องกันปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา อีกทั้งบทลงโทษที่รุนแรงส่วนใหญ่จะใช้สำหรับความผิดที่ก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวหรือไม่ก็ส่งผลต่อคนหมู่มาก และเป็นความผิดที่มีข้อพิสูจน์ หรือหลักฐานที่ชัดเจน เช่นผู้ที่ถูกขว้างด้วยหิน คือผู้ที่มีพยาน 4 คนรู้เห็นการร่วมเพศอย่างชัดเจนของผู้ที่แต่งงานแล้ว จึงเห็นได้ว่าสถิติการก่ออาชญากรรม การหย่าร้าง การทำแท้ง หรือการแพร่ระบาดของกามโรคต่างๆในประเทศที่บังคับใช้กฎหมายอิสลาม จะน้อยกว่าประเทศเสรีอย่างเห็นได้ชัด

[แก้] ข้อโต้แย้งที่เกี่ยวกับบทวิจารณ์เกี่ยวกับอิสลาม ในมุมมองของอิสลาม

1. อิสลามกับการก่อการร้าย ( Islamic terrorism )....พื้นที่ที่มีชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะมีปัญหาขัดแย้ง มีสงครามเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเพราะศาสนาสอนให้ใช้ความรุนแรง แต่หากพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้ว เบื้องหลังปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเมือง และผลประโยชน์แทบทั้งสิ้น เช่น การล่าอาณานิคมในรูปแบบต่างๆของตะวันตก การแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะน้ำมัน การยึดดินแดนอย่างตรงไปตรงมาของอิสราเอลที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจ การต้องการแบ่งแยกดินแดนจากการกดขี่ เป็นต้น แต่ฉากหน้าเป็นการให้ข้อมูลบิดเบือนในสงครามข่าวสารที่คู่กรณียึดครองเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ในบางการกระทำ ก็เป็นข้ออ้างกลุ่มคนที่บ่อนทำลายศาสนาทั้งมุสลิมี่รับผลประโยชน์ต่างตอบแทนเอง และคู่กรณี โดยอ้างว่า มุสลิมกลุ่มนั้น กลุ่มนี้เป็นผู้กระทำ และในส่วนของคนบางกลุ่มที่อ้างเหตุก่อความรุนแรงว่ามาจากคำสอนของอิสลาม อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเป็นกลุ่มคนขาดการศึกษาศาสนาที่โดนล้างสมองจากคนทีไม่หวังดีก็เป็นได้

2. เกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอ่าน (Criticism of the Qur'an) ....กุรอ่านถูกกล่าวหาว่าถูกแต่งเติม หรือผิดพลาด มากมาย อีกทั้งมีการขุดค้นพบอัลกุรอ่านฉบับเก่าแก่กว่าที่ใช้ในปัจจุบันที่ประเทศเยเมนชื่อว่า * Sana'a_manuscripts มุสลิมถือว่าคัมภีร์กุรอาน เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์ที่พินิจพิเคราะห์อย่างแท้จริงสามารถสัมผัสได้ ในหัวข้อที่กล่าวหาว่าคัมภีร์อัลกุรอ่านอธิบายปรากฏการณ์ด้านดาราศาสตร์และกระบวนการวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการยอมรับและไม่ยอมรับ

3. ด้านสิทธิมนุษยชน (Apostasy in Islam)....อิสลามถูกมองว่าไม่ยุติธรรมในเรื่องสถานภาพของผู้หญิง เช่นเป็นผู้นำประเทศ เป็นต้น แม้อิสลามไม่ได้ให้อำนาจผู้หญิงมีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้เท่าผู้ชายในบางเรื่อง แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะพบว่าอิสลามก็เป็นศาสนาที่ให้เกียรติ และปกป้องผู้หญิงมากเป็นอันดับต้นๆ และให้สิทธิ์ และหน้าที่ผู้หญิงให้สนับสนุนผู้ชาย และได้รับการปกป้องโดยเพศชาย...โดยเฉพาะในเรืองการแต่งกายอิสลามจะแก้ปัญหาต่างๆที่ต้นปัญหา จึงให้ผู้หญิงและผู้ชายปิดเท่าทีจะส่อไปในทางความชั่วด้านจิตใจและอารมณ์ อิสลามถือว่าการมองสรีระของเพศตรงข้ามโดยตั้งใจ เป็นสิ่งต้องห้าม และให้ลดสายตาลงต่ำขณะเดินทางออกนอกบ้าน และการแบ่งแยกหญิงชายในแต่ละสถานที่อย่างเป็นสัดเป็นส่วน อิสลามส่งเสริมให้ผู้ชายทำหน้าที่หลักในการหาเลี้ยงครอบครัว และผู้หญิงทำหน้าที่หลักในการเลี้ยงดูบุตร และดูแลบ้าน ในเรืองการศึกษาอิสลามไม่ได้ห้ามไม่ให้ผู้หญิงศึกษาแต่อิสลามกลับส่งเสริมให้ทุกคนศึกษาหาความรู้ตั้งแต่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพในทุกสาขาวิชาที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะความรู้ด้านศาสนา ที่จำเป็นที่จะต้องศึกษาให้รู้และเข้าใจในทุกด้าน การลงโทษประหารชีวิตพวกรักร่วมเพศ และผู้ที่ทำประเวณีนอกสมรสสำหรับผู้ที่ผ่านการแต่งงานมาแล้วนั้น อิสลามถือเป็นการกระทำที่ชั่วช้าอย่างยิ่งเพราะอิสลามเป็นศาสนาที่ให้มนุษย์ดำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์ อิสลามจึงมีมาตรการที่เห็นผลในการหยุดพฤติกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียแก่มนุษย์ในวงกว้าง พฤติกรรมที่สร้างค่านิยมเลียนแบบได้ง่าย และการสำส่อน ทั้งที่อิสลามเปิดกว้างเรื่องการแต่งงานหลายคนอย่างมีเงื่อนไข แต่ต้องไม่เกิน 4 คน และต้องสามารถให้ความยุติธรรม และเท่าเทียมกันได้ ซึ่งหาได้ยากยิ่งที่จะมีระบอบที่ยกระดับผู้หญิงให้มีสถานะสูงขึ้นมาได้ เป็นการแก้ปัญหาการกดขี่ทางเพศโดยสัญชาติญาณเพศชาย และค่านิยม สอดรับกับข้อเท็จจริงทางเพศ และความเป็นจริงในปัจจุบันที่สัดส่วนทางเพศประชากรเปลี่ยนแปลงไป

[แก้] หมายเหตุ

ในศาสนาอิสลามนั้นไม่มีคำว่า นิกาย แต่จะใช้คำว่า มัซฮับ แทน (แปลว่า แนวทาง) ซึ่ง มีอยู่เพียง 4 มัซฮับเท่านั้น เนื่องจากแนวทางในแต่ละแนวทางไม่ได้แตกต่างกันมากนักและเป็นสิงที่ศาสนะทูตอาจเคยกระทำไว้ทั้งสิ้น หรือเป็นสิ่งที่มีหลักฐานการรายงาน แม้จะถูกคัดกรองในภายหลังแล้วว่าความน่าเชื่อถือของผู้รายงานในแต่ละเรื่องมีความน่าเชื่อถือไม่เท่าเทียมกันก็ตาม ..ส่วนนิกายอื่นเช่นชีอะฮ์ หรือ กอดญานีย์ ล้วนถูกปฏิเสธจากผู้สังกัดทั้งสองว่าอีกฝ่ายยังถือว่าเป็นศาสนาอิสลามทั้งสิ้น [1]

[แก้] อ้างอิง

http://www.mureed.com/

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น