งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พิธีเปิดการแข่งขันครั้งที่ 66 ของจุฬาฯ และ ธรรมศาสตร์
สัญลักษณ์ประจำการแข่งขันครั้งที่ 66 ของจุฬาฯ และ ธรรมศาสตร์
สัญลักษณ์ประจำการแข่งขันครั้งที่ 64 ของจุฬาฯ และ ธรรมศาสตร์

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หรือ งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ (อังกฤษ: CU-TU Traditional Football )(แล้วแต่ว่าปีนั้นสถาบันไหนเป็นเจ้าภาพ โดยจะเรียกชื่อเจ้าภาพนำก่อน ซึ่งทั้งสองสถาบันจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ ฝ่ายละปี) เป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมฟุตบอลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนมกราคม ความสนุกของงานรวมไปถึงการเข้าเชียร์และการแปรอักษรจากกองเชียร์ของทั้งสองฝ่าย มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และเก็บค่าผ่านประตู ทั้งนี้ รายได้ทั้งหมดจากการจัดงานจะมอบเป็นการกุศล

งานฟุตบอลประเพณีนี้จะแตกต่างจากกีฬามหาวิทยาลัยโดยทั่วไปคือ นักกีฬาของทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นนิสิตนักศึกษาปัจจุบัน จากทางมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยมักจะให้นิสิตนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าที่เป็นนักฟุตบอล ทีมชาติของประเทศไทยมาแข่งขันกัน โดยภาพรวมของตัวงาน อาจจะแบ่งกิจกรรมภายในงานได้เป็น 2 ส่วนคือการแข่งขันฟุตบอลและกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา เช่น การเดินพาเหรด การเชียร์และการแปรอักษร

จุดสนใจอีกอย่างหนึ่งของงานนี้ก็คือ การล้อการเมืองโดยนิสิตนักศึกษา โดยก่อนการแข่งขันจะมีขบวนพาเหรดล้อการเมือง ประกอบด้วยหุ่นและป้ายข้อความล้อการเมืองต่าง ๆ และในการแปรอักษรก็จะมีการสอดแทรกเสียดสีการเมืองเป็นระยะ

ผลการแข่งขันถึงปัจจุบัน (2553) ธรรมศาสตร์ชนะ 22 ครั้ง จุฬาฯ ชนะ 13 ครั้ง เสมอ 31 ครั้ง

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

งานฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นงานเพื่อสานสามัคคีที่ควรค่าแก่การจดจำสำหรับนิสิตนักศึกษาทั้ง 2 สถาบัน

งานฟุตบอลประเพณีได้ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 จากบัดนั้นถึงบัดนี้เป็นเวลาล่วงเลยมากว่า 75 ปีแล้ว

ย้อนอดีตไปเมื่อ 75 ปีที่แล้ว กลุ่มนักเรียนกลุ่มหนึ่งต้องการให้ 2 มหาวิทยาลัยซึ่งใหญ่ที่สุดในขณะนั้นในประเทศไทย รักใคร่ เข้าใจกัน กลมเกลียวกัน จึงหารือกัน ระหว่างนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่ไปเรียนทางจุฬาฯ และ ทางธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีการมองกันว่า จุฬาฯ เป็นนักเรียนที่จบชั้นมัธยม 8 แต่ธรรมศาสตร์จะเป็นนักเรียนที่ไม่จบ จึงมีการมองว่าดูถูกกัน จึงอยากจะให้เข้าใจรักใคร่กัน รวมถึงมีความรู้สึกกันว่า ไม่ได้สนิทสนมกันเหมือนเดิม และเป็นคนละพวกกัน ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบัน ได้จัดกิจกรรมสานความสามัคคีและสร้างความปรองดองระหว่างกัน ด้วยการแข่งขันกีฬาฟุตบอล

การจัดแข่งขันกีฬาฟุตบอลนั้นมีที่มาจากกลุ่มผู้ริเริ่มได้เล็งเห็นถึงความสามัคคีของ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แห่งสหราชอาณาจักร ที่จัดการแข่งขันเรือประเพณีสืบต่อกันมาทุกปี หรือมหาวิทยาลัยเคโอ และ มหาวิทยาลัยวาเซดะ แห่งญี่ปุ่น ที่จัดการแข่งขันเบสบอลประเพณีสืบต่อกันมาทุกปี แต่ทางกลุ่มผู้ริเริ่มถนัดและสนใจกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่ครั้งเมื่ออยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จึงตกลงที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลขึ้น

ผู้ริเริ่มทางฝ่ายจุฬาฯ คือ นายประถม ชาญสันต์ (หัวหน้านิสิตคณะอักษรศาสตร์) นายประสงค์ ชัยพรรค และนายประยุทธ์ สวัสดิ์สิงห์ ซึ่งในขณะนั้น ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิวัฒน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้ทำเรื่องเสนอผ่านกองกิจการนิสิตซึ่งมี ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อขออนุมัติจัดงานจากอธิการบดี ส่วนผู้ริเริ่มทางฝ่ายธรรมศาสตร์คือ นายต่อศักดิ์ ยมนาค และนายบุศย์ สิมะเสถียร ได้ทำเรื่องเสนอ ดร.เดือน บุนนาค เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อขออนุมัติจาก ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมื่อได้รับฉันทานุมัติจากทั้ง 2 สถาบันเรียบร้อยแล้ว งานฟุตบอลประเพณีก็ได้เริ่มต้นขึ้นโดยฝ่ายธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2477 ในการจัดการแข่งขันครั้งแรกนั้นได้มีการเก็บค่าผ่านประตูคนละ 1 บาท รายได้ทั้งหมดมอบให้กับสมาคมปราบวัณโรค ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดในขณะนั้น จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปีว่ารายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมอบให้กับการกุศลทุกครั้ง เช่น บำรุงการทหาร สมทบทุนสร้างเรือนพักคนไข้วัณโรค ช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย บำรุงสภากาชาดไทย บำรุงมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก สมทบทุนอานันทมหิดล สร้างโรงเรียนชาวเขา ฯลฯ จนกระทั่งในปี 2521 จึงได้นำรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

ด้านสถานที่จัดการแข่งขันนั้น ในครั้งแรกได้จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ต่อมาในครั้งที่ 2 - 4 ได้ย้ายมาจัดที่สนามฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และครั้งที่ 5 ก็ได้ย้ายสถานที่จัดการแข่งขันอีกครั้ง มาจัดที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ จนถึงปัจจุบัน

เหตุที่การจัดงานฟุตบอลครั้งนี้เป็นครั้งที่ 63 แทนที่จะเป็นครั้งที่ 72 เป็นเพราะในบางปีได้เกิดความวุ่นวายขึ้นจนไม่สามารถจัดงานได้ เช่น ปี พ.ศ. 2485 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ทั่วกรุงเทพฯ ปีพ.ศ. 2487 - 2491 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ปีพ.ศ. 2494 เกิดกบฎแมนฮัตตัน ส่วนในปี พ.ศ. 2516 - 2518 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นว่างานฟุตบอลประเพณีฯ เป็นงานที่ฟุ่มเฟือย เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้เองเป็นสาเหตุให้จำต้องงดงานฟุตบอลประเพณีฯ ไป

อนึ่ง นับตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 10 คือในวันที่ 30 ธันวาคม 2492 หลังจากเหตุการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพาเป็นต้นมา เสียงเพลงพระราชทาน “มหาจุฬาลงกรณ์” และ “ยูงทอง” ได้ดังก้องขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัล ปีนั้นจึงเป็นปีแรกที่ได้เกิดการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน และตั้งแต่ปีพ.ศ. 2495 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานและพระราชทานถ้วยรางวัลด้วยพระองค์เองมาโดยตลอด แม้ในปัจจุบันที่ทรงมิได้เสด็จพระราชดำเนินมาด้วยพระองค์เองแล้ว ก็โปรดให้ผู้แทนพระองค์เสด็จแทนพระองค์มาเป็นองค์ประธานมิเคยขาด นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบัน ในอันที่จะรักษาประเพณีอันดีงาม เพื่อเชื่อมความสามัคคีให้แน่นแฟ้นสืบไป

[แก้] องค์ประกอบ

[แก้] มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[แก้] เชียร์ลีดเดอร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เชียร์ลีดเดอร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ ผู้นำเชียร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสำหรับทำหน้านำกองเชียร์ร้องเพลงส่งเสียงเชียร์ ประกอบรหัสสัญญาณ การเคลื่อนไหวร่างกาย หรืออุปกรณ์ เพื่อความพร้อมเพรียง มีพลัง ความสวยงาม และความสนุกสนานของการเชียร์และแปรอักษรโดยเฉพาะงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

การนำเชียร์เป็นกลุ่มเริ่มพัฒนาอย่างจริงจังประมาณปี พ.ศ. 2525 โดยเริ่มจากกลุ่มตัวแทนและนิสิตนักศึกษาจากจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ร่วมกันคิดค้นท่าทางสำหรับการนำเชียร์เพลงประจำสถาบัน"ยูงทอง" และ "มหาจุฬาลงกรณ์"ของทั้งสองมหาวิทยาลัยร่วมกัน โดยใช้ท่าทางที่มีความหมายตรงกับเนื้อหาของเพลงทั้งสอง เช่น ท่าตึกโดม ท่าพระเกี้ยว ท่าธรรมจักร รวมถึงท่าทางพื้นฐานอื่น ๆ โดยทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีแนวคิดและต้นแบบแรงบันดาลใจจาก ผู้ควบคุมวงดนตรีหรือ วาทยากร ที่ทำหน้าที่นำการเล่นดนตรีวงใหญ่ หรือ การร้องประสานเสียง เนื่องจากผู้นำเชียร์นั้นนอกจากจะมีท่วงท่าสง่างาม ยังมีรหัสสัญญาณมือที่สื่อความหมายสามารถประยุกต์ใช้กับการร้องเพลงเป็นหมู่คณะของกองเชียร์ ส่วนทางทีมนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะใช้ต้นแบบของการเต้นบัลเลต์ โขน และลีลาศ ในการนำเชียร์ประกอบเพลงสถาบันซึ่งเหมาะสมกับท่วงทำนองที่ไพเราะของเพลงสถาบันของจุฬาฯ

[แก้] ทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หากจะกล่าวย้อนไปในอดีตตั้งแต่สมัยก่อนเหตุการณ์วันมหาประชาปีติ 14 ตุลาคม 2516 ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในขบวนอัญเชิญธรรมจักร ถ้วยพระราชทาน ป้ายนามมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และดรัมเมเยอร์ ได้มาจากการคัดเลือก แต่ช่วงหลังจากนั้นมาประเพณีการคัดเลือกก็ได้ขาดหายไป ผู้แทนในช่วงหลังๆ จะได้มาจากการสรรหาทั้งสิ้น จนกระทั่งเมื่อปี 2544 ทางองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และชุมนุมเชียร์และแปรอักษร นำโดย นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล และสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดย คุณดารณี วัธนเวคิน เล็งเห็นว่า ควรจะฟื้นฟูวัฒนธรรมในการคัดเลือกผู้นำในขบวนอัญเชิญธรรมจักรและดรัมเมเยอร์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย นายธนยศ เทียนศรี เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ ทั้งนี้ในการคัดเลือกดังกล่าวหน้าที่ของผู้นำในขบวนอัญเชิญธรรมจักรและดรัมเมเยอร์ไม่ได้สิ้นสุดที่งานฟุตบอลประเพณีอีกต่อไป แต่จะมีหน้าที่ในการบำเพ็ญประโยชน์ ตลอดจนการรณรงค์และส่งเสริมให้นักศึกษาร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมกันมากขึ้น จึงใช้ชื่อว่า “ทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ตั้งแต่งานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 58 (พ.ศ. 2545) เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อได้รับการยอมรับจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น ทางองค์การนักศึกษาจึงยกฐานะขึ้นเป็น ทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ Thammasat University Ambassador มีสัญลักษณ์เป็นรูปโดมเพชร

[แก้] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[แก้] การอัญเชิญพระเกี้ยว

การอัญเชิญพระเกี้ยวเข้ามาสู่สนามการแข่งขันเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักกีฬาและกองเชียร์ โดยความเป็นจริงนิสิตจุฬาฯ ทุกคนต่างมีฐานะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว แต่เนื่องจากในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถให้ทุกคนเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวได้ ดังนั้น จึงต้องคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นตัวแทนนิสิตเพื่อทำหน้าที่นี้ การอัญเชิญพระเกี้ยวปรากฏหลักฐานครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2507 โดยมีนิสิตหญิง 1 คน เป็นผู้อัญเชิญ[1] ปัจจุบัน การอัญเชิญพระเกี้ยวจะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นนิสิตชาย 1 คน และ นิสิตหญิง 1 คน เพื่อเป็นตัวแทนบรรดานิสิตอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามแข่งขัน โดยการแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 62 นั้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ทรงเป็นผู้แทนนิสิตในการอัญเชิญพระเกี้ยว[2]

[แก้] ผู้นำเชียร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเชียร์ของกองเชียร์ในระยะแรกนั้น ผู้นำเชียร์หรือประธานเชียร์จะเป็นผู้ให้จังหวะปรบมือแก่กองเชียร์ จนกระทั่ง ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีประมาณครั้งที่ 36-40 จึงมีการเปลี่ยนแปลงท่าทางของผู้นำเชียร์ขึ้นใหม่ โดยหลักการสำคัญของผู้นำเชียร์แห่งจุฬาฯ นั้น มี 5 ประการ ได้แก่ การให้จังหวะ การควบคุมกองเชียร์ ความสวยงาม ความพร้อมเพรียง และรูปแบบในการนำเสนอ ในยุคนี้เองผู้นำเชียร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ เชียร์ลีดเดอร์ จุฬาฯ เริ่มมีการแต่งตัวให้สวยงาม สร้างสีสันให้กับสแตนด์เชียร์มากขึ้น โดยต่อมาในภายหลังได้มีการสรรหาผู้นำเชียร์ หรือ เชียร์ลีดเดอร์ จากการเปิดรับสมัครคัดเลือกอย่างเป็นทางการ จากนิสิตทั่วไป ไม่จำกัดคณะและชั้นปี โดยในแต่ละปีนั้นมีจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือกแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมของผู้สมัครในปีนั้นๆ โดยทั่วไปแล้วมักมีจำนวนเฉลี่ยรุ่นละ 11-13 คน หน้าที่หลักในปัจจุบันของผู้นำเชียร์ หรือ เชียร์ลีดเดอร์ นอกจากจะทำหน้าที่นำเชียร์ ควบคุมจังหวะการร้องเพลงเชียร์ของสแตนด์แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนิสิตจุฬา ในการประชาสัมพันธ์งานฟุตบอลประเพณีฯ และบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะอีกด้วย

[แก้] จุฬาฯคทากร

จุฬาฯคทากร คทากรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมายถึง นิสิตจุฬาฯ ที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่ถือคทา จำนวน 5 คน เป็นชาย 1 คน และหญิง 4 คน โดยฝ่ายหญิงจะมีวิธีการคัดเลือกที่พิเศษคือ จะเป็นตัวแทนมาจากกลุ่มคณะที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์จำนวน 2 คน และเป็นตัวแทนมาจากกลุ่มคณะที่เรียนทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ อีก 2 คน โดยนิสิตที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่จุฬาฯคทากร จะต้องผ่านการเสนอชื่อเพื่อเป็นตัวแทนจากคณะก่อนในขั้นต้น

[แก้] ผลการแข่งขัน

ครั้งที่ วันที่ ผลการแข่งขัน จำนวนประตู
1 4 ธันวาคม 2477 เสมอ 1-1
2 พ.ศ. 2478 เสมอ 3-3
3 พ.ศ. 2479 ธรรมศาสตร์ชนะ 4-1
4 พ.ศ. 2480 ธรรมศาสตร์ชนะ 2-1
5 พ.ศ. 2481 ธรรมศาสตร์ชนะ 2-1
6 พ.ศ. 2482 เสมอ 0-0
7 พ.ศ. 2483 เสมอ 2-2
8 พ.ศ. 2484 จุฬาฯ ชนะ 2-0
9 พ.ศ. 2486 จุฬาฯ ชนะ 3-1
10 30 ธันวาคม 2492 ธรรมศาสตร์ชนะ 3-2
11 30 ธันวาคม 2493 จุฬาฯ ชนะ 5-3
12 27 ธันวาคม 2495 เสมอ 0-0
13 19 ธันวาคม 2496 ธรรมศาสตร์ชนะ 3-1
14 25 ธันวาคม 2497 จุฬาฯ ชนะ 1-0
15 24 ธันวาคม 2498 เสมอ 2-2
16 25 ธันวาคม 2499 เสมอ -
17 21 ธันวาคม 2500 ธรรมศาสตร์ชนะ 3-1
18 20 ธันวาคม2501 จุฬาฯ ชนะ 3-2
19 26 ธันวาคม 2502 ธรรมศาสตร์ชนะ 2-1
20 27 ธันวาคม 2503 เสมอ 1-1
21 23 ธันวาคม 2504 เสมอ 1-1
22 22 ธันวาคม 2505 เสมอ 0-0
23 8 มกราคม 2507 ธรรมศาสตร์ชนะ 3-1
24 26 ธันวาคม 2507 ธรรมศาสตร์ชนะ 3-0
25 25 ธันวาคม 2508 ธรรมศาสตร์ชนะ 2-1
26 24 ธันวาคม 2509 ธรรมศาสตร์ชนะ 2-0
27 30 ธันวาคม 2510 เสมอ 1-1
28 21 ธันวาคม 2511 จุฬาฯ ชนะ 2-0
29 27 ธันวาคม 2512 ธรรมศาสตร์ชนะ 1-0
30 30 มกราคม 2514 เสมอ 0-0
31 29 มกราคม 2515 ธรรมศาสตร์ชนะ 4-0
32 23 ธันวาคม 2515 ธรรมศาสตร์ชนะ 2-1
33 31 มกราคม 2519 ธรรมศาสตร์ชนะ 2-0
34 21 มกราคม 2521 ธรรมศาสตร์ชนะ 1-0
35 20 ธันวาคม 2522 จุฬาฯ ชนะ 2-0
36 20 มกราคม 2523 เสมอ 0-0
37 31 มกราคม 2524 เสมอ 1-1
38 27 มกราคม 2525 เสมอ 2-2
39 29 มกราคม 2526 เสมอ 1-1
40 21 มกราคม 2527 ธรรมศาสตร์ชนะ 1-0
ครั้งที่ วันที่ ผลการแข่งขัน จำนวนประตู
41 27 มกราคม 2528 เสมอ 1-1
42 26 มกราคม 2529 เสมอ 1-1
43 25 มกราคม 2530 ธรรมศาสตร์ชนะ 1-0
44 30 มกราคม 2531 จุฬาฯ ชนะ 2-1
45 21 มกราคม 2532 จุฬาฯ ชนะ 2-0
46 20 มกราคม 2533 เสมอ 1-1
47 19 มกราคม 2534 เสมอ 0-0
48 18 มกราคม 2535 เสมอ 1-1
49 23 มกราคม 2536 ธรรมศาสตร์ชนะ 2-1
50 22 มกราคม 2537 เสมอ 2-2
51 21 มกราคม 2538 จุฬาฯ ชนะ 2-1
52 20 มกราคม 2539 ธรรมศาสตร์ชนะ 1-0
53 18 มกราคม 2540 เสมอ 1-1
54 7 กุมภาพันธ์ 2541 เสมอ 0-0
55 23 มกราคม 2542 จุฬาฯ ชนะ 2-1
56 15 มกราคม 2543 เสมอ 0-0
57 20 มกราคม 2544 จุฬาฯ ชนะ 2-0
58 19 มกราคม 2545 เสมอ 2-2
59 25 มกราคม 2546 เสมอ 0-0
60 24 มกราคม 2547 เสมอ 0-0
61 22 มกราคม 2548 ธรรมศาสตร์ ชนะ 1–0
62 21 มกราคม 2549 จุฬาฯ ชนะ 2-0
63 20 มกราคม 2550 เสมอ 1-1
64 17 พฤษภาคม 2551 เสมอ 0-0
65 31 มกราคม 2552 ธรรมศาสตร์ชนะ 2-0
66 16 มกราคม 2553 เสมอ 0-0

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ การอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี จาก หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. ^ จุฬาสัมพันธ์, ปีที่ 49, ฉบับที่ 4, วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2549

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Sports icon.png งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นบทความเกี่ยวกับ กีฬา นักกีฬา หรือ ทีมกีฬา  ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่โครงการทุกอย่างเกี่ยวกับกีฬา
ภาษาอื่น