โรงเรียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บรรยากาศภายในห้องเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา

โรงเรียน คือ สถานที่สำหรับฝึกสอนนักเรียนภายใต้การดูแลของครูหรืออาจารย์ หลายประเทศมีระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาภาคบังคับ ในระบบการเรียนนี้ นักเรียนจะผ่านโรงเรียนตามลำดับ ชื่อของโรงเรียนเหล่านี้อาจแตกต่างไปตามภาษาและประเทศ แต่โดยหลักจะมีโรงเรียนประถมสำหรับเด็กเล็ก และโรงเรียนมัธยมสำหรับเด็กโตที่ได้สำเร็จการศึกษาระดับประถมมาแล้ว

นอกเหนือจากโรงเรียนหลักแล้ว นักเรียนในบางประเทศยังสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนทั้งก่อน และหลังโรงเรียนประถม และมัธยม โรงเรียนอนุบาลเสริมการเรียนการสอนให้กับเด็กเล็กมาก มหาวิทยาลัย, โรงเรียนฝึกงาน, อุดมศึกษา อาจมีอยู่หลังจากจบมัธยนศึกษา โดยโรงเรียนอาจจะอุทิศเพื่อสอนแค่วิชาสาขาเดียว เช่น โรงเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ โรงเรียนสอนเต้น

โรงเรียนเอกชนคือโรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนของรัฐบาล

ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 โรงเรียน เป็นหนึ่งใน "สถานศึกษา" ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา

[แก้] โรงเรียนในประเทศไทย

โรงเรียนจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อพ.ศ. 2414 โปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบสอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และขนบธรรมเนียมราชการ ต่อมายังได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษขึ้นที่พระราชวังนันทอุทยาน ฝั่งธนบุรี โรงเรียนทำแผนที่ในกรมมหาดเล็ก โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ และ พ.ศ. 2427 ก็โปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรทั่วไปขึ้นตามวัดหลายแห่ง อาทิ

โรงเรียนเบญจมบพิตร หรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงกำหนดหลักสูตรแนวการสอนด้วยพระองค์เอง เป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์โดยตรง ไม่ขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการสมัยนั้น
และโรงเรียนหลวงแห่งแรกของราษฎร คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม (วัดมหรรณพารามวรวิหาร) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย และมี โรงเรียนอรุณประดิษฐเป็นโรงเรียนราษฎร์สตรีแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2408

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้โปรดเกล้าฯจัดตั้งโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้น สอนทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทรงจัดตั้งโรงเรียนราชินี บริเวณปากคลองตลาด นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนราษฎร์ ซึ่งเอกชนได้สร้างขึ้นหลายแห่ง เช่น โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งมีบาทหลวงเป็นครูผู้สอน และโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกที่จัดตั้งโดยคนไทย คือ โรงเรียนบำรุงวิชา เมื่อ พ.ศ. 2442

[แก้] อ้างอิง

School[1]

[แก้] ดูเพิ่ม

School.svg โรงเรียน เป็นบทความเกี่ยวกับ สถานศึกษา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ โรงเรียน ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ