ชาเปล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ชาเปล (อังกฤษ: Chapel) เป็นสิ่งก่อสร้างอิสระหรือโครงสร้างภายในสิ่งก่อสร้างของคริสต์ศาสนสถาน ถ้าเป็นสิ่งก่อสร้างอิสระก็มีขนาดต่างๆ ตั้งแต่ใหญ่ขนาดมหาวิหารย่อยๆ ไปจนถึงชาเปลเล็กๆ ข้างทาง เช่นเดียวกับถ้าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้างขนาดก็ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้สร้าง ชาเปลที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้างอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหาร, วัดใหญ่ๆ, ปราสาท, วัง, คฤหาสน์, วิทยาลัย, โรงพยาบาล คุก หรือสุสาน บางครั้งชาเปลที่สร้างในมหาวิหารจะสร้างเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น “ชาเปลพระแม่มารี” ที่มักจะสร้างเป็นชาเปลที่อยู่ทางตะวันออกสุดของตัววัด หรือ “ชาเปลศีลศักดิ์สิทธิ์” ที่ตั้งติดกับตัววัดและใช้เป็นที่เก็บไวน์ และขนมปังที่ใช้ในพิธีศีลมหาสนิท ถ้าชาเปลมีขนาดค่อนข้างเล็กที่สร้างเป็นคูหาภายในทางด้านข้างหรือทางด้านหลังของมหาวิหารหรือวัดก็อาจจะเรียกว่า “คูหาสวดมนต์” ความหมายเป็นนัยยะของชาเปลคือเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลไม่ใช่สถาบันศาสนาเช่นชาเปลของปราสาท หรือชาเปลส่วนตัวภายในมหาวิหารเป็นต้น

เนื้อหา

[แก้] ประเภทของชาเปล

  • ชาเปลประจำตระกูล เป็นศาสนสถานที่ผู้สร้างเป็นผู้มีอันจะกินทีสร้างเป็นที่สำหรับใช้ในการสักการะหรือบรรจุศพสำหรับสมาชิกในตระกูลเช่น “ชาเปลเมดิชิ” ที่เป็นชาเปลประจำตระกูลของตระกูลเมดิชิภายในมหาวิหารฟลอเรนซ์
  • ชาเปลสวดมนต์[1] หรือ ชาเปลแชนทรี (อังกฤษ: Chantry chapel) เป็นศาสนสถานที่ผู้สร้างเป็นผู้มีอันจะกินหรือเป็นบาทหลวงที่อุทิศเงินให้สร้างชาเปลส่วนตัวสำหรับตนเองโดยเฉพาะ ชาเปลชนิดนี้แม้ว่าจะอยู่ภายในวัดและเป็นสมบัติของผู้สร้าง การสร้างจะสร้างในตัวมหาวิหารหรือวัดใหญ่ๆ และใช้เป็นสถานที่ที่ผู้สร้างอุทิศเงินให้นักบวชมาสวดมนต์ให้ผู้สร้างหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ชาเปลลักษณะนี้มักจะสร้างในขณะที่ผู้อุทิศเงินยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นห้องแคบๆ เล็กๆ ที่ภายในบางครั้งจะเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์ของผู้ตาย มีประตูทางเข้าทางหนึ่งออกทางหนึ่งเพื่อให้ผู้สวดมนต์เดินเข้าทางหนึ่งออกอีกทางหนึ่ง การสร้างก็พยายามให้ใกล้แท่นบูชาเอกที่สุดเท่าที่กำลังทรัพย์จะอำนวย “Chantry chapel” มาจากภาษาละตินว่า “Cantaria” ซึ่งแปลว่า “ใบอนุญาตให้สวดมนต์” ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “chapellenie”
  • ชาเปลพระแม่มารี หรือ เลดีชาเปล (อังกฤษ: Lady chapel) “ชาเปลพระแม่มารี” มักจะเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหารหรือวัดใหญ่ๆ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของตัววัดและอุทิศให้พระแม่มารี และมักจะเป็นชาเปลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาชาเปลต่างๆ ของวัดหรือมหาวิหาร
  • คูหาสวดมนต์ หรือ ชาเปลข้าง หรือ ชาเปลรอง (อังกฤษ: Side chapel) คือบริเวณภายในมหาวิหารหรือวัดใหญ่ๆ ที่อุทิศให้เป็นบริเวณแยกจากส่วนกลางซึ่งอาจจะใช้เป็นทำพิธีย่อยหรือสวดมนต์วิปัสนาเป็นการส่วนตัว ที่ตั้งอาจจะเป็นมุขยื่นออกไปจากสองข้างทางเดินข้าง หรือเป็นชาเปลที่กระจายรอบมุขด้านตะวันออก หรือบางครั้งก็อาจจะยื่นออกไปจากแขนกางเขน ภายในชาเปลก็มีลักษณะเหมือนวัดย่อมๆ การตกแต่งมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของเจ้าของ ฉะนั้นเมื่อเข้าชมวัดคริสต์ศาสนาบางครั้งจะเห็นว่าชาเปลข้างต่างๆ จะตกแต่งต่างกันไปตามรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของ หรืออยู่ในสภาพที่ต่างกันตามกำลังทรัพย์ของเจ้าของที่อาจจะมั่งคั่งพอที่จะบำรุงรักษาไว้อย่างดีหรืออาจจะอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมเพราะถูกละเลยโดยเจ้าของ
  • ชาเปลริมทาง (อังกฤษ: Wayside chapels) เป็นศาสนสถานที่ใช้เป็นที่สักการะของคริสต์ศาสนิกชนที่มีขนาดเล็กและมักจะตั้งอยู่ในชนบท หรือเป็นสิ่งก่อสร้างเล็กที่มีแท่นบูชาเล็กๆ อยู่ภายในสร้างเป็นระยะๆ ก่อนที่จะถึงสำนักสงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่พักสำหรับผู้เดินทางมาไกลหรือวิปัสสนาก่อนที่จะถึงตัววัดหลัก
  • ชาเปลในสุสาน (อังกฤษ: Cemetry chapels) มักจะเป็นศาสนสถานขนาดย่อมที่ตั้งอยู่ในบริเวณสุสานที่เป็นสิ่งก่อสร้างอิสระจากวัดที่ขึ้นอยู่ อาจจะใช้เป็นสถานที่ทำพิธีศพสำหรับบุคคลกลุ่มย่อยแทนที่จะเข้าไปทำกันในวัดหลัก

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ History.UK.com Churches. Chantry chapel [1]

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้] ระเบียงภาพ