มหาวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวิหารเซาเปาโล (Cathedral of São Paulo) ประเทศบราซิล เป็นมหาวิหารหนึ่งในมหาวิหารที่เพิ่งสร้างใหม่
มหาวิหารเซ็นต์บาร์บารา (St Barbara's church) เมือง Kutná Hora สาธารณรัฐเช็ก
บัลลังก์บาทหลวงที่มหาวิหารโวลเทอร์รา (Volterra Cathedral) ประเทศอิตาลี

มหาวิหาร (ภาษาอังกฤษ: Cathedral ภาษาฝรั่งเศส: Cathédrale ภาษาเยอรมนี: Kathedrale/Dom ภาษาอิตาลี: Cattedrale/Duomo) คือวัดของคริสต์ศาสนาที่มีพระสังฆราช (bishop) เป็นประมุขและที่เป็นทีตั้งของ “อาสนะสังฆราช” (bishop's cathedra) เป็นสถานที่ทางศาสนาที่ใช้ในการสักการะบูชา (โดยเฉพาะสำหรับนิกายที่มีระบบฐานันดรการปกครองเช่นนิกาย นิกายโรมันคาทอลิก นิกายอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ นิกายอังกลิคัน และ นิกายลูเทอรัน มหาวิหารจะเป็นวัดที่เป็นที่นั่งของพระสังฆราช (วัดประจำตำแหน่ง) ที่ใช้เป็นศูนย์กลางของสังฆมณฑล (Diocese หรือ See) ที่อยู่ใต้การปกครองของพระสังฆราชที่กำหนดไว้[1]

คำว่ามหาวิหารใช้ได้หลายความหมาย บางมหาวิหารของนิกายโปรเตสแตนต์ปฏิรูปที่สกอตแลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิกายเชิร์ชออฟสกอตแลนด์ยังใช้คำว่าเรียกตัวเองว่ามหาวิหารอยู่ทั้งที่ทางวัดไม่มีตำแหน่งบาทหลวงประจำ ฉะนั้นในบางกรณีคำว่ามหาวิหารจึงใช้เรียกวัดที่ไม่ได้เป็นที่นั่งของพระสังฆราชแต่มีลักษณะใหญ่โตน่าประทับใจ

นิกายอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์จะไม่ใช้คำว่ามหาวิหารแต่จะใช้คำว่าวัดใหญ่ (the great church) แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษก็จะใช้คำว่า “cathedral” เมื่อพูดถึงวัดใหญ่

นิกายโอเรียนทัลออร์โธด็อกซ์จะไม่มีมหาวิหารอย่างทีว่าแต่จะมีวัดหลักเช่นวัดเซ็นต์มาร์คที่ไคโรซึ่งก็เรียกกันว่า “cathedral” เช่นกัน

วัดที่เป็นที่นั่งของพระสังฆราชหลายแห่งในทวีปยุโรปที่มีตำแหน่งเป็นมหาวิหารแต่จะไม่เรียกตัวเองว่า มหาวิหารที่เมืองยอร์ค หรือ ลิงคอล์น ใน ประเทศอังกฤษ แต่จะเรียกตัวเองว่า Minster หรือ Münster แต่คนทั่วไปก็ยังเรียกทั้งสองวัดนี้ว่า “มหาวิหาร” ในประเทศเยอรมนี ทั้งสองคำนี้มีรากมาจากคำว่า monasterium ใน ภาษาละติน เพราะแต่เดิมมหาวิหารเหล่านี้เคยอยู่ภายใต้การปกครองของแคนนอน (canon) ที่อยู่ในชุมชนนั้นหรืออาจจะเคยเป็นสำนักสงฆ์ (abbey) มาก่อนหน้า การปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์

เนื้อหา

[แก้] ความหมาย

คำว่า "cathedral" มาจากคำนามภาษาละติน "cathedra" (นั่ง หรือ เก้าอี้) ที่หมายถึงสถานที่ที่มี ที่นั่ง หรือ บัลลังก์ของพระสังฆราช(bishop) หรือ พระอัครสังฆราช (archbishop) ในสมัยโบราณเก้าอี้เป็นสัญลักษณ์ของผู้สอน ฉะนั้นพระสังฆราชในบทบาทของผู้สอนศาสนาและมีหน้าที่การปกครองจึงมีบัลลังก์ คำว่า "cathedral" ถึงแม้ว่าจะใช้เป็นคำนามในปัจจุบัน แต่เดิมเป็นคำคุณศัพท์ขยายคำว่าวัด เช่น "cathedral church" จากภาษาละตินว่า "ecclesia cathedralis" ที่นั่งของพระสังฆราชในมหาวิหารจะตั้งเด่นอยู่ภายในวัดเพราะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอำนาจการปกครองของพระสังฆราชเอง[2] บัลลังก์พระสังฆราชบางแห่งจะสลักเสลาอย่างสวยงาม เช่นที่ มหาวิหารเอ็กซีเตอร์ ประเทศอังกฤษ เป็นงานฉลุไม้ที่สูงใหญ่สามารถถอดเป็นชิ้นๆได้ เป็นบัลลังก์อยู่ใต้ซุ้ม

[แก้] ประวัติศาสตร์ และ องค์ประกอบ

[แก้] กฎหมาย

ตามคริสต์ศาสนกฏบัตรของนิกายโรมันคาทอลิก (Canon law หรือ statutes) ความสัมพันธ์ระหว่างพระสังฆราชกับมหาวิหารเปรียบได้กับความสัมพันธ์ระหว่างบาทหลวงและวัดประจำท้องถิ่น ทั้งสองต่างก็มีอำนาจเหนือเขตที่กำหนดไว้ พระสังฆราชมีอำนาจควบคุมเขตสังฆมณฑล บาทหลวงมีหน้าที่ควบคุมหมู่บ้าน ทั้งสองต่างก็มีความรับผิดชอบต่อสิ่งก่อสร้าง พระสังฆราชมีความรับผิดชอบต่อมหาวิหาร บาทหลวงมีความรับผิดชอบต่อวัด เมื่อใช้กฏการเปรียบเทียบที่ว่านี้เพื่อจะเปรียบเทียบว่ามหาวิหารก็คือวัดหนึ่งในเขตการปกครองหนึ่งซึ่งวัดอื่นๆในเขตนั้นก็จะมามีส่วนเกี่ยวข้องกันด้วย

การทำพิธีหน้าวัดโดยพระคาร์ดินัลที่เวนิส

[แก้] ฐานะของมหาวิหาร

ตามกฎหมายศาสนจักรคาทอลิก วัดแบ่งเป็น

  • วัดที่เคยเป็นมหาวิหารเรียกว่า Proto-cathedral
  • วัดที่เคยเป็นมหาวิหารชั่วคราวเรียกว่า Pro-cathedral
  • วัดที่เป็นมหาวิหารร่วมกับอีกมหาวิหารหนึ่งเรียกว่า Co-cathedral
  • วัดที่เป็นมหาวิหารในปัจจุบันเรียกว่า Cathedral - มหาวิหาร
  • วัดที่มีมหาวิหารอื่นมาขึ้นด้วยเรียกว่า Metropolitical cathedral
  • วัดที่มี Metropolitical cathedral และ มหาวิหารอื่นมาขึ้นด้วยเรียกว่า Primatial Cathedral
  • วัดที่มีมหาวิหาร Metropolitical cathedral และ Primatial Cathedral อื่นมาขึ้นด้วยเรียกว่า Patriarchal cathedral

บางครั้งตำแหน่งของพระสังฆราชระดับเมโทรโปลิติคัลที่มีความสำคัญและความรับผิดชอบสูงและมีพระสังฆราชของสังฆมณฑลอื่นอยู่ในความรับผิดชอบก็จะเรียกว่า "Primate" เช่น พระสังฆราชของมหาวิหารแคนเตอร์บรี และ มหาวิหารยอร์ค ที่ประเทศอังกฤษ และ มหาวิหารรูออง ที่ประเทศฝรั่งเศส แต่มหาวิหารของ "Primate" ก็ยังคงเป็นมหาวิหาร "Metropolitical Cathedral" มิได้เป็น "Primatial Cathedral" อย่างที่ตำแหน่งระบุไว้

มหาวิหารที่อยู่ในระดับ Primatial Cathedral จริงๆ ก็ได้แก่ มหาวิหารลิออง ที่ประเทศฝรั่งเศส ที่รู้จักกันในนามของ "La Primatiale" และ มหาวิหารลุนด์ (Lund) ที่ ประเทศสวีเดน มหาวิหารลิอองนอกจากจะปกครองสังฆมณฑลของตนเองแล้วก็ยังมีความรับผิดชอบต่อพระสังฆราชสังฆมณฑลเซ็นส์ (Sens) และสังฆมณฑลปารีสด้วย มาจนถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส ขณะที่มหาวิหารลุนด์มี มหาวิหารอุบสลา (Uppsala Cathedral) อยู่ในความรับผิดชอบนอกจากสังฆมณฑลของตนเอง

นอกจากตำแหน่ง "Primate" แล้ว ก็ยังมีตำแหน่งอัครบิดร หรือ "Patriarch" ซึ่งเป็นตำแหน่งของพระสังฆราชของเขตสังฆมณฑลเวนิส ประเทศอิตาลี และ ลิสบอน ประเทศโปรตุเกส มหาวิหารที่เป็นแต่พาทริอาร์คแต่ชื่อโดยไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งพาทริอาร์คก็มี มหาวิหารเซ็นต์จอห์นแลเตอร์รัน ที่ กรุงโรม เพราะที่นั่นถือว่าที่กรุงโรมมีพระสันตะปาปาเป็น Patriarch อยู่แล้ว แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16ทรงยกเลิกตำแหน่ง "Patriarch of the West" ของท่านเอง

บางวัดที่ถูกยกเลิกการเป็นมหาวิหารแล้วควรจะเรียกว่า "โปรโตคาธีดราล" แต่ก็ยังเรียกกันอยู่ว่า "คาธีดราล" ก็มี เพราะเรียกกันมาจนติด เช่นมหาวิหารอันท์เวิร์พ(Antwerp) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ตำแหน่งพระสังฆราชถูกยกเลิกไปตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส

[แก้] ยุคกลาง กฎสำหรับสังฆบุคลากร

มหาวิหารอาเคิน ประเทศเยอรมนี สร้างโดย พระเจ้าชาร์เลอมาญ เมื่อค.ศ. 800
มหาวิหารปาร์มา ประเทศอิตาลีที่ Baptisty เป็นสิ่งก่อสร้างที่แยกจากตัววัด
ระเบียงคดของมหาวิหารลิพารี ที่ (Lipari) เกาะซิซิลี

ระหว่างยุคกลางพระสังฆราชและสังฆบุคลากร (clergy) ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับมหาวิหาร จะอยู่ด้วยกันกันอย่างชุมชนซึ่งไม่เชิงเป็นสำนักสงฆ์ (monastery) ตามความหมายดั้งเดิมของคำนี้ แต่กระนั้นก็ยังเรียกตัวเองว่า “monasterium” การใช้คำนี้บางครั้งทำให้เกิดความสับสน อย่างเช่น ยอร์คมินสเตอร์ในประเทศอังกฤษที่ไม่มีบาทหลวง และ สังฆบุคลากร ประจำอยู่ภายในวัด แต่เรียกตัวเองว่า “minster” หรือ “monastery” ในสมัยนั้นสังฆบุคลากร มักจะมีที่อยู่เป็นของตนเองนอกบริเวณวัดและบางครั้งอาจจะมีภรรยาด้วย

เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 8 Chrodegang (ค.ศ. 743 - ค.ศ. 766) พระสังฆราชแห่งเมืองเม็ทซ (Metz) ประเทศฝรั่งเศส รวบรวมกฏสำหรับสังฆบุคลากรของมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่เป็นที่ยอมรับเป็นข้อปฏิบัติกันทั่วไปที่ประเทศเยอรมนีและบริเวณอื่นของทวีปยุโรป แต่กฏนี้ไม่เป็นที่นิยมใช้กันในประเทศอังกฤษ ตามกฏของ Chrodegang สังฆบุคลากรของมหาวิหารควรจะอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกันและต้องอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าหน้าที่พิเศษที่แต่งตั้งขึ้น กฎของ Chrodegang ปรับปรุงมาจาก “กฏของนักบุญเบ็นเนดิค” (Rule of St Benedict) เมื่อ จีซา (Gisa) ชาวลอแรนน์ (แขวงหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส) มาดำรงตำแหน่งพระสังฆราชที่เมืองเวลส์ (Wells) ในประเทศอังกฤษ ระหว่างปีค.ศ. 1061 - ค.ศ. 1088 ท่านก็พยายามเอากฏ Chrodegang เข้ามาใช้ปฏิบัติที่มหาวิหารเวลส์ประเทศอังกฤษแต่ก็ไม่สำเร็จ

[แก้] ปลายยุคกลาง มหาวิหารแบบสำนักสงฆ์ และ มหาวิหารแบบเซ็คคิวลาร์

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึง 11 สังฆบุคลากรของมหาวิหารแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกใช้ชีวิตอยู่กันอย่างสำนักสงฆ์ขึ้นอยู่กับลัทธิที่เป็นที่ยอมรับกันขณะนั้นเช่นลัทธิเบ็นนาดิคติน (Benedictine order) มหาวิหารแบบนี้เรียกว่ามหาวิหารแบบ“โมนาสติก” (Monastic) อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มสังฆบุคลากรที่ไม่ขึ้นอยู่กับลัทธิใดๆ นอกจากการปฏิบัติตามคริสต์ศาสนกฏบัตร หรือ กฎหมายของศาสนจักร (Canon law) โดยทั่วไป ฉะนั้นสังฆบุคลากรของมหาวิหารประเภทหลังจึงเรียกกันว่า “แคนนอน” (Canon) มหาวิหารแบบหลังนี้รู้จักกันว่ามหาวิหารแบบ “เซ็คคิวลาร์” (secular)

เมื่อปลายยุคกลางมหาวิหารในประเทศเยอรมนี และอังกฤษมักจะเป็นแบบสำนักสงฆ์ ในประเทศเดนมาร์กเริ่มแรกก็มหาวิหารทั้งหมดก็เป็นแบบสำนักสงฆ์ขึ้นอยู่กับลัทธิเบ็นเนดิคติน ยกเว้นมหาวิหาร Børglum ซึ่งขึ้นอยู่กับลัทธิ Praemonstratensian ซึ่งเป็นลัทธิย่อยของลัทธิออกัสติเนียน (Augustinian order) หลังจากการปฏิรูปศาสนามหาวิหารเหล่านี้ก็เปลี่ยนเป็นมหาวิหารแบบ “เซ็คคิวลาร์” เช่นเดียวกับเดนมาร์ค ที่ประเทศสวีเดน มหาวิหารอุบสลา แต่เดิมขึ้นอยู่กับลัทธิเบ็นเนดิคติน มาเปลี่ยนเป็น“เซ็คคิวลาร์” ประมาณปีค.ศ. 1250 จากนั้นประเทศสวีเดนก็มีคำสั่งให้มหาวิหารทุกแห่งในประเทศนั้นเลิกขึ้นกับสำนักสงฆ์และเปลี่ยนมาเป็น “เซ็คคิวลาร์” และให้ตั้งสภาสังฆบุคลากร (Chapter) ที่มีแคนนอนอย่างน้อยสิบห้าคนต่อวัด

ในยุคกลางที่ประเทศฝรั่งเศสมหาวิหารมักจะเป็นแบบสำนักสงฆ์ แต่ก็มาเปลี่ยนเป็นมหาวิหารแบบ “เซ็คคิวลาร์” กันเกือบหมดเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 มหาวิหารสุดท้ายที่เปลี่ยนคือมหาวิหารซีส์ (Seez) ซึ่งแต่เดิมขึ้นอยู่กับลัทธิออกัสติน มาจนถึงปีค.ศ. 1547 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3ทรงอนุญาตให้เปลี่ยน มหาวิหารที่เหลือก็มาเปลี่ยนเป็นแบบ “เซ็คคิวลาร์” กันหมดระหว่างการปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์ (Protestant Reformation)

ในกรณีของมหาวิหารแบบสำนักสงฆ์ ฝ่ายปกครองจะเป็นพระจากลัทธิของมหาวิหารและพระต้องอยู่ในบริเวณมหาวิหาร ส่วนฝ่ายปกครองของมหาวิหารแบบ “เซ็คคิวลาร์” จะมาจากราชาคณะของสภาสังฆบุคลากรเช่น Dean, Precentor, Chancellor และ Tresurer

[แก้] ประมุขของมหาวิหาร

ยกเว้นเกาะอังกฤษประมุขของมหาวิหารแบบ“เซ็คคิวลาร์”จะมีดำรงตำแหน่ง “Provost” (หรือ praepositus, Probst, อื่นๆ) Provost นอกจะมีหน้าที่รักษากฏภายในวัดแล้วก็ยังมีหน้าที่ดูแลเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในสภาสังฆบุคลากร ของมหาวิหาร หน้าที่เกี่ยวกับศาสนพิธี และ ที่ดินที่เป็นของวัด หน้าที่หลังนี้ทำให้ Provost บางคนละเลยหน้าที่ทางสังฆกรรม ทำให้เกิดมีการตั้งตำแหน่งใหม่ขึ้นที่เรียกว่า Dean ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องหลังนี้ บางกรณีทางวัดก็จะยุบตำแหน่ง Provost แต่มหาวิหารที่ยังมี Provost เป็นประมุข บางทีก็ดำรงตำแหน่ง Archdeacon ด้วยและเป็นหัวหน้าของสภาสังฆบุคคลากร

ตำแหน่ง Provost นี้ใช้กันแพร่หลายในประเทศเยอรมัน แต่ไม่ใช้กันในประเทศอังกฤษ พระสังฆราชจิซา (Gisa) พยายามเอาตำแหน่งนี้มาใช้ที่มหาวิหารเวลส์ในฐานะหัวหน้าของสภาสังฆบุคคลากร แต่ต่อมาตำแหน่ง Provost นี้ก็ไปขึ้นกับสังฆบุคลากรคนอื่น ตำแหน่ง Provost ที่ มหาวิหารเบเวอร์ลี (Beverley Minster) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของตำแหน่งนี้ แต่ Provost ที่เบเวอร์ลีเป็นเจ้าหน้าที่ภายนอกที่มีอำนาจปกครองวัดแต่ไม่มีที่นั่งในบริเวณที่สวดมนต์ต์ต์ภายในวัด (choir) และไม่มีสิทธิออกเสืยง

ในประเทศเยอรมนี และ สแกนดิเนเวีย และบางวัดทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ตำแหน่ง Provost เป็นตำแหน่งสำหรับหัวหน้าของสภาสังฆบุคคลากร ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมีมหาวิหาร 136 มหาวิหาร แต่เพียง 38 แห่งที่อยู่ใกล้เยอรมนีหรือทางใต้ที่สุดเท่านั้นที่มีตำแหน่ง Provost เป็นหัวหน้ากลุ่มเจ้าหน้าที่ปกครองวัด ที่มหาวิหารอื่นตำแหน่ง Provost เป็นตำแหน่งย่อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งอื่น มหาวิหารโอเทิง (Autun cathedral) มหาวิหารลิยงส์ (Lyons cathedral) มหาวิหารชาร์ทร์ ต่างก็มี Provost สองคนที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งอื่น

[แก้] ประวัติมหาวิหารในประเทศอังกฤษ

ดูบทความหลักที่ มหาวิหารในสหราชอาณาจักร
ทรากวังของบาทหลวงที่มหาวิหารลิงคอล์นซึ่งปกครองโดยสังฆบุคลากร “เซ็คคิวลาร์”
มหาวิหารเวลส์ปกครองระยะหนึ่งโดย Provost

ประวัติของมหาวิหารในประเทศอังกฤษแตกต่างกันเป็นบางอย่างจากประวัติของมหาวิหารในประเทศอื่นๆในทวีปยุโรป อังกฤษมีมหาวิหารน้อยกว่าประเทศอื่นๆในยุโรปเช่นฝรั่งเศสหรืออิตาลี แต่ตัววิหารจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เมื่อสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมีมหาวิหาร 136 มหาวิหารในขณะที่อังกฤษมีเพียง 27

ประเทศอังกฤษตามกฏแล้วจะห้ามสร้างมหาวิหารในหมู่บ้าน ฉะนั้นสถานที่มีมหาวิหารจึงได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นเมืองไม่ว่าจะเป็นสถานที่ขนาดไหน บางครั้งเราจึงพบว่ามหาวิหารบางมหาวิหารจะตั้งอยู่ในเมืองที่ค่อนข้างเล็กแต่จะเรียกตัวเองว่า "เมืองมหาวิหาร" ("cathedral city") เช่น "เมืองมหาวิหารเวลส์" ที่เป็นที่ตั้งของมหาวิหารเวลส์ ตัวเมืองเวลส์จะไม่ใหญ่ไปกว่าเมืองเล็กๆ หรือเมืองอีลี ที่ตั้งมหาวิหารอีลีซึ่งเป็นมหาวิหารขนาดใหญ่ที่สร้างแบบศิลปะยุคกลาง

[แก้] ระบบการปกครอง

[แก้] ระบบการปกครองระยะแรก

การที่เกาะอังกฤษ (British Isles) เป็นเกาะที่มีเนื้อที่น้อย แทนที่จะแบ่งเขตสังฆมณฑลอย่างชัดเจนเช่นประเทศอื่นในทวีปยุโรป อังกฤษใช้ระบบ "สังฆมณฑลเคลื่อนที่" โดยจะแบ่งเขตสังฆมณฑลตามที่ตั้งของกลุ่มชน เช่นพระสังฆราชของกลุ่มชนแซ็กซอนใต้ หรือ กลุ่มชนแซ็กซอนตะวันตก "อาสนะสังฆราช" จะเป็นแบบที่ย้ายไปไหนมาไหนได้ตามการเคลื่อนย้ายของชุมชน

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงเขตสังฆมณฑลจะเห็นได้จากการการประชุมพระสังฆราชที่ลอนดอน เมื่อปี ค.ศ. 1075 ที่พระอัครสังฆราชลันฟรานซ์ (Lanfranc) เป็นประธาน ผลจากการประชุมทำให้มีการย้ายหรือเปลี่ยนแปลงเขตสังฆมณฑลในบางเขต เช่นมีคำสั่งให้พระสังฆราชของกลุ่มชนแซ็กซอนใต้ย้ายจากสังฆมณฑลที่เซลซี (Selsey) ไปอยู่ที่ชิคเชสเตอร์; ให้พระสังฆราชของวิลท์เชอร์ และ ดอร์เซ็ท ย้าย "อาสนะสังฆราช" จากแชร์บอร์น (Sherborne) ไปโอลด์เซรัม (Old Sarum) (ใกล้เมืองซอลส์บรี (Salisbury)) และให้พระสังฆราชของเมอร์เซีย (Mercia) ย้ายมหาวิหารจากลิคฟิลด์ (Lichfield) ไปเชสเตอร์ (Chester) การย้ายพระสังฆราชเหล่านี้ทำให้เราเห็นร่องรอยการย้ายถิ่นฐานของชนกลุ่มต่างๆ เช่นการแบ่งเขตสังฆมณฑลที่ไอร์แลนด์ของมีธ (Meath) ซึ่งมีผลทำให้เขตมีธไม่มีมหาวิหาร และออสซอรี (Ossory) ที่มหาวิหารอยู่ที่คิลเค็นนี (Kilkenny) สังฆมณฑลที่สกอตแลนด์ก็เช่นเดียวกันเป็นสังฆมณฑลแบบเคลื่อนที่

[แก้] ระบบการปกครองปลายยุคกลาง

ระหว่างปลาย คริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 อังกฤษมีมหาวิหารแบบสำนักสงฆ์ ปกครองโดยพระ พอๆกับมหาวิหารแบบ “เซ็คคิวลาร์” ปกครองโดยสภาสังฆบุคคลากรที่ประกอบด้วย แคนนอน นำโดย Dean มหาวิหารบาธ (Bath) มีสังฆมณฑลร่วมกับ เวลส์ และ มหาวิหารโคเว็นทรี (Coventry) มีสังฆมณฑลร่วมกับ ลิคฟิลด์เป็นต้น

[แก้] การปฏิรูปศาสนา

ระบบการปกครองมหาวิหารมีผลกระทบกระเทือนมากที่สุดเมื่อมีการปฏิรูปอังกฤษ (English Reformation) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประเทศอังกฤษแยกตัวมาจากการปกครองของนิกายโรมันคาทอลิก วัดที่เคยขึ้นตรงต่อสถาบันคาทอลิกก็ย้ายมาขึ้นกับนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ที่มีผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อสถานภาพของมหาวิหารทั่วทั้งเกาะอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุหรือรูปการปกครองของมหาวิหาร

หลังจากอังกฤษแยกตัวออกมาเป็นนิกายอิสระจากคาทอลิก พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ก็มีพระราชโองการสั่งให้ยุบสำนักสงฆ์และยึดทรัพย์สำนักสงฆ์ทั้งหมดในประเทศอังกฤษตามพระราชกฤษฎีกายุบอาราม ยกเว้นมหาวิหารบาธ และ มหาวิหารโคเว็นทรี ซึ่งได้รับการสถาปนาใหม่ให้เป็นมหาวิหารแบบ “เซ็คคิวลาร์” โดยมี Dean เป็นผู้ปกครองและมีแคนนอนระหว่าง 12 คนอย่างเช่นที่ มหาวิหารแคนเตอร์บรี และ มหาวิหารเดอร์แรม จนลงไปถึง 4 คนที่ มหาวิหารคาร์ไลส์ (Carlisle Cathedral) ตำแหน่ง “Precentor” ที่เคยเป็นตำแหน่งสำคัญของ “ระบบเก่า” (Old Foundation) ก็ถูกลดความสำคัญลงมา

นอกจากยุบมหาวิหารเดิมแล้วพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงสร้างมหาวิหารขึ้นใหม่ 6 แห่งจากสำนักสงฆ์เดิม แต่ละแห่งปกครองโดยแคนนอน “เซ็คคิวลาร์” ทั้ง 6 แห่งมี แอบบีเวสต์มินสเตอร์ เท่านั้นที่มิได้รักษาฐานะมหาวิหารเอาไว้

โบสถ์ใหญ่ๆที่ต่อมาได้รับเลื่อนฐานะเป็นมหาวิหารหลังจากการปฏิรูปศาสนาก็มี มหาวิหารเซาท์เวลล์ (Southwell cathedral) มหาวิหารซัทเธิร์ค (Southwark cathedral) มหาวิหารริพพอน (Ripon cathedral) มหาวิหารเซนต์อัลบัน

[แก้] การบริหาร

มหาวิหารเซ็นต์โซเฟีย (Sophia Cathedral) ที่เมืองคิเอฟ (Kiev) ประเทศรัสเซีย
มหาวิหารเซนต์สตีเฟน (St. Stephen Cathedral) ที่เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ที่ฝังศพใต้มหาวิหารแบบโรมาเนสก์ที่ มหาวิหารแคนเตอร์บรี ประเทศอังกฤษ
พีธีสวดมนต์เย็น (Evensong) ที่ มหาวิหารยอร์ค ประเทศอังกฤษ
มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์และเซ็นต์พอลที่ประเทศศรีลังกา

ตามปกติแล้วสภาสังฆบุคคลากรของมหาวิหารแบบ“เซ็คคิวลาร์” จะมีตำแหน่งสำคัญสี่ตำแหน่งหรือมากกว่านอกเหนือไปจากแคนนอน สี่ตำแหน่งดังกล่าวนี้คือ Dean, Precentor, Chancellor และ Treasurer ผู้ถือตำแหน่งทั้งสี่นี้เรียกรวมกันว่า quatuor majores personae จะมีที่นั่งประจำตำแหน่งเฉพาะในบริเวณที่พิธีภายในวัด

  • Dean ตำแหน่ง Dean (หรือที่เรียกว่า decanus) มาจากตำแหน่งในลัทธิเบ็นนาดิคติน Dean ปกครองพระอีก 10 องค์ ตำแหน่งนี้ตั้งขึ้นมาสำหรับช่วยแบ่งเบาภาระกิจของ Provost ในด้านการบริหาร ในประเทศอังกฤษ Dean จะเป็นประธานสภาสังฆบุคลากร มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องศาสนพิธี และเป็นผู้ร่วมทำศาสนพิธีบางส่วนด้วย ตามปกติแล้วเมื่อเริ่มศาสนพิธี Dean จะเป็นผู้ที่เดินเข้ามาทางขวาเมื่อเข้ามาในบริเวณที่ทำพิธี
  • Precentor ตำแหน่งรองจาก Dean ก็คือ Precentor (หรือที่เรียกว่า primicerius, cantor, อื่นๆ) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับดนตรีและพิธีศาสนา Precentor จะทำหน้าที่แทน Dean ในกรณีที่ Dean ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีที่นั่งทางซ้ายตรงข้ามกับ Dean แต่บางครั้งก็มีข้อยกเว้นเช่นที่มหาวิหารเซนต์พอลที่ตำแหน่งรองจาก Dean คือ archdeacon และ มีที่นั่งซึ่งตามปกติจะเป็นที่นั่งของ Precentor
  • Chancellor ตำแหน่งสำคัญตำแหน่งที่สามของมหาวิหารคือ Chancellor (หรือที่เรียกว่า scholasticus, écoldtre, capiscol, หรือ magistral, อื่นๆ) มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษา และมักจะเป็นเลขานุการและบรรณารักษ์ของวัดด้วย ในกรณีที่ Dean และ Precentor ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ก็จะทำหน้าที่เป็นประธานแทน Chancellor จะมีที่นั่งทางด้านตะวันออกสุดด้านเดียวกับ Dean
  • Treasurer ตำแหน่งสำคัญตำแหน่งที่สี่ของมหาวิหารคือ Treasurer (หรือที่เรียกว่า custos, sacrisla, cheficier) หรือ เหรัญญิก รับผิดชอบเรื่องเฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งของวัด และเป็นผู้เตรียม ขนมปัง เหล้าองุ่น ธูป และเทียน สำหรับพิธีศีลมหาสนิท และควบคุมขั้นตอนของการทำพิธี เช่น การสั่นกระดิ่ง ที่นั่งของ Treasurer จะอยู่ตรงข้ามกับ Chancellor

นอกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วบางมหาวิหารก็อาจจะมีตำแหน่งอื่นเช่น Praelector, รอง dean, รอง chancellor, Succentor-canonicorum และอื่นๆ นอกจากตำแหน่งต่างๆเหล่านี้ก็มีแคนนอนที่ไม่มีตำแหน่งอะไร แคนนอนส่วนใหญ่แล้วจะมีที่อยู่นอกวัดฉะนั้นทำให้มีความแตกต่างระหว่างแคนนอนที่จำวัด และแคนนอนที่ไม่อยู่ในวัด แคนนอนที่อยู่นอกวัดรู้จักกันว่า prebendaries ถึงแม้จะไม่อยู่ในวัดแต่ แคนนอนก็ยังมีตำแหน่งเป็นแคนนอนและยังสามารถออกเสียงในการประชุมได้

ระบบการอยู่นอกวัดเช่นนี้ทำให้เกิดระบบที่เรียกว่า Vicars choral แคนนอนแต่ละคนจะมี Vicar ที่ทำหน้าแทน จะนั่งประจำที่ของแคนนอนในที่ทำพิธีในกรณีที่แคนนอนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และจะนั่งที่นั่งต่ำกว่าถ้าแคนนอนปฏิบัติหน้าที่ได้ Vicar ไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมและเป็นตำแหน่งที่ปลดไม่ได้ ความสำคัญของ Vicar คือเป็นผู้ทำหน้าที่แทนแคนนอนเมื่อแคนนอนไม่อยู่ Vicar บางที่ก็จะจัดเป็น สภาสังฆบุคคลากรของตนเอง ภายใต้การปกครองของ Dean และ สภาสังฆบุคคลากรของมหาวิหาร

[แก้] ความสัมพันธ์ระหว่างพระสังฆราชและสภาสังฆบุคลากร

ความสัมพันธ์ระหว่างพระสังฆราชและสภาสังฆบุคลากรของมหาวิหารแบบ“เซ็คคิวลาร์” ก็ไม่ต่างกับ ความสัมพันธ์ระหว่างพระสังฆราชและสังฆมณฑลของมหาวิหารแบบสำนักสงฆ์ ทั้งสองกรณีสภาสังฆบุคลากรจะทำหน้าที่เป็นปรึกษาของพระสังฆราชฉะนั้นโยบายทุกอย่างของพระสังฆราชก่อนที่จะนำมาปฏิบัติได้จะต้องได้รับการอนุมัติจากสภาสังฆบุคลากรก่อน

[แก้] สถาปัตยกรรมของมหาวิหาร

ในปัจจุบันเมื่อเรานีกถึงมหาวิหารเราจะนึกถึงสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตโอฬารโดยเฉพาะมหาวิหารที่สร้างในยุคกลางหรือยุคเรอเนซองส์ แต่ขนาดหรือความใหญ่โตมิได้เป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในการสร้างมหาวิหารโดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งถือว่าความสำคัญเหนือสุดคือความมีประโยชน์ในการใช้สอยเช่น มหาวิหารของชนเคลต์ และชนแซ็กซอน ซึ่งมักจะค่อนข้างเล็ก เช่นเดียวกับ มหาวิหารแบบไบแซนไทน์ที่เอเธนส์ ที่บางทีเรียกกันว่า Little Metropole Cathedral of Athens

แผนผังของมหาวิหารส่วนใหญ่ถ้ามองจากด้านบนจะเป็นรูปกางเขน (Latin cross) หรือ กากบาท (Greek cross) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหน้าที่ของมหาวิหารที่เป็นสถานที่คริสต์ชนใช้เป็นที่สักการะบูชา นอกจากนั้นสิ่งก่อสร้างจะประกอบด้วยที่สำหรับบุคลากร ที่ทำคริสต์ศาสนพิธี ชาเปล ออร์แกน และสึ่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับประเพณีทางศาสนาและการบริหารมหาวิหาร

มหาวิหารก็เช่นเดียวกับวัดทางคริสต์ศาสนาอื่นๆ จะประกอบด้วย แท่นบูชา หรือแท่นที่ใช้ในการประกอบพิธีศีลมหาสนีท, “แท่นอ่านคัมภีร์ไบเบิล” (Lectern) และ แท่นเทศน์ บางแห่งก็ยังมีอ่างศีลจุ่ม สำหรับทำพิธีล้างบาปเพี่อเป็นเครื่องหมายการยอมรับผู้ที่ถูกจุ่มหรือเจิมด้วยน้ำมนต์เข้าสู่คริสต์จักร ซึ่งมักจะทำกับเด็ก การทำพิธีศึลจุ่มในบางประเทศอาจจทำในสิ่งก่อสร้างนอกตัววัดที่สร้างขึ้นเฉพาะสำหรับพิธีนี้ เช่นที่ หอศีลจุ่ม เมืองปิซาในประเทศอิตาลี ถ้าอ่างสำหรับพิธีศีลจุ่มอยู่ในวัดก็มักจะอยู่ทางด้านตะวันตกใกล้ประตูทางเข้าวัด และจะมีที่นั่งสำหรับพระราชาคณะและที่ทำพิธีสวด

มหาวิหารแบบสำนักสงฆ์และมหาวิหารแบบ “เซ็คคิวลาร์” บางทีจะมีระเบียงคดยื่นออกมาทางด้านข้างของวัด กันผู้ใช้จากลมและฝน เช่นที่ มหาวิหารกลอสเตอร์ เดิมบริเวณนี้ใช้เป็นที่ทำสังฆกิจกรรมเช่นลอกหนังสือ หรือใช้เป็นที่เดินวิปัสนา นอกจากนั้นบางมหาวิหารก็ยังมีหอประชุมสงฆ์ สำหรับสภาสังฆบุคคลากร ห้องประชุมที่ยังพบกันอยู่ที่ประเทศอังกฤษมักจะเป็นรูปแปดเหลี่ยม เช่นที่มหาวิหารเวลส์ บางครั้งด้านหน้ามหาวิหารจะเป็นจัตุรัสสำคัญของเมืองที่ตั้งอยุ่เช่นที่เมืองฟลอเรนซ์ หรืออาจจะตั้งอยู่ในบริเวณของมหาวิหารเองที่มีกำแพงล้อมรอบ เช่นที่มหาวิหารแคนเตอร์บรี หรือ มหาวิหารซอลสบรี ที่ยังเห็นกำแพงบางส่วน นอกจากตัวมหาวิหารแล้วก็อาจจะมีสิ่งก่อสร้างอื่นที่เป็นของมหาวิหารอยู่ในบริเวณเดียวกันด้วย เช่นโรงเรียน

[แก้] คุณค่าของมหาวิหาร

มหาวิหารหลายแห่งมีความสวยงามทางสถาปัตยกรรมและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จนทำให้ได้รับเลือกจากองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มาจนกระทั่งศตวรรษที่ 20 มหาวิหารจะเป็นสัญลักษณ์ของเมือง เพราะความใหญ่โตและส่วนใหญ่จะมีหอสูงทำให้มองเห็นได้แต่ไกล แต่ในปัจจุบันมหาวิหารส่วนใหญ่จะถูกล้อมรอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างหรือถูกบังโดยตึกระฟ้า นอกจากมหาวิหารบางแห่งที่ชุมชนต่อต้านทางกฎหมาย โดยห้ามสิ่งก่อสร้างสูงใกล้มหาวิหารอย่างมหาวิหารโคโลญ ที่ประเทศเยอรมนี

นอกเหนือจากการเป็นสถานที่สำหรับการสักการะบูชาแล้วมหาวิหารยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญทางศิลปะและสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมากเพราะมหาวิหารหลายแห่งใช้เวลาหลายร้อยปีจึงสร้างเสร็จ ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงการวิวัฒนาการของศิลปะ เช่นเราจะเห็นการพัฒนาของสถาปัตยกรรมกอธิคได้อย่างชัดเจนที่มหาวิหารกลอสเตอร์ นอกจากสิ่งก่อสร้างแล้วมหาวิหารก็ยังเป็นที่สะสมวัตถุที่มีค่าเช่นหน้าต่างประดับกระจกสี ประติมากรรมไม้และหิน อนุสาวรีย์สำหรับสำหรับผู้เสียชีวิตที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลัก และมงคลวัตถุ ต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญทั้งทางศาสนาและศิลปะ เช่นที่มหาวิหารอาเคิน ที่เป็นที่เก็บเสื้อที่เชื่อกันว่าเป็นเสื้อที่นักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ ใส่วันที่ท่านถูกตัดหัว นอกจากนั้นมหาวิหารยังเป็นที่ที่มีความสำคัญต่อชุมชนที่มหาวิหารตั้งอยู่เพราะมหาวิหารเป็นที่รวบรวมสิ่งของเช่น ป้าย ข้อเขียน กระจกสี หรือภาพเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเมืองนั้น

ความสวยงามและความสำคัญดังกล่าวนี้ทำให้มหาวิหารเป็นสิ่งดึงดูดนั่งท่องเที่ยวมาเป็นเวลาหลายร้อยปี บางมหาวิหารที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจะมีระบบเก็บค่าผ่านประตูสำหรับผู้ที่เข้าชมมหาวิหารที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนพิธี บางทีก็จะมีบริการมัคคุเทศก์ ร้านขายหนังสือ หรือร้านกาแฟเล็กๆ เช่นที่ มหาวิหารแห่งชาติที่กรุง วอชิงตัน ดี.ซี.

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ New Standard Encyclopedia, 1992 by Standard Educational Corporation, Chicago, Illinois; page B-262c
  2. ^ New Standard Encyclopedia, 1992 by Standard Educational Corporation, Chicago, Illinois; page C-172/3

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้] สมุดภาพ