ประเสริฐ ณ นคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี พ.ศ. 2531 เป็นผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต ใกล้รุ่ง ในดวงใจนิรันดร์ แว่ว เพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร สนใจงานด้านคณิตศาสตร์ สถิติ การคำนวณปฏิทิน การแต่งเพลง พันธุศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาไทยโบราณ มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับและอ้างถึงในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ การชำระประวัติศาสตร์สุโขทัย ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไทย หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย การแบ่งกลุ่มไทยตามตัวหนังสือ พจนานุกรมไทยอาหม ตัวอักษรไทยในล้านนา ที่มาของอักษรไทยล้านนาและไทยลื้อ นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้งภายในและต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 100 บทความ

เกิดในวันวสันตวิษุวัต ของปี ค.ศ. 1919 ตรงกับวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2461 สัมฤทธิ์ศก ปีมะเมีย ตรงปักขทืนล้านนา ในวันเต่าสัน แรม 5 ค่ำ เดือน 6 จ.ศ. 1280 ปีเปิกสะง้า เป็นปีที่พิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพ เกิดที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นบุตรของนายบุญเรือง และนางกิมไล้ ได้สมรสกับนางเยาวลักษณ์ (ลีละชาติ) มีบุตรคือ ดร.ปิยพร ณ นคร ซึ่งได้สมรสกับนางสมทรง (โหตรกิตย์) มีบุตรชื่อนางสาวเสมอใจ ณ นคร

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในวงวิชาการว่า เป็นปรมาจารย์ในด้านไทยศึกษา ที่มีความรอบรู้ในลักษณะสหวิทยาการ ทั้งคณิตศาสตร์ สถิติ ประวัติศาสตร์ไทย ปฏิทินไทย ภาษาไทย จารึก ศิลปวรรณคดี และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักวิชาการที่ให้ความสำคัญกับการขยายขอบเขตของไทยศึกษา ไปสู่ไทศึกษาหรือการศึกษาเรื่องของชนเผ่าไทอื่น ๆ นอกประเทศไทย ผลงานทางวิชาการของท่านมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไท การสืบค้นภาษาไทในเมืองจีน แนวการปริวรรตอักษรพื้นเมืองล้านนา ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก เล่าเรื่องในไตรภูมิพระร่วง ความสำคัญของวรรณคดีท้องถิ่น หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย ประวัติศาสตร์ล้านนาจารึก ความเห็นเรื่องจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรื่องเกี่ยวกับ ศิลาจารึกสุโขทัย และศักราชในจารึกสมัยสุโขทัย เป็นต้น ผลงานเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และใช้อ้างอิงในวงวิชาการเสมอมา นักวิชาการหลายสาขาอ้างอิงแนวคิดหรือข้อเสนอของท่าน เพียงใช้อักษรย่อว่า ป.ณ.

เนื้อหา

[แก้] การศึกษา

[แก้] การทำงาน

  • พ.ศ. 2482 รับราชการเป็นนักเกษตรผู้ช่วยโท แผนกปฐพีวิทยา และอาจารย์วิทยาลัยเกษตร บางเขน กรมเกษตรและการประมง
  • พ.ศ. 2487 เป็นอาจารย์โทแผนกวิศวกรรม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พ.ศ. 2503 ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์
  • พ.ศ. 2507 รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พ.ศ. 2515 ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุ
  • พ.ศ. 2529 นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พ.ศ. 2542 นายกราชบัณฑิตยสถาน

[แก้] เกียรติคุณ

  • ศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนพิริยาลัยแพร่
  • ศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
  • สมาชิก ฟาย กาปา ฟาย ในฐานะเรียนดีที่สหรัฐ
  • สมาชิก ซิกม่า ซาย ในฐานะนักวิจัยดีเด่นที่สหรัฐ
  • Distinguished Alumnus Award จาก The Philipines University
  • แผ่นเสียงทองคำ ประพันธ์เนื้อเพลง
  • นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2531 ในกลุ่มสาขาปรัชญา (ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี) โดยสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
  • กิตติเมธี ในสาขาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2531-2533
  • รับพระราชทานพระเกี้ยวทองคำในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่นจาก คณะกรรมการรณรงค์ภาษาไทย พ.ศ. 2532จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น ในงาน 100 ปี นักเรียนทุนรัฐบาลไทย พ.ศ. 2537
  • ผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ. 2535
  • Asean Awards Literary พ.ศ. 2536
  • สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกย่องท่านเป็น ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2535
  • คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติคัดเลือกเป็น บุคคลดีเด่นของชาติสาขาพัฒนาสังคม (ด้านประวัติศาสตร์และวรรณกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2540
  • โล่ห์เกี่ยรติยศ ผู้สร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ พันธุศาสตร์ สมาคมพันธุศาสตร์ แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2540
  • ได้รับเกียรติจากมหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการตั้งชื่อโรงละคร สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรว่า โรงละคร "ประเสริฐ ณ นคร" พ.ศ. 2544

[แก้] เกร็ดประวัติ

  • วิชาที่ชอบที่สุดและทำได้ดีที่สุดคือ คณิตศาสตร์ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ หรือภาษา แต่หาเพื่อนร่วมถกปัญหายาก จึงเชื่อว่าจะช่วยเหลือประเทศชาติได้มากที่สุดในทางประวัติศาสตร์
  • มีชื่อเล่นว่า แงด หรือแรด เพราะซนเหมือนแรด แต่โตขึ้นเรียบร้อยจนเป็นเด็กนักเรียนชายตัวอย่างของโรงเรียนสตรี
  • มีน้องชายอายุน้อยกว่า 2 ปี ชื่อ ดร.ประพฤทธิ์ ณ นคร (งอก) อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
  • ถ้าไม่ได้รับทุนจาก ก.พ.ไปเรียนฟิลิปปินส์ในครั้งนั้น อาจไปเป็นครูประชาบาล
  • ตั้งแต่ประถมจนจบปริญญาเอก เสียค่าเล่าเรียนเอง รวมกันทั้งสิ้น 63 บาท (3 บาท ตอนประถม 3 และ 60 บาทตอนเรียนซ้ำ ม.8 ที่สวนกุหลาบ) จึงถือว่าเป็นหนี้ตาสีตาสา ต้องมีหน้าสอนหนังสือใช้หนี้
  • เพื่อนที่สนิทคือ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ และ ศ.วิสุทธ์ บุษยกุล
  • เพลงใกล้รุ่ง ใช้เวลาเขียน 30 นาที เนื่องจากมีประโยค "ไก่ประสานเสียงกัน" จึงได้นำไปแสดงครั้งแรกในงานสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่
  • เพลงชะตาชีวิต เขียนเนื้อร้องโดยไม่ได้เห็น ทั้งโน้ตที่พระเจ้าอยู่หัวนิพนธ์ และเนื้อร้อง H.M. Blues
  • เพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเพลงที่เครียดที่สุดในชีวิต ใช้เวลาเขียนตลอดทั้งคืน เนื่องจากเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ และเป็นเพลงของมหาวิทยาลัยเอง อีกทั้งเพลงประจำมหาวิทยาลัยของทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ เขียนเนื้อร้องไว้ดีมาก

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น