เนื่อง จินตดุลย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก เนื่อง จินตดุล)

ท้าวอินทรสุริยา หรือนามเดิม นางสาวเนื่อง จินตดุลย์ (10 ธันวาคม พ.ศ. 2428 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2517) พระพี่เลี้ยงในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2428 ณ ตำบลบางขุนศรี อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เป็นธิดาคนเดียวของนายกลีบ และ นางทองคำ จินตดุลย์ เมื่ออายุประมาณ 2 ปี มารดาได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรม ของนางทับทิม บุณยาหาร ซึ่งเป็นญาติ เมื่อมีวัยพอศึกษา นางทับทิมจึงหาครูมาสอนให้ที่บ้าน พออ่านออกเขียนได้ จนอายุ 15 ปี มีใจน้อมไปในทางธรรม เนื่องจากมีโอกาสตามนางทับทิม ไปวัดทำบุญรักษาศีลทุกวันมิได้ขาด ต่อมาถึงเกิดศรัทธาแรงกล้า ตัดสินใจโกนผมนุ่งห่มขาว บวชอยู่ ณ สำนักชี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 5 ปี ครั้นทางบ้านไม่มีคนช่วยดูแลบ้าน นางทับทิมจึงขอร้องให้ลาเพศชีกลับมาช่วยดูแลบ้านตามเดิม

เมื่อลาเพศชีออกมาได้ 5-6 ปี ภารกิจว่างลง จึงขออนุญาตนางทับทิม ไปเข้าเรียนวิชาพยาบาล จนสำเร็จวิชาพยาบาลศิริราช รุ่นที่ 9 เป็นพระสหายร่วมชั้นเรียนวิชาพยาบาลของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช เมื่อ พ.ศ. 2456 เมื่อหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ได้ให้ประสูติหม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล และติดตามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จฯกลับสยามเมื่อ พ.ศ. 2466 ท่านได้ติดตามเป็นพระพี่เลี้ยง และตามเสด็จทั้งสามพระองค์ไปประเทศเยอรมนี และประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2468 [1] และเป็นพระพี่เลี้ยงของทั้งสามพระองค์ตลอดมาหลายสิบปี ดังนั้นจึงมีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษพอสมควร นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่คอยติดตามข่าวสารบ้านเมืองเสมอ จึงเป้นคนที่ทราบการเคลื่อนไหวของชาวโลกตลอดเวลา รวมทั้งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงออกนามเรียกพระพี่เลี้ยงเนื่องว่า แหนน [2]

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี พ.ศ. 2493 มีการสถาปนายศบรรดาศักดิ์ชั้นท้าวนาง สำหรับข้าราชสำนักฝ่ายใน ตามโบราณราชประเพณี เป็นครั้งสุดท้าย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฐานันดรศักดิ์ให้ท่านเป็น ท้าวอินทรสุริยา พร้อมกับการสถาปนาคุณท้าวท่านอื่นๆอีก 5 ท่าน คือ

นอกจากนี้ ท่านยังมีโอกาสถวายการอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชธิดาพระองค์แรกในระยะหนึ่งด้วย [2] ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า เป็นเกียรติยศ

ในบั้นปลายชีวิต ท่านได้กราบบังคมทูลลาถือเพศอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวอีกครั้ง ณ วัดโกมุทรัตนาราม ชลบุรี โดยมีหลวงพ่อสาลี เป็นผู้ประกอบพิธี เมื่อบวชแล้วก็ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดธาตุทอง พระโขนง ตลอดเวลาได้อุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์ให้กับการบำรุงวัด สถานพยาบาล และสถาบันแม่ชี โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และยังชอบท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ชอบมาก คือ วัดวชิราลงกรณวราราม ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขอร้องให้เข้ามาพำนักในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จนสิ้นชีวิต เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2517 เวลา 19.10 น. ณ ที่ทำการแพทย์หลวงสวนจิตรลดา อายุได้ 88 ปี 11 เดือน [2]

[แก้] อ้างอิง

  • สารัตถสมุจจัย มงคลสูตร (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท้าวอินทรสุริยา ท.จ. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2518)