หมู่เกาะโมลุกกะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หมู่เกาะโมลุกกะ
ภูมิศาสตร์
IndonesiaMalukuIslands.png
ที่ตั้ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พิกัด 3°9′S 129°23′E
เกาะทั้งหมด ประมาณ 1,000 เกาะ
เกาะหลัก เกาะฮัลมาเฮรา เกาะซรัม เกาะบูรู เกาะอัมบน เกาะเตอร์นาตี เกาะตีโดเร หมู่เกาะอารู หมู่เกาะไก
เนื้อที่ 74,505 ตารางกิโลเมตร
จุดสูงสุด บีไนยา (3,027 เมตร)
การบริหาร
Flag of อินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซีย
จังหวัด
(เมืองหลัก)
มาลูกู (อัมบนซิตี)
มาลูกูเหนือ (เตอร์นาตี)
ประชากรศาสตร์
จำนวนประชากร 1,895,000 คน (ในปี 2543)

หมู่เกาะโมลุกกะ หรือ มาลูกู (Maluku Islands) เป็นหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเกาะมาเลย์ ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกออสเตรเลียน ทางด้านตะวันออกของเกาะซูลาเวซี (เซเลบีส) ทางด้านตะวันตกของเกาะนิวกินี และทางเหนือของติมอร์ ในอดีตนั้น ชาวจีนและชาวยุโรปเรียกหมู่เกาะนี้ว่า หมู่เกาะเครื่องเทศ (Spice Islands)

พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะเป็นภูเขา บางส่วนยังเป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ และมีสภาพภูมิอากาศที่ชื้น พืชพรรณอุดมสมบูรณ์ แม้จะอยู่บนเกาะที่เล็ก แคบ และล้อมรอบด้วยทะเล อาทิ ป่าฝน สาคู ข้าว และเครื่องเทศต่าง ๆ (เช่น ลูกจันทน์เทศ กานพลู และดอกจันทน์เทศ) ถึงแม้ว่าชาวเมลานีเซียนจะเป็นประชากรส่วนใหญ่แต่เดิมโดยเฉพาะบนเกาะบันดา แต่ก็ถูกสังหารในช่วงศตวรรษที่ 17 การอพยพเข้ามาของชาวมาเลย์ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ในช่วงที่ชาวดัตช์ปกครองอยู่ และต่อเนื่องมาจนถึงยุคที่เป็นประเทศอินโดนีเซียแล้ว

ในทางการเมือง หมู่เกาะโมลุกกะเป็นจังหวัดหนึ่งในอินโดนีเซียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ถึงปี พ.ศ. 2542 มาลูกูเหนือและฮัลมาเฮรากลางถูกแยกออกเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ดังนั้น หมู่เกาะนี้จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 จังหวัด คือ มาลูกู (Maluku) และมาลูกูเหนือ (North Maluku) ระหว่างปี 2542 ถึง 2545 เป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ แต่ก็เพิ่งกลับมาสงบสุขเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เนื้อหา

[แก้] ความหมายของคำ

ชื่อ มาลูกู นั้น เชื่อว่ามีที่มาจากคำของพ่อค้าชาวอาหรับว่า Jazirat al-Muluk อันมีความหมายว่า "ดินแดนหลายกษัตริย์"

[แก้] ประวัติ

[แก้] ประวัติช่วงต้น

หลักฐานทางโบราณคดียุคแรกของเกี่ยวกับการครอบครองดินแดนของมนุษย์เก่าแก่ราว 32,000 ปี แต่หลักฐานเกี่ยวกับการตั้งรกรากที่เก่าแก่กว่าในออสเตรเลีย บ่งชี้ว่ามาลูกูมีผู้มาเยือนก่อนหน้านั้น หลักฐานของความสัมพันธ์ทางการค้าระยะไกลที่เพิ่มขึ้น และการครอบครองเกาะต่างๆ ที่มากครั้งขึ้นนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณหมื่นถึงหมื่นห้าพันปีหลังจากนั้น ลูกปัดหินออนิกซ์ (Onyx) และข้อปล้องที่ทำด้วยเงินซึ่งใช้แทนเงินตราในแถบอินเดียราว 200 ปีก่อนคริสตกาลถูกขุดพบในบางเกาะ นอกจากนี้ ภาษาท้องถิ่นมีรากของคำมาจากภาษามาเลย์ในคำที่แปลว่า "แร่เงิน" ขัดแย้งกับคำที่ใช้ในสังคมชาวเมลานีเซียนซึ่งมีที่มาจากภาษาจีน การค้าท้องถิ่นกับจีนจึงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 6

มาลูกูเป็นสังคมที่เกิดจากหลากเชื้อชาติและภาษา ที่ซึ่งพ่อค้าเครื่องเทศจากหลายภูมิภาคเข้ามาอาศัยตั้งรกราก รวมทั้งพ่อค้าชาวอาหรับและจีนที่มาเยือนและใช้ชีวิตในดินแดนแถบนี้

[แก้] ชาวโปรตุเกส

[แก้] การเข้ามาของชาวโปรตุเกส

หลังจากการได้รับชัยชนะของชาวโปรตุเกสเหนือมะละกาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2054 อาโฟนซู ดี อัลบูเกร์กี (Afonso de Albuquerque) ได้รู้จักเส้นทางสู่เกาะบันดาและเกาะเครื่องเทศอื่น ๆ และส่ง 3 คณะสำรวจภายใต้การนำของอันตอนีอู ดี อาเบรว (Antonio de Abreu) ซีเมา อัฟโฟนซู บีซีกูดู (Simão Affonso Bisigudo) และฟรันซิสกู เซร์เรา (Francisco Serrão) ในระหว่างเดินทางกลับ เซร์เราประสบเหตุเรือแตกที่เกาะฮีตู ในปี พ.ศ. 2055 ที่นั่น เขาได้ตั้งตนเป็นประมุขปกครองท้องถิ่น และอวดอ้างความสามารถทางการสงครามของตนเอง ประมุขของเกาะข้างเคียงอย่างเตอร์นาตี (Ternate) และตีโดเร (Tidore) ต่างก็ให้ความช่วยเหลือ และยอมให้เข้ามาในอาณาเขตในฐานะผู้ซื้ออาหารและเครื่องเทศ ในระหว่างที่การค้าเครื่องเทศสงบลงชั่วคราว เพราะการกระจัดกระจายของนักเดินเรือชาวชวาและมาเลย์หลังการต่อสู้ในแถบมะละกาเมื่อปี พ.ศ. 2054 การค้าในเอเชียก็กลับฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ และชาวโปรตุเกสก็ไม่เคยมีอำนาจเหนือการค้าได้เลย

[แก้] เกาะเตอร์นาตี

ในการเป็นพันธมิตรกับเตอร์นาตี (Ternate) นั้น เซร์เราได้สร้างป้อมปราการบนเกาะขึ้น และเป็นหัวหน้าของทหารโปรตุเกสภายใต้อำนาจของหนึ่งในสองสุลต่านผู้ขัดแย้งกันเกี่ยวกับการค้าเครื่องเทศ หมู่เกาะแห่งนี้กลายเป็นเมืองหน้าด่านที่ห่างไกลจากยุโรปที่เต็มไปด้วยอันตรายและความโลภ ที่ซึ่งพฤติกรรมน่าสังเวชของโปรตุเกส ประกอบกับความพยายามอันอ่อนแรงของคริสเตียน ส่งผลเป็นความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับประมุขชาวมุสลิมแห่งเกาะเตอร์นาตี เซร์เราสนับสนุนมาเจลลันให้ร่วมมือกับเขาในมาลูกู และให้ข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับเกาะเครื่องเทศ อย่างไรก็ตาม ทั้งเซร์เราและมาเจลลันต่างก็เสียชีวิตก่อนที่จะได้พบกัน ในปี พ.ศ. 2078 กษัตริย์ตาบารีจี (Tabariji) ถูกขับไล่จากราชสมบัติและถูกส่งไปยังกัว (Goa) ที่อินเดียโดยโปรตุเกส เขาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงศาสนาคริสต์และเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น ดอม มานูเอล หลังประกาศความบริสุทธิ์จากข้อกล่าวหา เขาถูกส่งกลับไปครองบัลลังก์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เขาเสียชีวิตในระหว่างเดินทางไปมะละกาในปี พ.ศ. 2088 เขายกเกาะอัมบน (Ambon) ให้กับชอร์เดา ดี เฟรย์ตัส (Jordao de Freitas) ชาวโปรตุเกส หลังชาวโปรตุเกสก่อเหตุฆาตกรรมสุลต่านไฮรัน ชาวเตอร์นาตีก็ขับไล่ชาวโปรตุเกสได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2118 หลังรุกเร้าขับไล่อยู่นาน 5 ปี

[แก้] เกาะอัมบน

โปรตุเกสขึ้นเกาะเกาะอัมบน (Ambon) ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2056 แต่เกาะนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางกิจกรรมของชาวโปรตุเกสแห่งใหม่ในมาลูกู หลังจากถูกขับไล่ออกจากเตอร์นาตี กองกำลังยุโรปอ่อนแอลงในพื้นที่แถบนี้ ขณะที่เตอร์นาตีกำลังขยายตัว ชาวมุสลิมและรัฐที่ต่อต้านโปรตุเกสภายใต้การปกครองของสุลต่านบาบอัลลาห์และบุตรชาย สุลานซาอิด อย่างไรก็ดี โปรตุเกสในอัมบนยังคงถูกจู่โจมโดยชาวมุสลิมพื้นเมืองบนชายฝั่งทิศเหนือของเกาะ โดยเฉพาะเกาะฮิตู ซึ่งมีการเชื่อมโยงกันทางการค้าและศาสนากับเมืองท่าใหญ่ ๆ บนชายฝั่งด้านเหนือของชวา ที่จริง ชาวโปรตุเกสไม่เคยจัดการใด ๆ ที่จะควบคุมการค้าเครื่องเทศท้องถิ่น และล้มเหลวในการสร้างอำนาจเหนือเกาะบันดาที่ใกล้จะเป็นศูนย์กลางการผลิตลูกจันทน์เทศ

สเปนบุกเข้าครอบครองเกาะเตอร์นาตีและเกาะตีโดเร มิชชันนารีและนักบวชโรมันคาทอลิก ฟรังซิส ซาเวียร์ (Francis Xavier) ทำงานในมาลูกูในช่วงปี พ.ศ. 2089-2090 ในหมู่ประชาชนของเกาะอัมบน เตอร์นาตี และโมโรไต (หรือเกาะโมโร) และตั้งกองทุนสำหรับผู้สอนศาสนาที่นั่น หลังการจากมาลูกูของเขา มีชาวคาทอลิก 10,000 คนในช่วงทศวรรษที่ พ.ศ. 2103 ส่วนใหญ่อยู่ในเกาะอัมบน จนเมื่อถึงช่วงทศวรรษที่ พ.ศ. 2133 ชาวคาทอลิกก็เพิ่มขึ้นเป็น 50,000-60,000 คน แม้ว่าชนส่วนใหญ่ยังคงเป็นมุสลิมอยู่ แต่ก็เกิดสังคมชาวคริสเตียนขึ้นแล้วในอินโดนีเชียตะวันออก

[แก้] ชาวดัตช์

ชาวดัตช์เข้ามาในปี พ.ศ. 2142 และแสดงความไม่พอใจที่โปรตุเกสพยายามจะถือเอกสิทธิ์ทางด้านการค้า หลังจากชาวอัมบนช่วยเหลือชาวดัตช์ในการสร้างป้อมถาวรที่ฮีตูลาร์นา (Hitu Larna) โปรตุเกสก็เริ่มแผนแก้แค้นชาวเกาะอัมบน หลังปี พ.ศ. 2148 Frederik Houtman กลายเป็นชาวดัตช์คนแรกที่เป็นข้าหลวงของอัมบน

บริษัทดัตช์อีสต์อินดีสต้องพบกับอุปสรรคถึง 3 ทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส การควบคุมประชากรพื้นเมือง และสหราชอาณาจักร การนำเข้าโดยไม่เสียภาษีเป็นทางเลือกเดียวสำหรับการผูกขาดทางการค้าของยุโรป ในบรรดาเหตุการณ์ของช่วงศตวรรษที่ 17 ชาวเกาะบันดาพยายามจะค้าขายอย่างเสรีกับสหราชอาณาจักร การตอบสนองของบริษัทอีสต์อินเดีย ก็คือการสังหารประชากรพื้นเมืองของเกาะบันดา โดยการส่งผู้รอดชีวิตให้หนีไปเกาะอื่นและจัดตั้งแรงงานทาสขึ้น

แม้ว่าชนชาติอื่น ๆ จะเข้ามาตั้งรกรากบนเกาะบันดา แต่เกาะที่เหลือของมาลูกูก็ยังคงไม่วางใจการควบคุมของต่างชาติ และแม้ว่าหลังจากโปรตุเกสได้ตั้งสถานีการค้าแห่งใหม่ที่มาดากัสการ์แล้วก็ตาม ก็ยังคงมีการจลาจลภายในในปี พ.ศ. 2179 และ พ.ศ. 2189 มาลูกูเหนือถูกปกครองโดยผู้สำเร็จราชการชาวดัตช์แห่งเตอร์นาตี และมากูลูใต้โดย "อัมบอยนา (Amboyna)" (อัมบน)

ในระหว่างที่ญี่ปุ่นวุ่นวายอยู่กับสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ชาวโมลุกกะหลบหนีขึ้นไปบนภูเขาและริเริ่มแผนการต่อต้านที่เป็นรู้จักในนาม South Moluccan Brigade เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ผู้นำทางการเมืองของเกาะตกลงเจรจากับเนเธอร์แลนด์เป็นผลสำเร็จ เมื่อมีการถูกแทรกแซงโดยกองกำลังของอินโดนีเซีย ข้อตกลงการประชุมโต๊ะกลม (Round Table Conference Agreements) ก็ได้รับการเซ็นสัญญาขึ้นในปี พ.ศ. 2492 เพื่อถ่ายโอนมาลูกูไปให้กับอินโดนีเซีย ข้อตกลงอนุญาตให้สิทธิโมลุกกะที่จะมีอำนาจอธิปไตยของตนเองได้

[แก้] เมื่ออินโดนีเซียมีเอกราช

หลังการประกาศเอกราชของสาธารณรัฐอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2493 จากเดิมที่เป็นสหพันธรัฐ โมลุกกะใต้ (Maluku Selatan) พยายามที่จะแยกตัวออก ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่ภายใต้การนำของ Ch. Soumokil (อดีตอัยการสูงสุดของรัฐอินโดนีเซียตะวันออก) และได้รับการสนับสนุนโดยสมาชิกชาวโมลุกกะของกองกำลังพิเศษของเนเธอร์แลนด์ การขาดแคลนการสนับสนุนจากท้องถิ่น การเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงถูกทำลายโดยกองทหารอินโดนีเซียและโดยข้อตกลงพิเศษกับกองกำลังของเนเธอร์แลนด์ที่ถูกย้ายกลับประเทศ การเริ่มต้นใหม่ของการย้ายถิ่นฐานในอินโดนีเซียของประชากรชาวชวาไปยังเกาะรอบนอก (รวมถึงมาลูกู) ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ พ.ศ. 2503 ถูกเชื่อว่าทำให้เอกราชและประเด็นทางศาสนา-การเมืองถูกสั่นคลอน เกิดมีความรุนแรงทางชนชาติบนเกาะต่าง ๆ และการก่อกบฎโดยกลุ่มรัฐบาลที่ถูกเนรเทศของโมลุกกะใต้ตั้งแต่นั้นมา

มาลูกูเป็นหนึ่งในจังหวัดแรก ๆ ของอินโดนีเซีย ได้รับการประกาศในปี พ.ศ. 2488 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 เมื่อมาลูกูเหนือ (Maluku Utara) และฮัลมาเฮราเตงกะห์ (Halmahera Tengah) ถูกแยกเป็นจังหวัดมาลูกูเหนือ เมืองหลวงคือเตอร์นาตี (Ternate) บนเกาะเล็กทางตะวันตกของเกาะใหญ่อย่างเกาะฮัลมาเฮรา (Halmahera) เมืองหลวงของจังหวัดมาลูกูส่วนที่เหลือ คือ อัมบนซิตี (Ambon City)

สถานการณ์ของมาลูกูยากที่จะคาดการณ์ได้ เมื่อความขัดแย้งทางศาสนาเกิดระเบิดขึ้นในจังหวัดเมื่อเดือนมกราคมของปี พ.ศ. 2542 ช่วงเวลา 18 เดือนถัดมากลายเป็นเดือนแห่งการต่อสู้ระหว่างกลุ่มมุสลิมพื้นเมืองกลุ่มใหญ่กับกลุ่มคริสเตียน บ้านเรือนหลายพันหลังถูกทำลาย การขับไล่ประชาชนราว 500,000 คน ผู้คนล้มตายไปเป็นหลักพัน และการแยกจากกันอย่างสิ้นเชิงของมุสลิมและคริสเตียน 12 เดือนถัดมา ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งพบว่ามีการวางเป้าหมายและวางแผนการณ์ล่วงหน้าเอาไว้ก่อน โดยสร้างให้เกิดความระแวงสงสัยในระดับสูงและสร้างให้ผู้คนเกิดความแตกแยกทางศาสนา ทั้งที่มีการเจรจาตกลงและเซ็นสัญญาสงบศึกหลายครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ความตึงเครียดในอัมบนก็ยังคงมีอยู่จนถึงปลายปี 2002 เมื่อการผสมผสานระหว่างกลุ่มที่เคยเป็นศัตรูกันนำไปสู่สันติภาพที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น