อักษรไทยฝักขาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่คาดว่าเป็นต้นกำเนิดของอักษรฝักขาม ในภาพเป็นสำเนาของศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

อักษรไทยฝักขามหรืออักษรฝักขาม เป็นอักษรที่เคยใช้ในล้านนาและภาคอีสานของไทย มีลักษณะใกล้เคียงกับอักษรไทยน้อยหรืออักษรลาวในปัจจุบัน คาดว่าพัฒนาไปจากอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และแพร่หลายเข้าสู่ล้านนาในสมัยพญาลิไท พบจารึกภาษาไทเขียนด้วยอักษรฝักขามในล้านนาชิ้นแรกคือจารึกวัดพระยืน อายุราว พ.ศ. 1954 และคาดว่าใช้มาจนถึงประมาณ พ.ศ. 2124 จึงเปลี่ยนมาใช้อักษรธรรมหรืออักษรล้านนาแทน อักษรชนิดนี้เป็นต้นแบบของอักษรเง่อันในประเทศเวียดนามด้วย

ในทางศาสนา อักษรฝักขามเป็นอักษรที่ใช้ในหมู่พระภิกษุนิกายลังกาวงศ์เก่า ส่วนอักษรธรรมใช้ในหมู่พระภิกษุนิกายลังกาวงศ์ใหม่ ในสมัยพระเจ้าติโลกราชขึ้นเสวยราชย์เมือ พ.ศ. 1984 ทรงสนับสนุนนิกายลังกาวงศ์ใหม่ และน่าจะเริ่มมีจารึกด้วยอักษรธรรมในรัชกาลนี้ เมื่อสิ้นรัชกาล กษัตริย์เชียงใหม่องค์ต่อมาให้ประชาชนนับถือศาสนาตามใจชอบ ทำให้ฟื้นฟูนิกายลังกาวงศ์เก่าขึ้นมาอีกและใช้อักษรฝักขามอีกครั้ง จนกระทั่งหลัง พ.ศ. 2000 นิกายลังกาวงศ์ใหม่ฟื้นฟูการเขียนคัมภีร์ทางศาสนาด้วยอักษรธรรมประกอบกับเป็นช่วงที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ล้านนาจึงใช้อักษรธรรมเป็นหลักเรื่อยมา ในสมัยพระเจ้ากาวิละพยายามฟื้นฟูอักษรฝักขามขึ้นอีกแต่ไม่สำเร็จ

[แก้] อ้างอิง

  • ประเสริฐ ณ นคร. 2549. ลายสือไทย ใน อักษร ภาษา จารึก วรรณกรรม. กทม. มติชน. หน้า 15-18
Linguistics stub.svg อักษรไทยฝักขาม เป็นบทความเกี่ยวกับ ภาษา หรือ ตัวอักษร ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ อักษรไทยฝักขาม ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ภาษา