พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

King George III by Sir William Beechey (2).jpg
พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร
พระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร
พระอิสริยยศ เจ้าชายอีเล็คเตอร์แห่งฮาโนเวอร์
ดยุคแห่งบรันสวิค-ลืนเนอเบิร์ก
ราชวงศ์ ฮาโนเวอร์
ระยะครองราชย์ ค.ศ. 1760ค.ศ. 1820
รัชกาลก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่
รัชกาลถัดไป สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ: George III of the United Kingdom) (4 มิถุนายน ค.ศ. 173829 มกราคม ค.ศ. 1820) ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ฮาโนเวอร์แห่งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และราชอาณาจักรไอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1760 ถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1801 และหลังจากนั้นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์จนสวรรคตเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1820 ที่พระราชวังวินด์เซอร์, บาร์คเชอร์, สหราชอาณาจักร พระบรมศพอยู่ที่ชาเปลเซนต์จอร์จที่พระราชวังวินด์เซอร์

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1738[1] ที่ตำหนักนอร์โฟล์ค กรุงลอนดอน ทรงเป็นพระราชโอรสของเจ้าชายเฟรดริค เจ้าชายแห่งเวลส์ และ เจ้าหญิงออกัสตาแห่งแซกซ์-กอธา ต่อมาทรงได้อภิเษกสมรสกับดัชเชสชาร์ลอตแห่งเม็คเคลนเบิร์ก-ชเตรลิทซ์และมีพระโอรสธิดาด้วยกัน 15 พระองค์ นอกจะทรงเป็นกษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่แล้ว พระองค์ยังทรงมีพระอิศรยศเป็นดยุคแห่งบรันสวิค-ลืนเนอเบิร์กและเจ้าชายอีเล็คเตอร์แห่งฮาโนเวอร์แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และต่อมาพระเจ้าแผ่นดินแห่งฮาโนเวอร์ ต่อมาแคว้นอีเล็คตอเรทฮาโนเวอร์เลื่อนฐานะขึ้นเป็นราชอาณาจักรฮาโนเวอร์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1814 พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษองค์ที่สามของราชวงศ์ฮาโนเวอร์ และทรงเป็นกษัตริย์ฮาโนเวอร์องค์แรกของอังกฤษที่ทรงพระราชสมภพในราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และทรงพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่[2] และไม่เคยเสด็จไปเยอรมนี

รัชสมัยอันยาวนานของพระเจ้าจอร์จที่ 3 เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางทหารหลายครั้งระหว่างราชอาณาจักรของพระองค์และประเทศต่างๆ ในยุโรปเกือบทั้งหมด เมื่อต้นรัชสมัยบริเตนใหญ่ได้รับชัยชนะต่อฝรั่งเศสในสงครามเจ็ดปีซึ่งทำให้อังกฤษกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของยุโรปผู้มีอิทธิพลในทวีปอเมริกาเหนือและอินเดีย แต่ต่อมาอังกฤษก็สูญเสียอาณานิคมอเมริกาไปกับสงครามปฏิวัติอเมริกา (American Revolutionary War) ซึ่งเป็นสงครามที่ทำให้เกิดการก่อตั้งสหรัฐอเมริกา ต่อมาราชอาณาจักรก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามกับจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ที่สิ้นสุดลงด้วยการพ่ายแพ้ของนโปเลียนในปี ค.ศ. 1815 นอกจากนั้นระหว่างรัชสมัยของพระองค์ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และราชอาณาจักรไอร์แลนด์ได้รวมตัวกันเป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์อีกด้วย

แต่ต่อมาพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงเสียพระสติเป็นครั้งคราวและในที่สุดก็เป็นการถาวร พระอาการของพระองค์เป็นปัญหาที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยนั้นงงงวยเพราะไม่ทราบสาเหตุและไม่ทราบวิธีถวายการรักษา แต่ในปัจจุบันเชื่อกันว่าพระอาการต่างๆ ตรงกับอาการของโรคพอร์ฟิเรีย (porphyria) ซึ่งเป็นโรคที่อาจจะเกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารพิษ การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีสารพิษระดับสูงในพระเกษาของพระเจ้าจอร์จที่ 3 หลังจากเมื่อพระอาการทรุดลงเป็นครั้งสุดท้ายจนไม่ทรงสามารถปกครองประเทศได้เมื่อปี ค.ศ. 1810 เจ้าชายจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์จึงทรงปกครองราชอาณาจักรในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 3 สวรรคตเจ้าชายจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์จึงทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร การวิจัยทางประวัติชีวิตของพระเจ้าจอร์จที่ 3 เปลี่ยนแปลงภาพพจน์ของพระองค์ตลอดมา ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุมาจากการศึกษาจากเอกสารอ้างอิงที่ไม่เป็นธรรมต่อพระองค์[3]

เนื้อหา

[แก้] ชีวิตเบื้องต้น

พระเจ้าจอร์จเสด็จพระราชสมภพที่คฤหาสน์นอร์โฟล์คในกรุงลอนดอน ทรงเป็นพระนัดดาของพระเจ้าจอร์จที่ 2 และพระโอรสของเจ้าชายเฟรดริค เจ้าชายแห่งเวลส์และเจ้าหญิงออกัสตาแห่งแซกซ์-กอธา (Augusta of Saxe-Gotha) ทรงประสูติก่อนกำหนดถึงสองเดือนและไม่ทราบกันในขณะนั้นว่าจะทรงรอดหรือไม่ ทรงได้รับศีลจุ่มในวันเดียวกันโดยบาหลวงแห่งอ๊อกซฟอร์ดทอมัส เซ็คเคอร์ (Thomas Secker)[4] เดือนหนึ่งต่อมาก็ทรงเข้าพิธีรับศีลจุ่มอีกครั้งหนึ่งอย่างเป็นทางการที่คฤหาสน์นอร์โฟล์คโดยเซ็คเคอร์เช่นกัน โดยมีพระเจ้าเฟรดเดอริคที่ 1 แห่งสวีเดนเป็นพระราชอัยกาทูลหัว (ผู้ทรงมอบฉันทะให้ชาร์ลส์ คาลเวิร์ต บารอนบัลติมอร์ที่ 5 (Charles Calvert, 5th Baron Baltimore) เป็นผู้แทนพระองค์), พระปิตุลาเฟรดเดอริคที่ 3 ดยุคแห่งแซ็กซ์-โกธา-อัลเต็นเบิร์ก (Frederick III, Duke of Saxe-Gotha-Altenburg) (ผู้มอบฉันทะให้ เฮ็นรี บริดจ์ส ดยุคแห่งชานดอสที่ 2 (Henry Brydges, 2nd Duke of Chandos) เป็นผู้แทนตัว) และพระอัยกีพระราชินีโซเฟีย โดโรเธียแห่งปรัสเซีย (ผู้ทรงมอบฉันทะให้เลดี้ชาร์ล็อต เอ็ดวิน) เป็นผู้แทนพระองค์).[5]

เจ้าชายจอร์จทรงเจริญพระชันษาขึ้นมาเป็นเด็กที่พระสุขภาพพลานามัยดีแต่ทรงไว้องค์และขี้อาย ครอบครัวของพระองค์ย้ายจากจตุรัสเลสเตอร์ไปยังที่ประทับใหม่ที่พระองค์และพระอนุชาเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุคแห่งยอร์คและอัลบานี (Prince Edward, Duke of York and Albany) ทรงได้รับการศึกษาจากพระอาจารย์ส่วนพระองค์ จดหมายจากครอบครัวแสดงว่าทรงเขียนและอ่านได้ทั้งภาษาอังกฤษและเยอรมัน และทรงมีความคิดเห็นทางการเมืองตั้งแต่ทรงมีพระชันษาได้เพียง 8 พรรษา[6] เจ้าชายจอร์จทรงเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษองค์แรกที่ทรงศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ นอกจากเคมีศาสตร์และฟิสิคส์แล้วพระองค์ก็ยังทรงศึกษาดาราศาสตร์, คณิตศาสตร์, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาละติน, ประวัติศาสตร์, ดนตรี, ภูมิศาสตร์, การพาณิชย์, การเกษตรกรรม และกฎหมายรัฐธรรมนูญนอกไปจากการกีฬาและการสังคมเช่นการเต้นรำ, การดวลดาบ และการขี่ม้า การศึกษาทางศาสนาเป็นการศึกษาภายใต้นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์[7]

ภาพเขียนจากราวปี ค.ศ. 1749 ที่เจ้าชายจอร์จ (กลาง) และพระอนุชาเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุคแห่งยอร์คและอัลบานีและพระอาจารย์ฟรานซิส อายคอฟผู้ต่อมาเป็นอธิการของมหาวิหารบริสตอล
เจ้าชายจอร์จ ในฐานะเจ้าชายแห่งเวลส์ ใน ค.ศ. 1751

พระเจ้าจอร์จที่ 2ไม่ทรงมีความสนพระทัยในพระนัดดาเท่าใดนัก แต่ในปี ค.ศ. 1751 เมื่อพระโอรสเจ้าชายเฟรดริค เจ้าชายแห่งเวลส์สิ้นพระชนม์โดยกระทันหันจากการบาดเจ็บที่ปอด เจ้าชายจอร์จก็กลายเป็นรัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรง และทรงได้รับตำแหน่งของพระราชบิดาและทรงดำรงตำแหน่งเป็นดยุคแห่งเอดินบะระ พระเจ้าจอร์จที่ 2 ทรงหันมาสนพระทัยในตัวพระนัดดา สามอาทิตย์หลังจากนั้นก็ทรงพระราชทานตำแหน่งให้เจ้าชายจอร์จเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์[8] ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1756 เมื่อทรงใกล้จะมีพระชนมายุ 18 พรรษาพระเจ้าจอร์จที่ 2 ก็พระราชทานพระราชวังเซนต์เจมส์ให้แก่เจ้าชายจอร์จ แต่เจ้าชายจอร์จไม่ทรงยอมรับโดยคำแนะนำของพระมารดาและพระสหายของพระมารดาจอห์น สจวต เอิร์ลแห่งบิวต์ที่ 3 (John Stuart, 3rd Earl of Bute) ผู้ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี[9] พระมารดาของเจ้าชายจอร์จทรงพอพระทัยที่จะให้เจ้าจอร์จเจ้าชายจอร์จประทับอยู่กับพระองค์เพื่อที่จะได้อบรมเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดทางจริยธรรมด้วยพระองค์เอง[10][11]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 24 May in the Old Style and New Style dates|Old Style Julian calendar still in use in Great Britain at this time.
  2. ^ The Royal Household. George III. Official website of the British Monarchy. สืบค้นวันที่ 2007-05-25
  3. ^ Butterfield, Herbert (1957). George III and the Historians. London: Collins. pp. p.9. 
  4. ^ Hibbert, p.8
  5. ^ แม่แบบ:London Gazette
  6. ^ Brooke, pp.23–41
  7. ^ Brooke, pp.42–44, 55
  8. ^ Hibbert, pp.3–15
  9. ^ Brooke, pp.51–52; Hibbert, pp.24–25
  10. ^ Bullion, John L. (2004), "Augusta , princess of Wales (1719–1772)", Oxford Dictionary of National Biography (Oxford University Press), doi:10.1093/ref:odnb/46829, http://www.oxforddnb.com/view/article/46829, เรียกดูวันที่ 2008-09-17  (Subscription required)
  11. ^ Ayling, p.33

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น


สมัยก่อนหน้า พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร สมัยถัดไป
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 2leftarrow.png UK Arms 1714.svg
พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่
(ราชวงศ์ฮาโนเวอร์)

(25 ตุลาคม ค.ศ. 176031 ธันวาคม ค.ศ. 1800)
2rightarrow.png พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 ได้รวมราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และราชอาณาจักรไอร์แลนด์เป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
UK Arms 1714.svg
พระมหากษัตริย์แห่งไอร์แลนด์
(ราชวงศ์ฮาโนเวอร์)

(25 ตุลาคม ค.ศ. 176031 ธันวาคม ค.ศ. 1800)


ไม่มี
พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 ได้รวมราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และราชอาณาจักรไอร์แลนด์เป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
2leftarrow.png UK Arms 1801.svg
พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
(ราชวงศ์ฮาโนเวอร์)

(1 มกราคม ค.ศ. 180129 มกราคม ค.ศ. 1820)
2rightarrow.png สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4
Crystal Clear app Login Manager.png พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ