ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์
ประธานรัฐสภาและ
ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 – 12 มกราคม พ.ศ. 2519
รองนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
25 กันยายน พ.ศ. 2519 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
นายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ดำรงตำแหน่ง
18 ธันวาคม พ.ศ. 2515 – 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
นายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ดำรงตำแหน่ง
20 เมษายน พ.ศ. 2519 – 23 กันยายน พ.ศ. 2519
นายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 20 มิถุนายน พ.ศ. 2458
อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
เสียชีวิต 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 (83 ปี)
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพฯ
คู่สมรส นางศิริเพ็ญ กาญจนวัฒน์

นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ (20 มิถุนายน พ.ศ. 2458 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542) เป็นอดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา 5 สมัย เจ้าของฉายา โค้วตงหมง และเจ้าของวลี ยุ่งตายห่า

ประวัติ[แก้]

ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2458 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 5 คน ของหมื่นสุวรรณศิริพงษ์ (ติ๊ดเส่ง แซ่โค้ว หรือ ชัย กาญจนวัฒน์) กับนางสาวส้มจีน แซ่เซียว[1] สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ธรรมศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง สมรสกับนางศิริเพ็ญ กาญจนวัฒน์

ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับและลำไส้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 สิริอายุรวม 83 ปี

การทำงาน[แก้]

ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เริ่มชีวิตการทำงาน โดยการเป็นครูและครูใหญ่โรง เรียนอี้งฮุ้น (หวงหวน) ต่อมาได้เป็นข้าราชการกระทรวงเศรษฐการ เป็นเจ้าของสำนักงาน ทนายความมนูกิจ[2]

นอกจากนี้ นายประสิทธิ์ยังมีตำแหน่งสำคัญๆในธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้แก่ กรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (ปี พ.ศ. 2496) กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (ปี พ.ศ. 2511) รองประธานกรรมการและกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (ปี พ.ศ. 2519) และประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (ปี พ.ศ. 2527)

ขณะเดียวกัน นายประสิทธิ์ยังเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่มีผลงานมากมาย ที่สำคัญได้แก่ เป็นผู้แปลเรียบเรียงหนังสือชื่อ เจียง ไค เช็ค ประมุขจีนใหม่ แปลรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพโซเวียต และเขียนบทความเกี่ยวกับการเมืองลงหนังสือพิมพ์การเมืองอีกหลายเรื่อง รวมทั้งเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์การเมืองชื่อ "การเมือง" อีกด้วย

งานการเมือง[แก้]

ประสิทธิ์ลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทราครั้งแรก ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2489 แต่ได้รับเลือกตั้งครั้งแรก ใน พ.ศ. 2495 และได้รับเลือกเรื่อยมา รวม 5 สมัย

ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้รับตำแหน่งทางการเมืองสำคัญหลายตำแหน่ง อาทิ ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 11 เป็นรัฐมนตรีสมัยแรกในปี พ.ศ. 2501 ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2515

จากนั้นกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช[3] จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออก และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี[4] แต่ดำรงตำแหน่งเพียง 12 วัน และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการรัฐประหารของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่

ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2522 ก่อนที่จะวางมือทางการเมืองในที่สุด

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[แก้]

ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 5 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2495 จังหวัดฉะเชิงเทรา
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จังหวัดฉะเชิงเทรา สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ธันวาคม พ.ศ. 2500 จังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่สังกัดพรรคการเมือง
  4. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2518 จังหวัดฉะเชิงเทรา สังกัดพรรคสังคมชาตินิยม
  5. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2519 จังหวัดฉะเชิงเทรา สังกัดพรรคสังคมชาตินิยม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]