พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช.jpg
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
พระนาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
ฐานันดรศักดิ์ พระองค์เจ้า
ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี

พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระนามเดิม พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช พระราชโอรสองค์ที่ ๑๑ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ ๓ ใน เจ้าจอมมารดาพึ่ง ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ ทรงเป็นต้นราชสกุล "ชุมพล"

พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช ทรงสำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายและด้านช่าง ทรงเริ่มรับราชการในกรมช่างทหารใน และดำรงตำแหน่งราชองครักษ์ (เอดเดอแกมป์) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ทรงรับราชการในตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกาและศาลแพ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระเกียรติยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

ต่อมาทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ข้าหลวงต่างพระองค์ เสด็จไปรับราชการที่มณฑลลาวกาว (อิสาน) ครอบคลุมท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ และตั้งกองบัญชาการที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยทรงรับผิดชอบทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงค้นพบ ประสาทพระวิหาร บนผาเป้ยตาดี จังหวัดศรีสะเกษ และได้ทรงจารึก ร.ศ. ที่พบ และพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดี มีข้อความว่า "๑๑๘ สรรพสิทธิ"

พระองค์ปกครองมณฑลอิสานเป็นเวลากว่า ๑๗ ปี กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ และทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับสถาปนาพระเกียรติยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ และได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เนื่องจากทรงชราและมีพระอนามัยไม่สมบูรณ์ กระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ รวมพระชนมายุได้ ๖๕ พรรษา

เนื้อหา

[แก้] พระโอรส-ธิดา

กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรงมีพระโอรส พระธิดาทั้งหมดรวม ๑๒ พระองค์ สิ้นชีพิตักษัยในวัยเยาว์ ๓ พระองค์

[แก้] หม่อมเจริญ

[แก้] หม่อมเจียงคำ

หม่อมเจียงคำเป็นบุตรีของท้าวสุรินทรชมภู หลานเจ้าราชบุตรสุ่ย เจ้าเมืองอุบลราชธานี

[แก้] หม่อมบุญยืน

หม่อมบุญยืนเป็นบุตรีในท้าวไชยบุตร หลานเจ้าราชบุตรสุ่ย เจ้าเมืองอุบลราชธานี

[แก้] หม่อมคำเมียง

[แก้] หม่อมปุก

[แก้] อ้างอิง

  • ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. ISBN 974-222-648-2
  • กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ "วังหลวง". กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2549. 304 หน้า. ISBN 974-941-205-2
  • ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. ISBN 974-221-818-8
สมัยก่อนหน้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ สมัยถัดไป
สรรพสาตรศุภกิจ
(กรมหลวง)
2leftarrow.png พระนามกรมพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔
สรรพสิทธิประสงค์
(กรมหลวง)

2rightarrow.png เทวะวงศ์วโรปการ
(กรมพระยา)


Crystal Clear app Login Manager.png พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ