เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร)
พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร)
พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร)


พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) (21 เมษายน พ.ศ. 2410 - 1 มีนาคม พ.ศ. 2504) อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ระหว่าง 1 เมษายน พ.ศ. 2465 - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2469 รับตำแหน่งสืบต่อจาก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (หม่อมราชวงศ์ อรุณ ฉัตรกุล)

ท่านเกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2410 ณ จวนเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ซึ่งเดิมเป็นวังเจ้านคร จังหวัดนครศรีธรรมราช ( ปัจจุบัน เป็นศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ) เป็นบุตรคนที่ 5 ของ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร ) และเป็นบุตรคนเดียว ที่เกิดกับ หม่อมนิ่ม ณ นคร

พี่น้องต่างมารดา ของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต มีจำนวน 18 คน ดังนี้

  • คุณหญิงนุ้ยใหญ่ ณ ถลาง ( ภรรยา พระยาสุนทราทรธุรกิจปรีชา หมี ณ ถลาง )
  • พระยานครกุลเชษฐ์มเหศรภักดี ( เอียด ณ นคร )
  • นายชื่น ณ นคร
  • คุณนิล ณ นคร
  • ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต
  • นายแดง ณ นคร
  • คุณตลับ ณ นคร
  • คุณลิ้นจี่ ณ นคร ภรรยา พระพิสัยฯ
  • คุณขาว ณ นคร
  • คุณนุ่ม ณ นคร
  • คุณพริ้ง เภกะนันทน์ ภรรยา อำมาตย์โท พระวุฒิศาสตร์วินิจฉัย ( ชิต เภกะนันทน์ )
  • พระยาสุรเทพภักดี ( พร้อม ณ นคร )
  • ขุนบริรักษ์ภูเบศร์ ( แกะ ณ นคร )
  • คุณแห้ว ณ นคร
  • นายกลั่น ณ นคร
  • คุณผ่อง ณ นคร
  • คุณลวาด ณ นคร
  • คุณจำเริญ ณ นคร
  • นายไข่ ณ นคร

ในวัยเยาว์ ได้ศึกษาหนังสือไทยและขอม ในสำนักเรียนครูคง เมืองนครศรีธรรมราช กับเรียนวิชาเลขไทย ในสำนักขุนกำจัดไพริน ( เอี่ยม ) จนถึงอายุ 13 ปี เมื่อได้ตัดจุกแล้ว ก็บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาย้ายไปอยู่วัดใหม่กาแก้ว มีพระครูเทพมุนี ( แก้ว ) เป็นอุปัชฌาย์

ถึงปี พ.ศ. 2423 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ( ช่วง บุนนาค ) ได้ออกไปเมืองนครศรีธรรมราช จึงขอตัวท่านให้เข้ามารับราชการกับท่านที่กรุงเทพฯ ต่อมาก็ได้อยู่กับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ( วร บุนนาค ) และได้ถวายตัวเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก ( ปัจจุบัน คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ) เมื่อ พ.ศ. 2431 เป็นนักเรียนนายร้อย เลขประจำตัว 3 ของประเทศไทย ได้ศึกษา ณ วังสราญรมย์ จนสำเร็จการศึกษา และ เลื่อนยศเป็นร้อยตรี ในปีถัดมา

หลังจากนั้นจึงรับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และความสามารถ จนมีความเจริญในราชการเป็นลำดับ คือ เป็นปลัดทัพบก ในปี พ.ศ. 2446 , เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม ใน พ.ศ. 2453 , เป็นผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ใน พ.ศ. 2464 จนได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็น "เสนาบดีกระทรวงกลาโหม" ในที่สุด เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2465

ในระหว่างรับราชการ ได้เคยรับพระบรมราชโองการให้เป็นหัวหน้า ออกไปตรวจการที่ภาคพายัพ เพื่อจัดตั้งกองทหารในภาคนี้ และทำการปราบเงี้ยว ครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2445 ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เดินทางออกไปดูการประลองยุทธใหญ่ ที่ประเทศญี่ปุ่น และเมือ พ.ศ. 2453 ก็โปรดฯให้เป็นผู้ไปไต่สวนพวกจีน ที่จังหวัดแพร่ ซึ่งรวมตัวจะไปช่วยพวกกบฏที่ประเทศจีนกบฏ ร.ศ. 130 [1] นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี ทั้งในรัชกาลที่ 6 และสืบมาถึงรัชกาลที่ 7 ด้วย

ท่านได้รับพระราชทาน ยศ , บรรดาศักดิ์ ตามลำดับ ดังนี้

ยศ

  • วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2432 เป็นร้อยตรี
  • วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2435 เป็นร้อยเอก
  • วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2446 เป็นพันเอก
  • วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2462 เป็นพลเอก

บรรดาศักดิ์

  • วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2440 เป็นหลวงรวบรัดสปัตรพล
  • วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2444 เป็นพระสุรเดชรณชิต
  • วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 เป็นพระยาวรเดชศักดาวุธ
  • วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2456 เป็นพระยาสีหราชเดโชไชย
  • วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในหิรัญบัตร ว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต อดิศรมหาสวามิภักดิ์ อุดมศักดิ์เสนาบดี ศรีธรรมราชกุลพงศ์ ดำรงราชวรฤทธิ์ สัตยสถิตย์อาชวาศัย พุทธาทิไตรย์สรณธาดา อภัยพิริยบรากรมพาหุ ดำรงศักดินา 10000

ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2469 เพราะป่วย หลังจากนั้นก็ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ ณ บ้านของท่านซึ่งได้รับพระราชทาน ชื่อ "บ้านมหาโยธิน" ที่ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ และบริจาคเงินบำรุงศาสนวัตถุ เช่นสร้างโบสถ์ , ศาลาการเปรียญ , หล่อพระประธาน ไว้ประดิษฐานยังวัดทั้งในกรุงเทพฯ และบ้านเดิม นครศรีธรรมราช หลายคราว

อนึ่ง เมื่อมีการพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ท่านเมื่อครั้งเป็น พลโท พระยาวรเดชศักดาวุธ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุลด้วยผู้หนึ่ง ทรงพิจารณาเห็นว่า วงศ์สกุลของท่าน ล้วนแต่ได้ดีมีชื่อเสียงกันจากนครศรีธรรมราชแทบทั้งนั้น จึงทรงพระราชทานให้นามสกุลว่า " ณ นคร " ( เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า " Na Nagara" ) โดยมีคำว่า "ณ" เทียบกับคำว่า "De" ของสกุลขุนนางฝรั่ง สกุลนี้ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2456

ด้านครอบครัว ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต สมรสกับท่านผู้หญิงเลียบ ธิดาหลวงสุนทรสินธพ ( จอ ปัจฉิม ) มีบุตร-ธิดารวม 4 คน คือ[2]

  • คุณลาภ ณ นคร
  • นายหยิบ ณ นคร สมรสกับ คุณประนอม สุขุม
  • คุณพยุง ณ นคร สมรสกับ นายเสน่ห์ ณ นคร
  • ท่านผู้หญิงโพยม เสนีณรงค์ฤทธิ์ สมรสกับ พลตรี พระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ (ม.ล.เล็ก สนิทวงศ์)

เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2504


[แก้] อ้างอิง


Crystal Clear app Login Manager.png เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ