พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
พระบรมนามาภิไธย ตะเบ็งชะเวที
พระปรมาภิไธย เมงตะยาชะเวที
ราชวงศ์ ตองอู
ครองราชย์ พ.ศ. 2079 - พ.ศ. 2093
ระยะครองราชย์ 14 ปี
รัชกาลก่อนหน้า พระเจ้าเมงจีโย
รัชกาลถัดไป พระเจ้าบุเรงนอง
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ จากภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท (พ.ศ. 2544) รับบทโดย ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (Tabinshwehti) พระนามของกษัตริย์พม่าในราชวงศ์ตองอู พระองค์ที่ 2 เป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวของ พระเจ้าเมงจีโย (ในผู้ชนะสิบทิศเรียก เมงกะยินโย) ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ตองอู

ตามมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า ระบุว่า ประสูติเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2059 ที่เมืองตองอู ก่อนประสูติมีลางบอกเหตุ ปรากฏฝนตกลงมาที่ใดก็เกิดลุกเป็นไฟ โหรหลวงทำนายว่าเป็นลางมงคล พระโอรสที่จะประสูติเป็นผู้มีบุญญาธิการ ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาทั้งที่มีพระชนม์ไม่ถึง 20 พรรษา มีพระนามว่า ตะเบ็งชะเวที (ไทยเรียกเพี้ยนเป็น ตะเบ็งชะเวตี้ พระนามมีความหมายแปลได้ว่า สุวรรณเอกฉัตร - ร่มทอง) และภายหลังขึ้นครองราชย์ พระนามได้เปลี่ยนเป็น เมงตะยาชะเวที (แปลได้ว่า พระมหาธรรมราชาฉัตรทอง - คำว่า เมงตะยา นี้เป็นที่มาของชื่อ มังตรา ในนิยาย ผู้ชนะสิบทิศ) มีมเหสี 2 พระองค์ นามว่า เคงเมียด และ เคงโซโบ ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2079 ถึง พ.ศ. 2093

ทรงได้รับการกล่าวขานว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่เก่งกาจ เพราะตลอดรัชกาลพระองค์ทำสงครามเป็นส่วนใหญ่ โดยก่อนขึ้นครองราชย์ เมื่อเจริญพรรษาขึ้น ทรงกระทำพิธีเจาะพระกรรณ (เจาะหู) อันเป็นราชประเพณีของพม่าเช่นเดียวกับพระราชพิธีโสกันต์ของไทย โดยเลือกที่จะทำพิธีที่พระเจดีย์ชเวมอดอ (พระธาตุมุเตา) กลางเมืองหงสาวดีของมอญ โดยมีทหารคุ้มกันแค่ 500 นาย โดยไม่ทรงหวาดหวั่นทหารมอญนับหมื่นที่ล้อมอยู่ จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว และเมื่อทรงครองราชย์ พระองค์ได้ทำการสงครามแผ่ขยายอาณาจักรตองอูไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น ยะไข่, พะสิม, หงสาวดี, แปร, เมาะตะมะ และ อยุธยา เป็นต้น โดยเฉพาะ การได้ชัยชนะเหนือหงสาวดี โดยนับว่าเป็นกษัตริย์พม่าพระองค์แรกที่สามารถเอาชนะหงสาวดี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของชนชาติมอญ อันเป็นคู่ปรับสำคัญของชาวพม่าในอดีต และได้ย้ายเมืองหลวงจากตองอูลงมาที่หงสาวดี

ภาพวาดนัตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ จากหน้าปกหนังสือ มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ของสำนักพิมพ์มติชน

เนื่องจากเป็นกษัตริย์พม่าพระองค์แรกที่ทำสงครามกับอยุธยา ด้วยศึกเชียงไกร เชียงกราน และจากสงครามคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัย คนไทยร่วมสมัยรู้จักพระองค์ในนามว่า พระยาหงสาปังเสวกี หรือ พระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ ตามคติความเชื่อในเรื่องบุญญาธิการ และมีพระนามอื่นแตกต่างออกไป เช่น ชาวมอญเรียกพระองค์ว่า "พระเจ้าฝรั่งมังโสด"

สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 34 พรรษา ในวันพุธที่ 1 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2093 จากการลอบปลงพระชนม์โดยทหารรับใช้คนสนิทชาวมอญ ชื่อ "สมิงสอทุต" ด้วยการตัดพระศอ ขณะที่ทรงเสด็จไปคล้องช้างที่เมืองสะโตง เป็นเหตุให้ปลอดทหารผู้ภักดีคอยอารักขา หลังจากสิ้นสงครามคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัย ได้เพียง 3 เดือน ตามพงศาวดารเล่าว่า พระองค์เสวยแต่น้ำจัณฑ์จนเสียสติ

ด้วยชีวประวัติอันพิศดาร และน่าสนใจ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์พม่าช่วงนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนชาวไทย ยาขอบ ได้หยิบยกขึ้นมาแต่งเป็นนิยายปลอมพงศาวดารชื่อดัง คือ ผู้ชนะสิบทิศ

ปัจจุบัน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ได้รับการนับถือเป็นนัตหลวง ลำดับที่ 17 ในบรรดานัตหลวง 37 องค์ ตามความเชื่อเรื่องผีนัตของพม่าอีกด้วย

[แก้] บุคลิกในสุริโยไท

ในภาพยนตร์ไทยเรื่อง สุริโยไท ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2544 ที่ว่าด้วยเรื่องการทำสงครามระหว่างอาณาจักรตองอูกับอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เป็นตัวละครสำคัญของฝ่ายตองอู โดยเป็นผู้นำทัพ ซึ่งบุคลิกของพระองค์ในภาพยนตร์เรื่องนี้จะแต่งหน้าจนขาววอก สวมเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีสีสันสวยงาม บาดตา และไว้ผมทรงมอญ (ทรงกะลาครอบ) ทั้งนี้เพราะผู้สร้าง คือ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ตีความว่าพระองค์เป็นผู้มีจิตใจวิปริต หรือเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ เพราะอ้างอิงมาจากบันทึกของพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่ชื่อ โดมิงโก ดือ ซีซัส ที่ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ใช้เป็นข้อมูลหลักในการเขียนบทภาพยนตร์ที่ระบุถึง ความโหดร้ายของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ในการจัดการกับเชลยเมืองแปรด้วยความรุนแรงและวิปริต ขณะที่ตีเมืองแปรได้ และการที่แต่งหน้าขาวก็นำมาจากบุคลิกของนักเขียนแนวชาตินิยมชาวญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชื่อ ยูกิโอะ มิชิม่า (三島 由紀夫, Yukio Mishima)

[แก้] อ้างอิง

สมัยก่อนหน้า พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ สมัยถัดไป
พระเจ้าเมงจีโย
ราชวงศ์ตองอู
2leftarrow.png พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 2)

(2079 - 2093)
2rightarrow.png พระเจ้าบุเรงนอง
ราชวงศ์ตองอู