พระราชพิธีทรงผนวช ในรัชกาลที่ 9

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๙๙ มีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระผนวชในพระบวรพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชภาระสนองพระเดชพระคุณในการทรงพระผนวชในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทยและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระผนวชในพระบวรพุทธศาสนา ๑๕ วัน ระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม - ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ดังตามลำดับเหตุการณ์ในระหว่างทรงประทับพระผนวช ดังนี้ [1]

เนื้อหา

[แก้] วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และคณะทูตานุทูตเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกทรงพระผนวช

อีกทั้งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เพื่อมีพระราชดำรัสแก่ประชาราษฎร ความตอนหนึ่งว่า

Cquote1.svg

"ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงมาร่วมประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทให้บรรดาอาณาประชาราษฎรทราบทั่วกัน"

Cquote2.svg

[แก้] วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

เวลา ๑๔.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากทรงเจริญพระเกศาโดยสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงจรดพระกรรไกรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นปฐมฤกษ์แล้ว ทรงเครื่องเศวตพัสตรีทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี และพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระราชชนนีแล้วทรงเข้าบรรพชาอุปสมบทในท่ามกลางสังฆสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า “ภูมิพโล” ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงรับประเคนผ้าไตรจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงรับไทยธรรมจากสมเด็จพระบรมราชชนนี ตามลำดับ

จากนั้น พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงประกอบพิธีตามขัตติยราชประเพณี แล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร

ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยนอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น

[แก้] วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์

[แก้] วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

[แก้] วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต ณ วังสระปทุม

[แก้] วันที่ ๑ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๔๙๙

ได้เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

[แก้] วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ ๒๔๙๙

เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตรจากประชาชนทั้งในบริเวณถนนพระสุเมรุ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี อีกด้วย

[แก้] วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙

พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลาพระผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร รวมเวลาทรงพระผนวชทั้งสิ้น ๑๕ วัน

[แก้] สถาปนาฐานันดรศักดิ์และสมเด็จพระสังฆราช

อนึ่ง ในการทรงพระผนวชครั้งนี้ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และวันที่ ๒๐ ธันวาคม ปีเดียวกันนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระราชอุปัชฌาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และถวายฐานันดรศักดิ์ เป็น กรมหลวง

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, พระราชพิธีทรงพระผนวช identity.opm.go.th