คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะนิติศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Lawcu.jpg

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2476 โดยโอนการเรียนการสอนจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม มารวมเป็น "คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์" หลังจากนั้น จึงยกระดับขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ต่อมา จึงมีการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2494 และพัฒนาขึ้นเป็นคณะนิติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2515 ปัจจุบัน คณะนิติศาสตร์เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก อนึ่ง คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มักเรียกว่าสั้น ๆ ว่า "Law Chula" ซึ่งพ้องเสียงกับอักษร "ฬ" นั่นเอง

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2476 กล่าวคือ ก่อนหน้านั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า นิติศึกษา ณ โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมได้เจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา และมีผลประจักษ์ว่าได้บรรลุถึงขีดวิชาขั้นมหาวิทยาลัยในอารยประเทศแล้ว เป็นการสมควรที่จะบำรุงต่อไปในทำนองมหาวิทยาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประสานระเบียบการศึกษานิติศาสตร์เข้ากับมหาวิทยาลัยเป็นคณะวิชาคณะหนึ่ง และได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2476[1] จัดตั้งคณะขึ้นมีชื่อเรียกว่า คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ นับเป็นคณะนิติศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2476ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปตั้งเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ด้วยเหตุนี้คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นอันสิ้นสภาพลงไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ในเวลาต่อมา ได้มีการจัดตั้งแผนกวิชานิติศาสตร์ขึ้นใหม่ในคณะรัฐศาสตร์โดยพระราชกฤษฎีกา จัดแบ่งแผนกวิชาในคณะต่าง ๆ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2494 ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2494 จึงเป็นอันว่าวิชากฎหมายได้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2501 แผนกวิชานิติศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตร และเปิดรับนิสิตเข้าเรียนในแผนกวิชานิติศาสตร์โดยตรง การเรียนการสอนในขณะนั้นก็แยกออกจากแผนกวิชารัฐศาสตร์ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง จึงเป็นอันว่าการเรียนการสอนในแผนกวิชานิติศาสตร์ในยุคหลังได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา การศึกษาวิชากฎหมายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งมหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องเปิดภาคสมทบขึ้น เพื่อสนองความต้องการของผู้ที่จะเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ จึงได้เปิดการสอนภาคสมทบขึ้นในปีการศึกษา 2508

ต่อมาทางมหาวิทยาลัย ได้พิจารณาเห็นว่า การศึกษาวิชานิติศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ และได้เริ่มทำการสอนจนถึงขั้นปริญญาโท ตั้งแต่ปีการศึกษา 2512 เป็นต้นมา สมควรที่จะยกฐานะแผนกวิชานิติศาสตร์ขึ้นเป็น "คณะนิติศาสตร์" เพื่อให้การบริหารดำเนินไปได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบกับเหตุผลสำคัญ คือ ในต่างประเทศถือว่าการศึกษาวิชานิติศาสตร์เป็นวิชาสำคัญ ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจะต้องมีคณะนิติศาสตร์ขึ้นเป็นคณะสำคัญของมหาวิทยาลัย ในที่สุด ได้มีการดำเนินการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 164 เป็นอันว่าคณะนิติศาสตร์ได้รับการจัดตั้งเป็นคณะที่สมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันลงประกาศดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และเมื่อ พ.ศ. 2538 นี้ ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2538 เพื่อใช้แทนประกาศของคณะปฏิวัติที่มีมาแต่เดิม ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามวิธีการตรากฎหมายในระบบปกติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยนัยนี้ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบันจึงจัดตั้งขึ้นตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 และถือเอาวันที่ 18 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกสถาปนาคณะนับถึงปัจจุบันนี้

ปัจจุบัน คณะนิติศาสตร์ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท (เยื้องกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี) ในพื้นที่บริเวณเดียวกับคณะนิเทศศาสตร์ โดยมีอาคารทำการของคณะฯ 2 อาคาร คือ อาคารเทพทวาราวดี เป็นอาคารที่ทำการ นอกจากนี้ยังมี อาคารพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นอาคารเรียนส่วนกลาง ใช้ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์

อนึ่ง นามอาคารพินิตประชานาถ และอาคารเทพทวาราวดี ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ใช้เป็นนามอาคาร ด้วย "พินิตประชานาถ" เป็นพระนามกรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ส่วน "เทพทวาราวดี" เป็นพระนามกรมของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี

การก่อสร้างอาคารเทพทวาราวดีนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในงาน “ฬ จุฬาฯ หน้าเดิน” เพื่อหาเงินสมทบทุน ตกแต่งอาคารคณะนิติศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2543 นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระวโรกาสให้คณะผู้บริหารคณะเฝ้ารับพระราชทานทุนประเดิมจัดสร้าง ห้องระบบสืบค้นข้อมูล เพชรรัตน ซึ่งเป็นห้องสมุดสำหรับอาคารเทพทวาราวดี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 ทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเสด็จมาทอดพระเนตรกิจการของคณะนิติศาสตร์และห้องระบบสืบค้นข้อมูลในพระนามของพระองค์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 อีกด้วย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารพินิตประชานาถ และอาคารเทพทวาราวดี ในวันคล้ายวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 87 ปี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2547

[แก้] ทำเนียบคณบดี

ทำเนียบคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[2]
ชื่อ ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ ดร. ประยูร กาญจนดุล พ.ศ. 2515
2. ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน พ.ศ. 2415พ.ศ. 2521
3. รองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล พ.ศ. 2521พ.ศ. 2523, พ.ศ. 2527พ.ศ. 2531, พ.ศ. 2531พ.ศ. 2535
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุฑา กุลบุศย์ พ.ศ. 2523พ.ศ. 2527
5. รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย พ.ศ. 2535พ.ศ. 2538
6. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ พ.ศ. 2538พ.ศ. 2542
7. รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ พ.ศ. 2542พ.ศ. 2544
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย พ.ศ. 2544พ.ศ. 2552
9. รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ธนิตกุล พ.ศ. 2552—ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีเป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะรับตำแหน่ง

[แก้] ภาควิชา

  • ภาควิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  • ภาควิชากฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา
  • ภาควิชากฎหมายวิธีพิจารณาและธรรมนูญศาล
  • ภาควิชากฎหมายปกครองและกฎหมายทั่วไป
  • ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ

[แก้] หลักสูตร

[แก้] ระดับปริญญาตรี

  • หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (ภาคปกติ และ ภาคบัณฑิต)

[แก้] ระดับปริญญาโท

  • หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต (น.ม.)
  • หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายการเงินและภาษีอากร)
  • หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายเศรษฐกิจ (ศศ.ม.)

[แก้] ระดับปริญญาเอก

  • หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (น.ด.)

[แก้] ความร่วมมือทางวิชาการ

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์ 12 แห่งทั่วเอเชีย จัดตั้ง "สถาบันกฎหมายแห่งเอเชีย (Asian Legal Institute)" เพื่อเปิดโอกาสให้มีการส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับเอเชียให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือทางวิชาการกับ โรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิชาการ และนิสิต รวมทั้ง ยังทำข้อตกลง Dual Degree Program ในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ หลักสูตร M.L.I (Master of Legal Institutions) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน โดยนิสิตสามารถโอนหน่วยกิตไประหว่างหลักสูตรได้ นอกจากนี้ ยังมีการทำข้อตกลงกับอีกหลายสถาบัน เช่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, สถาบันวิจัยกฎหมายแห่งเกาหลี เป็นต้น

[แก้] เกียรติประวัติ

ดูเพิ่ม รายนามบุคคลจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้สำเร็จการศึกษารับปริญญานิติศาสตรบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพต่าง ๆ กัน เป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ อาจารย์สอนวิชากฎหมาย ที่ปรึกษากฎหมาย นิติกร ข้าราชการตามกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ประกอบอาชีพธุรกิจเอกชน ฯลฯ ได้สร้างผลงานและชื่อเสียงให้เป็นที่ปรากฏแก่วงการต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในการสอบเป็นเนติบัณฑิตของสำนักอบรมเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งถือกันว่าเป็นแหล่งรวมของบรรดานักกฎหมายจากทุกสถาบัน นับตั้งแต่มีการสอบเนติบัณฑิตตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 50 ปี มีผู้สอบเป็นเนติบัณฑิตที่ได้คะแนนถึงระดับ เกียรตินิยม เพียง 2 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษเข็มชัย ชุติวงศ์ และ คุณสุวิชา (อวยชัย) นาควัชระ ซึ่งทั้งสองคนสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณาจารย์ และนิสิตเก่าที่เป็นที่รู้จัก เช่น

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศโอนโรงเรียนกฎหมายไปขึ้นแก่ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, เล่ม ๕๐, ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖, หน้า ๑๔๔
  2. ^ รายนามคณบดี (2551). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. (เข้าถึงเมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2552).

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น