ความสามารถของบุคคล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความสามารถของบุคคล (อังกฤษ: competence of person) ในทางนิติศาสตร์นั้นได้แก่ความสามารถสองประการ คือ ความสามารถที่จะมีสิทธิ และความสามารถที่จะใช้สิทธิ บุคคลจะใช้สิทธิกระทำการใด กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีความสามารถจะกระทำการนั้นก่อน เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่บุคคลนั้นเองและบุคคลอื่น[1] [2] บุคคลประเภทที่กฎหมายสันนิษฐานว่าไม่อยู่ในภาวะที่จะบริหารความสามารถของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ผู้เยาว์, คนวิกลจริต, คนไร้ความสามารถ และคนเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งความสามารถตามกฎหมายของบุคคลเหล่านี้จะถูกจำกัดมากน้อยแล้วแต่กรณี

นิติบุคคลก็อาจมีความสามารถตามกฎหมายเช่นบุคคลธรรมดาได้ เว้นแต่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้เองจริง ๆ ตามสภาพ เช่น มีครอบครัว หรือเข้าสมรส เป็นต้น

เนื้อหา

[แก้] ประเภทความสามารถของบุคคล

บุคคลมีความสามารถตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้[3]

1. ความสามารถที่จะมีสิทธิ คือ การที่บุคคลสามารถมีสิทธิ หรือการที่บุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิ บุคคลทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ คนพิการ สตรี บุรุษ เศรษฐี ยาจก บัณฑิต หรือผู้ประกอบมิจฉาชีพ ย่อมมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายนับแต่เกิดมา ย้อนหลังไปถึงตอนที่ปฏิสนธิเป็นทารกในครรภ์มารดา ไปจนถึงเมื่อตาย นอกจากนี้ สิทธิบางอย่างของบุคคลจะได้รับต่อเมื่อเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย เช่น บุคคลจะสามารถสมรสได้ต่อเมื่อมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์เป็นต้นไปตามกฎหมายไทย

2. ความสามารถที่จะใช้สิทธิ คือ การที่บุคคลสามารถกระทำการใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตนและเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก บุคคลนั้นแม้จะมีสิทธิแต่ในบางกรณีก็ไม่อาจใช้สิทธิได้เพราะกฎหมายกำหนดไว้

ดังนั้น การที่บุคคลจะมีและใช้ซึ่งสิทธิและหน้าที่ได้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ บุคคลต้องรู้รับผิดชอบในการกระทำของตนด้วย และด้วยเหตุนี้ กฎหมายจึงสันนิษฐานโดยปริยายว่าบุคคลบางประเภทไม่อาจรู้รับผิดชอบเช่นนั้นได้ จึงต้องจำกัดสิทธิบางประการไว้ เช่น บุคคลที่เป็นผู้เยาว์ คนวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ตัวอย่างว่า เด็กและบุคคลวิกลจริตหากกระทำละเมิดต่อผู้ใดแล้วก็ไม่อาจรับผิดได้ เพราะบุคคลดังกล่าวย่อมไม่สำเหนียกว่าตนกำลังทำอะไร หรือสิ่งที่กระทำจะส่งผลเช่นไร เป็นต้น[4]

ฎ. 497/2486 จำเลยเป็นผู้เยาว์อายุสิบสามปี ทิ้งหินหนักสิบกิโลกรัมจากสะพานลงในคลองสาธารณะซึ่งมีผู้สัญจรไปมา หินตกสู่ผู้พายเรือคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้จำเลยจะไร้ความสามารถตามกฎหมายเพราะเป็นผู้เยาว์ แต่จำเลยก็อยู่ในวัยและภาวะที่แยกแยะดีชั่วได้แล้ว ถือว่ามีความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท พิพากษาให้กักตัวจำเลยไว้ยังโรงเรียนดัดสันดานมีกำหนดหนึ่งปี

[แก้] นิติภาวะ

Searchtool.svg ดูบทความหลักที่ นิติภาวะ

[แก้] ผู้เยาว์

ผู้เยาว์ (อังกฤษ: infant, minor, nonage หรือ non-age) คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

[แก้] ความสามารถตามกฎหมาย

กฎหมายจำกัดความสามารถในการสิทธิของผู้เยาว์ไว้ เนื่องจากโดยปรกติผู้เยาว์มีความสามารถในการบริหารสติปัญญาไม่เท่าผู้ใหญ่ ผู้เยาว์นั้นถือเอาอายุเป็นกำหนด การที่อีกฝ่ายสำคัญผิดว่าผู้เยาว์เป็นผู้ใหญ่หรือบรรลุนิติภาวะแล้วเพราะกายภาพของผู้เยาว์หรือเหตุอื่นก็ดี ไม่อาจใช้ความสำคัญผิดนี้เป็นข้อต่อสู้หรือข้อแก้ตัวได้

อุทาหรณ์จากคดีอังกฤษ เลขที่ R. Leslie Ltd. V. Sheill (1914) 3. K.B.607 ความว่า ผู้เยาว์หลอกลวงคู่กรณีว่าตนบรรลุนิติภาวะแล้ว และกู้เงินไปสี่ร้อยปอนด์ ต่อมาผู้ให้กู้ฟ้องศาลว่าตนต้องกลฉ้อฉลและขอเรียกเงินสี่ร้อยปอนด์คืน ศาลพิพากษาว่าสัญญากู้ไม่มีผลผูกพันกับผู้เยาว์เพราะผู้เยาว์ไม่มีความสามารถในการทำนิติกรรมโดยลำพังอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้เยาว์จึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินคืน[5]

อย่างไรก็ดี หากปรากฏว่าผู้เยาว์มีความสามารถในการบริหารสติปัญญา อยู่ในภาวะที่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือรู้ผลแห่งการกระทำของตนเป็นอย่างดีแล้ว แต่ได้กระทำการทุจริต ศาลก็อาจปฏิเสธการคุ้มครองแก่ผู้เยาว์ได้

อุทาหรณ์จากคำพิพากษาฎีกาที่ 1082/2533 นางสาวรัตนา สำรวยผล อายุสิบเก้าปี เป็นโจทก์ และผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับพวก เป็นจำเลย ความว่า โจทก์เป็นผู้เยาว์และเป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษาซึ่งถือได้ว่ามีความรู้สึกผิดชอบและรอบรู้ถึงผลดีผลเสียแห่งการกระทำของตนได้เป็นอย่างดีแล้ว ได้ยินยอมให้จำเลยทำถนนผ่านที่ดินของโจทก์โดยเข้าใจว่าบิดามารดาโจทก์จะได้รับสัมปทานเดินรถบนถนนสายดังกล่าว แต่ต่อมาเมื่อบิดามารดาโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติสัมปทาน โจทก์จึงมาฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทำละเมิด และขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนถนนดังกล่าวออกไปจากที่ดินโจทก์ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

[แก้] นิติกรรมของผู้เยาว์

สำหรับไทยนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ในมาตรา 21 ว่า

Cquote1.svg
ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน
การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำโดยปราศจากความยินยอมเช่นนั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
Cquote2.svg

นายกิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า "เป็นที่น่าสังเกตว่าในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำที่ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมได้เอาไว้ ดังเช่นที่ปรากฏในประมวลกฎหมายของหลายประเทศ..."[6] เนื่องจากหลายประเทศ เช่น เยอรมัน ออสเตรีย[7] และจีน[8] กำหนดให้ผู้เยาว์สามารถกระทำนิติกรรมได้ตั้งแต่อายุเจ็ดปี นิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำก่อนอายุดังกล่าวให้เป็นโมฆะเสียสิ้น

ตามกฎหมายไทย ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใด ๆ โดยลำพังไม่ได้ แต่ต้องขอความยินยอมจาก "ผู้แทนโดยชอบธรรม" เป็นกรณี ๆ ไป หรือโดยกว้าง ๆ ตามที่ผู้แทนฯ กำหนดขอบเขตไว้ ทั้งนี้ เพื่อที่ผู้แทนฯ ซึ่งมีวัยวุฒิและคุณวุฒิตามหลักมากกว่า จะได้พิจารณาว่า นิติกรรมที่ผู้เยาว์จะกระทำนั้นสมประโยชน์อย่างไร หรือเสียเปรียบอย่างไร สมควรจะยินยอมให้กระทำได้หรือไม่

การใดที่ผู้เยาว์ทำลงไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนฯ นับเป็น "โมฆียกรรม" (อังกฤษ: voidable act) ทั้งนั้น คือ มีผลสมบูรณ์จนกว่าผู้แทนฯ จะให้สัตยาบันคือรับรองให้การนั้นสมบูรณ์ หรือบอกล้างโมฆียกรรมคือทำให้โมฆียกรรมนั้นสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้แทนฯ พิจารณาว่านิติกรรมที่ทำลงไปแล้วนั้นสมประโยชน์อย่างไร จะได้ให้สัตยาบันให้เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ หรือเสียเปรียบอย่างไรก็จะได้บอกล้างเสียให้กลายเป็น "โมฆกรรม" (อังกฤษ: invalid act) คือ เป็นกรรมที่เสียเปล่า และส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกลับสู่ฐานะเดิมก่อนการทำนิติกรรมนั้น

ทั้งนี้ ผู้เยาว์สามารถกระทำการดังต่อไปนี้ได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนฯ คือ[9]

  1. การใด ๆ เพื่อให้ได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง เช่น การได้รับทรัพย์สินที่ให้ประโยชน์โดยไม่มีเงื่อนไขหรือภาระติดพัน และไม่ทำให้ต้องเสียสิทธิหรือมีหน้าที่เพิ่มขึ้น เป็นต้นว่า ปู่ยกที่ดินให้หลานซึ่งเป็นผู้เยาว์ หรือการปลดหนี้โดยลำพัง
  2. การเฉพาะตัว คือ มีแต่ตัวผู้เยาว์เองจะตัดสินใจได้ เช่น การรับรองบุตร การฟ้องขอเพิกถอนการสมรส การทำพินัยกรรม
  3. การอันสมควรแก่ฐานานุรูปแห่งตน หรือเป็นการอันจำเป็นแก่การดำรงชีวิต เช่น การซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ในการเล่าเรียน การซื้อเสื้อผ้า
  4. การทำพินัยกรรมเมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์เป็นต้นไป แต่พินัยกรรมที่ผู้เยาว์กระทำเมื่อมีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ตกเป็นโมฆะ แม้ต่อมาผู้เยาว์จะมีอายุสิบห้าปีแล้วก็ไม่ทำให้พินัยกรรมนั้นกลับมาดังเดิมได้
  5. การจำหน่ายทรัพย์สิน กล่าวคือ การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้อื่น เช่น การขายทรัพย์ หรือการรับมาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจากผู้อื่น เช่น การซื้อทรัพย์ ทั้งนี้ โดยความอนุญาตของผู้แทนฯ ซึ่งแบ่งได้สองกรณี ดังนี้
    • อนุญาตโดยระบุเงื่อนไขหรือขอบเขต กล่าวคือ ผู้แทนฯ อนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการตามวัตถุประสงค์ใด ๆ ตามที่ระบุไว้ เช่น ให้เงินผู้เยาว์ไปซื้อนาฬิกาข้อมือ ผู้เยาว์ต้องนำเงินไปซื้อนาฬิกา แต่จะเป็นยี่ห้อใดก็ได้แล้วแต่
    • อนุญาตในลักษณะทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ ผู้แทนฯ อนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินได้โดยมิได้ระบุเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์อย่างใด ในกรณีนี้ ผู้เยาว์จะทำอะไรกับทรัพย์สินนั้นก็ได้ตามใจสมัคร เช่น ให้เงินรายเดือนแก่ผู้เยาว์เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว เงินนั้นผู้เยาว์จะนำไปใช้จ่ายอย่างใดก็ได้

นิติกรรมเท่านั้นที่กฎหมายจำกัดความสามารถของผู้เยาว์ไว้ กิจการอื่นที่ผู้เยาว์กระทำขึ้นและส่งผลตามกฎหมายอันมิใช่เป็นนิติกรรมแล้ว ก็มิได้อยู่ภายในบังคับว่าต้องขอความยินยอมของผู้ใด หรือผู้ใดจะมีอำนาจบอกเลิกหรือให้สัตยาบัน

[แก้] คดีความของผู้เยาว์

หากผู้เยาว์ประสงค์จะดำเนินคดีด้วยตนเอง ซึ่งรวมถึงการฟ้องและการต่อสู้คดีทั้งแพ่งและอาญาด้วยนั้น ผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนฯ เสียก่อนเหมือนอย่างนิติกรรม และต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาล

สำหรับความผิดทางแพ่งที่ผู้เยาว์ก่อขึ้นนั้น ไม่อาจใช้เหตุที่เป็นผู้เยาว์เป็นข้อต่อสู้ให้พ้นจากความรับผิดได้ และกฎหมายไทยยังบัญญัติให้ บิดา มารดา หรือผู้อนุบาลของผู้เยาว์นั้นต้องร่วมรับผิดไปด้วย เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ดูแลรักษาผู้เยาว์อย่างระมัดระวังเต็มที่แล้ว

ส่วนความผิดอาญาของผู้เยาว์ อาจได้รับการลดโทษตามที่กฎหมายกำหนด

[แก้] การประกอบธุรกิจของผู้เยาว์

กฎหมายซึ่งรวมถึงกฎหมายไทยได้อนุญาตให้ผู้เยาว์สามารถประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์หรือธุรกิจประเภทอื่นได้ รวมถึงทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้ด้วย แต่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนฯ เสียก่อน ถ้าผู้แทนฯ ไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันควร ผู้เยาว์ก็สามารถร้องขอต่อศาลให้พิจารณาอนุญาตได้ และในการประกอบธุรกิจหรือเป็นลูกจ้างดังกล่าว ให้ถือเสมือนว่าผู้เยาว์เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

หากต่อมา ผู้แทนฯ เห็นว่าการประกอบธุรกิจหรือเป็นลูกจ้างเช่นว่าอาจส่งผลเสียต่อผู้เยาว์ ก็มีอำนาจเพิกถอนความยินยอมที่ให้ไปข้างต้น หรือร้องขอต่อศาลให้พิจารณาเพิกถอนความยินยอมดังกล่าวก็ได้ แต่ถ้าผู้แทนฯ บอกเลิกโดยไม่มีเหตุอันควร ผู้เยาว์ก็สามารถร้องขอต่อศาลให้พิจารณายกเลิกการเพิกถอนความอนุญาตเช่นนั้นได้

การเพิกถอนความยินยอมของผู้แทนฯ หรือโดยศาลดังกล่าว ย่อมทำให้สถานะเสมือนเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วของผู้เยาว์สิ้นสุดลงด้วย แต่ไม่กระทบกระเทือนการใด ๆ ที่ผู้เยาว์กระทำไปก่อนการเพิกถอนเช่นว่า

หลักเกณฑ์ในการให้ความยินยอม การให้สัตยาบัน และการบอกล้างการประกอบธุรกิจของผู้เยาว์ เหมือนกันหลักเกณฑ์ของนิติกรรม

[แก้] ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์

ผู้เยาว์นั้นอยู่ภายในความปกครองของ "ผู้ใช้อำนาจปกครอง" คือ บิดามารดาทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในกรณีที่อีกฝ่ายไม่มีอำนาจปกครองแล้ว หรือ "ผู้ปกครอง" คือ บุคคลที่ศาลตั้งขึ้นให้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ ในกรณีที่บิดามารดาของผู้เยาว์ไม่มีอำนาจปกครองแล้ว หรือ "ผู้รับบุตรบุญธรรม" แล้วแต่กรณี คนเหล่านี้เป็น "ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์" (อังกฤษ: legal representative) ทั้งนี้ จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ

ผู้แทนฯ ของผู้เยาว์ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลผลประโยชน์ของผู้เยาว์ 1, พิจารณาให้ความเห็นชอบการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ 1, บอกล้างโมฆียกรรมที่เห็นว่าผู้เยาว์อาจเสียเปรียบ 1 และให้สัตยาบันโมฆียกรรมที่ผู้เยาว์ได้เปรียบ 1

นอกจากนี้ ผู้แทนฯ สามารถกระทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ในประเภทดังต่อไปนี้ ซึ่งต้องขออนุญาตศาลก่อน

  1. การขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ของผู้เยาว์
  2. การทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์
  3. การก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์
  4. การจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ของผู้เยาว์ หรือสิทธิเรียกร้องให้ทรัพยสิทธิเช่นว่าของผู้เยาว์ปลอดไปจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพยสิทธินั้น
  5. การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์เกินสามปี
  6. การสร้างข้อผูกพันที่มุ่งเกิดผลตามข้อ 1 ข้อ 2 หรือข้อ 3 ข้างต้น
  7. การให้กู้ยืมเงินจากกองทรัพย์สินของผู้เยาว์
  8. การให้ทรัพย์สินของผู้เยาว์ไปโดยเสน่หา เว้นแต่การเอาทรัพย์สินเช่นว่าให้แทนผู้เยาว์ เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ โดยสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
  9. การรับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันผู้เยาว์
  10. การปฏิเสธการให้โดยเสน่หาแทนผู้แยาว์
  11. การประกันโดยประการที่อาจทำให้ผู้เยาว์ถูกบังคับชำระหนี้
  12. การทำนิติกรรมอื่นที่ทำให้ผู้เยาว์ต้องเป็นผู้รับชำระหนี้ของหรือแทนผู้อื่น
  13. การนำทรัพย์สินของผู้เยาว์ไปแสวงหาผลประโยชน์ที่นอกเหนือจากกรณีต่อไปนี้
    • ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือพันธบัตรที่รัฐบาลไทยค้ำประกัน
    • รับขายฝากหรือรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ในลำดับแรก แต่จำนวนเงินที่รับขายฝากหรือรับจำนองต้องไม่เกินกึ่งราคาตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้น
    • ฝากประจำในธนาคารที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือที่ได้รับอนุญาตให้ทำการในราชอาณาจักร
    • ลงทุนอย่างอื่นซึ่งศาลอนุญาตเป็นพิเศษ
  14. การประนีประนอมยอมความ
  15. การมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

ทั้งนี้ ผู้แทนฯ จะหลีกเลี่ยงหลักกฎหมายข้างต้นโดยให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมเช่นว่าเอง แล้วตนค่อยมาให้ความยินยอมเพื่อให้กลายเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ภายหลังไม่ได้

อุทาหรณ์จากคำพิพากษาฎีกาที่ 4984/2537 นายสมศักดิ์ สถิตย์กุลรัตน์ เป็นโจทก์ และนายชวลิต สิทธิกุล กับพวก เป็นจำเลย ความว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ ผู้เยาว์เองหรือผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งจะถือว่านิติกรรมจะขายที่ดินที่ผู้แทนฯ ทำพร้อมกับผู้เยาว์ มีผลว่าผู้แทนฯ ให้ความยินยอมให้ผู้เยาว์กระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตศาลก่อนมิได้ เพราะเท่ากับผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยได้กระทำในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์อยู่จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย และกรณีมิใช่โมฆียะกรรมแม้ภายหลังจำเลยจะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้

อย่างไรก็ดี ในมาตรา 1598/4(3) กฎหมายใช้คำว่า "ฝากประจำ" จึงมีข้อสังเกตว่าการฝากในบัญชีอื่น เช่น ฝากออมทรัพย์ จะมีผลในทางกฎหมายเช่นใด

[แก้] คนวิกลจริต

คนวิกลจริต (อังกฤษ: insane person, lunatic, person non compos mentis, person of amentia หรือ person of unsound mind) คือ บุคคลผู้มีความประพฤติหรืออากัปกิริยาผิดปรกติเพราะภาวะทางจิตใจหรือเพราะภาวะทางร่างกายอันมีผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งความผิดปรกตินี้อาจเป็นอาการถาวรหรือชั่วคราวก็ได้[10]

คนวิกลจริตแม้จะมีความสามารถตามกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถดูแลตนเองหรือผลประโยชน์ของตนเองได้ ซึ่งจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ นิติกรรมทุกประเภทที่คนวิกลจริตทำตอนมีความวิกลจริต และอีกฝ่ายทราบถึงความวิกลจริตนั้น ตกเป็นโมฆียะ

ส่วนพินัยกรรมที่คนวิกลจริตทำย่อมใช้ได้เสมอ ผู้ใดจะอ้างว่าพินัยกรรมของคนวิกลจริตเป็นโมฆะมิได้เลย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าทำขึ้นในขณะที่บุคคลนั้นมีความวิกลจริต[11]

นอกจากนี้ บุคคลใดในขณะกระทำความผิดอาญา เกิดมีความวิกลจริตขึ้นขนาดที่ไม่รู้ตัวเอง ไม่สามารถบังคับตัวเอง หรือไม่สามารถแยกแยะดีชั่วได้ ก็ให้พ้นจากความรับผิดสำหรับความผิดนั้น แต่อาจถูกศาลให้ส่งตัวไปกักกันในสถานบำบัดโรคจิตโดยได้รับการฟื้นฟูจิตใจไปด้วยก็ได้

แต่สำหรับความผิดทางแพ่งนั้น แม้จะมีความวิกลจริตเช่นว่าเกิดขึ้น ก็ต้องรับผิดสำหรับความผิดนั้น และกฎหมายไทยยังบัญญัติให้ บิดา มารดา หรือผู้อนุบาลของบุคคลนั้นต้องร่วมรับผิดไปด้วย เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ดูแลรักษาบุคคลนั้นอย่างระมัดระวังเต็มที่แล้ว

[แก้] คนไร้ความสามารถ

คนไร้ความสามารถ (อังกฤษ: incompetent person) คือ คนวิกลจริตชนิดถาวรถึงขนาดที่ไม่มีทางดูแลตัวเองหรือผลประโยชน์ของตัวเองได้เลย ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามคำร้องขอของ คู่สมรส 1, บุพการี 1, ผู้สืบสันดาน 1, ผู้ปกครอง 1, ผู้พิทักษ์ 1, ผู้ดูแลรักษาทั่วไป 1 หรือพนักงานอัยการ 1 ซึ่งการเป็นคนไร้ความสามารถจะมีผลนับแต่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไป

คนไร้ความสามารถนั้นกฎหมายจำกัดสิทธิไว้มิให้ทำนิติกรรมได้โดยลำพังเลย นิติกรรมทั้งปวงที่คนไร้ความสามารถทำตกเป็น "โมฆียกรรม" ซึ่งรวมถึงพินัยกรรมด้วย ทั้งนี้ ผู้อนุบาลจะทำแทนคนไร้ความสามารถเอง

นอกจากนี้ คนไร้ความสามารถที่กระทำความผิดอาญาก็ให้พ้นจากความรับผิดสำหรับความผิดนั้น แต่สำหรับความผิดทางแพ่งนั้น คงต้องรับผิดอยู่ และกฎหมายไทยยังบัญญัติให้ บิดา มารดา หรือผู้อนุบาลของบุคคลนั้นต้องร่วมรับผิดไปด้วย เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ดูแลรักษาบุคคลนั้นอย่างระมัดระวังเต็มที่แล้ว

บุคคลจะพ้นจากความเป็นคนไร้ความสามารถเมื่อศาลสั่งตามร้องขอของคู่สมรส 1, บุพการี 1, ผู้สืบสันดาน 1, ผู้ปกครอง 1, ผู้พิทักษ์ 1, ผู้ดูแลรักษาทั่วไป 1 พนักงานอัยการ 1 หรือตัวคนไร้ความสามารถเองนั้น 1 ซึ่งการพ้นจากความเป็นคนไร้ความสามารถจะมีผลนับแต่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไป

คำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถ หรือพ้นจากความเป็นคนไร้ความสามารถ ต้องประการในราชกิจจานุเบกษาด้วย

[แก้] ผู้อนุบาล

คนไร้ความสามารถนั้นอยู่ภายในความปกครองของ "ผู้อนุบาล" (อังกฤษ: guardian) ซึ่งศาลแต่งตั้งตามกรณีดังต่อไปนี้[12]

1.บุคคลใดจะบรรลุนิติภาวะหรือไม่ก็ตาม ถ้ายังมิได้สมรสและศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ให้ผู้ใช้อำนาจปกครอง คือ บิดามารดาทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในกรณีที่อีกฝ่ายไม่มีอำนาจปกครองแล้ว หรือผู้ปกครอง เป็นผู้อนุบาลคนไร้ความสามารถผู้นั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอื่น

2. ในกรณีที่ศาลสั่งให้บุคคลที่มีคู่สมรสเป็นคนไร้ความสามารถ ก็ให้คู่สมรสอีกฝ่ายเป็นผู้อนุบาล เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอื่นตามที่ผู้มีส่วนได้ส่วยเสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ หรือในกรณีมีเหตุอันควร

ส่วนอำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลนั้น ดังนี้ ดูแลผลประโยชน์ของคนไร้ความสามารถ 1, ทำนิติกรรมแทนคนไร้ความสามารถ 1, บอกล้างโฆยีกรรมของคนไร้ความสามารถที่พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเสียเปรียบ 1 และให้สัตยาบันในโมฆียกรรมของคนไร้ความสามารถที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีแต่ได้กับได้ 1

นอกจากนี้ ผู้อนุบาลต้องร่วมรับผิดสำหรับความผิดทางแพ่งที่คนไร้ความสามารถในความอนุบาลของตนก่อขึ้นด้วย เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ดูแลรักษาบุคคลนั้นอย่างระมัดระวังเต็มที่แล้ว

[แก้] คนเสมือนไร้ความสามารถ

คนเสมือนไร้ความสามารถ (อังกฤษ: quasi-incompetent person) คือ บุคคลที่ไม่สามารถจัดการงานของตนเองได้ เพราะกายพิการ จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา และศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามคำร้องขอของ คู่สมรส 1, บุพการี 1, ผู้สืบสันดาน 1, ผู้ปกครอง 1, ผู้พิทักษ์ 1, ผู้ดูแลรักษาทั่วไป 1 หรือพนักงานอัยการ 1 ซึ่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถจะมีผลนับแต่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไป

คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นกฎหมายจำกัดสิทธิไว้ โดยสามารถทำนิติกรรมทั่วไปได้ด้วยตนเอง แต่นิติกรรมดังต่อไปนี้ต้องขอความยินยอมจากผู้พิทักษ์เสียก่อน มิฉะนั้นตกเป็น "โมฆียกรรม" ทั้งนั้น

  1. การนำทรัพย์สินไปลงทุน
  2. การรับคืนซึ่งทรัพย์สินที่นำไปลงทุน ต้นเงิน หรือทุนอื่น ๆ
  3. การกู้ยืม หรือให้กู้ยืมซึ่งเงิน
  4. การยืม หรือให้ยืมซึ่งสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
  5. การรับประกันที่ทำให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
  6. การเช่า หรือให้เช่าซึ่ง
  7. การให้โดยเสน่หา เว้นแต่เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ โดยสมควรแก่ฐานานุรูป
  8. การรับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน
  9. การปฏิเสธการให้โดยเสน่หา
  10. การกระทำเพื่อให้ได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
  11. การก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น
  12. การซ่อมแซมสถานที่ขนานใหญ่
  13. การเสนอคดีต่อศาล เว้นแต่การร้องขอให้ศาลถอดถอนผู้พิทักษ์ของตน
  14. การดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ
  15. การประนีประนอมยอมความ
  16. การมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
  17. นิติกรรมอย่างอื่นตามที่ศาลสั่งเป็นกรณี ๆ ไป

นิติกรรมที่ขึ้นรายการไว้ข้างต้นนี้ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์ทำแทนคนเสมือนไร้ความสามารถเลยก็ได้ และถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถขอความยินยอมแล้ว แต่ผู้พิทักษ์ไม่ให้โดยไม่มีเหตุอันควร ก็มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้อนุญาตให้ทำเป็นกรณี ๆ ไปได้

ส่วนความผิดที่คนเสมือนไร้ความสามารถก่อขึ้นนั้น ต้องรับผิดเหมือนอย่างคนปรกติธรรมดาทั่วไป แต่กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิทักษ์ต้องร่วมรับผิดด้วยเหมือนกรณีผู้เยาว์ คนวิกลจริต และคนไร้ความสามารถ ส่วนความผิดอาญา ขึ้นอยู่กับว่าในขณะที่ทำความผิดนั้นมีความวิกลจริตหรือไม่

บุคคลจะพ้นจากความเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถเมื่อศาลสั่งตามร้องขอของคู่สมรส 1, บุพการี 1, ผู้สืบสันดาน 1, ผู้ปกครอง 1, ผู้พิทักษ์ 1, ผู้ดูแลรักษาทั่วไป 1 พนักงานอัยการ 1 หรือตัวคนเสมือนไร้ความสามารถเองนั้น 1 ซึ่งการพ้นจากความเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถจะมีผลนับแต่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไป

คำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือพ้นจากความเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ต้องประการในราชกิจจานุเบกษาด้วย

[แก้] ผู้พิทักษ์

คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นอยู่ภายในความปกครองของ "ผู้พิทักษ์" (อังกฤษ: curator) ซึ่งศาลแต่งตั้งโดยใช้หลักเกณฑ์อย่างการแต่งตั้งผู้อนุบาลคนไร้ความสามารถ

ส่วนอำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลนั้น ดังนี้ ดูแลผลประโยชน์ของคนไร้ความสามารถ 1, ทำนิติกรรมแทนคนไร้ความสามารถ 1, บอกล้างโฆยีกรรมของคนไร้ความสามารถที่พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเสียเปรียบ 1 และให้สัตยาบันในโมฆียกรรมของคนไร้ความสามารถที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีแต่ได้กับได้ 1

ตัวคนเสมือนไร้ความสามารถเองยังมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอดถอนผู้พิทักษ์ของตนได้ด้วย

[แก้] นิติบุคคล

ดูบทความหลักที่ นิติบุคคล

[แก้] เชิงอรรถ

  1. ^ สมทบ สุวรรณสุทธิ, 2510 : 80.
  2. ^ จิตติ ติงศภัทิย์, 2530 : 46.
  3. ^ อรพินท์ ขจรอำไพสุข, 2551 : 190-191.
  4. ^ เสนีย์ ปราโมช, 2520 : 619.
  5. ^ Konrad Zweigert & Hein Kotz, 1988 : 352.
  6. ^ กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2550 : 51.
  7. ^ Konrad Zweigert & Hain Kötz, 1984 : 31.
  8. ^ สมทบ สุวรรณสุทธิ, 2510 : 80.
  9. ^ อรพินท์ ขจรอำไพสุข, 2551 : 198-199.
  10. ^ Cian G. & Trabucchi A., 1992 : 468-469.
  11. ^ อรพินท์ ขจรอำไพสุข, 2551 : 203.
  12. ^ อรพินท์ ขจรอำไพสุข, 2551 : 201.

[แก้] อ้างอิง

[แก้] ภาษาไทย

  • กิตติศักดิ์ ปรกติ. (2550). คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไปว่าด้วยบุคคลธรรมดา และหลักทั่วไปว่าด้วยนิติบุคคล. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
  • ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549, มีนาคม). พจนานุกรมกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
  • จิตติ ติงศภัทิย์. (2530). กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • ราชบัณฑิตยสถาน.
    • (2546). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <1>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
    • (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <1>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. (2551). คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 13, แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
  • ศาลฎีกา. (2550, 26 มกราคม). ระบบสืบค้นคำพิพากษาและคำสั่งคำร้องศาลฎีกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <1> (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • สมทบ สุวรรณสุทธิ. (2510). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มีนาคม). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <1> (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • เสนีย์ ปราโมช. (2520). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและหนี้ เล่ม 1 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2505. กรุงเทพฯ : นิติบรรณการ.
  • อรพินท์ ขจรอำไพสุข. (2551). "ผู้ทรงสิทธิ." ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[แก้] ภาษาต่างประเทศ

  • Konrad Zweigert & Hain Kötz. (1984). Einführung in die Rechtsvergleichung. (2.Aufl.). Tuebingen : Mohr & Siebeck.
  • Konrad Zweigert & Hein Kotz. (1988). An Introduction to Comparative Law. Tony Weir (translator). (Third Edition). Oxford : Clarendon Press.
  • Rudolf Sohm. (1884). Institution des Roemischen Rechts. Leipzig : Duncher & Humflot.
  • Susan Munroe. (2009). "Age of majority". About.com. [Online]. Available: <1>. (Accessed: 4 June 2009).