เจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. 2456 - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2547) เกิดในสายตระกูลเจ้าเจ็ดตน ซึ่งมีพระยาสุลวฦาชัยสงคราม หรือเจ้าหนานทิพย์ช้าง ผู้เป็นบรรพบุรุษของเจ้าชาย 7 องค์ ที่เป็นต้นสกุลสำคัญฝ่ายเหนือ อันได้แก่ ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง สิโรรส ธนันชยานนท์ และลังกาพินธุ์ โดยท่านอยู่ในสายตรงของเจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 2 คือ เจ้าธัมมลังกา

เจ้าไชยสุริวงศ์ เป็นโอรสองค์ที่ 4 ของหม่อมคำใส กับ พันตำรวจเอกเจ้าไชยสงครามหรือเจ้าน้อยสมพมิตร ณ เชียงใหม่ ผู้กำกับการตำรวจมณฑลพายัพ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบที่เหี้ยมหาญ มีวิชาคาถาอาคม และมีความใกล้ชิดกับเจ้าแก้วนวรัฐ ในฐานะนายตำรวจคนสนิทที่เจ้าแก้วนวรัฐมอบความไว้วางไว้ใจให้ทำหน้าที่เป็นควาญช้างพระที่นั่ง ให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลพายัพในปี พ.ศ. 2469

เจ้าไชยสุริวงศ์มีเจ้านายพี่น้องร่วมกัน 10 คน ดังนี้

กำเนิดกับ เจ้าหญิงศรีนวล ณ เชียงใหม่

  • เจ้าน้อยหน่อคำ ณ เชียงใหม่
  • เจ้าหญิงจันทรโสภา ณ เชียงใหม่

กำเนิดกับ หม่อมคำใส ณ เชียงใหม่

  • เจ้าหญิงข่ายแก้ว ณ เชียงใหม่
  • เจ้าไชยมงคล ณ เชียงใหม่
  • เจ้าไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่
  • เจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่
  • เจ้าไชยชนะ ณ เชียงใหม่

กำเนิดกับ หม่อมอุษา ณ เชียงใหม่

  • เจ้าน้อยอินทร์ ณ เชียงใหม่
  • เจ้าน้อยหมอก ณ เชียงใหม่
  • เจ้าหญิงจันทร์ทิพย์ (ณ เชียงใหม่) ระมิงค์วงศ์

กิจกรรมอย่างหนึ่งที่เจ้าไชยสุริวงศ์เล่นมาตั้งแต่เป็นนักเรียนและได้ยึดถือเป็นกิจวัตรประจำวันตลอดช่วงชีวิตของท่านก็คือ การเล่นดนตรีไทย ท่านได้ตั้งวงขึ้นเล่นที่บ้าน และวงของท่านยังได้มีโอกาสร่วมเล่นกับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงแวะเยี่ยมเจ้าไชยสุริวงศ์ที่บ้านเชิงดอยอีกด้วย

เจ้าไชยสุริวงศ์ มีบุตร 2 คน คนเล็กคือ เจ้าธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง


[แก้] บุกเบิกธุรกิจในเชียงใหม่

ขบวนส่งสการเจ้าไชยสุริวงศ์

เจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในธุรกิจโรงแรม โรงภาพยนตร์ และโรงพิมพ์ของเชียงใหม่ เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ คือ โรงแรมสุริวงศ์ ถนนช้างคลาน พร้อมกับโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยแห่งแรกของเชียงใหม่ ด้วยระบบจอซีนีมาสโคป 70 มิลลิเมตร เสียงเซ็นเซอร์ราวนด์ ติดเครื่องปรับอากาศ เมื่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ได้รับความนิยม ก็ได้สร้างโรงภาพยนตร์ในเครือสุริวงศ์ขึ้นอีกหลายแห่ง เพื่อสนองความต้องการของคนเชียงใหม่และคนในจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ โรงภายนตร์สุริยา สุริยง รามา และแสงตะวัน อีกทั้งยังร่วมลงทุนสร้างภาพยนตร์ด้วย ขณะเดียวกับที่กิจการภาพยนตร์เฟื่องฟู ท่านได้เปิดธุรกิจโรงพิมพ์เพิ่มขึ้น คือ สุริวงศ์การพิมพ์ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์แรก ๆ ของเชียงใหม่ ต่อมายังได้สร้างโรงแรมแม่ปิง และโรงแรมดวงตะวัน และเมื่อธุรกิจโรงแรม โรงภาพยนตร์ มีการแข่งขันสูง ประกอบกับความชรา เจ้าไชยสุริวงศ์ จึงขายกิจการทั้งหมด


[แก้] ส่งสการเจ้าไชยสุริวงศ์

เจ้าไชยสุริวงศ์ เป็นเจ้านายฝ่ายเหนืออีกท่านหนึ่งที่มีอายุยืนถึง 91 ปี สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคมพ.ศ. 2547 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงพระราชทานพวงหรีดไว้อาลัยแก่เจ้าไชยสุริวงศ์ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพิธีพระราชทานเพลิงศพ หรือพิธีส่งสการตามแบบล้านนา ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ในการนี้คุณพลอยไพลิน เจนเซน และคุณสิริกิติยา เจนเซน ได้โดยเสด็จด้วย

[แก้] อ้างอิง

  • ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. เพ็ชร์ล้านนา. (ครั้งที่ 2) เชียงใหม่ :ผู้จัดการ ศูนย์ภาคเหนือ, 2538.
  • หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่. 2547.
  • คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ , นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. [1]