นามสกุลพระราชทาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นามสกุลพระราชทาน เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455[1] โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 อย่างไรก็ตาม ได้มีการเลื่อนเวลาการบังคับใช้กฎหมาย 2 ครั้ง เพื่ออำนวยความการสะดวกแก่เจ้าพนักงานซึ่งจะทำทะเบียนและสะดวกแก่ผู้ที่จะเลือดตั้งนามสกุล โดยพระราชบัญญัติได้บังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458[2][3]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลครั้งแรกเป็นจำนวน 102 นามสกุล เช่น นามสกุล "สุขุม" พระราชทานแก่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น), นามสกุล "มาลากุล" พระราชทานแก่ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย) และ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม) และนามสกุล "พึ่งบุญ" พระราชทานแก่ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ)[4] นามสกุลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้มีทั้งสิ้น 6464 นามสกุล แยกเป็น

  • นามสกุลตามสมุดทะเบียน 6439 นามสกุล (ในสมุดทะเบียนลงลำดับที่นามสกุลที่ได้พระราชทานไปเพียง 6432 นามสกุล)
  • นามสกุลพิเศษ 1 นามสกุล
  • นามสกุลสำหรับราชสกุลรัชกาลที่ 4 อีก 24 นามสกุล [5]

เนื้อหา

[แก้] นามสกุลที่มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ

  • เศียนเสวี พระราชทาน พระอักษรสมบูรณ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี) เสมียนตรากระทรวงวัง และนายพันตรีในกองทัพบก บิดาเป็นชาวเยอรมัน นามสกุลเดิมว่า “Falck” คือมุ่งว่า “falk” แปลว่าเหยี่ยว แปลกลับเป็นสังสกฤตว่า “เศ์ยน” แผลงเป็นไทยว่า “เศียน”
  • เศวตศิลา พระราชทาน พระวันพฤกษ์พิจารณ (ทองคำ) ปลัดกรมป่าไม้ กับพระกรุงศรีบริรักษ์ (ทองย้อย) ปลัดมณฑลกรุงเก่ากระทรวงมหาดไทย เป็นบุตรนายเฮนรี อาลบาสเตอร์ (แปลนามสกุลเป็น “หินขาว”)
  • สุมิตร พระราชทาน นายอี สเปนช์ สมิต ผู้ช่วยอธิบดีกรมศึกษาธิการ ขอพระราชทานให้บุตรชายหญิงซึ่งมารดาเป็นไทย
  • เวลานนท์ พระราชทาน รองอำมาตย์เอกเกอรช ฟริดริช เวเลอร์ นายตรวจเอก กรมรถไฟหลวงสายเหนือ (ต่อมาถูกถอนสัญชาติและเรียกคืนนามสกุล เมื่อคราวประเทศสยามประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1)
  • อันตรนิยุกต์ พระราชทาน ขุนทิพรศโอชา (ปีเตอร์) พนักงานครัวเฃ้าต้น กรมมหาดเล็ก นามสกุลเดิม “อันโตนิโอ”
  • สีมันตร พระราชทาน ขุนเลขการวิจิตร (แสวง) นายเวรกรมที่ปฤกษา กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ บิดาเป็นชาวโปรตุเกส นามสกุลเดิมว่า “ซีโมเอนส์”
  • เตชะวณิช พระราชทาน พระอนุวัตร์ราชนิยม (ฮง) สังกัดกรมมหาดเล็ก แส้แต้
  • อับดุลพันธุ์ พระราชทาน นายหมู่ตรีปุ๋ย ประจำแพนกเกียกกาย กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ ปู่ทวดชื่อเฮเดอรใบ ปู่ชื่อเมียโบ บิดาชื่ออับดุลโคยุม
  • อับดุลละบุตร พระราชทาน พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสงคราม (นิโอ๊ะ) พระยาเมืองยะหริ่ง ปู่ทวดชื่ออับดุลเลาะ
  • คุณะดิลก พระราชทาน พระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด ตีเลกี, William Alfred Tilleke) อธิบดีกรมอัยการ กระทรวงยุติธรรม เขาชื่อเช่นนี้มาแต่เดิมแล้วแต่ต้องการได้รับอนุมัติ จึ่งตกลงให้เขียนว่า“คุณะดิลก”เช่นนี้ เพื่อให้เป็นไทย เดิมเขียนว่า“คุณะติละกะ” (ตัวโรมัน“Guna Tilleke”)
  • สิงหลกะ พระราชทาน พระดรุณรักษา (เสงี่ยม) ปลัดบาญชีกรมมหาดเล็ก หลานพระอุดรพิศดาร (สิญญ) ซึ่งเป็นชาวสิงหล

[แก้] นามสกุลแยกตามรายอาชีพของผู้เป็นต้นสกุล

  • สกุลพ่อค้า มีคำว่า วณิช หรือวานิช และ เวส ประกอบในนามสกุลเช่น กมุทวณิช, กัณหะเวส, คุปตะวาณิช, กฤษณวนิช
  • สกุลชาวสวน มีคำว่า ผล และ ผลิน ประกอบในนามสกุล เช่น ผลพันธิน, ผลาชีวะ, มณฑลผลิน
  • สกุลชาวนา มีคำว่า กสิกร, เกษตริน และศาลิ ประกอบในนามสกุล เช่น โพธิกสิกร, รัตกสิกร, สนธิเกษตริน, พฤทธิศาลิกร, ศาลิคุปต์
  • สกุลทหารบก มีคำว่า โยธิน ประกอบในนามสกุล เช่น พหลโยธิน (ชื่อ)|พหลโยธิน, พินทุโยธิน, อุตตมะโยธิน
  • สกุลทหารเรือ มีคำว่า นาวิน และกลิน ประกอบในนามสกุล เช่น กมลนาวิน, กนกนาวิน, วิเศษนาวิน, โรหิตนาวิน, ไอศะนาวิน, กฤษณกลิน, สุนทรกลิน, บุญยรัตกลิน
  • สกุลทหารอากาศ มีคำว่า อากาศ หรือ นภา ประกอบในนามสกุล เช่น รณนภากาศ
  • สกุลช่างสิบหมู่ มีคำว่า ศิลปิน ประกอบในนามสกุล เช่น เกียรติศิลปิน, เตมียศิลปิน, วิภาตะศิลปิน
  • ศิลปินโขน มีคำว่า นัฏ ประกอบในนามสกุล เช่น กานตะนัฎ, จารุนัฎ, สมรรคนัฎ
  • นักดนตรี มีคำว่า วาทิน ประกอบในนามสกุล เช่น กมลวาทิน, วรวาทิน, สุนทรวาทิน
  • กรมพระอัศวราช มีคำว่า อัศวิน ประกอบในนามสกุล เช่น ศวิน โกมลาศวิน, ชยาศวิน, มณฑาศวิน
  • สกุลแพทย์ มีคำว่า เวช, ไวทยะ, แพทย์ ประกอบในนามสกุล เช่น โกมลเวช, สุนทรเวช, ถาวรเวช, วีระไวทยะ, ไวทยะชีวิน, ตีรแพทย์, มิลินทแพทย์,เวชชาชีวะ
  • โหรหลวง มีคำว่า โชติ ประกอบในนามสกุล เช่น โชติวิท, เศษโชติ, สุนทรโชติ
  • พรามหมณ์ มีคำว่า พราหมณ ประกอบในนามสกุล เช่น จุลละพราหมณ์, พราหมณายน, วินทุพราหมณกุล

[แก้] ข้อมูลเพิ่มเติม

  • นามสกุลพิเศษที่มิได้ลงลำดับที่ในสมุดทะเบียนนามสกุลคือ ณ พิศณุโลก พระราชทาน หม่อมคัธริน ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
  • นามสกุลสุดท้ายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน คือ ตันตริยานนท์ พระราชทานแก่ นายประดิษฐ์ ผู้ช่วยนายเวรกรมบาญชีกลาง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ปู่ชื่อตันก๊กเหลียง บิดาชื่อตันเต็งหยง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2468
  • ผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับพระราชทานนามสกุลคือ เด็กชายบัว อายุ 6 ขวบ มหาดเล็กรุ่นจิ๋ว ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ศจิเสวี เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465
  • นามสกุลที่เนื่องมาแต่ราชสกุลที่โปรดให้เติม ณ กรุงเทพ หรือที่ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้ายนั้น มีทั้งสิ้น 105 นามสกุล
  • สมาชิกกองเสือป่าที่ได้รับพระราชทานนามสกุลมีทั้งสิ้น 864 นามสกุล ในจำนวนนี้เป็น พลเสือป่าถึง 515 นามสกุล
  • นายทหารที่ได้รับพระราชทานนามสกุล มีทั้งสิ้น 1134 นามสกุล
  • นายตำรวจที่ได้รับพระราชทานนามสกุลมี ทั้งสิ้น 457 นามสกุล
  • นักเรียนที่ได้รับพระราชทานนามสกุลมี ทั้งสิ้น 278 นามสกุล แยกเป็น
  • นักเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษา คือ นักเรียนมหาดเล็กหลวง และนักเรียนราชวิทยาลัย จำนวน 45 นามสกุล
  • นักเรียนทหารกระบี่หลวง หรือนักเรียนพรานหลวง จำนวน 97 คน
  • นักเรียนระดับชั้น อุดมศึกษา คือ นักเรียนแพทย์เสือป่าหลวง จำนวน 88 นามสกุล
  • นักเรียนนายร้อย, นักเรียนทำการนายร้อย และนักเรียนทำการนายร้อยตำรวจ จำนวน 22 นามสกุล
  • นักเรียนนายเรือ และนักเรียนทำการนายเรือ จำนวน 11 นามสกุล
  • นักเรียนโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 13 นามสกุล
  • นักเรียนราชแพทยาลัย จำนวน 2 นามสกุล
  • นามสกุลพิเศษที่ได้รับพระราชทานฯ แต่มิได้จดในทะเบียนชื่อสกุลพระราชทานฯ ได้แก่

กาญจนาชีวะ พระราชทานแก่ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม) บำเรอเจ้า พระราชทานแก่ หลวงบำเรอบริภักดี (สนิท บำเรอเจ้า) ภายหลังเลื่อนเป็น พระยาบำเรอบริภักดี กับ หม่อมราชวงศ์มณีรัตน์ (เดชาติวงศ์) บำเรอเจ้า หังสสูต พระราชทานแก่ พระยาพิพิธโภคัย (เชฐ) บุตร พระยาสุธรรมไมตรี (ห้อง) เป็นต้น

  • นามสกุลที่โปรดให้ใช้คำว่า ณ กรุงเทพ ภายหลังโปรดให้ใช้เป็น ณ อยุธยา สำหรับราชสกุลมีทั้งสิ้น 105 ราชสกุล เช่น สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, อิศรางกูร ณ อยุธยา, นพวงศ์ ณ อยุธยา, เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา เป็นต้น
  • นามสกุลพิเศษที่มี ณ ต่อท้ายชื่อสกุลอีกประมาณ 7 นามสกุล เช่น ณ นคร, ณ ถลาง, ณ เชียงใหม่, ณ บางช้าง, ณ พัทลุง เป็นต้น
  • ราชสกุล ณ นคร เป็นราชสกุลใน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (แซ่แต้) มีทั้งสิ้น 17 ราชสกุลในพระองค์ โดยสืบเชื้อสายมาจากสายสัมพันธ์ แซ่แต้ (เตชะ) ทั้งสิ้น

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติขนามนามสกุล พุทธศักราช ๒๔๕๖, เล่ม ๒๙, ตอน ๐ ก, ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕, หน้า ๒๘๓
  2. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้เลื่อนการใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ก, ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๕๘
  3. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ การเลื่อนใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ ก, ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๔๙๓
  4. ^ ราชกิจจานุเบกาษา, ประกาศกระทรวงมุรธาธร เรื่อง ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๑, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ ง, ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๖๔๘
  5. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมราชเลขานุการ เรื่อง พระราชทานนามสกุล สำหรับสืบเชื้อพระวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ง, ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๑๓๕

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น