วิกิพีเดีย:ความเป็นเจ้าของบทความ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เว็บย่อ:
WP:OWN
นโยบาย
นโยบายและแนวปฏิบัติในวิกิพีเดีย
หลักการสากล
ห้าเสาหลัก
อะไรที่ไม่ใช่วิกิพีเดีย
ปล่อยวางกฎทั้งหมด
พฤติกรรม
ประพฤติเยี่ยงอารยชน
นโยบายการเขียน
สงครามแก้ไข
ความเป็นเจ้าของบทความ
อย่าว่าร้ายผู้อื่น
เนื้อหา
มุมมองที่เป็นกลาง
งดงานค้นคว้าต้นฉบับ
การพิสูจน์ยืนยันได้
หลักการตั้งชื่อบทความ
ชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่
การลบ
นโยบายการลบ
เงื่อนไขสำหรับการลบทันที
กฎข้อบังคับ
ผู้ดูแลระบบ
นโยบายการบล็อกผู้ใช้
บอต
นโยบายการล็อก
หุ่นเชิด
ชื่อผู้ใช้
การก่อกวน
ลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์
นโยบายการใช้ภาพ
เนื้อหาที่ใช้งานโดยชอบธรรม
ดูเพิ่ม
รายชื่อนโยบายทั้งหมด
รายชื่อแนวปฏิบัติทั้งหมด

เนื้อหาในวิกิพีเดียทั้งหมด (ทั้งบทความ หมวดหมู่ แม่แบบ และอื่น ๆ) นั้นเกิดจากการร่วมกันสร้างสรรค์ของผู้เขียนหลายท่าน มิได้เกิดจากการเขียนโดยผู้ใช้คนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว ผู้ใช้ที่ร่วมแก้ไขบทความเหล่านั้นจึง ไม่ใช่เจ้าของบทความนั้นทั้งหมด และจะไม่มีใครเป็นเจ้าของบทความในวิกิพีเดีย อย่างไรก็ดีผู้ใช้ที่เชี่ยวชาญมีสิทธิหรืออาจปกป้องว่าตนเป็นเจ้าของบทความนั้นทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ อนึ่งเนื้อหาในวิกิพีเดียนั้นอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเอกสารเสรีของกนูและสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ อันให้สิทธิผู้อ่านคัดลอก แจกจ่าย และปรับปรุงเนื้อหาได้

เนื้อหา

[แก้] ความเป็นเจ้าของบทความ

ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวิกิพีเดียบางท่านอาจมีความรู้สึกเป็นเจ้าของในสิ่งที่ตนได้ร่วมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นบทความ แม่แบบ หมวดหมู่ ไฟล์ภาพ ไฟล์เสียง หรือแม้แต่ สถานีย่อย ผลจากความรู้สึกนี้ทำให้ผู้ใช้บางท่านกีดกันการแก้ไขบทความนั้นจากผู้ใช้อื่น ซึ่งโดยแท้จริงแล้วการเอาใจใส่ต่อบทความที่คุณสนใจในหน้ารายการเฝ้าดู นั้นอาจสื่อถึงความที่คุณเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ หรือบทความนั้นเป็นสิ่งที่คุณสนใจ แต่หากการเอาใจใส่ถึงหน้านั้น ๆ เริ่มทำให้คุณถือว่าบทความนั้นเป็นของตนเอง การกระทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ความเชื่อที่ว่าบทความใด ๆ ก็ตามนั้นมีเจ้าของเป็นหนึ่งในข้อผิดพลาดทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ง่ายในวิกิพีเดีย

เมื่อคุณเลือกที่จะเขียนบทความในวิกิพีเดียแล้ว คุณไม่สามารถป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาแก้ไขบทความ "ของคุณ" ได้ ตามที่มีการระบุไว้เมื่อมีการแก้ไขหรือสร้างหน้าใหม่ว่า ถ้าไม่ต้องการให้งานของคุณถูกแก้ไขอย่างเสรี กรุณาอย่าส่งผลงานนั้นเข้ามาในวิกิพีเดีย เช่นเดียวกัน หากคุณเห็นว่าการจัดหมวดหมู่ รูปแบบ ลักษณะการเขียนแบบใดน่าจะเหมาะสมกับวิกิพีเดีย แต่ไม่อยากให้มีการแก้ไขหรือปรับปรุงอีกระหว่างนั้น อย่าบันทึกการปรับปรุงนั้น

กรณีที่คุณแก้ไขท่ามกลางสงครามการแก้ไข (มีการลบเนื้อหา ย้อนข้อมูลกลับไปกลับมา หรืออื่น ๆ) คุณอาจหาเวลาหยุดพักจากบทความนั้นก่อนชั่วคราว แล้วค่อยกลับมาดูใหม่ทีหลังก็ยังได้ กรณีที่มีผู้ใช้อ้างตัวว่าเป็นเจ้าของบทความ ลองคุยกับผู้เขียนคนอื่น ๆ ในหน้านั้น พูดคุยในหน้าพูดคุยและหาทางลดการโต้เถียงลง อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะไม่มีใครเป็นเจ้าของบทความของวิกิพีเดียก็ตาม การเคารพนับถือในการแก้ไขและแนวความคิดของผู้ใช้คนอื่นก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอยู่ ดังนั้นหากต้องการนำเนื้อหาใด ๆ ออกหรือเรียบเรียงเนื้อหาใหม่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อเนื้อหานั้นเขียนโดยผู้เขียนคนใดคนหนึ่ง การพูดคุยปรึกษาเพื่อพัฒนาบทความคู่กับผู้เขียนที่เขียนเนื้อหานั้น ๆ แทนที่จะต่อต้าน จะทำให้การเขียนบทความมีประสิทธิภาพมากกว่า

[แก้] การใช้ลายเซ็นในหน้าบทความ

เนื่องจากเนื้อหาในวิกิพีเดียนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ ดังนั้นจึงไม่ควรมีการลงชื่อในหน้าบทความอย่างเด็ดขาด รายชื่อผู้ร่วมสร้างสรรค์บทความและประวัติการเขียนโดยละเอียดจะอยู่ในประวัติของหน้านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยการกด "ประวัติ" ข้างบนซึ่งจะปรากฏอยู่ในทุกหน้าของวิกิพีเดีย ในทางตรงข้ามความคิดเห็นส่วนบุคคลที่แสดงออกในหน้าพูดคุยนั้น ถือว่าเป็นข้อความส่วนตัวของผู้เขียน ดังนั้นการลงชื่อเพื่อแสดงออกว่าเป็นความเห็นของตนนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำในหน้าพูดคุย โดยพิมพ์ ~~~~ (เครื่องหมายทิลด์ 4 ตัว) โดยไม่ต้องใส่วงเล็บ, เครื่องหมายคำพูด หรือเว้นช่องว่างใด ๆ (ดูตัวอย่างได้จากหน้าพูดคุยที่มีอยู่แล้วของบทความใด ๆ)

[แก้] ตัวอย่างของการแสดงความเป็นเจ้าของบทความ

สิ่งต่อไปนี้คือตัวอย่างการแสดงความเป็นเจ้าของบทความ ซึ่งควรหลีกเลี่ยง

[แก้] เหตุการณ์

  • ผู้ใช้คนหนึ่งมีการแก้ไขที่เกี่ยวกับการจัดหน้า การใช้รูปภาพ และการใช้คำในบทความใดบทความหนึ่งอย่างต่อเนื่อง และมักมีความเห็นแย้งกับผู้อื่นที่เข้ามาแก้ไขบทความ ผู้ใช้คนนั้นจึงอ้างสิทธิ (โดยเปิดเผยหรือไม่ก็ตาม) เพื่อตรวจสอบการแก้ไขทั้งหมดก่อนที่จะนำไปเผยแพร่ยังหน้าบทความ (กรณีนี้ไม่นับรวมการแก้ไขรูปแบบที่ผิดพลาดหรือไม่เหมาะสมอย่างชัดเจน)
  • บทความที่เขียนโดยผู้ใช้หลาย ๆ คนถูกผู้ใช้คนหนึ่งย้อนกลับซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปยังรุ่นใดรุ่นหนึ่ง โดยไม่พิจารณาว่าการแก้ไขนั้นทำให้บทความดีขึ้นหรือไม่ (กรณีนี้ไม่นับการย้อนการก่อกวน)
  • การที่ผู้เขียนบทความหนึ่งเข้าไปที่หน้าผู้คุยของผู้ใช้อื่นและแสดงเจตนาไม่ส่งเสริมให้ผู้ใช้เหล่านั้นแก้ไขบทความเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีได้หลายลักษณะ ทั้งการกล่าวในเชิงลบอย่างเดียว การขู่เข็ญ ดูถูกเหยียดหยาม กล่าวร้าย หรือในทางตรงข้ามอาจจะพูดจาเชยชมแต่ในที่สุดก็ลงท้ายว่าคุณอาจจะยังไม่มีความเข้าใจลึกซึ้งพอที่จะแก้ไขบทความดังกล่าว

[แก้] ข้อความที่มักปรากฏ

  • "คุณมีปัญญามาแก้ไขบทความนี้เหรอ?"
  • "คุณไม่เคยมีประสบการณ์การใช้...โดยตรงมาก่อน"
  • "ฉัน (พวกฉัน) สร้างบทความนี้ขึ้นมา"
  • "สวัสดี เราเห็นว่าคุณเข้ามาร่วมสร้างสรรค์บทความ... ขอบคุณมากๆ สำหรับความคิดของคุณ เป็นที่น่าดีใจที่มีหน้าใหม่อย่างคุณมาใส่ใจกับ... อย่างไรก็ตามเราได้แก้ไขการปรับปรุงบทความของคุณเล็กน้อย คุณอาจพบว่าการแก้ไขถ้อยคำของคุณเล็กน้อยนั้นในที่สุดก็กลายเป็นการย้อนบทความกลับไปยังรุ่นก่อนหน้า แต่โปรดอย่าได้เสียกำลังใจไป โอกาสหน้ายินดีให้แก้ไขบทความของเราได้หากคุณคิดว่ามีปัญญาเขียนอะไรได้นะ เด็กไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม :-)"

[แก้] บันทึกการย้อน

  • "อย่าได้แส่มาแก้จนกว่าแกจะมีปัญญาสร้างสรรค์งานระดับนี้ได้"
  • "ถ้ามันไม่ผิด โปรดอย่ามาแก้ไขโดยฉันไม่อนุญาต"
  • "ย้อน คุณแก้ไขมากเกินไปแล้ว หยุดก่อนได้ไหม หรือ รอชาวบ้านเขาเห็นด้วยก่อนค่อยแก้ใหญ่โตขนาดนี้"
  • "ขอบคุณในความหวังดี แต่เราไม่ต้องการ"
  • "ยังไม่มีเวลามาตรวจสอบเรื่องที่คุณแก้เลย ผมยังต้องยุ่งกับเรื่องอื่นอีก คุณก็รู้"
  • "ฉันไม่ได้มีหนังสือเล่มที่ว่า จึงไม่อาจตรวจสอบแหล่งที่มาของคุณได้"
  • "คุณไม่ได้รับการยอมรับในการแก้ไขนี้ ตอนนั้นผมไม่ได้ออนไลน์"
  • "เดี๋ยวฉันเขียนใหม่ให้ดีกว่าเมื่อมีเวลา"
  • "กรุณาอย่าแก้ไขบทความของทางโรงเรียนนะค่ะ ยกเว้นทางสภานักเรียนโรงเรียนเท่านั้น"

[แก้] ประเภทของการเป็นเจ้าของ

มีความขัดแย้งที่เกิดจากความรู้สึกเป็นเจ้าของบทความในวิกิพีเดียสองประเภท ได้แก่ ความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับผู้เขียนหลัก และ ความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับผู้เขียนร่วมกันหลายคน

[แก้] ผู้เขียนหลัก

ผู้เขียนหลักหรือผู้เขียนแต่ผู้เดียวที่แสดงความเป็นเจ้าของบทความควรจะได้รับการติดต่อผ่านทางหน้าพูดคุย ทั้งนี้ต้องหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษ การโจมตี และการตั้งข้อสงสัยในแรงบันดาลใจของผู้เขียน การพูดคุยกันก่อนโดยสุภาพเป็นทางออกที่ดีที่สุดก่อนจะดำเนินการใช้มาตรการที่เด็ดขาดต่อไป

ในหลายกรณี (แต่ไม่ใช่ทุกกรณี) ผู้เขียนหลักนั้นอาจจะเป็นผู้ที่มีความชำนาญในสาขาดังกล่าวและดำเนินการแก้ไขเยี่ยงเจ้าของบทความไปเพื่อธำรงไว้ซึ่งความถูกต้องของข้อมูลและคุณภาพบทความ ผู้เขียนหลักประเภทนี้สามารถพูดจาทำความเข้าใจกันได้โดยง่ายและแก้ไขปัญหาความเป็นเจ้าของบทความได้ ถ้าพบว่าผู้เขียนหลักแสดงความไม่เป็นมิตร โจมตีส่วนบุคคล และก่อสงความการแก้ไข จงพยายามละเลยพฤติกรรมดังกล่าวและพูดคุยเรื่องดังกล่าวอย่างสุภาพและใจเย็นที่หน้าพูดคุย ผู้เขียนที่มีพฤติกรรมแสดงความเป็นเจ้าของบทความอย่างต่อเนื่องอาจจะถูกร้องขอให้พักร้อนออกจากโครงการชั่วคราว

ความรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของนี้ อาจรวมถึงการติดป้ายปรับปรุงบทความ เช่น ผู้เขียนนั้นไม่ยอมให้ติดป้ายปรับปรุงในบทความ และลบออกทันทีที่พบโดยไม่มีการพิจารณาก่อนว่าที่ติดนั้นจริงหรือไม่ เป็นต้น

[แก้] ผู้เขียนหลายคน

การร่วมกันของผู้แก้ไขบทความหลายคนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของบทความ เหตุการณ์ที่พบได้บ่อยคือผู้ใช้คนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคพวกว่าเป็นเจ้าของบทความดังกล่าว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการเล่นพรรคเล่นพวกอย่างหนึ่งและก่อปัญหาให้ทั้งผู้ใช้ใหม่และผู้ใช้ที่อยู่มานาน เช่นเดียวกับกรณีก่อนหน้า ปัญหานี้ควรแก้ไขด้วยการพูดคุยที่ตรงประเด็นไปยังเนื้อหาที่ต้องการแก้ไข มิใช่ที่พฤติการณ์การเล่นพรรคเล่นพวกที่เกิดขึ้น

[แก้] การแก้ปัญหาการแสดงเป็นเจ้าของบทความ

แม้ว่าจะเป็นเรื่องง่ายที่จะตรวจจับพฤติการณ์ดังกล่าวแต่เป็นการยากที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งให้เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายได้ โปรดจำไว้เสมอว่าให้ใจเย็นเข้าไว้ เชื่อว่าผู้อื่นมีเจตนาดี และดำรงอยู่ในความเป็นสุภาพชน การกล่าวหาว่าผู้อื่นแสดงความเป็นเจ้าของบทความอาจเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการโจมตีส่วนบุคคล วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดคือการพูดคุยกับผู้แก้ไขโดยสุภาพด้วยความเคารพในผู้อื่นอย่างที่คุณประสงค์จะได้รับ หลายครั้งที่ผู้ที่แสดงความเป็นเจ้าของบทความอาจไม่รู้สึกตัวโดยง่ายจึงต้องทำใจเย็นและเชื่อว่าผู้อื่นมีเจตนาดี ผู้แสดงความเป็นเจ้าของบทความบางคนมักคิดว่าตนเองปกป้องบทความจากการก่อกวนและอาจตอบสนองอย่างไม่เป็นมิตร หลายคนอาจพยายามเสนอแนวคิดของตนเองจนลืมนโยบายมุมมองที่เป็นกลาง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

  • AuthorshipModel – การอภิปรายเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของบทความในหน้าวิกิของ CommunityWiki