หมึกฮัมโบลด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมึกฮัมโบลด์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Cephalopoda
ชั้นย่อย: Coleoidea
อันดับ: Teuthida
วงศ์: Ommastrephidae
วงศ์ย่อย: Ommastrephinae
สกุล: Dosidicus
Steenstrup, 1857
สปีชีส์: D. gigas
ชื่อทวินาม
Dosidicus gigas
(D'Orbigny, 1835 in 1834-1847)
ชื่อพ้อง[1]
การจับหมึกฮัมโบลด์ ที่ชิลี

หมึกฮัมโบลด์ หรือ หมึกจัมโบ้ หรือ หมึกบินจัมโบ้ หรือ ปีศาจแดง ในภาษาสเปน (อังกฤษ: Humboldt squid, Jumbo squid, Flying jumbo squid; สเปน: Diablo rojo[2]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Dosidicus gigas) เป็นหมึกประเภทหมึกกล้วยชนิดหนึ่ง เป็นหมึกกล้วยที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จัดเป็นหมึกเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Dosidicus[1]

หมึกฮัมโบลด์ มีความยาวได้ถึง 9 ฟุต มีน้ำหนักได้ถึง 150 ปอนด์ มีรูปร่างเพรียวยาว อ้วนป้อมออกด้านข้าง มีหนวดทั้งสิ้น 8 หนวด โดยมี 2 เส้นยาว ที่มีอวัยวะเหมือนฟันแหลมคมข้าง ๆ ปุ่มดูด ซึ่งมีไว้สำหรับจับและฉีกอาหาร มีดวงตากลมโตขนาดใหญ่

หมึกฮัมโบลด์ กระจายพันธุ์ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออก ตั้งแต่อเมริกาเหนือ เช่น โอเรกอน, วอชิงตัน, บริติชโคลัมเบีย และอลาสกา จนถึงอเมริกากลาง เช่น ทะเลคอร์เตซ จนถึงอเมริกาใต้ เช่น เปรู หรือชิลี[3][4] [5]

หมึกฮัมโบลด์ สามารถว่ายน้ำได้เร็ว 24 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยวิธีการพ่นน้ำและใช้ครีบ สามารถเดินหน้าและถอยหลังได้ อีกทั้งสามารถเปลี่ยนสีลำตัวได้ตลอดเวลาตั้งแต่สีขาวจนถึงแดงเข้ม และดำน้ำได้ลึกถึง 1,000 ฟุต เพื่อพักผ่อน ย่อยอาหาร และหลบเลี่ยงสัตว์นักล่า[6]

มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง ออกหากินบริเวณกลางน้ำทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ออกหากินตลอดเวลา จะกินอาหารทุกที่เมื่อสบโอกาส ถือเป็นสัตว์ที่ต้องการแคลอรีมากที่สุดชนิดหนึ่งในทะเล มีพฤติกรรมแย่งอาหาร และกินแม้แต่พวกเดียวกันเอง เมื่อชาวประมงจับหมึกฮัมโบลด์ได้ ตัวแรกจะถูกหั่นออกเป็นชิ้น ๆ แล้วโยนลงทะเล เพื่อใช้เป็นเหยื่อล่อหมึกตัวอื่น ๆ ให้ตามมา เมื่อหมึกตัวหนึ่งจับอาหารได้จะพ่นหมึกออกมา หมึกตัวอื่น ๆ ก็จะเข้ามารุมล้อมแย่งกิน และเมื่อจับอาหารได้ชิ้นใหญ่กว่าปากของตัวเอง จะใช้หนวดดูดและใช้ปากที่แหลมคมเหมือนปากนกแก้ว ฉีกอาหารเป็นชิ้น ๆ ให้พอกับคำ [6]

หมึกฮัมโบลด์ เมื่อแรกเกิดมีความยาวเพียง 1.8 นิ้ว แต่สามารถโตได้ถึง 7 ฟุต ด้วยเวลาเพียง 2 ปี นับว่าเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมากชนิดหนึ่งในบรรดาสัตว์ทั้งหมด แต่อายุขัยยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด คาดว่าประมาณ 1-2 ปี[6]

หมึกฮัมโบลด์ นับว่าเป็นสัตว์นักล่าที่สมบูรณ์แบบมากชนิดหนึ่งในทะเล เป็นสัตว์ที่ฉลาดและคล่องแคล่วว่องไว อีกทั้งมีหนวดที่แข็งแรงและแหลมคมเป็นอาวุธ ถือเป็นสัตว์ทะเลอีกชนิดหนึ่งที่สามารถทำร้ายโจมตีมนุษย์ได้ สามารถใช้หนวดดึงบ่าของนักประดาน้ำให้หลุดและลากลงไปในที่ลึกได้ หากสวมชุดประดาน้ำแบบธรรมดาไม่มีเครื่องป้องกันแบบเดียวกับเครื่องป้องกันปลาฉลาม จะถูกทำอันตรายจากปากและหนวดได้เหมือนกับการกัดของสุนัขขนาดใหญ่ อย่าง เยอรมันเชเพิร์ด จนมีเรื่องเล่าขานกันในหมู่ชาวประมงแถบทะเลคอร์เตซ ว่าหมึกฮัมโบลด์ทำร้ายและกินมนุษย์เป็นอาหาร[6] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2009 มีนักประดาน้ำ 3 คน เสียชีวิตในทะเลคอร์เตซ โดยศพถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งพบว่าชุดประดาน้ำฉีกขาด และเปื้อนไปด้วยหมึก และภายหลังพิสูจน์ว่าเป็นหมึกจากหมึกฮัมโบลด์[7]

หมึกฮัมโบลด์ จัดเป็นหมึกอีึกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานและบริโภคกันอย่างมากเช่นเดียวกับหมึกและมอลลัสคาชนิดอื่น ๆ มีมูลค่าในการตลาดสูงมาก โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย มีอัตราการส่งออกสูงถึง 500,000 ตัน ในแต่ละปี[6]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 จาก itis.gov
  2. ^ Floyd, Mark (June 13, 2008). "Scientists See Squid Attack Squid". LiveScience. http://www.livescience.com/animals/080613-bts-squid.html. เรียกข้อมูลเมื่อ October 25, 2011. 
  3. ^ "Humboldt squid Found in Pebble Beach (2003)". Sanctuary Integrated Monitoring Network. http://www.sanctuarysimon.org/monterey/sections/other/sporadic_squid.php. เรียกข้อมูลเมื่อ 2011-10-25. 
  4. ^ Zeidberg, L. & B.H. Robinson 2007. Invasive range expansion by the Humboldt squid, Dosidicus gigas, in the eastern North Pacific. PNAS 104(31): 12948–12950.
  5. ^ Blumenthal, Les (April 27, 2008). "Aggressive eating machines spotted on our coast (2008)". The News Tribune. http://www.thenewstribune.com/news/environment/story/345666.html. เรียกข้อมูลเมื่อ 2011-10-25. 
  6. ^ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Squid, "Rouge Nature With Dave Salmoni" โดย อนิมอลพลาเน็ต สารคดีทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 25 ธันวาคม 2555
  7. ^ ปลาหมึกยักษ์ฮัมโบลด์
Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่น ๆ เกี่ยวกับ:
หมึกฮัมโบลด์

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น