ภาษาถิ่นพิเทน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาษาถิ่นพิเทน เป็นภาษาไทยถิ่นย่อยถิ่นหนึ่ง ที่ใช้จำเพาะอยู่ในชาวไทยมุสลิมในตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี มีลักษณะพิเศษคือเป็นภาษาไทยภาคกลางปนถิ่นใต้ มีการใช้คำราชาศัพท์ร่วมด้วย และยืมคำมลายูเสียมาก ปัจจุบันภาษาถิ่นพิเทนกำลังสูญไปและแทนที่ด้วยภาษามลายูปัตตานี

ประวัติ[แก้ไขต้นฉบับ]

ผู้ใช้ภาษาถิ่นพิเทนเชื่อว่าตนมีบรรพบุรุษอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา[1][2][3] ตามมุขปาฐะนั้นว่าบรรพบุรุษได้เดินทางลงมาทางใต้เพื่อตามหาช้างสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งผู้นำในการติดตามช้างสำคัญนั่นคือพี่เณร (หรือโต๊ะหยัง) แต่การติดตามช้างสำคัญนั้นไม่สำเร็จ ด้วยเกรงกลัวพระราชอาญาจึงหลบลี้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่า อันเป็นที่มาของชื่อตำบลพิเทนซึ่งเพี้ยนมาจากชื่อของพี่เณรนั้นเอง[1][3][4] ลูกหลานที่สืบสันดานลงมาก็แต่งงานกับคนท้องถิ่นและเข้ารับอิสลาม[2][5] ส่วนสุสานพี่เณรตั้งอยู่ที่บ้านควน หมู่ 2 ตำบลพิเทนในปัจจุบัน[6] ในอดีตชาวพิเทนจะมีกิจกรรมรำลึกถึงพี่เณรที่สุสาน โดยจะมีงานจอระทาให้ชาวพิเทนจุดเทียนเป็นกะทา (รูปโดม) แห่จากบ้านไปยังสุสานพี่เณรในยามกลางคืนเพื่อทำบุญให้ รวมทั้งมีการเข้าทรงและการละเล่นต่าง ๆ เช่น สิละหรือมโนราห์ และมีการตัดกิ่งไผ่ยาวสามเมตรและผูกอาหารคาวหวาน ผู้ชนะในการแข่งสิละจะใช้กริชตัดไม้ไผ่ดังกล่าว เด็ก ๆ ที่ล้อมวงชมก็จะเข้าไปแย่งอาหารกันอย่างสนุกสนาน แต่ปัจจุบันมิได้จัดพิธีดังกล่าวแล้ว[1][3]

ภาษาถิ่นพิเทนเป็นภาษาถิ่นที่ใช้เฉพาะกลุ่มชาวไทยมุสลิม[7] ในตำบลพิเทนเท่านั้น[6][8] ผู้ใช้ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันนี้ภาษาถิ่นดังกล่าวใกล้สูญหายและไม่เป็นที่นิยมใช้ เพราะชนนิยมใช้ภาษามลายูปัตตานีมากกว่า[1]

ลักษณะ[แก้ไขต้นฉบับ]

ภาษาถิ่นพิเทนนั้นจะมีลักษณะพิเศษคือเป็นภาษาไทยภาคกลางปนถิ่นใต้ มีการใช้คำราชาศัพท์[1][2][3] แต่เรียงคำต่างจากภาษาไทยภาคกลางและใต้[9] และยืมคำมลายูมากถึงร้อยละ 97[10] ดังนั้นผู้ที่จะพูดภาษานี้ได้ต้องเข้าใจทั้งภาษาไทยและมลายูปัตตานี[3] ภาษาถิ่นพิเทนมีหน่วยเสียงพยัญชนะต้น 22 หน่วยเสียง หน่วยพยัญชนะควบกล้ำ 14 หน่วยเสียง มีเสียงพยัญชนะท้าย 9 หน่วยเสียง หน่วยเสียงสระเดี่ยว 18 หน่วยเสียง หน่วยเสียงสระประสม 3 หน่วยเสียง และมีการแตกตัวสามทาง มีระบบเสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างไปจากภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาถิ่นตากใบ และภาษาถิ่นสะกอม[5]

ภาษาถิ่นพิเทนมีลักษณะคือ โครงสร้างของคำพยางค์เดียว สองพยางค์ คำซ้ำ คำซ้อนจะเหมือนภาษาไทยมาตรฐาน แต่ต่างกันคือการลำดับคำไม่ตรงกัน นอกจากนี้ยังมีการโดยนำคำมลายูและคำไทยมารวมกันเพื่อสร้างคำใหม่[9] เช่น กือสาร แปลว่า "ข้าวสาร" และ ปลากือริง แปลว่า "ปลาแห้ง"[6] นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำคำมลายูปัตตานีมาเป็นจำนวนมาก ภาษาถิ่นพิเทนจึงรับอิทธิพลด้านเสียงและคำจากภาษามลายูปัตตานี[9]

ตัวอย่าง[แก้ไขต้นฉบับ]

พิเทน ตากใบ ไทยถิ่นใต้ คำแปล
จอน กือหรอก, แอหรอก หรอก กระรอก
ยาม ชมโผ่, ชุมโผ่, หยื่อมู่ ชมโพ่, หย้ามู้ ฝรั่ง
แตกัด ฮิง หิ้ง หิ้ง
บือจีน โหลกฆฮื่อจี๋น, โหลกบื่อจี๋น ดีปลี, ลูกเผ็ด พริก
มิ้ง กวยเตียว ก๋วยเตี๋ยว
เมียแก่ เมียหลวง เมียหลวง เมียหลวง
เมียหนุ่ม เมียน่อย เมียน้อย เมียน้อย
ป๊ะ ผ่อ, บิดด๋า ผ่อ พ่อ
มะ แหม่ แหม่ แม่
ป๊ะแก่ ลูง, ผ่อลูง ลุง ลุง
มะแก่ ปา, แหม่ปา ป้า ป้า
โต๊ะ แหม่แก๋ แหม่แก ย่า
โต๊ะญิญ แหม่แก๋ แหม่ถ่าว ยาย
อูลัน ผัก พัก ผัก
แถลง แหลง แหลง พูด
สนับเพลา แหน็บเพลา, แหน็ดเพลา หนับเพลา, กางเก๋ง กางเกง

อ้างอิง[แก้ไขต้นฉบับ]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "ประวัติความเป็นมา". องค์การบริหารส่วนตำบลพิเทน. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2018-03-24. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. Check date values in: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 ประพนธ์ เรืองณรงค์. บุหงาปัตตานี คติชนมุสลิมชายแดนภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2554, หน้า 203-207
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 บาราย (7 มิถุนายน 2552). "ตำนานบ้านพิเทน". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  4. "ข้อมูลตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง ปัตตานี". ไทยตำบลดอตคอม. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2017-05-19. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. Check date values in: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2559). ภาษา : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์. p. 55. Check date values in: |year= (help)[ลิงก์เสีย]
  6. 6.0 6.1 6.2 "ประวัติความเป็นมา". สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี. 4 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2561. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  7. "โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้: ย้อนอดีตบ้านโต๊ะชูด ย้อนรอยโมเดลทุ่งยางแดง". ประชาไท. 1 เมษายน 2558. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  8. "ข้อมูลทั่วไปตำบลพิเทน". โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพิเทน. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2561. Check date values in: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 เจริญ สุวรรณรัตน์. "การศึกษาคำและความหมายในภาษาไทยถิ่นใต้ตำบลพิเทน กิ่งอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี". ฐานข้อมูลวิจัยชายแดนใต้. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. Check date values in: |accessdate= (help)
  10. สุภา วัชรสุขุม. "คำยืมภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานีในภาษาไทยถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้". ฐานข้อมูลวิจัยชายแดนใต้. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. Check date values in: |accessdate= (help)