สงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามอังกฤษ–พม่า ครั้งที่ 1
ส่วนหนึ่งของ สงครามอังกฤษ–พม่า

ภาพวาดกองทัพจักรวรรดิบริเตนโจมตีกองทัพพม่า ในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1824
วันที่5 มีนาคม ค.ศ. 1824 – 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1826
สถานที่
ผล อังกฤษได้รับชัยชนะ, พม่าต้องทำสนธิสัญญารานตะโบและสูญเสียหลายดินแดนให้อังกฤษ
คู่สงคราม

สหราชอาณาจักร จักรวรรดิอังกฤษ

ราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
ราชวงศ์โก้นบอง
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
เซอร์อาร์ซิบาล์ด แคมป์เบลล์
โจเซฟ วานตัน มอร์ริสัน
เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี)
พระยาสุรเสนา (คุ้ม)
พระยาชุมพร (ซุ่ย ซุ่ยยัง)
มหาพันธุละ
มหาเนเมียว
กำลัง
• 50,000 นาย • 40,000 นาย
ความสูญเสีย
• 15,000 นาย • มากกว่า 10,000 นาย

สงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: First Anglo-Burmese War) เป็นสงครามระหว่างจักรวรรดิบริเตนกับราชวงศ์โก้นบองของพม่า เป็นระยะเวลา 2 ปี ในระหว่าง ค.ศ. 1824–1826 ถือเป็นสงครามครั้งแรกของสงครามอังกฤษ–พม่า ซึ่งเกิดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง รวมทั้งครั้งนี้

สงครามครั้งนี้เกิดจาก พม่าได้ครอบครองแคว้นอัสสัมของอินเดียได้สำเร็จ ในรัชสมัยพระเจ้าจักกายแมง ก็ต้องเผชิญหน้ากับจักรวรรดิบริเตนที่กำลังอยู่ในระหว่างล่าอาณานิคมอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งในช่วงเวลานั้นอังกฤษก็กำลังคุกคามอินเดียอยู่

ในระยะแรก กองทัพอังกฤษยังไม่จัดเจนในการสงครามครั้งนี้ เนื่องจากไม่คุ้นกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ และยุทธวิธีการรบ แต่ทว่า ผลของการสู้รบมาถึงจุดพลิกผันที่ให้ถึงที่สิ้นสุดเอาเมื่อถึงวันที่ 1 ธันวาคม – 14 ธันวาคม ค.ศ. 1824 ซึ่งเป็นสมรภูมิในปริมณฑลย่างกุ้ง มหาพันธุละ แม่ทัพใหญ่ของฝ่ายพม่า ซึ่งนำกองกำลังประมาณ 60,000 นาย จากกรุงรัตนปุระอังวะ ซึ่งเป็นเมืองหลวง ปะทะกับกองทัพอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วย ทหารสัญชาติอังกฤษไม่เกิน 1,300 นาย และทหารแขก (ซีปอย) 2,500 นาย ในเวลาเพียง 15 วัน กองทัพพม่าสูญเสียเป็นอย่างยิ่ง จนมหาพันธุละเหลือกำลังทหารเพียง 7,000 นายเท่านั้น ต้องถอยร่นไปตั้งรับที่เมืองดนูพยู หรือทุนพยู จนลำน้ำปันฮะลาย ซึ่งเป็นลำน้ำสำคัญที่ตัดออกสู่แม่น้ำอิระวดี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ มหาพันธุละใช้ยุทธวิธีการรบแบบสมัยโบราณ ที่เคยกระทำใช้ได้ผลสำเร็จมาแล้วในการรบแต่ละครั้งในประวัติศาสตร์ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ คือ การตั้งค่ายและป้อมปืนขึ้นริมน้ำทั้งสองฟากเพื่อดักยิงเรือของข้าศึกที่ผ่านมา แต่ด้วยเทคโนโลยีทางอาวุธที่ทันสมัยกว่าและระเบียบวิธีการรบของกองทัพอังกฤษ มหาพันธุละเป็นฝ่ายแพ้อย่างยับเยิน และหลังจากนั้นในวันที่ 1 เมษายน ปีถัดมา มหาพันธุละก็เสียชีวิตลงด้วยสะเก็ดปืนใหญ่ระเบิดที่เมืองดนูพยูนั่นเอง เมื่อถูกฝ่ายอังกฤษใช้ปืนใหญ่ที่ทันสมัยกว่ารวมทั้งปืนครก ขึ้นตั้งเป็นหอรบระดมยิงกระหน่ำค่ายของพม่า [1]

สงครามสิ้นสุดลงที่การทำสนธิสัญญารานตะโบ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1826 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญ คือ อังกฤษจะผนวกเอาอะระกันและตะนาวศรี ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญด้านทะเลอันดามันไปเป็นสิทธิ์ขาดอย่างที่จะเรียกเอาคืนไม่ได้ พร้อมทั้งพม่าต้องสัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของดินแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คือ แคว้นอัสสัม, กะจาร์, ซินเตีย และมณีปุระ ซึ่งภายหลัง อังกฤษผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของบริติชราช ซึ่งปกครองโดย ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษที่กัลกัตตา นอกจากนี้แล้ว พม่ายังต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้อังกฤษเป็นจำนวนเงิน 2,000,000 ปอนด์สเตอร์ลิง และต้องยอมให้อังกฤษตั้งสถานกงสุลขึ้นในกรุงรัตนปุระอังวะ ซึ่งมี จอห์น ครอว์เฟิร์ด เป็นกงสุลคนแรก

ซึ่งสงครามครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออาณาจักรโก้นบอง ที่ถือได้ว่ามีอำนาจสูงสุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ขณะนั้น ซึ่งนับจากนี้ต่อไป พม่าไม่อาจจะแสดงอิทธิพลหรือแผ่แสนยานุภาพใด ๆ อีกต่อไป และนำไปสู่การสิ้นสุดลงของราชวงศ์โก้นบอง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายในประวัติศาสตร์พม่า และถือเป็นสิ้นสุดของระบอบราชาธิปไตยของพม่าในปี ค.ศ. 1885 หลังสิ้นสุดสงครามอังกฤษ-พม่า ครั้งที่ 3 [2][3][4]

สิ่งที่ส่งผลตามมา[แก้]

  • นอกจากนี้แล้ว สงครามครั้งนี้ ยังได้ส่งอิทธิพลถึงระบอบจารีตการปกครองของชนชั้นปกครองต่าง ๆ ในภูมิภาคแถบนี้ เช่น กรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากนับได้ว่าเป็นการล่าอาณานิคมครั้งแรกของชาติตะวันตกในภูมิภาคแถบนี้อย่างชัดเจนที่สุด เพราะได้มีความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า พม่าสู้อังกฤษไม่ได้เลย ต้องยอมทำสัญญาและไถ่เมืองคืนคิดเป็นเงินตราได้แสนชั่ง และเสียเมืองต่าง ๆ ให้แก่อังกฤษ ซึ่งครั้งนั้น เงินในท้องพระคลังหลวงของพม่ามีไม่พอใช้ ต้องเรี่ยไรจากราษฎรใช้หนี้อยู่นานถึง 30 ปี ซึ่งนำไปสู่การผ่อนปรนท่าทีจากเคยแข็งกร้าวเป็นประนีประนอมต่อชาติตะวันตกในเวลาต่อมา[5][6]
  • ยุทธวิธีการรบของอังกฤษ ที่ใช้ปืนเรือและหอรบริมฝั่งน้ำทั้งยิงจริงและข่มขู่ ถือเป็นต้นแบบให้ชาติตะวันตกชาติอื่นได้ใช้ในเวลาต่อมา อาทิ ฝรั่งเศส ในวิกฤตการณ์ปากน้ำ หรือ วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112[7]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. B.R. Pearn, 'The War of 1824' in A History of Rangoon (Rangoon, 1939), pp. 111-129
  2. D.G.E. Hall, Burma, p. 105: see Article Two of the Treaty of Yandabo, note 128,
  3. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบพม่า (พระนคร: แพร่พิทยา, 2514) หน้า 754-756
  4. Snodgrass, op. cit., pp. 314-319: John Crawfurd, Journal of an Embassy from the Governor-General of India to the Court of Ava in the year 1827 (London, 1829) pp. 35-43: The Treaty of Yandabo (1826)
  5. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาสดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔, พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลองศพ ท่านผู้หญิงวงษานุประพันธ์ (ตาด สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2481) หน้า 25
  6. The Crawfurd Papers (Bangkok, 1915) p. 20; Burney Papers Vol.1, pp. 1-7, 17-18, 28-37
  7. The Burney Papers, Vol.1, pp. 1-6, 23-26, D.G.E. Hall, Burma, pp. 97-105.