เหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (ชื่อที่เรียกกันทั่วไปคือ "กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8") เป็นเหตุการณ์การสวรรคตด้วยพระแสงปืนอย่างมีเงื่อนงำของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ซึ่งก่อให้เกิดผลสะเทือนต่อการเมืองไทยอย่างรุนแรง และนำไปสู่การเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และการหมดบทบาททางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ (รวมทั้งกลุ่มการเมืองสายนายปรีดี) อย่างสมบูรณ์หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 โดยกลุ่ม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทุกวันนี้กรณีดังกล่าวยังคงมีการถกเถียงกันอยู่และได้รับความสนใจในหมู่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ แต่ไม่เป็นประเด็นสาธารณะเพราะกรณีดังกล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง

เนื้อหา

[แก้] ลำดับเหตุการณ์

พระราชกรณียกิจครั้งสุดท้ายของรัชกาลที่ 8 ณ ทุ่งบางเขน 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489

หมายเหตุ: ในที่นี้ได้แทรกคำแปลของคำราชาศัพท์บางคำไว้เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

[แก้] 2 มิถุนายน 2489

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เริ่มมีพระอาการประชวรเกี่ยวกับพระนาภี (มีอาการปวดท้อง)

[แก้] 3 มิถุนายน 2489

[แก้] 5 มิถุนายน 2489

  • พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงทอดพระเนตรการทำนาที่อำเภอบางเขน และกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ทรงหว่านข้าวในแปลงนาหลังตึกขาว ซึ่งปัจจุบันคือตึกพืชพรรณของกรมวิชาการเกษตร

[แก้] 8 มิถุนายน 2489

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระอาการประชวรมากขึ้น เวลาเย็นวันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์
  • นายปรีดี พนมยงค์ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 2)

[แก้] 9 มิถุนายน 2489 (วันเกิดเหตุ)

ประมวลจากหนังสือ กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489[1]

  • เวลาประมาณ 5.00 น. สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงปลุกบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อถวายพระโอสถให้เสวย จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมต่อ
  • เวลาประมาณ 6.20 น. นายบุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเข้าเวรถวายงานที่พระที่นั่งบรมพิมาน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รินน้ำส้มคั้นที่ห้องเสวยเพื่อคอยทูลเกล้าฯ ถวาย
  • เวลาประมาณ 7.00 น. พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรกับนายชิต สิงหเสนี ขึ้นมาที่พระที่นั่งบรมพิมานเพื่อวัดขนาดพระตรา จากนั้นทั้งสองออกจากพระที่นั่งเพื่อไปติดต่อช่างทำหีบพระตราที่ร้านงามพันธ์
  • เวลาประมาณ 8.00 น. นายบุศย์เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตื่นพระบรรทมจึงนำน้ำส้มคั้นไปถวาย แต่พระองค์โบกพระหัตถ์ไม่เสวย แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นบรรทมตามเดิม นายบุศย์จึงกลับมาประจำหน้าที่ ที่หน้าห้องพระบรรทมตามเดิม
  • เวลาประมาณ 8 นาฬิกาเศษ สมเด็จพระอนุชาธิราช ตื่นพระบรรทม จากนั้น เวลาประมาณ 8.30 น. เสด็จไปเสวยพระกระยาหารเช้าที่หน้ามุขชั้นบนของพระที่นั่งบรมพิมานแต่เพียงพระองค์เดียว
  • เวลาเกือบ 9 นาฬิกา นายชิตได้ขึ้นมาที่ชั้นบนของพระที่นั่งบรมพิมาน และนั่งอยู่หน้าห้องพระบรรทมด้วยกันกับนายบุศย์ เพื่อรอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตื่นจากบรรทมเสียก่อน เพื่อขอพระบรมราชานุญาตเข้าไปเอาพระตราไปทำหีบ เนื่องจากทางร้านงามพันธ์ต้องการดูขนาดของพระตราองค์จริง
  • เวลา 9.05 น. สมเด็จพระอนุชาธิราชเสวยเสร็จแล้ว เสด็จมาที่หน้าห้องแต่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถามพระอาการของพระเจ้าอยู่หัวกับนายชิตและนายบุศย์ จากนั้นพระองค์ก็เสด็จไปที่ห้องเครื่องเล่น ซึ่งอยู่ติดกับห้องบรรทมของพระองค์ ในเวลาเดียวกันนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีประทับอยู่ที่ห้องบรรทมของพระองค์กับนางสาวจรูญ ตะละภัฏ ข้าหลวงในพระองค์ ส่วนพระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุล กำลังเข้าไปเก็บพระที่ (ที่นอน) ในห้องบรรทมของสมเด็จพระอนุชาธิราช
เส้นทางเคลื่อนไหวของบุคคลต่างๆ ในพระที่นั่งบรมพิมานชั้นบน ภายหลังเสียงปืนดังขึ้น เมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9.30 น. (ภาพจากหนังสือกรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489)
  • เวลาประมาณ 9.30 น. มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ภายในห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นายชิตสะดุ้งอยู่มองหน้านายบุศย์และคิดหาที่มาของเสียงปืนอยู่ประมาณ 2 นาที จึงเข้าไปในห้องพระบรรทม พบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมหลับอยู่เป็นปกติ แต่ปรากฏว่ามีพระโลหิต (เลือด) ไหลเปื้อนพระศอ (คอ) และพระอังสะ (ไหล่) ด้านซ้าย นายชิตจึงวิ่งไปที่ห้องบรรทมของสมเด็จพระบรมราชชนนีแล้วกราบทูลว่า “ในหลวงถูกยิง” สมเด็จพระบรมราชชนนีตกพระทัย ทรงร้องขึ้นได้เพียงคำเดียวและรีบวิ่งไปที่ห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทันที นายชิต, พระพี่เลี้ยงเนื่อง, สมเด็จพระอนุชาธิราช, และนางสาวจรูญได้วิ่งตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีไปติด ๆ (ดูแผนผังพระที่นั่งบรมพิมานประกอบ)
  • เมื่อไปถึงที่ห้องพระบรรทมนั้น ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตเสียแล้ว ในลักษณะของคนที่นอนหลับธรรมดา มีผ้าคลุมพระองค์ตั้งแต่ข้อพระบาทมาจนถึงพระอุระ ที่พระบรมศพมีบาดแผลกลางพระนลาฎ (หน้าผาก) บริเวณระหว่างพระขนง (คิ้ว) ข้างพระศพบริเวณข้อพระกรซ้ายมีปืนพก US Army ขนาดกระสุน 11 มม.วางอยู่ในลักษณะชิดข้อศอก ด้ามปืนหันออกจากตัว ปากกระบอกปืนชี้ไปที่ปลายพระแท่นบรรทม สมเด็จพระบรมราชชนนีได้โถมพระองค์เข้ากอดพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จนสมเด็จพระอนุชาธิราชต้องพยุงสมเด็จพระบรมราชชนนีไปประทับที่พระเก้าอี้ปลายแท่นพระบรรทม
พระแท่นบรรทม (ถ่ายจากเบื้องพระบาท) (ภาพจากหนังสือ : คดีประวัติศาสตร์ ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ โดย บุญร่วม เทียมจันทร์)
  • จากนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีจึงมีรับสั่งให้ตาม พ.ต.นายแพทย์หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ แพทย์ประจำพระองค์มาตรวจพระอาการของในหลวง ส่วนพระพี่เลี้ยงเนื่องได้จับพระชีพจรของในหลวงที่ข้อพระหัตถ์ซ้าย พบว่าพระชีพจรเต้นอยู่เล็กน้อยแล้วหยุด พระวรกายยังอุ่นอยู่ จึงเอาผ้าคลุมพระองค์มาซับบริเวณปากแผล และปืนกระบอกที่คาดว่าเป็นเหตุทำให้ในหลวงสวรรคตไปให้นายบุศย์เก็บพระแสงปืนไว้ที่ลิ้นชักพระภูษา เหตุการณ์ช่วงเองนี้ได้ก่อปัญหาในการพิสูจน์หลักฐานในเวลาต่อมาเมื่อมีการจัดตั้ง “ศาลกลางเมือง” เพื่อสอบสวนเกี่ยวกับกรณีสวรรคต
  • เวลาประมาณ 10.00 น. หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ได้มาถึงสถานที่เกิดเหตุและตรวจพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พบว่าสวรรคตแน่นอนแล้วจึงกราบทูลให้สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงทราบ สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงรับสั่งให้ทำความสะอาดและตกแต่งพระบรมศพ เพื่อเตรียมการถวายน้ำสรงพระบรมศพในช่วงเย็น
  • ในช่วงเวลาเดียวกัน พระยาเทวาธิราช (ม.ร.ว.เทวาธิราช ป. มาลากุล) สมุหพระราชพิธีได้เดินทางไปที่ทำเนียบท่าช้าง ที่พักของนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งข่าวการสวรรคต (ขณะนั้นนายปรีดีประชุมอยู่กับหลวงเชวงศักดิ์สงคราม (รมว.มหาดไทย) พล.ต.อ.พระรามอินทรา (อธิบดีกรมตำรวจ) และหลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท (ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล) ในเรื่องกรรมกรที่มักกะสันหยุดงานประท้วง)
  • ประมาณ 11.00 น. นายปรีดีมาถึงพระที่นั่งบรมพิมาน และสั่งให้พระยาชาติเดชอุดมอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และเชิญคณะรัฐมนตรี มาประชุมเกี่ยวกับเรื่องการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประชุมสรุปว่าให้ออกแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนทราบว่า การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นอุบัติเหตุ แถลงการณ์ของกรมตำรวจที่ออกมาในวันนั้นก็มีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน
  • เวลา 21.00 น. รัฐบาลเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการด่วน เพื่อแจ้งให้สภาทราบเรื่องการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และสรรหาผู้สืบราชสมบัติ ที่ประชุมได้ลงมติถวายราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นสืบราชสมบัติ เป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ต่อไป จากนั้นนายปรีดีได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบในกรณีสวรรคต

[แก้] 10 มิถุนายน 2489

  • เจ้าหน้าที่และแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เดินทางมาทำการฉีดยารักษาสภาพพระบรมศพ ระหว่างการทำความสะอาดพระบรมศพเพื่อเตรียมการฉีดยานั้น คณะแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้พบบาดแผลที่พระปฤษฎางค์ (ท้ายทอย) ซึ่งเป็นบาดแผลที่ทะลุจากรูกระสุนปืนที่พระพักตร์บริเวณพระนลาฏ (หน้าผาก) ตรงระหว่างพระขนง (คิ้ว) ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่จริงแล้วในหลวงถูกลอบปลงพระชนม์ เนื่องจากบาดแผลที่พบใหม่ไม่ตรงกับคำแถลงการณ์ที่ออกมาในตอนแรก ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่ารัฐบาลมีส่วนในการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมตำรวจจึงออกแถลงการณ์เพิ่มเติมว่าได้ตั้งประเด็นการสวรรคตไว้ 3 ประเด็น คือ
  1. มีผู้ลอบปลงพระชนม์
  2. ทรงพระราชอัตวินิบาตกรรม (ปลงพระชนม์เอง)
  3. เป็นอุบัติเหตุ

[แก้] 11 มิถุนายน 2489

  • กรมตำรวจยังคงแถลงการณ์ยืนยันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตด้วยอุบัติเหตุ แต่ประชาชนยังคงมีความคลางแคลงใจต่อรัฐบาลอยู่เช่นเดิม ในวันนี้ทางกรมตำรวจได้นำปืนของกลางที่พบในวันสวรรคตไปให้กรมวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ
  • นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง

[แก้] การดำเนินคดี

[แก้] การตั้งคณะกรรมการการสอบสวน

[แก้] การชันสูตรพระบรมศพ

[แก้] รัฐประหาร พ.ศ. 2490

ดูบทความหลักที่ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490

[แก้] การดำเนินคดีในชั้นศาล

[แก้] ผลกระทบ

  • สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สืบราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
  • นายปรีดี พนมยงค์ได้รับผลกระทบจากคดีนี้มากที่สุด เพราะถูกคนกล่าวหาว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" เนื่องจากชี้แจงสาเหตุการสวรรคตแก่ประชาชนได้ไม่ชัดเจนและคลี่คลายคดีนี้ไม่สำเร็จ และกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นายปรีดีไม่เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกเลยจนสิ้นชีวิต หลังจากการลี้ภัยทางการเมืองเพราะเหตุการณ์กบฏวังหลวง พ.ศ. 2492 อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ได้ให้ลูกชาย (ปาล พนมยงค์) และคนรู้จักที่อยู่เมืองไทยคอยช่วยต่อสู้คดีหมิ่นประมาทจากกรณีสวรรคตอยู่ตลอด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่า ตนเองไม่ได้มีส่วนก่อคดีกรณีสวรรคตนี้แต่อย่างใด ซึ่งผลปรากฏว่าชนะทุกคดี
  • คดีนี้ได้กลายเป็นข้ออ้างสำคัญประการหนึ่งในการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เนื่องจากรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (รับช่วงต่อจากนายปรีดี) ไม่สามารถสะสางกรณีสวรรคตได้ อนึ่ง กรณีสวรรคตยังส่งผลให้กลุ่มการเมืองฝ่ายนายปรีดีต้องพลอยหมดบทบาทจากเวทีการเมืองไทยภายหลังการรัฐประหารครั้งนี้ด้วย

[แก้] ทฤษฎีและความเชื่อ

[แก้] ทฤษฎีเกี่ยวกับการสวรรคต

ปัจจุบันเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับรัชกาลที่ 8 มักจะเขียนสาเหตุของการสวรรคตไว้แต่เพียงสั้น ๆ ทำนองว่า "เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง" หลายฉบับอาจระบุสาเหตุเพิ่มเติมด้วย ทำนองว่า "เป็นเพราะพระแสงปืนลั่นระหว่างทรงทำความสะอาดพระแสงปืน" เข้าใจว่าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการโต้เถียงกรณีสวรรคต

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรณีสวรรคตนี้แม้ถึงที่สุดโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่กระจ่างชัดเจน จึงทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ซึ่งพยายามจะอธิบายกรณีที่เกิดขึ้น โดยประเด็นหลักก็คือกรณีสวรรคตนี้ เป็นการปลงพระชนม์โดยบุคคลอื่น หรือ รัชกาลที่ 8 ทรงกระทำการอัตวินิบาตกรรมปลงพระชนม์ตัวพระองค์เอง

สำหรับทฤษฎีที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ ก็จะต้องอธิบายประเด็นสำคัญให้ได้คือ ใครอยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคต? และประเด็นที่เกี่ยวข้องคือ จำเลยที่ถูกศาลฎีกาตัดสินว่ากระทำความผิดนั้น แท้จริงเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่?

  • ประเด็น "ใครอยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคต" นั้น สถานการณ์ในขณะนั้นพุ่งเป้าไปที่ นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ซึ่งประเด็นนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากนายปรีดีในขณะนั้นมีศัตรูทางการเมืองอยู่จำนวนมากที่ต้องการจะกำจัดเขาออกไป เช่น กลุ่มทหารที่สูญเสียอำนาจหลังร่วมกับญี่ปุ่นนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น สำหรับทฤษฎีอื่น ๆ ก็มีที่ วิลเลี่ยม สตีเฟนสัน ได้เสนอไว้ในหนังสือ The Revolutionary King: The True–Life Sequel to The King and I (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2543) ของเขาว่า สายลับญี่ปุ่น ชื่อ ซึจิ มาซาโนบุ (Tsuji Masanobu) น่าจะเกี่ยวข้องกับการลอบปลงพระชนม์
  • ประเด็น "จำเลยทั้งสามเป็นผู้บริสุทธิ์จริงหรือไม่" ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในขณะที่การสืบสวนโดยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กำลังคืบหน้านั้น พรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับคณะทหารได้ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 และเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้แต่งตั้ง พล.ต.ต. พระพินิจชนคดี (พี่เขยของ ม.ร.ว. เสนีย์ และ คึกฤทธิ์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์) ซึ่งออกจากราชการไปแล้ว ให้กลับเข้ารับราชการ เพื่อทำหน้าที่สืบสวนกรณีสวรรคตเสียใหม่ อันนำไปสู่การจับกุมจำเลยทั้งสามในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เพียง 12 วันหลังรัฐประหาร และหลังจากการจับกุมนั้น พระพินิจชนคดีก็ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานได้ทันในระยะเวลาสอบสวนตามที่กฎหมายกำหนดคือ 90 วัน รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีจึงได้เสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 23 มกราคม พ.ศ. 2491 ขยายกำหนดเวลาขังผู้ต้องหาในกรณีสวรรคตได้เป็นพิเศษ ให้ศาลอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาได้หลายครั้ง รวมเวลาไม่เกิน 180 วัน[2] ก่อนการประหารชีวิต นายเฉลียว ปทุมรส 1 ใน 3 จำเลยของคดีดังกล่าว ได้ขอพบ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และเล่ากันว่านายเฉลียวได้บอกชื่อฆาตกรตัวจริงให้ พล.ต.อ.เผ่า ทราบ

สำหรับทฤษฎีที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่ารัชกาลที่ 8 ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมปลงพระชนม์ตัวพระองค์เอง ก็มุ่งอธิบายประเด็นความขัดแย้งในราชสำนัก และเหตุผลที่ทำให้ในที่สุดรัชกาลที่ 8 ทรงตัดสินใจเช่นนั้น เอกสารสำคัญที่เสนอทฤษฎีนี้ก็คือหนังสือ The Devil’s Discus: An Enquiry Into the Death of Ananda, King of Siam โดย เรนย์ ครูเกอร์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2507 หนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อ กงจักรปีศาจ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) เคยเขียนวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ลงใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ว่าหนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลที่ผิดพลาด รวมถึงวิจารณ์ตัวนายปรีดีและผู้เขียนหนังสือไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากสุลักษณ์เชื่อว่าปรีดีมีส่วนเกี่ยวของกับการปลงพระชนม์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปในภายหลัง สุลักษณ์ได้เขียนเล่าในปาจารยสาร ฉบับกันยายน-ตุลาคม พ.ศ. 2550 ว่าการเขียนวิจารณ์ในครั้งนั้นเป็นเพราะเขาหลงเชื่อในคำโฆษณาชวนเชื่อ และต่อมาเขาจึงไถ่บาปด้วยการเขียนหนังสือเกี่ยวกับปรีดี และต่อมามีการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Powers That Be: Pridi Banomyong through the Rise and Fall of Thai Democracy[3][4]

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาหาหลักฐานเกี่ยวกับกรณีสวรรคตมากสักเพียงใด มีการเสนอทฤษฎีและคำอธิบายต่อกรณีดังกล่าวมากสักเพียงใด ก็ไม่มีทฤษฎีใดเลยที่ได้รับการยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้ง

และถึงแม้สังคมจะยอมรับกันแล้วว่านายปรีดีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต แต่กรณีคดีของจำเลยทั้งสามที่ถูกประหารชีวิตไปก็ไม่เคยถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่เลย ทั้งในกระบวนการยุติธรรมหรือการศึกษาหาความจริงใหม่ ทั้งที่ข้อกล่าวหาของจำเลยทั้งสามและปรีดีนั้น มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด (ข้อกล่าวหาคือ "ปรีดีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของจำเลยทั้งสาม")[4] และมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าอย่างน้อยนายเฉลียวหนึ่งในสามจำเลยน่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์[2]

[แก้] ความเชื่อที่เล่าต่อ ๆ กันมาในวันสวรรคต

  • ในตอนเช้าวันสวรรคต ระหว่างการชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาที่หน้ากองทัพอากาศ ดอนเมือง ปรากฏว่า ผืนธงได้ถูกลมพัดร่วงหล่นลงพื้น และที่หน้ากระทรวงกลาโหม ธงก็ชักไปติดแค่ครึ่งเสา ชักต่อไม่ได้ ทั้งสองเหตุการณ์นี้เสมือนลางบอกเหตุร้าย
  • ก่อนเกิดเหตุการณ์สวรรคต บนท้องฟ้าทางด้านทิศตะวันตกบังเกิดริ้วเมฆ 3 ชั้นซ้อนกันเหมือนโกศ และมีแสงสีรุ้งเป็นประกายส่องอยู่ข้างซ้ายของโกศ แนวของรุ้งนั้นใหญ่กว่าธรรมดา ดูแล้วเหมือนธงชาติพาดอยู่บนฟ้า ด้านขวาของเมฆรูปโกศมีแสงสีเหลืองเหมือนสายสะพายมหาจักรีบรมราชวงศ์

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ สรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย. กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489. หน้า 7–20.
  2. ^ 2.0 2.1 สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับท่านปรีดีฯ และกรณีสวรรคต, นิตยสารสารคดี, เมษายน พ.ศ. 2543
  3. ^ ปาจารยสาร, 32: 1 (กันยายน-ตุลาคม 2550), หน้า 80-82
  4. ^ 4.0 4.1 กานต์ ยืนยง, บทความ: เมื่อเราถูกสาป ให้จดจำประวัติศาสตร์อย่างกระพร่องกระแพร่ง, ประชาไท, 1 มีนาคม 2551

หนังสือ"คดีลอบปลงพระชนม์ ร.8"

[แก้] เอกสารอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีสวรรคต

[แก้] บทความภาษาไทย

  • รายละเอียดและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนพฤตติการณ์ในการที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต. ดุลพาห, 28 (1 ม.ค.–ก.พ. 2534): 68-134.
  • ชาลาดิน ชามชาวัลลา (นามแฝง). ว่าด้วยแอกอันหนึ่งในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย. ปาจารยสาร, 28 (3 มี.ค.–มิ.ย. 2545): 29-38.
  • พุทธพล มงคลสุวรรณ. กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489: ความทรงจำและการเมืองของความทรงจำ = The mysterious death of King Rama VIII on june 9, 1943: Memories and the politics of memories. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, 23 (3 2546): 201-237.
  • ปรามินทร์ เครือทอง. หลักฐานประวัติศาสตร์ที่เหลืออยู่กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8. ศิลปวัฒนธรรม. 24 (7 พ.ค. 2546): 114-121.
  • ส. ศิวรักษ์ (นามแฝง). คำวิจารณ์หนังสือ "พระราชาผู้อภิวัฒน์" (The Revolutionary King: The True Life Sequel of the King and I). ปาจารยสาร, 26 (2 พ.ย.2542.–ก.พ..2543).

[แก้] หนังสือภาษาไทย

  • ไข่มุกด์ ชูโต, คุณ. พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลของปวงชน. พิมพ์ครั้งที่ 2. (ม.ป.ท.): โรงพิมพ์หยีเฮง, (ม.ป.ป.).
  • คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 145/2541. สารคดี ฉบับพิเศษ คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: วิริยะธุรกิจ, 2543.
  • คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8 โดย คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 5810/2522 (วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2522). กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2523.
  • คำพิพากษาศาลอาญา คดีประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, 2517.
  • คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา คดีประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, 2517.
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475-2500 = Political History of Thailand. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 2544.
  • ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์. ในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์. กรุงเทพ: พีจี. 2517.
  • พุฒ บูรณสมภพ, พ.ต.อ. ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย. กรุงเทพฯ: ศูนย์รวมข่าวเอกลักษณ์, (ม.ป.ป.).
  • มรกต เจวจินดา. ภาพลักษณ์ ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2526 = The Images of Pridi Banomyong and Thai Politics, 1932-1983. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.
  • ส. ศิวรักษ์ (นามปากกา). เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2543.
  • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลา, 2544.
  • สรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย. กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: แหล่งพิมพ์เรือใบ, 2517.
  • สุด แสงวิเชียร. เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต. กรุงเทพฯ: บี พี พี เอส, 2529.
  • สุพจน์ ด่านตระกูล. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์). พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี: สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), 2544.
  • อนันต์ อมรรตัย. แผนการปลงพระชนม์ ร.8 ของนายปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : จิรวรรณนุสรณ์, 2526

[แก้] หนังสือภาษาอังกฤษ

  • Kruger, Rayne. The Devil’s Discus: An Enquiry Into the Death of Ananda, King of Siam. London: Cassell, 1964.
  • Sivaraksa, Sulak. Powers that Be : Pridi Banomyong through the Rise and Fall of Thai Democracy. Lantern Books, 2000. ISBN 9747449188
  • Stevenson, William. The Revolutionary King: The True–Life Sequel to The King and I. London: Constable, 2000.

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น