ปฏิทิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปฏิทินโบราณของฮินดู
    
ปฏิทิน
ปฏิทินสากล ฮิจญ์เราะหฺ · เกรโกเรียน · ISO · ปีสุริยคติ
ประเภทปฏิทิน
สุริยจันทรคติ · สุริยคติ · จันทรคติ

ปฏิทินอื่นๆ อาร์เมเนีย · บาฮาอี · เบงกาลี · พุทธ · จีน · คอปติก · เอธิโอเปีย · เจอร์เมนิก · ฮีบรู · ฮินดู · อินเดีย · อิหร่าน · ไอริช · ญี่ปุ่น · ชวา · เกาหลี · มายา · เนปาล · ทมิฬ · ไทย (จันทรคติสุริยคติ) · ทิเบต · ตุรกี · เวียดนาม· โยรูบา · โซโรอัสเตอร์ · ฮิจญ์เราะหฺ
ประเภทปฏิทิน
จูเลียนต้นฉบับ · รูน

ปฏิทิน คือระบบที่ใช้ในการเรียกชื่อช่วงระยะเวลา เช่น วัน เป็นต้น วันเป็นที่รู้จักในฐานะ วันปฏิทิน วันจะขึ้นอยู่กับการเคลื่อนที่วัตถุทางดาราศาสตร์ เราสามารถแสดงปฏิทินได้ในหลายรูปแบบ ส่วนมากมักเป็นกระดาษ เช่น แบบฉีก แบบแขวน แบบตั้งโต๊ะเป็นต้น

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

คำว่า ปฏิทิน ในภาษาอังกฤษ คือ "calendar" เป็นคำที่มาจากภาษาละติน ซึ่งนำมาจากคำพูดของชาวกรีกโบราณอีกที ว่า "Kalend" ซึ่งมีความหมายในภาษาอังกฤษว่า "I cry" สาเหตุที่ใช้คำนี้เพราะมีที่มาว่า ในสมัยโบราณจะมีคนคอยร้องบอกชาวเมือง เพื่อบอกกล่าวเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า รวมถึงประกาศวันขึ้นเดือนใหม่ เพื่อให้ลูกหนี้จ่ายเงินที่คั่งค้าง ครั้นต่อมาสังคมเริ่มสลับซับซ้อนมากขึ้น ปฏิทินจึงได้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแทนคนร้องบอกข่าว ปฏิทินจึงนับว่าเป็นสิ่งบอกเวลา และกลายเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตประจำวันไปในที่สุด ต่อมามนุษย์จึงได้ริเริ่มบันทึก วัน เวลา ขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร หรือที่เรียกกันว่า "ปฏิทิน"

[แก้] ปฏิทินยุคโบราณ

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในปัจจุบัน เชื่อกันว่าชนชาติแรกที่คิดค้น ระบบการนับวันแบบปฏิทินนั้นคือ ชาวบาบิโลเนียน พวกเขากำหนดวัน เดือน ปี โดยสังเกตจากระยะต่างๆ ของดวงจันทร์ ซึ่งก็คือการสังเกตข้างขึ้นข้างแรมนั่นเอง โดยเมื่อเกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ 1 รอบก็จะถือเป็น 1 เดือน ปฏิทินแบบนี้เรียกว่าปฏิทินจันทรคติ และพวกเขายังกำหนดให้ 1 ปีนั้นมี 12 เดือนอีกด้วย สาเหตุที่ชาวบาบิโลเนียนกำหนดให้ 1 ปี มี 12 เดือน ก็เพราะว่า เมื่อใดที่เกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ 12 รอบ ฤดูกาลก็จะเวียนกลับมาอีกครั้ง

อาณาจักรข้างเคียงก็ได้ยอมรับเอาปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาใช้ในอาณาจักรตนเอง เช่น ชาวอียิปต์โบราณ ชาวกรีก และชาวเซเมติก เป็นต้น เมื่อพัฒนาการทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น ชนชาติที่นำเอาปฏิทินแบบบาบิโลเนียนไปใช้นั้น ก็ได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาให้มีความเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอียิปต์โบราณ ที่พัฒนาแนวคิดเรื่องปฏิทินได้อย่างรุดหน้ามากที่สุด แต่เดิมชาวโรมันกำหนดให้ 1 ปี มี 355 วัน (ตามระบบจันทรคติ) และทุก ๆ 4 ปี (ปีอธิกวาร) ต้องเพิ่มวันเข้าไปอีก 22 วัน เพื่อให้ตรงกับฤดูกาล หรือการคำนวณแบบสุริยคติ) จนกระทั่ง 46 ปีก่อนคริสต์ศักราช จูเลียส ซีซาร์ แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งได้เข้าครอบครองอียิปต์ ในรัชสมัยของพระนางคลีโอพัตรา ได้นำแนวคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โซซิเจเนส (Sosigenes) มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน ปฏิทินแบบนี้เรียกว่าปฏิทินจูเลียน ซึ่งใช้กันมายาวนานจนถึง ค.ศ. 1582 จึงมีการแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง

[แก้] ปฏิทินยุคปัจจุบัน

เนี่องจากการที่ต้องเพิ่มวันเข้าไปในปฏิทิน 1 วัน ในทุกๆ 4 ปี ทำให้ในสมัยต่อๆ มาเกิดความสับสนในฤดูกาล กล่าวคือปีปฏิทินสั้นกว่าปีฤดูกาล ดังนั้นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ จะมาถึงเร็วกว่าปีปฏิทินมากขึ้นทุกปี เช่นใน ค.ศ. 1582 วสันตวิษุวัต (วันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน) ตามปีปฏิทินเดิมคือวันที่ 21 มีนาคม แต่ปรากฏการณ์นี้กลับเกิดขึ้นจริงในวันที่ 11 มีนาคมแทน เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนจักรจึงเข้ามามีบทบาทในการแก้ไข พระสันตปาปา เกรกอรี่ที่ 13 ได้ออกประกาศให้หักวันออกจากปีปฏิทินเสีย 10 วัน มีผลทำให้ในปี ค.ศ. 1582 นั้นหลังวันที่ 4 ตุลาคม กลายเป็นวันที่ 15 ตุลาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ในปีอธิกวารให้เพิ่มวันเป็นการชั่วคราว 1 วันในปีถัดไปให้หักออก นอกจากนี้ยังกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ และให้เรียกปฏิทินแบบใหม่นี้ว่า ปฏิทินเกรกอเรียน ประกาศนี้มีผลทำให้ยุโรปซึ่งอยู่ใต้การปกครองของศาสนจักร ต้องใช้ปฏิทินแบบเดียวกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน "ปฏิทิน" ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย นักธุรกิจติดต่อนัดหมายกันผ่าน วัน เวลา ในปฏิทิน นอกจากนี้ปฏิทินยังคอยย้ำเตือนถึง วัน เวลาที่สำคัญต่าง ๆ เช่น วันเกิด วันหยุด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปฏิทินที่กำหนดวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งจะต้องอาศัยการประกาศอย่างเป็นทางการ เช่น วันเริ่มถือศีลอดเดือนรอมะฎอน วันจาริกแสวงบุญของอิสลามิกชน (ฮัจญ์) และวันอาชูรออ์ เป็นต้น

[แก้] ชนิดของปฏิทิน

[แก้] ปฏิทินสุริยคติ

  1. ปฏิทินเกรกอเรียน
  2. ปฏิทินสุริยคติไทย
  3. ปฏิทินจูเลียน
  4. ปฏิทินญะลาลีย์(สุริยคติอิหร่าน)
  5. ปฏิทินของสาธารณรัฐฝรั่งเศส
  6. ปฏิทินมายา (อเมริกาใต้)

[แก้] ปฏิทินจันทรคติ

  1. ปฏิทินจันทรคติไทย
  2. ปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ(อิสลาม)
  3. ปฏิทินยิว
  4. ปฏิทินจันทรคติจีน

[แก้] ปฏิทินไทย

ดูบทความหลักที่ ปฏิทินไทย

ในอดีตประเทศไทยใช้ปฏิทินจันทรคติตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยนับปีตามปีมหาศักราชและจุลศักราชตามลำดับ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติ ในปีจุลศักราช 1240 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2431 โดยใช้แบบสากลตามปฏิทินเกรกอเรียน โดยเดือนแรกของปีคือเดือนเมษายน และเดือนสุดท้ายของปีคือมีนาคม และปรับมาใช้รัตนโกสินทรศก และพุทธศักราชตามลำดับจนกระทั่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันเริ่มต้นของปีแทนที่รูปแบบเดิม โดยวันขึ้นปีใหม่ในรูปแบบนี้เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2484

การพิมพ์ปฏิทินมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 (ปลายสมัย รัชกาลที่ 3) ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงฯโปรดให้พิมพ์ปฏิทินภาษาไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปฏิทินที่พิมพ์ในเมืองไทยได้แก่ "ประนินทิน" แจ้งราคาขายไว้เล่มละ 4 บาท การพิมพ์ปฏิทินเล่มยังมีการจัดทำต่อมา ในหลายรูปแบบ ซึ่งมีบอกสถาพของน้ำขึ้น-น้ำลง ดิถีดวงจันทร์ และปฏิทินภาษาจีนร่วมด้วย และมีช่องว่างให้บันทึกเล็กน้อย ในรูปแบบของ ไดอารี่ หรือ "สมุดบันทึกประจำวัน" ก็สามารถอนุโลมให้เป็นปฏิทินได้ โดยไดอารี่ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ไดอารี่ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อตีพิมพ์เผยแพร่มีชื่อเรียกว่า "จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน"

[แก้] อ้างอิง

  • มณฑา สุขบูรณ์. "เวลา … พันธนาการแห่งมนุษย์," THE EARTH 2000 2,22 (2539) หน้า 76 –88.
  • อเนก นาวิกมูล. สิ่งพิมพ์คลาสสิก วิคตอรี่เพาเวอร์พอยท์, กรุงเทพฯ 2533.

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น