ประชาธิปไตย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก ระบอบประชาธิปไตย)

ประชาธิปไตย (อังกฤษ: democracy) คือ ระบอบการปกครองของรัฐ ซึ่งบริหารอำนาจรัฐมาจากเสียงข้างมากของพลเมือง โดยพลเมืองอาจใช้อำนาจของตนโดยตรงหรือผ่านผู้แทนที่ตนเลือกไปใช้อำนาจแทนก็ได้ หรืออาจถือตามคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น ที่ว่า ประชาธิปไตยเป็น การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน นับเป็นรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้น ณ นครรัฐกรีกโบราณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรุงเอเธนส์ภายหลังการก่อจลาจลเมื่อ 508 ปีก่อนคริสตกาล[1]

ในทฤษฎีทางการเมือง คำว่า "ประชาธิปไตย" สามารถหมายถึงทั้งระบอบการปกครองและปรัชญาการเมือง ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยจะยังไม่มีการนิยามที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตาม[2] แต่ก็ได้ปรากฏให้เห็นหลักการสองหลักการที่ให้การนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย" แล้ว คือ ความเสมอภาคและอิสรภาพ[3][4][5] หลักการดังกล่าวถูกสะท้อนให้เห็นผ่านทางความเสมอภาคทางกฎหมายของพลเมืองทุกคน และมีสิทธิเข้าถึงอำนาจโดยเท่าเทียมกัน ส่วนอิสรภาพได้มาจากสิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองเสมอกันโดยรัฐธรรมนูญ[4][5]

ถึงแม้ว่าระบอบประชาธิปไตยจะมีจุดเริ่มต้นจากกรีซโบราณก็ตาม[6][7] ทว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้มีวิวัฒนาการสำคัญ ๆ ในวัฒนธรรมต่างชาติ อาทิ ในอินเดียโบราณ[8] สาธารณรัฐโรมัน[6] ทวีปยุโรป[6] ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้[9] มาจนถึงปัจจุบัน

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมักจะได้รับการพิจารณาโดยคนส่วนใหญ่ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการมอบสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชนได้มากกว่าการปกครองในระบอบอื่น ทำให้ระบอบประชาธิปไตยได้ชื่อว่าเป็น "การปกครองระบอบสุดท้าย" และได้แผ่ขยายไปทั่วโลก[10] พร้อม ๆ กับมโนทัศน์เรื่องการออกเสียงเลือกตั้ง (อังกฤษ: suffrage) อย่างไรก็ดี แม้การดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแม้จะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการอันเกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างเช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน การอพยพเข้าเมือง และการกีดกันกลุ่มประชากรบางชาติพันธุ์ เป็นต้น[11]

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตยสากล[12]

เนื้อหา

[แก้] ศัพท์มูลวิทยา

คำว่า democracy ในภาษาอังกฤษมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า "ดีมอคระเทีย" (กรีก: Loudspeaker.svg δημοκρατία , dēmokratía) ซึ่งหมายถึง "การปกครองโดยประชาชน" (popular government)[13] อันเป็นคำประสมระหว่างคำว่า "ดีมอส" (กรีก: δῆμος, demos) หมายถึง ประชาชน และ "คราทอส" (กรีก: κράτος, kratos) หมายถึง การปกครอง หรือ พละกำลัง

ส่วนในภาษาไทย คำว่า ประชาธิปไตย ประกอบด้วยคำว่า "ประชา" ซึ่งหมายถึง "ปวงชน" และ "อธิปไตย" ซึ่งหมายถึง "ความเป็นใหญ่" เมื่อรวมกันจึงหมายถึง "ความเป็นใหญ่ของปวงชน" ส่วนพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า "แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่"[14]

[แก้] ประวัติศาสตร์

[แก้] ยุคโบราณ

คำว่า ประชาธิปไตย ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในแนวคิดทางการเมืองและทางปรัชญาช่วงยุคกรีซโบราณ นักปราชญ์เพลโต เปรียบเทียบประชาธิปไตย ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "การปกครองโดยผู้ถูกปกครอง" ว่าเป็นรูปแบบทางเลือกสำหรับระบอบราชาธิปไตย คณาธิปไตยและเศรษฐยาธิปไตย[15] ถึงแม้ว่าประชาธิปไตยแบบเอเธนส์จะถือว่าเป็นการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยทางตรง แต่เดิมแล้วประชาธิปไตยแบบเอเธนส์มีลักษณะเด่นอยู่สองประการ คือ ได้มีการคัดเลือกพลเมืองธรรมดาจำนวนมากเข้าสู่ระบบรัฐการและศาล[16] และมีการชุมนุมกันของพลเมืองทุกชนชั้น[17]

พลเมืองทุกคนจะได้รับสิทธิให้อภิปรายและลงมติในสภา ซึ่งเป็นที่ออกกฎหมายของนครรัฐ หากทว่า ความเป็นพลเมืองชาวเอเธนส์นั้นรวมเฉพาะแต่ชายทุกคนซึ่งเกิดจากบิดาที่เป็นพลเมืองเท่านั้น และผู้ที่กำลัง "รับราชการทหาร" ระหว่างอายุ 18-20 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่รวมไปถึงผู้หญิง ทาส คนต่างชาติ (กรีก: μετοίκος, metoikos) และชายผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ จากจำนวนผู้อยู่อาศัยกว่า 250,000 คน มีผู้ได้รับสถานะพลเมืองเพียง 30,000 คน และมีเพียง 5,000 คนเท่านั้นที่มักจะไปปรากฏตัวในสมัชชาประชาชน เจ้าพนักงานและผู้พิพากษาของรัฐบาลจำนวนมากเป็นการกำหนดเลือก มีเพียงเหล่านายพลและเจ้าพนักงานเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้ง[1]

เกาะอาร์วัด (ปัจจุบันคือ ประเทศซีเรีย) ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อคริสต์สหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยชาวฟินิเซียน ถูกอ้างว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของระบอบประชาธิปไตยที่พบในโลก[18] ซึ่งที่นั่น ประชาชนจะถืออำนาจอธิปไตยของตน และอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะมีความเป็นไปได้ คือ ประชาธิปไตยยุคเริ่มแรกอาจมาจากนครรัฐสุเมเรียน[19] ส่วนทางด้านเวสาลี ซึ่งปัจจุบันคือรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นหนึ่งในรัฐบาลแรกของโลกที่มีองค์ประกอบที่สามารถพิจารณาได้ว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นแห่งแรกของโลก (แต่ก็มีบางคนที่ออกมาโต้แย้งว่าการปกครองของเวสาลีนั้นไม่เป็นราชาธิปไตยก็จริง แต่น่าจะมีลักษณะเป็นคณาธิปไตยมากกว่าประชาธิปไตย) และยังปรากฏว่ามีการปกครองที่คล้ายคลึงกับประชาธิปไตยหรือคณาธิปไตยเกิดขึ้นชั่วคราวโดยชาวเมเดส ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล แต่ถึงคราวสิ้นสุดเมื่อมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าดาไรอัสมหาราชแห่งราชวงศ์อาร์เคเมนิด ผู้ทรงประกาศว่า ระบอบราชาธิปไตยที่ดีนั้นย่อมเหนือกว่าระบอบคณาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ[20]

นอกจากนั้น ยังได้มีการกล่าวอ้างถึงสถาบันทางประชาธิปไตยในยุคเริ่มแรก โดยถือว่าเป็น "สาธารณรัฐ" อิสระในประเทศอินเดีย อย่างเช่น พระสงฆ์ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 แต่หลักฐานที่พบนั้นเลื่อนลอยและไม่สามารถหาแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแน่ชัด นอกจากนั้น ไดโอโดรุส ซึ่งเป็นนักปราชญ์ชาวกรีกในรัชสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กล่าวถึงรัฐอิสระซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในอินเดีย[21] แต่ทว่าไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสมัยใหม่กล่าวว่า คำว่า ประชาธิปไตย ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลได้ถูกลดความน่าเชื่อถือลง และอาจหมายถึงรัฐอิสระซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองของประชาชนเลยแม้แต่น้อย[22][23]

ภาพวาดของสภาซีเนตโรมัน อันเป็นองค์กรทางการเมืองที่สำคัญในสมัยสาธารณรัฐโรมัน

ถึงแม้ว่าในยุคของสาธารณรัฐโรมัน จะได้มีการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่น การออกกฎหมาย ทว่าก็มิได้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ชาวโรมันมีการเลือกผู้แทนตนเข้าสู่สภาก็จริง แต่ไม่รวมถึงสตรี ทาสและคนต่างด้าวจำนวนมหาศาล และยังมอบน้ำหนักให้กับเหล่าเศรษฐีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งการจะเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาซีเนตมักจะมาจากครอบครัวที่มีชื่อเสียงและร่ำรวยจำนวนน้อยเท่านั้น[24]

[แก้] ยุคกลาง

ระหว่างช่วงยุคกลาง ได้มีรูปแบบหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือสมัชชา ถึงแม้ว่าบ่อยครั้ง จะเปิดโอกาสให้กับประชาชนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น อย่างเช่น เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ในนครรัฐเวนิซ ช่วงอิตาลียุคกลาง รัฐในไทรอลเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ รวมไปถึงนครพ่อค้าอิสระซะไก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในญี่ปุ่น เนื่องจากการปกครองรูปแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นประชาชนมีส่วนร่วมเพียงส่วนน้อยเท่านั้น จึงมักจะถูกจัดว่าเป็นคณาธิปไตยมากกว่า และดินแดนยุโรปในสมัยนั้นยังคงปกครองภายใต้นักบวชและขุนนางในยุคศักดินาเป็นส่วนมาก

รูปแบบการปกครองซึ่งมีความใกล้เคียงกับลักษณะระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ยิ่งขึ้นไปอีก คือ ระบบของกลุ่มสาธารณรัฐคอสแซ็คในยูเครนระหว่างคริสต์ศัตวรรษที่ 16-17: คอสแซ็คเฮ็ตมันนาเตและซาโปริเซียน ซิค โดยเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากตำบลต่าง ๆ ของเคานตีเลือกตำแหน่งสูงสุด ซึ่งเรียกว่า "เฮ็ตมัน" (Hetman) แต่ด้วยความที่กลุ่มสาธารณรัฐคอสแซ็คเป็นรัฐทางการทหารอย่างเต็มตัว สิทธิของผู้ร่วมในการเลือก "เฮ็ตมัน" จึงมักจะจำกัดอยู่แต่เพียงผู้ที่รับราชการในกองทหารคอสแซ็คเท่านั้น และต่อมาก็ยิ่งจำกัดเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นแต่เฉพาะนายทหารระดับสูง

มหากฎบัตรของอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1215

ส่วนทางด้านรัฐสภาแห่งอังกฤษ มีรากฐานของการจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์มาจากมหากฎบัตร ซึ่งสมาชิกรัฐสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ได้แก่ รัฐสภาของเดอ มงต์ฟอร์ต ในปี ค.ศ. 1265 แต่อันที่จริงแล้ว มีเพียงประชาชนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยรัฐสภาได้รับการคัดเลือกจากประชาชนคิดเป็นน้อยกว่า 3% ในปี ค.ศ. 1780[25] และยังได้เกิดปัญหากับรูปแบบการปกครองดังกล่าว ที่เรียกว่า "เขตเลือกตั้งเน่า" (rotten boroughs) โดบอำนาจในการจัดตั้งรัฐสภานั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของกษัตริย์ หลังจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ในปี ค.ศ. 1688 และการบังคับใช้พระราชบัญญัติสิทธิ ในปี ค.ศ. 1689 ซึ่งได้มีการประมวลหลักสิทธิและเพิ่มพูนอิทธิพลของรัฐสภา[25] หลังจากนั้นสิทธิในการเลือกสมาชิกรัฐสภาก็เพิ่มมากขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งกษัตริย์ทรงเป็นเพียงประมุขแต่ในนามเท่านั้น[26]

รูปแบบประชาธิปไตยยังได้ปรากฏในการปกครองระบบชนเผ่า อย่างเช่น สหพันธ์ไอโรโควอิส (Iroquois Confederacy) อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นสมาชิกเพศชายของชนเผ่าเท่านั้นจึงจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำได้ และบางคนยังถูกยกเว้นอีกด้วย มีเพียงสตรีที่อาวุโสที่สุดในชนเผ่าเดียวกันเท่านั้นที่สามารถเลือกและถอดถอนหัวหน้าชนเผ่าได้ ซึ่งเป็นการกีดกันประชากรจำนวนมาก รายละเอียดที่น่าสนใจได้กล่าวว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งนั้นใช้ความคิดเห็นอันเป็นเอกฉันท์ของเหล่าผู้นำ มิใช่การสนับสนุนของเสียงส่วนใหญ่จากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกชนเผ่า[27][28]

ในสังคมระดับกลุ่ม อย่างเช่น บุชแมน ซึ่งมักจะประกอบด้วยคนจำนวน 20-50 คนในแต่ละกลุ่ม ไม่ค่อยจะมีหัวหน้าเท่าใดหนักและทำการตัดสินใจต่าง ๆ โดยอาศัยความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่มากกว่า ในเมลานีเซีย แต่เดิมประชาคมหมู่บ้านกสิกรรมมีความเท่าเทียมกัน และมีการปกครองแบบเอกาธิปไตยที่แข็งกร้าวจำนวนน้อย ถึงแม้ว่าอาจมีคนใดคนหนึ่งที่มีอิทธิพลเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งอิทธิพลดังกล่าวมีผลต่อการแสดงทักษะความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่อง และความประสงค์ของประชาคม ทุกคนถูกคาดหวังที่จะแบ่งปันหน้าที่ในประชาคม และให้สิทธิร่วมการตัดสินใจของประชาคม อย่างไรก็ตาม แรงกดดันอย่างหนักของสังคมกระตุ้นให้เกิดความลงรอยกันและลดการตัดสินใจเพียงลำพัง[29]

[แก้] คริสต์ศตวรรษที่ 18-19

จำนวนของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1800-2003 ซึ่งได้คะแนนเท่ากับหรือมากกว่า 8 โดยชุดข้อมูลรัฐ ซึ่งเป็นเกณฑ์การวัดความเป็นประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง

แม้ว่าจะไม่มีคำจำกัดความของคำว่าประชาธิปไตย แต่ว่าเหล่าผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาได้กำหนดรากฐานของแนวปฏิบัติของอเมริกันเกี่ยวกับอิสรภาพตามธรรมชาติและความเท่าเทียม[30] รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1788 เป็นต้นมา ได้กำหนดให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ในช่วงแรก ได้ครอบคลุมเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในยุคอาณานิคมก่อนหน้าปี ค.ศ. 1776 และบางช่วงเวลาหลังจากนั้น มีเพียงเหล่าบุรุษเจ้าของที่ดินผิวขาวเท่านั้นที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ในขณะที่ทาสผิวดำ อิสรชนผิวดำและสตรียังไม่ได้รับอนุญาตให้เลือกตั้ง ในวิทยานิพนธ์เทอร์เนอร์ ประชาธิปไตยได้กลายเป็นวิถีชีวิต และความเท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างกว้างขวาง[31] อย่างไรก็ตาม ทาสได้เป็นสถาบันทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิบเอ็ดรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งองค์กรจำนวนมากถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้คนผิวดำจากสหรัฐอเมริกาไปยังสถานที่อื่นซึ่งพวกเขาจะได้รับอิสรภาพและความเท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1820-1830 สมาคมการอพยพอเมริกัน ได้ส่งคนผิวดำจำนวนมากไปยังไลบีเรีย[32]

เมื่อถึงคริสต์ทศวรรษ 1840 การจำกัดทรัพย์สินทั้งหมดก็ยุติลง และพลเมืองชายผิวขาวเกือบทุกคนก็สามารถเลือกตั้งได้แล้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว มีผู้ใช้สิทธิ์ไปเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ และระดับชาติอยู่ระหว่าง 60-80% หลังจากนั้น ระบบการปกครองได้เปลี่ยนแปลงจากประชาธิปไตยแบบเจฟเฟอร์สันเป็นประชาธิปไตยแบบแจ็กสันอย่างช้า ๆ เมื่อปี ค.ศ. 1860 จำนวนทาสผิวดำในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านคน[33] และเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1860 ระหว่างการสร้างสหรัฐอเมริกาใหม่ ภายหลังสงครามกลางเมืองอเมริกัน ทาสชายที่ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระก็กลายเป็นพลเมืองและมีสิทธิในการเลือกตั้งตามกฎหมาย แต่กว่าที่พวกเขาจะได้รับการสิทธิอย่างมั่นคงก็ต้องรอจนถึง ค.ศ. 1965

ในปี ค.ศ. 1789 ภายหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ได้มีการประกาศใช้คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง และถึงแม้ว่าจะมีผลในเวลาอันสั้น แต่การเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสของบุรุษทุกคน เมื่อปี ค.ศ. 1792[34] ก็นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย การใช้สิทธิเลือกตั้งโดยคนทั้งชาติได้นำไปสู่การก่อตั้งฝรั่งเศส ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1848 ซึ่งเป็นยุคตื่นตัวหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1848[35]

ประชาธิปไตยเสรียังคงมีอายุสั้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และหลายประเทศมักจะกล่าวอ้างว่าตนได้ให้สิทธิการเลือกตั้งกับพลเมืองทั้งหมดแล้ว ในอาณานิคมออสเตรเลียได้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในขณะที่ออสเตรเลียใต้เป็นรัฐบาลแห่งแรกของโลกที่ให้สิทธิการเลือกตั้งโดยสตรีทั้งชาติในปี ค.ศ. 1861 ส่วนในนิวซีแลนด์ ได้ให้สิทธิการเลือกตั้งกับชาวเมารีพื้นเมืองในปี ค.ศ. 1867 ชายผิวขาวในปี ค.ศ. 1876 และผู้หญิงในปี ค.ศ. 1893 ซึ่งนับเป็นประเทศแรกที่ให้ให้สิทธิการเลือกตั้งกับพลเมืองทั้งหมด แม้ว่าสตรีจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้สมัครรับเลือกตั้งได้จนกระทั่งปี ค.ศ. 1919 ก็ตาม

[แก้] คริสต์ศตวรรษที่ 20

นับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศทั่วโลกได้ตื่นตัวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แผนที่ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงรัฐที่พิจารณาตนว่าปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามนิตินัย แผนที่เมื่อเดือนมีนาคม 2008
     รัฐที่พิจารณาตนว่าปกครองในระบอบประชาธิปไตย      รัฐที่มิได้พิจารณาตนว่าปกครองในระบอบประชาธิปไตย: วาติกัน ซาอุดิอาระเบีย พม่าและบรูไน
กราฟแสดงให้เห็นถึงการประเมินจำนวนประเทศที่จัดแบ่งเรียงตามประเทศต่าง ๆ ของ ฟรีดอมเฮาส์ นับตั้งแต่การสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 1972-2005

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยจำนวนมาก จนทำให้เกิด "กระแสประชาธิปไตย" ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งมักเป็นผลมาจากสงคราม การปฏิวัติ การปลดปล่อยอาณานิคม และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและศาสนา

ภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและจักรวรรดิออตโตมัน ทำให้เกิดรัฐชาติจำนวนมากในทวีปยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ระบอบประชาธิปไตยได้มีการเจริญขึ้น แต่ผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ได้ทำให้ความเจริญดังกล่าวหยุดชะงักลง และประเทศในแถบยุโรป ละตินอเมริกา และเอเชีย ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่การปกครองในระบอบเผด็จการมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นฟาสซิสต์ ในนาซีเยอรมนี อิตาลี สเปนและโปรตุเกส รวมไปถึงรัฐเผด็จการในแถบคาบสมุทรบอลติก คาบสมุทรบอลข่าน บราซิล คิวบา สาธารณรัฐจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น[36]

ทว่าภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้เกิดผลกระทบในด้านตรงกันข้ามในทวีปยุโรปตะวันตก ความสำเร็จในการสร้างระบอบประชาธิปไตยในเขตยึดครองเยอรมนีของสหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส ออสเตรีย อิตาลี และญี่ปุ่นสมัยยึดครอง ซึ่งได้เป็นต้นแบบของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก รวมไปถึงเขตยึดครองของโซเวียตในเยอรมนี ซึ่งถูกบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ตามค่ายตะวันออก หลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองยังส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยอาณานิคม และประเทศเอกราชใหม่ส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และอินเดียได้กลายมาเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก และดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง[37]

ในช่วงหนึ่งทศวรรษภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาติตะวันตกที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ได้มีระบบเศรษฐกิจแบบผสม และดำเนินการตามรูปแบบรัฐสวัสดิการ สะท้อนให้เห็นถึงความสอดคล้องกันระหว่างราษฎรกับพรรคการเมือง ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 เศรษฐกิจทั้งในกลุ่มประเทศตะวันตกและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ในภายหลังเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลได้ลดลง เมื่อถึงปี ค.ศ. 1960 รัฐชาติส่วนใหญ่ได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของโลกจะยังคงมีการจัดการเลือกตั้งแบบตบตา และการปกครองในรูปแบบอื่น ๆ อยู่

กระแสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของรูปแบบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยในหลายรัฐชาติ เริ่มจากสเปน โปรตุเกส ในปี ค.ศ. 1974 รวมไปถึงอีกหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เมื่อถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงมาจากระบอบเผด็จการทหาร มาเป็นรัฐบาลพลเรือน ตามด้วยประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ระหว่างช่วงต้นถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 และเนื่องจากความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต รวมไปถึงความขัดแย้งภายใน ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย และนำไปสู่จุดสิ้นสุดของสงครามเย็น ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองภายในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกในค่ายตะวันออกเดิม

นอกเหนือจากนั้น กระแสของระบอบประชาธิปไตยได้แพร่ขยายไปถึงบางส่วนของทวีปแอฟริกา ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาใต้ ความพยายามบางประการในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองยังพบเห็นอยู่ในอินโดนีเซีย ยูโกสลาเวีย จอร์เจีย ยูเครน เลบานอนและคีร์กีซสถาน

จนถึงปัจจุบันนี้ ทั่วโลกได้มีประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจำนวน 123 ประเทศ (ค.ศ. 2007) และกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[38] ซึ่งได้มีการคาดเดากันว่า กระแสดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ที่ซึ่งประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยจะกลายเป็นมาตรฐานสากลสำหรับสังคมมนุษยชาติ สมมุติฐานดังกล่าวเป็นหัวใจหลักของทฤษฎี "จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์" โดยฟรานซิส ฟุกุยะมะ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์บรรดาผู้ที่เกรงกลัวว่าจะมีวิวัฒนาการของประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยไปยังยุคหลังประชาธิปไตย และผู้ที่ชี้ให้เห็นถึงประชาธิปไตยไม่เสรี

[แก้] ลักษณะสำคัญ

กระบวนการเลือกตั้ง อันเป็นกลไกสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ถึงแม้ว่าในทฤษฎีการเมือง คำว่า "ประชาธิปไตย" สามารถหมายถึงทั้งระบอบการปกครองและปรัชญาการเมือง ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยจะยังไม่มีการนิยามที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตาม แต่ในปัจจุบัน ได้ปรากฏให้เห็นหลักการสองหลักการที่ให้การนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย"

  • ประการแรก เห็นว่าบรรดาพลเมืองหรือสมาชิกในสังคมย่อมมีความเสมอภาคกันในการเข้าถึงอำนาจ
  • ประการที่สอง เห็นว่าพลเมืองย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยเสมอกัน

หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ "การยอมรับนับถือความสำคัญและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ความเสมอภาคและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต"[39] และจากหลักการพื้นฐานดังกล่าว จึงสามารถประมวลลักษณะสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ดังนี้[39]

  1. ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงกล่าวได้ว่า ประชาชนเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในรัฐ
  2. ประชาชนทุกคนในรัฐมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ตลอดจนมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
  3. การดำเนินการของรัฐจำเป็นต้องถือตามมติเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน แต่เสียงส่วนน้อยในรัฐจะต้องได้รับการคุ้มครองความเป็นธรรมตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
  4. การปกครองแบบประชาธิปไตย จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐ

อย่างไรก็ตาม หากประชาธิปไตยมิได้รับการควบคุมอย่างรอบคอบโดยกฎหมายเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายอำนาจทางการเมืองด้วยการถ่วงดุลอำนาจ อย่างเช่น การแบ่งแยกอำนาจการปกครอง แล้ว อาจส่งผลให้ฝ่ายบริหารอำนาจสามารถสะสมอำนาจจนอาจเป็นอันตรายแก่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้[40][41][42] นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ลักษณะเด่นของการปกครองในระบอบนี้คือ "การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์" แต่ถ้าหากรัฐบาลปราศจากความรับผิดชอบแล้ว เสียงข้างมากก็อาจไม่แยแสสิทธิของเสียงข้างน้อย ชนิดที่เรียกว่าเป็น "เผด็จการโดยเสียงข้างมาก" เลยทีเดียว ดังนั้น กระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน จึงได้แก่การเลือกตั้ง ซึ่งควรเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ประกอบกับการคำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อมวลชน อันจะยังให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและตัดสินใจใช้สิทธิ์ใช้เสียงเพื่อประโยชน์ของตนได้[43][44]

ถึงแม้ว่า มโนทัศน์ในเรื่อง "อำนาจอธิปไตยของปวงชน" (อังกฤษ: popular sovereignty) จะสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศที่นำหลักการประชาธิปไตยไปใช้ก็ตาม แต่แนวคิดดังกล่าวก็มิใช่หลักปรัชญาสำคัญระดับสากลอันส่งผลกระตุ้นให้เกิดการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ เพราะในบางประเทศมองว่าประชาธิปไตยมีพื้นฐานมาจากความเสมอภาคกันในการมีสิทธิ โดยคนจำนวนมากเห็นว่าประชาธิปไตยที่ดีได้แก่ "เสรีประชาธิปไตย" และอาจมีองค์ประกอบเพิ่มเติมอีกหลายประการ เช่น การพหุนิยมทางการเมือง หลักนิติธรรม (อังกฤษ: rule of law) และสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ (อังกฤษ: right of petition) เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดมีวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย (อังกฤษ: due process of law) เสรีภาพของพลเมือง สิทธิมนุษยชน และบทบาทของภาคประชาสังคม (อังกฤษ: civil society) เป็นอาทิ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาหมายเอาการแบ่งแย่งอำนาจการปกครอง เป็นคุณลักษณะของประชาธิปไตย และในประเทศอื่น ๆ เช่น สหราชอาณาจักร นั้นหมายเอาการบริหารอำนาจอธิปไตยโดยกระบวนการของรัฐสภาและองค์กรตุลาการที่เป็นอิสระ นอกจากนี้ ในบางกรณียังมีการใช้คำ "ประชาธิปไตย" สื่อถึงประชาธิปไตยทางตรง ด้วย เหนือสิ่งอื่นใด ถึงแม้คำว่า "ประชาธิปไตย" จะนิยมใช้ในบริบาทของรัฐทางการเมืองเป็นหลัก แต่ว่ามโนทัศน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังสามารถใช้แก่ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นเช่นกัน

[แก้] รูปแบบ

ดูบทความหลักที่ ประเภทของประชาธิปไตย
การจัดรูปแบบทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ตามการสำรวจเสรีภาพทั่วโลก ของ ฟรีดอมเฮาส์ ในปี ค.ศ. 2009:      มีเสรีภาพเต็มที่      มีเสรีภาพบางส่วน      ไม่มีเสรีภาพ จากการสำรวจดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า เสรีภาพทางเศรษฐกิจนำไปสู่เสรีภาพทางการเมือง มิใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ประชาธิปไตยสามารถจำแนกได้ออกเป็นหลายประเภท โดยบางประเภทให้เสรีภาพและความมีสิทธิ์มีเสียงแก่พลเมืองมากกว่ารูปแบบอื่น[45][46]

[แก้] ประชาธิปไตยทางตรง

ประชาธิปไตยทางตรง คือ รูปแบบการปกครองโดยที่พลเมืองสามารถมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจใด ๆ ได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยคนกลางหรือผู้ทำหน้าที่แทนตน ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยทางตรงได้โต้แย้งว่าประชาธิปไตยในปัจจุบันนั้น ควรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าระเบียบการพื้นฐาน อย่างเช่น การเลือกตั้งเท่านั้น[47]

ประชาธิปไตยทางตรงนับจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเพียงรูปแบบที่ไม่ค่อยแพร่หลายนัก เนื่องจากรูปแบบการปกครองดังกล่าวสามารถใช้ได้กับชุมชนที่มีกลุ่มคนขนาดเล็กเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นนครรัฐ อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยทางตรงสามารถพบเห็นได้ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนกว่าห้าล้านคนสามารถลงประชามติ ประมาณสองถึงสี่ครั้งต่อปี การปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรงยังสามารถใช้ได้กับการปกครองที่มีขอบเขตเป็นจังหวัด แต่ทว่าไม่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรงในระดับประเทศอีกต่อไปแล้ว

[แก้] ประชาธิปไตยทางอ้อม

ประชาธิปไตยทางอ้อมเป็นการปกครองโดยที่ประชาชนมีหน้าที่เลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภา โดยการเลือกตั้งจะคัดเอาผู้ที่มีคะแนนเสียงเหนือกว่าเป็นมาตรฐานทั่วไป

ผู้แทนดังกล่าวนอกเหนือจากจะสามารถมาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้ว ยังอาจเข้ามาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ หรืออาจมาจากการกำหนดผู้แทนโดยพรรคการเมือง หรืออาจใช้รูปแบบผสมผสานกัน การปกครองแบบประชาธิปไตยทางอ้อมบางรูปแบบได้ดึงเอาลักษณะของประชาธิปไตยทางตรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ การลงประชามติ การปกครองแบบดังกล่าวถึงแม้ว่าประชาชนจะเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตน แต่ผู้แทนเหล่านั้นก็ยังคงมีอำนาจตัดสินใจของตนเอง และเลือกวิธีการดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่

[แก้] ระบบรัฐสภา

ประชาธิปไตยทางอ้อมแบบระบบรัฐสภา หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลได้รับการเลือกมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่ตรงกันข้ามกับการปกครองแบบระบบประธานาธิบดีซึ่งมีอำนาจสูงจนคล้ายกับผู้นำเผด็จการ ภายใต้การปกครองในระบบรัฐสภา รัฐบาลบริหารประเทศโดยการมอบหน้าที่ให้กับรัฐมนตรีซึ่งทำหน้าที่บริหาร รวมไปถึงรัฐสภาซึ่งมีหน้าที่ออกกฎหมาย ตรวจสอบการทำงานและถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลไว้ด้วย[48][49][50][51][52][53][54][55] การปกครองรูปแบบดังกล่าวอาจมีกษัตริย์ หรือประธานาธิบดี เป็นประมุขแห่งรัฐก็ได้ แต่ประมุขแห่งรัฐไม่มีอำนาจบริหาร

[แก้] ระบบประธานาธิบดี

ประชาธิปไตยทางอ้อมแบบระบบประธานาธิบดี หมายถึง การปกครองที่อำนาจบริหารถูกแยกออกจากอำนาจนิติบัญญัติอย่างชัดเจน โดยการปกครองในแบบดังกล่าวมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร โดยประธานาธิบดีอาจจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มาจากการเลือกตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร หรืออาจมาจากวิธีอื่น ๆ ก็ได้

[แก้] ระบบกึ่งประธานาธิบดี

ประชาธิปไตยทางอ้อมแบบระบบกึ่งประธานาธิบดี เป็นการปกครองแบบหนึ่งซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และผู้ใช้อำนาจบริหารผ่านทางนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นระบบที่มีการผสมผสานกันระหว่างลักษณะของระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดี โดยประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เหนือกว่าอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร

[แก้] ทฤษฎี

[แก้] เพลโตและอริสโตเติล

ภาพวาดของเพลโตและอริสโตเติล สองนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคกรีกโบราณ

สำหรับทั้งเพลโตและอริสโตเติลแล้ว นักปราชญ์ทั้งสองนี้ไม่เห็นด้วยกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

เพลโตได้แสดงความคิดเห็นถึงผู้นำของรัฐในอุดมคติในหนังสือ อุตมรัฐ ว่า "ผู้นำของรัฐ ควรจะเป็นผู้นำกลุ่มน้อยที่ทรงภูมิความรู้และเปี่ยมด้วยคุณธรรม อุทิศตนเองให้กับรัฐ เมื่อรัฐมีผู้นำที่มีคุณภาพเช่นนี้ รัฐนั้นก็เจริญก้าวหน้า มีระบบการบริหารที่ดี ประชาชนจะมีชีวิตที่เป็นสุข"[56] โดยเขาเห็นว่านักปราชญ์และนักปกครองเป็นผู้นำที่ดี โดยถือว่าการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด เนื่องจากเพลโตขมขื่นจากการตัดสินของกลุ่มคนที่ให้ประหารโสเครติส[57]

ส่วนทางด้านอริสโตเติลได้เปรียบเทียบแบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็นสามรูปแบบ ได้แก่ การปกครองโดยบุคคลเพียงคนเดียว (สมบูรณาญาสิทธิราช/ทรราช) การปกครองโดยคณะบุคคลส่วนน้อย (อภิชนาธิปไตย/คณาธิปไตย) และการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ (การปกครองโดยชนชั้นกลาง/ประชาธิปไตย) ซึ่งรูปแบบที่กล่าวมานั้น อริสโตเติลได้จัดแบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็นรูปแบบที่ดีและเลวตามลำดับ และเขาได้พิจารณาว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ไม่ดีเมื่อเทียบกับการปกครองโดยชนชั้นกลาง[58][59]

เขาเชื่อว่ารากฐานของระบอบประชาธิปไตยนั้นมาจากเสรีภาพ ซึ่งมีเพียงการปกครองในรูปแบบดังกล่าวเท่านั้นที่พลเมืองสามารถแบ่งปันเสรีภาพร่วมกันได้ ซึ่งเขาก็ได้โต้แย้งว่านี่เป็นวัตถุประสงค์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยทิศทางหลักของเสรีภาพ ประกอบด้วย ภาวะผู้นำและภาวะผู้ตามที่ดี เนื่องจากทุกคนมีความเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเหลื่อมล้ำทางฐานะ ความสามารถ ชาติกำเนิด และสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้

"แต่อีกหนึ่งปัจจัยสำหรับเสรีภาพ คือ การปกครองและการถูกปกครองอยู่ในขณะเดียวกัน สำหรับหลักการอันเป็นที่นิยมของความยุติธรรม นั่นคือ ความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคล ไม่ใช่วัดที่ทรัพย์สินเงินทอง และถ้าหากแนวคิดเรื่องความยุติธรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จ ความจำเป็นทั้งหลายนั้นจะต้องมีความเป็นอิสระ และการตัดสินใจของกลุ่มคนส่วนใหญ่นั้นจะต้องเป็นความยุติธรรมอย่างสุดท้ายซึ่งต้องปฏิบัติตาม เนื่องจากหลักการที่ว่าบุคคลสมควรที่จะได้รับการแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น ผลของระบอบประชาธิปไตย คือ คนจนมีอำนาจมากกว่าคนรวย เนื่องจากคนจนมีจำนวนมากกว่า และการถือเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก ดังนั้น นี่จะเป็นเครื่องหมายของเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไว้แล้ว หนึ่ง คือ ความเป็นอิสระของตนที่จะดำเนินชีวิตตามใจของตน ซึ่งถือเป็นกระบวนการของเสรีภาพ และไม่ดำเนินชีวิตอย่างคนที่ตกเป็นทาส นี่เป็นหลักการข้อที่สองของประชาธิปไตย และเนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าจะต้องไม่ปกครองโดยบุคคลใด ๆ ก็ตาม หรือความล้มเหลวที่จะปกครองและถูกปกครองในเวลาเดียวกันนั้น และนี่จะเป็นหนทางอันเป็นหลักการที่สองซึ่งสนับสนุนเสรีภาพอันเท่าเทียม[3]"

[แก้] ทฤษฎีรูปแบบอื่น

สำหรับนักทฤษฎีการเมืองแล้ว ได้มีการเสนอรูปแบบของประชาธิปไตยอีกเป็นจำนวนมาก อันประกอบด้วย:

  • ประชาธิปไตยแบบรวมกัน (Agregative Democracy) ซึ่งเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่โอนเอียงเข้าหาข้อเรียกร้องของพลเมือง จากนั้นจึงนำข้อเรียกร้องดังกล่าวเพื่อมาตัดสินรูปแบบนโยบายทางสังคมที่สมควรนำไปปฏิบัติ ส่วนทางด้านผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้แสดงความคิดเห็นว่า การมีส่วนร่วมในการปกครองรูปแบบประชาธิปไตยนั้นควรจะเน้นไปยังการเลือกตั้งอันเป็นสิทธิพื้นฐาน ซึ่งนโยบายที่มีผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมากก็จะได้รับการนำไปปฏิบัติ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบ
    • ตามแนวคิดจุลนิยมแล้ว ประชาธิปไตย คือ รูปแบบการปกครอง ซึ่งประชาชนได้มอบสิทธิในการใช้อำนาจให้กับผู้นำทางการเมืองตามระยะเวลาการเลือกตั้งคราวหนึ่ง ตามแนวคิดจุลนิยม ประชาชนไม่สามารถและไม่มีสิทธิในการปกครอง เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของมนุษย์นั้นไม่มีวิสัยทัศน์หรือมีวิสัยทัศน์ที่ไม่ดี ซึ่งโจเซฟ ชุมเปเตอร์ได้เสนอมุมมองของเขาในหนังสือเรื่อง Capitalism, Socialism, and Democracy อันโด่งดังของเขา[60] โดยมีผู้สนับสนุน ได้แก่ วิลเลียม เอช. ไรเกอร์ อดัม ปร์เซวอร์สกี และริชาร์ด พอสเนอร์
    • อีกฝ่ายหนึ่ง แนวคิดประชาธิปไตยทางตรง ยึดมั่นในแนวคิดที่ว่าประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในกระบวนการการร่างกฎหมายและนโยบายของรัฐอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องใช้อำนาจผ่านทางผู้แทนราษฎร ผู้สนับสนุนระบบประชาธิปไตยทางตรงได้ยกเอาเหตุผลสนับสนุนระบอบดังกล่าวอยู่หลายข้อ จากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจะเป็นประโยชน์แก่พลเมืองของรัฐ เนื่องจากจะนำไปสู่การสร้างชุมชนและการศึกษา การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนยังจะเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเหตุผลที่สำคัญที่สุด พลเมืองมิได้ปกครองตนเองนอกจากการตัดสินใจร่างกฎหมายและร่างนโยบายโดยตรงเท่านั้น
    • รัฐบาลมักจะออกกฎหมายและนโยบายซึ่งใกล้เคียงกับแนวคิดของทางสายกลาง ซึ่งแท้จริงแล้ว ผลกระทบอันพึงปรารถนาเมื่อแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ส่วนตนและการกระทำที่ปล่อยปละละเลย เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงของประชาชน ซึ่งแอนโทนี ดาวนส์ได้เสนอว่าควรจะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองในอุดมคติขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างปัจเจกชนกับรัฐบาล โดยเขาได้แสดงแนวคิดของเขาในหนังสือ An Economic Theory of Democracy ในปี ค.ศ. 1957[61]
    • โรเบิร์ต เอ. ดาห์ลได้โต้แย้งว่าหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยนั้น เมื่อเป็นการตัดสินใจร่วมกันอย่างผูกพันแล้ว พลเมืองแต่ละคนในชุมชนก็สมควรจะได้รับประโยชน์ตามที่ตนได้กำหนดไว้ให้เป็นการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน จึงไม่จำเป็นที่ประชากรทุกคนจะมีความพึงพอใจอย่างเสมอกันในการตัดสินใจของส่วนรวมนั้น เขาได้ใช้คำว่า "โพลีอาร์ชี" (poliarchy) เพื่อใช้แทนสังคม ซึ่งมีรูปแบบขนบธรรมเนียมและการปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง แต่สิ่งแรกที่จะต้องมาก่อนขนบธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ คือ การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม เพื่อเป็นการเลือกผู้แทนซึ่งจะทำหน้าที่บริหารนโยบายส่วนร่วมทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดของสังคม อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวอาจมิได้สร้างให้เกิดรูปแบบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ความยากจนขัดสนซึ่งขัดขวางประชาธิปไตย[62] และยังมีคนบางกลุ่มที่มองเห็นถึงปัญหาซึ่งเหล่าเศรษฐีกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังต่อต้านการรณรงค์ปฏิรูปทางเศรษฐกิจ บางคนบอกว่าการกำหนดนโยบายโดยใช้เสียงส่วนใหญ่นั้นเป็นการปกครองที่ตรงกันข้ามกับการปกครองโดยประชาชนทั้งหมด โดยเหตุผลดังกล่าวสามารถยกไปอ้างเพื่ออำนาจที่มีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างเช่น การบังคับเลือกตั้ง หรือสำหรับการกระทำที่อดทนกว่านั้น โดยการอดทนขัดขวางอำนาจของรัฐบาล จนกระทั่งประชาชนส่วนใหญ่สมัครใจที่จะพูดในสิ่งที่ตนคิดออกมา
  • ประชาธิปไตยโดยเจตนา (Deliberative democracy) ตั้งอยู่บนแนวความคิดที่ว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยการอภิปราย ผู้สนับสนุนยืนยันว่ากฎหมายและนโยบายควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลซึ่งประชาชนทุกคนสามารถรับได้ และในสนามการเมืองควรจะเป็นสถานที่ซึ่งผู้นำและพลเมืองสามารถโต้เถียง รับฟัง และเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของตนได้
  • ประชาธิปไตยมูลฐาน (Radical democracy) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวความคิดที่ว่า มีการแบ่งชนชั้นและการกดขี่เกิดขึ้นในสังคม บทบาทของประชาธิปไตยควรจะเปิดเผยและท้าทายต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยการเปิดโอกาสให้ความแตกต่างทางความคิดเพื่อนำมาใช้ประกอบในการตัดสินใจ

[แก้] สาธารณรัฐ

ในอีกแง่มุมหนึ่ง คำว่า ประชาธิปไตย หมายถึง รัฐบาลที่ได้รับเลือกเข้ามาจากประชาชน โดยอาจเป็นประชาธิปไตยทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้[63] ส่วนคำว่า สาธารณรัฐ สามารถตีความได้หลายความหมาย แต่ในปัจจุบันนี้ คำว่า สาธารณรัฐ หมายถึง ประชาธิปไตยทางอ้อมซึ่งสามารถเลือกตั้งประมุขแห่งรัฐได้โดยตรง โดยมีระยะเวลาบริหารประเทศที่จำกัด ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐที่ปกครองโดยราชวงศ์ซึ่งสืบทอดตำแหน่งโดยสายเลือด แม้ว่ารัฐเหล่านี้จะมีส่วนของประชาธิปไตยทางอ้อม ซึ่งมีการเลือกหรือแต่งตั้งหัวหน้ารัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรี[64]

เหล่าบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้การยกย่องประชาธิปไตยน้อยครั้ง แต่วิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยบ่อยครั้ง เนื่องจากแนวคิดประชาธิปไตยในสมัยนั้น หมายความถึง ประชาธิปไตยทางตรง เจมส์ เมดิสัน ได้โต้แย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน สหพันธรัฐนิยมหมายเลข 10 ว่าสิ่งใดที่เป็นความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยแตกต่างจากสาธารณรัฐ นั่นคือ ประชาธิปไตยจะค่อย ๆ อ่อนแอลงเมื่อมีพลเมืองมากขึ้น และจะได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นจากการแบ่งฝักฝ่าย ตรงกันข้ามกับสาธารณรัฐ ซึ่งจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีพลเมืองมากขึ้นและต่อกรกับฝักฝ่ายอื่น ๆ โดยใช้โครงสร้างสาธารณรัฐ

[แก้] ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและสภาสูง

นับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติอเมริกาแล้ว คำถามต่อมา คือ ประชาธิปไตยจะมีวิธีการอย่างไรในการควบคุมเสียงส่วนใหญ่ให้อยู่ในขอบเขต อันได้นำไปสู่แนวคิดของสภาสูง โดยสมาชิกอาจเลือกสมาชิกสภาสูงเข้ามาผู้มีความรู้ความสามารถ หรือเป็นขุนนางมาตลอดชีวิต หรือควรจะมีการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในบางประเทศนั้น ได้มาจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงฐานะทางการเมืองของกษัตริย์ให้เหลือเพียงสัญลักษณ์หรือศูนย์รวมจิตใจเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว สถาบันกษัตริย์มักจะถูกล้มล้างลง พร้อม ๆ กับเหล่าชนชั้นสูง และบางประเทศซึ่งขุนนางชั้นสูงได้สูญเสียอำนาจลงไป หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบการเลือกตั้งแทน

[แก้] แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย

แผนภาพของชุดข้อมูลโพลิตี 4 ซึ่งเป็นการรายงานการจัดลำดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศทั่วโลกในปี ค.ศ. 2003: โดยประเทศซึ่งมีสีจาง หมายความว่า มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่มาก ขณะที่ประเทศซึ่งมีสีเข้ม (ซาอุดิอาระเบียและกาตาร์) มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุด (ได้คะแนน -10 จาก 10)

แนวคิดประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้รับการต่อต้านจากบางรัฐ การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยในรัฐอันมิใช่ประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งการปฏิวัติประชาธิปไตย โดยการปกครองในระบอบราชาธิปไตย ได้ต่อต้านแนวคิดประชาธิปไตย และพยายามป้องกันการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ถึงแม้ว่าจะมีการประนีประนอม โดยการจัดรูปแบบของรัฐบาลร่วมกัน

ในปัจจุบันนี้ แนวคิดต่อต้านประชาธิปไตยได้ปรากฏในรัฐคอมมิวนิสต์ สมบูรณาญาสิทธิราชและรัฐบาลอิสลาม ซึ่งแต่ละแนวคิดต่างก็มีเหตุผลของตนในการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปประชาธิปไตยภายในประเทศของตน

[แก้] การวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตย

นักเศรษฐศาสตร์นับตั้งแต่มิลตัน ฟรีดแมน ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพของระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยเป็นการกล่าวอ้างถึงผู้ลงคะแนนเสียงโดยปราศจากเหตุผล เขายกเหตุผลว่า ผู้ที่ไปลงคะแนนเสียงนั้นไม่ได้รับทราบถึงประเด็นทางการเมืองในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และมีอคติอย่างรุนแรงเกี่ยวกับประเด็นส่วนน้อยที่ประชาชนสามารถทราบได้ ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกของสหภาพแรงงานมักจะได้รับทราบถึงนโยบายด้านแรงงาน ซึ่งสมาชิกของสหภาพแรงงานก็จะพยายามให้มีการผ่านกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์กับสหภาพแรงงานเอง แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงประชากรทั้งหมด ผลที่เกิดขึ้น คือ นักการเมืองไม่อาจเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนเลย

นักเศรษฐศาสตร์จากเมืองชิคาโก โดนัลด์ วิทท์แมน ได้เขียนผลงานหลายเรื่องในความพยายามที่จะตอบโต้กับมุมมองทั่วไปกับเพื่อนร่วมงานของเขา โดยเขาได้โต้แย้งว่า ประสิทธิภาพของประชาธิปไตยนั้นจะขึ้นอยู่กับผู้ลงคะแนนเสียงที่มีเหตุมีผล การเลือกตั้งเสรี และมีมูลค่าธุรกิจการเมืองอยู่ในระดับต่ำ นักเศรษฐศาสตร์ ไบรอัน แคปแลน ได้โต้แย้งว่า ในขณะที่วิทท์แมนได้ให้ความคิดเห็นอย่างรุนแรงสองข้อสุดท้ายนั้น เขาไม่อาจข้ามพ้นชัยชนะของผู้ลงคะแนนเสียงที่ไม่มีเหตุผลได้ ซึ่งอาจสรุปได้ว่า ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยมิใช่การขาดแคลนข้อมูลเพียงเท่านั้น แต่เหล่าผู้ลงคะแนนเสียงตีความอย่างไม่ถูกต้อง และตัดสินข้อมูลที่พวกเขาไม่เคยรู้[65]

นอกจากนี้ ยังมีคนบางกลุ่มที่โต้แย้งว่า ผู้ลงคะแนนเสียงอาจไม่ได้รับการศึกษามากเพียงพอที่จะใช้สิทธิ์ทางการเมืองของตน พลเมืองที่มีสติปัญญาน้อยอาจไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยในปัจจุบันนี้ ข้อโต้แย้งดังกล่าวได้รับการพิจารณาเพิ่มขึ้นโดยผู้สนับสนุนประชาธิปไตย อันเป็นความพยายามที่จะรักษาหรือฟื้นฟูการปกครองโดยลำดับชั้นตามประเพณีดั้งเดิม ในความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบเอกาธิปไตย และได้มีการขยายแนวคิดนี้ออกไปอีก หนึ่งในความไม่ลงรอยกันระหว่างทั้งสองฝ่าย คือ ประชาธิปไตยอาจจะเป็นการให้ท้ายกับประโยชน์ของพลเมืองระดับพิเศษ ดังที่พลเมืองสามัญได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในภาคการเมืองของประเทศ และจะมีอิทธิพลโดยตรงต่อผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล ผ่านทางกระบวนการเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียงและการใช้สื่อ ผลของนโยบายรัฐบาลอาจจะได้รับอิทธิพลจากความคิดเห็นของผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า และด้วยเหตุนั้น ประชาธิปไตยจึงเสียประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนโยบายนั้นมีความสลับซับซ้อน หรือการประกาศให้มวลชนได้รับทราบอย่างไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีการให้การรับรองใด ๆ ว่าผู้ที่ทำการรณรงค์เกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาชีพ หรือมีส่วนในวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยไม่พิจารณาถึงว่าบุคคลนั้นได้รับการศึกษามาอย่างเพียงพอหรือไม่

นอกเหนือจากนั้น นักรัฐศาสตร์บางคนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเจตนาของประชาธิปไตยว่าเป็น "ความดีอันมิอาจโต้แย้ง"[66] โดยถ้าหากว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคำจำกัดความของประชาธิปไตยว่าเป็นการปกครองโดยให้ความสำคัญกับความต้องการของเสียงข้างมาก ก็อาจจะเกิดผลกระทบในทางลบจากการปกครองรูปแบบดังกล่าวได้ ยกตัวอย่างเช่น เฟียร์ลเบคได้ชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นกลางอันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอาจตัดสินใจกระจายความมั่งคั่งให้กับผู้ที่ตนเห็นว่าจะสามารถลงทุนหรือเพิ่มมูลค่าของความมั่งคั่งนั้นได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันในประเทศ หรือแม้กระทั่งการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เฟียร์ลเบคยังได้ชี้ให้เห็นอีกว่า ผลของการกระทำดังกล่าวนั่นไม่ใช่เป็นเพราะความล้มเหลวของกระบวนการประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะ ประชาธิปไตยตอบรับความปรารถนาของกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนมากที่เพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงเสียงของกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบทางเศรษฐกิจภายในประเทศของตน[67] ข้อวิจารณ์ดังกล่าวสรุปให้เห็นว่า เสียงส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ผลประโยชน์อันดีที่สุดของพลเมืองทั้งหมดภายในประเทศ หรือไม่เป็นประโยชน์ในอนาคตของประเทศแต่อย่างใด[68]

[แก้] การขาดความมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชน

นักทฤษฎีบางคนกล่าวว่า ประชาชนในปัจจุบันนี้ได้เห็นเพียงแต่ภาพลวงตาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถจับต้องการทำงานของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง ประชาชนเหล่านั้นได้แต่หวังว่าผู้แทนที่ตนเลือกเข้าไปนั้นจะทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้[69][70] และการจัดตั้งรัฐบาลในบางครั้งก็ได้รับเลือกเข้ามาจากเสียงข้างน้อย[71]

รวมไปถึง แนวคิดการเลือกผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่แทนตนในการทำงานของรัฐ ซึ่งไม่ได้มีตัวเลือกที่มากนัก และพบว่าผู้ลงคะแนนเสียงมีอิทธิพลน้อยมาก และอาจจะละเลยประเด็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มผลประโยชน์ได้ประโยชน์ต่อตนเอง แต่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม[11]

[แก้] การปกครองโดยฝูงชน

เพลโตได้เขียนแนวคิดของเขาในหนังสือ อุตมรัฐ ซึ่งนำเสนอมุมมองด้านลบของประชาธิปไตย ผ่านทางการบรรยายของโสเครตีส: "ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบของรัฐอันมีเสน่ห์ เต็มไปด้วยความแตกต่างและความไม่มีระเบียบ และจัดให้สิ่งที่เท่าเทียมกันและสิ่งที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นอย่างเดียวกัน"[72] เพลโตได้กล่าวถึงรูปแบบการปกครอง 5 อย่างในงานเขียนของเขาเรียงลำดับจากดีที่สุดไปยังเลวที่สุด เพลโตได้โต้แย้งว่าคัลลิโปลิส ซึ่งนำโดยนักปราชญ์ชนชั้นสูงนั้นเป็นรูปแบบของรัฐบาลอันมีความยุติธรรม ส่วนรูปแบบการปกครองแบบอื่นนั้นมุ่งเน้นไปยังคุณธรรมชั้นต่ำกว่า เริ่มจาก เกียรติยาธิปไตย ซึ่งเชิดชูคุณค่าของเกียรติยศ ตามด้วย คณาธิปไตย ซึ่งเชิดชูคุณค่าของความมั่งคั่ง และตามด้วยประชาธิปไตย

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เหล่าผู้มีอำนาจหรือพ่อค้าไม่สามารถใช้อำนาจของตนได้อย่างเต็มที่ และประชาชนรับเอาอำนาจไปทั้งหมด โดยการเลือกตั้งใครบางคนขึ้นมาตามความปรารถนาของตน โดยพิธีการอันสุรุ่ยสุร่าย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบเสรีภาพให้กับประชาชนมากเกินไป และกลายเป็นความเลวทรามของการปกครองในระบอบทรราชหรือการปกครองโดยฝูงชน

เหล่าบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกามีเจตนาที่จะบรรจุข้อวิจารณ์นี้รวมกับแนวคิดสาธารณรัฐนิยม ซึ่งรัฐธรรมนูญจะสามารถจำกัดอำนาจที่คนส่วนใหญ่จะสามารถบรรลุได้[73]

[แก้] ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม

ตามวัฒนธรรมเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลัทธิขงจื๊อและแนวความคิดของศาสนาอิสลาม เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นผลมาจากความไม่เชื่อใจและความไม่เคารพในรัฐบาลหรือศาสนา ความไม่เชื่อใจและความไม่เคารพนั้นได้กระจายไปยังสังคมทุกภาคส่วน และกลุ่มคนทุกวัย ซึ่งสาเหตุดังกล่าวนั้นคาดว่าจะนำไปสู่การหย่าร้าง อาชญากรรมวัยรุ่น ความป่าเถื่อนและความเป็นอันธพาล รวมไปถึงการศึกษาที่ไม่เพียงพอในสังคมตะวันตก

แนวคิดอิสลามได้โต้แย้งว่า ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมนั้นเกิดขึ้นมาจากความไม่เคารพในตัวผู้นำ ผู้ซึ่งตั้งมาตรฐานทางศีลธรรมไว้สูง และเมื่อมีการเปิดเสรีภาพทางการเมืองนั้นนำไปสู่ความเป็นปัจเจกชนจนเลยเถิดไป โดยแนวคิดอิสลามได้ยกย่องว่า มีเพียงสาธารณรัฐอิสลามเท่านั้นที่จะต้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าได้[74]

การส่งเสริมความเป็นปัจเจกชนยังได้ทำให้มนุษย์ออกห่างจากศีลธรรมมากขึ้นทุกที นับเป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะตั้งตนเป็นพระเจ้า และพยายามปกครองตนเองทั้ง ๆ ที่เป็นรูปแบบการปกครองที่ไม่เหมาะสมกับมนุษย์เลย[68] ซึ่งปัญหานี้ได้เชื่อมโยงกับแนวความคิดการปกครองโดยฝูงชน[75][76][77]

[แก้] ความขาดเสถียรภาพทางการเมือง

ในปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง รัฐบาลมักจะมาจากการเลือกตั้งและจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศจากรัฐบาลก่อนหน้าเสมอ ถึงแม้ว่าพรรคการเมืองจะยังคงถือครองอำนาจอยู่ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ การประท้วงของฝูงชน และการนำเสนอของสื่อบ่อยครั้งมักจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดโดยไม่คาดฝันเสมอ บ่อยครั้งที่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจและคนเข้าเมือง ซึ่งมักจะเป็นการขัดขวางการลงทุนและชะลออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลดังกล่าว คนจำนวนมากจึงเสนอว่าแนวคิดประชาธิปไตยไม่เหมาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการกำจัดความยากจนถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด[78]

รวมไปถึงแนวความคิดที่ว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นการปล่อยให้ประชาชนสามารถถอดถอนผู้ปกครองออกจากอำนาจได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายทั้งสิ้น[11]

[แก้] วาระของรัฐบาลสั้น

ประชาธิปไตยยังได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการจัดการเลือกตั้งอยู่บ่อยครั้งเนื่องจากความขาดเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลผสม รัฐบาลผสมมักจะถูกจัดตั้งขึ้นในหลายประเทศ หลังจากมีการจัดการเลือกตั้งแล้ว และพื้นฐานของการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรนั้นเพื่อเป็นการประคับประคองอำนาจเสียงข้างมากของตน ไม่ใช่เป็นการรวมตัวเนื่องจากความเห็นพ้องทางด้านอุดมการณ์ พันธมิตรอันเป็นการฉวยโอกาสนี้ไม่เพียงแต่มีความได้เปรียบเหนืออุดมการณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นจำนวนมากเท่านั้น แต่มักจะมีอายุสั้น จากความลำเอียงในการเลือกปฏิบัติในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน หรือความเปลี่ยนแปลงในความเป็นผู้นำในพรรคร่วมรัฐบาลเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลก็จะยกเลิกให้การสนับสนุนรัฐบาล[79]

ถึงกระนั้น รัฐบาลซึ่งมีความมั่นคงก็ยังมีกำหนดวาระการทำงาน และจะต้องหลุดจากอำนาจ ทุก ๆ สี่หรือห้าปีจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ทำให้นโยบายของพรรคการเมืองที่สมัครรับเลือกตั้งนั้นส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนในระยะสั้นในระหว่างช่วงเวลาที่ตนยังคงอยู่ในอำนาจ มากกว่าที่จะเสนอนโยบายอันก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว แนวคิดดังกล่าวได้มองว่า การทำนายสภาพสังคมในระยะยาวแทบจะเกิดขึ้นตรงตามที่ทำนายไว้ทีเดียว[11]

[แก้] อิทธิพลจากชาติตะวันตก

ความตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตยนั้นมาจากอิทธิพลตะวันตกทั้งสิ้น อันเกิดมาจากการต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์ระหว่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามเย็น โดยชาติตะวันตกได้ใช้ประชาธิปไตยเป็นข้ออ้างในระหว่างสงครามเย็น จึงอาจสรุปได้ว่า ประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดจากกระบอกปืน หรืออำนาจของเงินทั้งสิ้น อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเข้าแทรกแซงทางทหาร อันเป็นการก่อตั้งสถาบันประชาธิปไตย แต่ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความต้องการของชนส่วนใหญ่ภายในประเทศนั้น

ความต้องการให้โลกทั้งใบอยู่ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว และความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยนั้นถือว่าเป็นสงครามทางความคิด ซึ่งการต่อสู้ระหว่างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกับการปกครองในรูปแบบอื่นนั้นเป็นสงครามที่ชอบด้วยเหตุผล และประชาธิปไตยสมควรที่จะได้รับชัยชนะ ทว่าการจำกัดความของประชาธิปไตยของชาติตะวันตกในปัจจุบันนี้ เป็นเพียงการปกครองโดย "กองกำลังประชาธิปไตย" เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลของชาติตะวันตก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย[80]

สถาบันอันเป็นประชาธิปไตยซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ในบางประเทศ โดยมิได้มีการลงมือปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง ดังที่ประชาธิปไตยถูกมองว่าไม่ธรรมดาหรือขัดกับวัฒนธรรมจนไม่อาจยอมรับได้ อาจส่งผลให้ความเป็นประชาธิปไตยไม่อาจยืนหยัดอยู่ได้ในระยะยาว กรณีที่สนับสนุนแนวความคิดนี้ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงสถาบันประชาธิปไตยซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นโดยแรงกดดันจากต่างชาติ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน การสนับสนุนจากต่างประเทศให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ นั้นไม่อาจหยุดยั้งความเสื่อมโทรมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้

[แก้] กระบวนการตัดสินใจล่าช้า

กระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องอาศัยการตัดสินใจของเสียงข้างมากในการตัดสินในประเด็นหนึ่ง ๆ ซึ่งมักจะใช้เวลานานกว่าการตัดสินใจโดยฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตอบสนองต่อสถานการณ์ระหว่างสงคราม ซึ่งการตัดสินใจจำเป็นต้องอาศัยความเด็ดขาดรวดเร็วในการปกครองประเทศ[11]

[แก้] การกีดกันแนวคิดอันไม่ใช่ประชาธิปไตย

บางรัฐยังได้มีการกีดกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมีความเห็นต่อต้านประชาธิปไตย และขัดขวางพรรคการเมืองซึ่งต่อต้านประชาธิปไตย ประกอบกับ พรรคการเมืองบางพรรคได้ผสมรวมแนวคิดเบ็ดเสร็จนิยมเข้าไปในทฤษฎีประชาธิปไตย อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมของวัฒนธรรมทางการเมืองเองด้วย ตลอดไปจนถึง หลักการของตลาดเสรี ซึ่งเป็นจำกัดเสรีภาพทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยไม่ได้ผลในทางทฤษฎี

นอกจากนี้ยังได้มีการเปรียบเทียบระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และกระทำการใด ๆ โดยอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไม่สมควรจะถูกล้ม ถึงแม้ว่าการกระทำนั้นจะขัดต่อศีลธรรมก็ตาม ดังนั้นรัฐต่าง ๆ จึงเกิดความเชื่อที่ว่าประชาชนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และการตัดสินใจทั้งหลายนั้นเป็นการกระทำอันสมควรดีแล้ว[80]

[แก้] ความล้มเหลวในการขจัดความเหลื่อมล้ำ

ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะกำจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ เมื่อเวลาผ่านไป ความมั่งคั่งและรายได้กระจุกตัวอยู่ในหมู่เศรษฐี และความเหลื่อมล้ำนั้นก็ยังคงเพิ่มขึ้นทุกขณะอีกด้วย นับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความล้มเหลวในทางทฤษฎีของระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ นอกจากความเหลื่อมล้ำทางด้านฐานะความเป็นอยู่แล้ว ยังได้มีความแตกต่างทางด้านเพศ ชาติพันธุ์ หรือสถานะทางสังคม

นอกจากความล้มเหลวในการกำจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างพลเมืองภายในประเทศแล้ว ในระดับโลก ความเหลื่อมล้ำระหว่างรัฐ ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยากจนของชาวแอฟริกา อันเป็นประเด็นปัญหาระดับโลก แต่ประชาธิปไตยไม่อาจยื่นมือเข้ามาเยียวยาได้ และนับวันความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจนจะยิ่งห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ[80]

[แก้] ปัญหาในด้านอื่น

  • โดยในหลายกรณี การฉ้อราษฎร์บังหลวงยังคงเป็นปัญหาที่กัดกร่อนความชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง[11]
  • การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงภายใน และความขัดแย้งของประชาชน[81]
  • แนวคิดเสียงข้างมากในประชาธิปไตย ก่อให้เกิดความเป็นเผด็จการเหนือกว่าระบบเผด็จการอื่นใดเท่าที่เคยมีมา เพราะประชาธิปไตยมีแนวคิดที่ว่า ผู้ชนะจะได้ทั้งหมด ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งทางความคิด อันเกิดจากการตัดสินใจดังกล่าวทำให้ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายชนะและถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่การร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายก็สามารถเป็นไปได้เช่นกัน[82]
  • แนวคิดประชาธิปไตยได้ใช้วิธีการหลอกล่อฝูงชน หมายถึง การสอดแทรกอารมณ์หรือความคิดเห็นให้แก่ประชาชน เพื่อดำเนินตามจุดประสงค์ของรัฐบาล[82]

[แก้] ดูเพิ่ม

แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย

แนวคิดในการแบ่งประเภทของรัฐของเพลโต

แนวคิดในการแบ่งประเภทของรัฐของอริสโตเติล

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 ประวัติศาสตร์ของระบอบประชาธิปไตยโดยบีบีซี
  2. ^ Liberty and justice for some
  3. ^ 3.0 3.1 Aristotle, Politics.1317b
  4. ^ 4.0 4.1 R. Alan Dahl, I. Shapiro, J. A. Cheibub, The Democracy Sourcebook, MIT Press 2003, ISBN 0-262-54147-5, Google Books link
  5. ^ 5.0 5.1 M. Hénaff, T. B. Strong, Public Space and Democracy, University of Minnesota Press, ISBN 0-8166-3387-8
  6. ^ 6.0 6.1 6.2 John Dunn, Democracy: the unfinished journey 508 BC - 1993 AD, Oxford University Press, 1994, ISBN 0-19-827934-5
  7. ^ Kurt A. Raaflaub, Josiah Ober, Robert W. Wallace, Origin of Democracy in Ancient Greece, University of California Press, 2007, ISBN 0-520-24562-8, Google Books link
  8. ^ Democracy in Ancient India
  9. ^ Weatherford, J. McIver (1988). Indian givers: how the Indians of the America transformed the world. New York: Fawcett Columbine. pp. 117–150. ISBN 0-449-90496-2. 
  10. ^ "The Global Trend" chart on Freedom in the World 2007: Freedom Stagnation Amid Pushback Against Democracy published by Freedom House
  11. ^ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 Advantages and disadvantages of democracy
  12. ^ GENERAL ASSEMBLY DECLARES 15 SEPTEMBER INTERNATIONAL DAY OF DEMOCRACY; ALSO ELECTS 18 MEMBERS TO ECONOMIC AND SOCIAL COUNCIL
  13. ^ Demokratia, Henry George Liddell, Robert Scott, "A Greek-English Lexicon", at Perseus
  14. ^ ปรีดี พนมยงค์. “ประชาธิปไตย” เบื้องต้นสำหรับสามัญชน. สถาบันปรีดี พนมยงค์. สืบค้นเมื่อ 22-12-2552.
  15. ^ Political Analysis in Plato's Republic at the Stanford Encyclopedia of Philosophy
  16. ^ Aristotle Book 6
  17. ^ Grinin L. E. Democracy and Early State. Social Evolution & History 3(2), September 2004 (pp. 93-149)Democracy and early State
  18. ^ Bernal, p. 359
  19. ^ Jacobsen, T. (July 1943), "Primitive Democracy in Ancient Mesopotamia", Journal of Near Eastern Studies 2 (3) : 159-72
  20. ^ Snell, Daniel C. (2001), Flight and Freedom in the Ancient Near East, Brill Publishers, p. 18, ISBN 9004120106 
  21. ^ Dio. 2.39
  22. ^ Larsen, J. A. O., Demokratia, Classical Philology, Vol. 68, No. 1 (Jan., 1973), p. 45-46
  23. ^ de Sainte Croix G. E. M., The Class Struggle in the Ancient Greek World, Ithaca, 1981
  24. ^ ANCIENT ROME FROM THE EARLIEST TIMES DOWN TO 476 A.D
  25. ^ 25.0 25.1 The National Archives | Exhibitions & Learning online | Citizenship | Struggle for democracy
  26. ^ The National Archives | Exhibitions & Learning online | Citizenship | Rise of Parliament
  27. ^ Activity Four
  28. ^ Omdirigeringsmeddelande
  29. ^ "Melanesia Historical and Geographical: the Solomon Islands and the New Hebrides", Southern Cross n°1, London: 1950
  30. ^ Jacqueline Newmyer, "Present from the start: John Adams and America", Oxonian Review of Books, 2005, vol 4 issue 2
  31. ^ Ray Allen Billington, America's Frontier Heritage (1974) 117-158. ISBN 0-8263-0310-2
  32. ^ Background on conflict in Liberia Paul Cuffee believed that African Americans could more easily "rise to be a people" in Africa than in the U.S. where slavery and legislated limits on black freedom were still in place. Although Cuffee died in 1817, his early efforts to help repatriate African Americans encouraged the American Colonization Society (ACS) to lead further settlements. The ACS was made up mostly of Quakers and slaveholders, who disagreed on the issue of slavery but found common ground in support of repatriation. Friends opposed slavery but believed blacks would face better chances for freedom in Africa than in the U.S. The slaveholders opposed freedom for blacks, but saw repatriation as a way of avoiding rebellions..
  33. ^ Introduction - Social Aspects of the Civil War
  34. ^ The French Revolution II
  35. ^ (ฝรั่งเศส) French National Assembly. 1848 « Désormais le bulletin de vote doit remplacer le fusil ». สืบค้นวันที่ 2009-09-26
  36. ^ AGE OF DICTATORS: TOTALITARIANISM IN THE INTER-WAR PERIOD
  37. ^ BBC NEWS | World | South Asia | Country profiles | Country profile: India
  38. ^ freedomhouse.org: Tables and Charts
  39. ^ 39.0 39.1 โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หลักรัฐศาสตร์. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. หน้า 73
  40. ^ A. Barak, The Judge in a Democracy, Princeton University Press, 2006, p. 40, ISBN 0-691-12017-X, Google Books link
  41. ^ T. R. Williamson, Problems in American Democracy, Kessinger Publishing, 2004, p. 36, ISBN 1-4191-4316-6, Google Books link
  42. ^ U. K. Preuss, "Perspectives of Democracy and the Rule of Law." Journal of Law and Society, 18:3 (1991). pp. 353-364
  43. ^ A. Barak,The Judge in a Democracy, Princeton University Press, 2006, p. 27, ISBN 0-691-12017-X, Google Books link
  44. ^ H. Kelsen, Ethics, Vol. 66, No. 1, Part 2: Foundations of Democracy (Oct., 1955), pp. 1-101
  45. ^ G. F. Gaus, C. Kukathas, Handbook of Political Theory, SAGE, 2004, p. 143-145, ISBN 0-7619-6787-7, Google Books link
  46. ^ The Judge in a Democracy, Princeton University Press, 2006, p. 26, ISBN 0-691-12017-X, Google Books link
  47. ^ Article on direct democracy by Imraan Buccus
  48. ^ Keen, Benjamin, A History of Latin America. Boston: Houghton Mifflin, 1980.
  49. ^ Kuykendall, Ralph, Hawaii: A History. New York: Prentice Hall, 1948.
  50. ^ Mahan, Alfred Thayer, "The United States Looking Outward," in The Interest of America in Sea Power. New York: Harper & Bros., 1897.
  51. ^ Brown, Charles H., The Correspondents' War. New York: Charles Scribners' Sons, 1967.
  52. ^ Taussig, Capt. J. K., "Experiences during the Boxer Rebellion," in Quarterdeck and Fo'c'sle. Chicago: Rand McNally & Company, 1963
  53. ^ Hegemony Or Survival, Noam Chomsky Black Rose Books ISBN 0-8050-7400-7
  54. ^ Deterring Democracy, Noam Chomsky Black Rose Books ISBN 0-374-52349-5
  55. ^ Class Warfare, Noam Chomsky Black Rose Books ISBN 1-56751-092-2
  56. ^ ธเนศวร์ เจริญเมือง. 2547. รัฐศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ (ปรับปรุงและพิมพ์ครั้งที่สอง). พิราบ สำนักพิมพ์. หน้า 27-28
  57. ^ ธเนศวร์ เจริญเมือง. 2547. รัฐศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ (ปรับปรุงและพิมพ์ครั้งที่สอง). พิราบ สำนักพิมพ์. หน้า 29
  58. ^ Aristotle, The Politics
  59. ^ Aristotle (384-322 BC) : General Introduction Internet Encyclopedia of Philosophy
  60. ^ Joseph Schumpeter, (1950). Capitalism, Socialism, and Democracy. Harper Perennial. ISBN 0-06-133008-6.
  61. ^ Anthony Downs, (1957). An Economic Theory of Democracy. Harpercollins College. ISBN 0-06-041750-1.
  62. ^ Robert A. Dahl, (1989). Democracy and its Critics. New Haven: Yale University Press. ISBN 0-300-04938-2
  63. ^ democracy - Definition from the Merriam-Webster Online Dictionary
  64. ^ republic - Definition from the Merriam-Webster Online Dictionary
  65. ^ Caplan, Bryan. "From Friedman to Wittman: The Transformation of Chicago Political Economy" (April 2005). [1]
  66. ^ Fierlbeck, K. (1998) Globalizing Democracy: Power, Legitimacy and the Interpretation of democratic ideas. (p. 13) Manchester University Press, New York
  67. ^ Shrag, P. (1994), "California's elected anarchy." Harper's, 289 (1734), 50-9.
  68. ^ 68.0 68.1 Democracy is not a good form of government
  69. ^ Is Democracy a Good Thing?
  70. ^ An Issue of Democracy
  71. ^ Is democracy better tahn dictatorship?
  72. ^ Plato, the Republic of Plato (London: J.M Dent & Sons LTD.; New York: E.P. Dutton & Co. Inc.), 558-C.
  73. ^ James Madison, Federalist No. 10
  74. ^ Abdul Qadir Bin Abdul Aziz, The Criticism of Democracy and the Illustration of its Reality
  75. ^ Pure Democracy is Evil
  76. ^ The Kingdom of God vs Democracy
  77. ^ The Failure of Democracy
  78. ^ BBC NEWS | Africa | Head to head: African Democracy
  79. ^ Sayan Das. Coalition Government And Democracy The Viewspaper
  80. ^ 80.0 80.1 80.2 Why democacry is wrong
  81. ^ Emily Matthews and Gregory Mock. More Democracy, Better Environment?
  82. ^ 82.0 82.1 An Anarchist Critique Of Democracy

[แก้] หนังสืออ่านเพิ่มเติม

  • Appleby, Joyce. (1992). Liberalism and Republicanism in the Historical Imagination. Harvard University Press.
  • Becker, Peter, Heideking, Juergen, & Henretta, James A. (2002). Republicanism and Liberalism in America and the German States, 1750-1850. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80066-2
  • Benhabib, Seyla. (1996). Democracy and Difference: Contesting the Boundaries of the Political. Princeton University Press. ISBN 978-0-691-04478-1
  • Charles Blattberg. (2000). From Pluralist to Patriotic Politics: Putting Practice First, Oxford University Press, ISBN 978-0-19-829688-1.
  • Birch, Anthony H. (1993). The Concepts and Theories of Modern Democracy. London: Routledge. ISBN 978-0-415-41463-0
  • Castiglione, Dario. (2005). "Republicanism and its Legacy." European Journal of Political Theory. pp 453–65.
  • Copp, David, Jean Hampton, & John E. Roemer. (1993). The Idea of Democracy. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-43254-2
  • Caputo, Nicholas. (2005). America's Bible of Democracy: Returning to the Constitution. SterlingHouse Publisher, Inc. ISBN 978-1-58501-092-9
  • Dahl, Robert A. (1991). Democracy and its Critics. Yale University Press. ISBN 978-0-300-04938-1
  • Dahl, Robert A. (2000). On Democracy. Yale University Press. ISBN 978-0-300-08455-9
  • Dahl, Robert A. Ian Shapiro & Jose Antonio Cheibub. (2003). The Democracy Sourcebook. MIT Press. ISBN 978-0-262-54147-3
  • Dahl, Robert A. (1963). A Preface to Democratic Theory. University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-13426-0
  • Davenport, Christian. (2007). State Repression and the Domestic Democratic Peace. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-86490-9
  • Diamond, Larry & Marc Plattner. (1996). The Global Resurgence of Democracy. Johns Hopkins University Press. ISBN 978-0-8018-5304-3
  • Diamond, Larry & Richard Gunther. (2001). Political Parties and Democracy. JHU Press. ISBN 978-0-8018-6863-4
  • Diamond, Larry & Leonardo Morlino. (2005). Assessing the Quality of Democracy. JHU Press. ISBN 978-0-8018-8287-6
  • Diamond, Larry, Marc F. Plattner & Philip J. Costopoulos. (2005). World Religions and Democracy. JHU Press. ISBN 978-0-8018-8080-3
  • Diamond, Larry, Marc F. Plattner & Daniel Brumberg. (2003). Islam and Democracy in the Middle East. JHU Press. ISBN 978-0-8018-7847-3
  • Elster, Jon. (1998). Deliberative Democracy. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-59696-1
  • Takis Fotopoulos. (2006). "Liberal and Socialist “Democracies” versus Inclusive Democracy", The International Journal Of Inclusive Democracy. 2 (2)
  • Takis Fotopoulos. (1992). "Direct and Economic Democracy in Ancient Athens and its Significance Today", Democracy & Nature, 1 (1)
  • Gabardi, Wayne. (2001). Contemporary Models of Democracy. Polity.
  • Griswold, Daniel. (2007). Trade, Democracy and Peace: The Virtuous Cycle
  • Halperin, M. H., Siegle, J. T. & Weinstein, M. M. (2005). The Democracy Advantage: How Democracies Promote Prosperity and Peace. Routledge. ISBN 978-0-415-95052-7
  • Mogens Herman Hansen. (1991). The Athenian Democracy in the Age of Demosthenes. Oxford: Blackwell. ISBN 978-0-631-18017-3
  • Held, David. (2006). Models of Democracy. Stanford University Press. ISBN 978-0-8047-5472-9
  • Inglehart, Ronald. (1997). Modernization and Postmodernization. Cultural, Economic, and Political Change in 43 Societies. Princeton University Press. ISBN 978-0-691-01180-6
  • Khan, L. Ali. (2003). A Theory of Universal Democracy: Beyond the End of History. Martinus Nijhoff Publishers. ISBN 978-90-411-2003-8
  • Hans Köchler. (1987). The Crisis of Representative Democracy. Peter Lang. ISBN 978-3-8204-8843-2
  • Lijphart, Arend. (1999). Patterns of Democracy: Government Forms and Performance in Thirty-Six Countries. Yale University Press. ISBN 978-0-300-07893-0
  • Lipset, Seymour Martin. (1959). "Some Social Requisites of Democracy: Economic Development and Political Legitimacy." American Political Science Review, 53 (1) : 69-105.
  • Macpherson, C. B. (1977). The Life and Times of Liberal Democracy. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-289106-8
  • Morgan, Edmund. (1989). Inventing the People: The Rise of Popular Sovereignty in England and America. Norton. ISBN 978-0-393-30623-1
  • Plattner, Marc F. & Aleksander Smolar. (2000). Globalization, Power, and Democracy. JHU Press. ISBN 978-0-8018-6568-8
  • Plattner, Marc F. & João Carlos Espada. (2000). The Democratic Invention. John Hopkins University Press. ISBN 978-0-8018-6419-3
  • Putnam, Robert. (2001). Making Democracy Work. Princeton University Press. ISBN 978-5-551-09103-5
  • Raaflaub, Kurt A., Ober, Josiah & Wallace, Robert W. (2007). Origins of democracy in ancient Greece. University of California Press. ISBN 978-0-520-24562-4
  • William H. Riker. (1962). The Theory of Political Coalitions Yale University Press.
  • Sen, Amartya K. (1999). "Democracy as a Universal Value." Journal of Democracy 10 (3) : 3-17.
  • Tannsjo, Torbjorn. (2008). Global Democracy: The Case for a World Government. Edinburgh University Press. ISBN 978-0-7486-3499-6. Argues that not only is world government necessary if we want to deal successfully with global problems it is also, pace Kant and Rawls, desirable in its own right.
  • Weingast, Barry. (1997). "The Political Foundations of the Rule of Law and Democracy." American Political Science Review, 91 (2) : 245-263.
  • Weatherford, Jack. (1990). Indian Givers: How the Indians Transformed the World. New York: Fawcett Columbine. ISBN 978-0-449-90496-1
  • Whitehead, Laurence. (2002). Emerging Market Democracies: East Asia and Latin America. JHU Press. ISBN 978-0-8018-7219-8
  • Willard, Charles Arthur. (1996). Liberalism and the Problem of Knowledge: A New Rhetoric for Modern Democracy. University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-89845-2
  • Wood, E. M. (1995). Democracy Against Capitalism: Renewing historical materialism. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-47682-9
  • Wood, Gordon S. (1991). The Radicalism of the American Revolution. Vintage Books. ISBN 978-0-679-73688-2 examines democratic dimensions of republicanism

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

การวิพากษ์วิจารณ์

ภาษาอื่น