ชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ใบชาเขียวในถ้วยชาจีน

ชา เป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมจากใบ ยอดอ่อน และก้าน ของต้นชา (Camellia sinensis) นำมาผ่านกรรมวิธีแปรรูปหลายหลาย "ชา" ยังหมายรวมถึงเครื่องดื่มกลิ่นหอม ที่ทำจากพืชตากแห้งชนิดต่างๆ นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อน นอกจากนี้ ชา ยังเป็นเครื่องดื่มที่มีการบริโภคมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำเปล่า

ชา สามารถแยกอย่างง่ายๆ ได้ 6 ประเภท ได้แก่ ชาขาว ชาเหลือง ชาเขียว ชาอูหลง ชาดำ และชาผูเอ่อร์ แต่ที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ ชาขาว ชาเขียว ชาอูหลง และชาดำ ซึ่งชาทุกชนิดสามารถทำได้จากต้นชาต้นเดียวกัน แต่ผ่านกรรมวิธีแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ชาขาวคุณภาพดี ต้องปลูกโดยวิธีพิเศษ ส่วนชาผูเอ่อร์ ซึ่งเป็นชาที่ได้รับการหมักบ่ม ยังใช้เป็นยาได้ด้วย

คำว่า "ชาสมุนไพร" นั้น หมายถึง น้ำที่ชงจากสมุนไพร ใบไม้ ดอกไม้ หรือผลไม้ ของพืชอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนผสมจากต้นชา ส่วนคำว่า "ชาแดง" นั้น หมายถึง น้ำที่ชงจากชาดำ (ใช้เรียกกันในเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น) และน้ำที่ชงจากต้นรอยบอส (Rooibos) ของประเทศแอฟริกาใต้

ในประเทศไทย เครื่องดื่มชาที่เป็นที่นิยม ได้แก่ ชาไทย ชานม ชามะนาว ชาไข่มุก และชาเขียว

เนื้อหา

[แก้] การจัดประเภทและการแปรรูป

แผนภูมิกระบวนการแปรรูปชาชนิดต่างๆ

ชา ถูกจัดประเภทตามกระบวนการแปรรูป หลังจากการเก็บเกี่ยว ใบของต้นชาจะถูกทิ้งให้สลด และ "บ่ม" โดย ทำให้เอนไซม์ในใบชาเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับออกซิเจนในอากาศ ใบชาจะมีสีเข้มขึ้น คลอโรฟิลล์ในใบชาจะแตกตัว กลายเป็นสารแทนนินที่ให้รสฝาด ต่อจากนั้น ต้องหยุดการทำงานของเอนไซม์ โดยใช้ความร้อน เพื่อให้หยุดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น โดยในชาดำ กระบวนการนี้จะดำเนินคู่กันไปกับการทำให้แห้ง

หากไม่ระมัดระวังในการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิระหว่างกระบวนการผลิต ใบชาอาจขึ้นรา เกิดปฏิกิริยาสร้างสารพิษที่อาจเป็นสารก่อมะเร็งขึ้นได้ ทำให้รสชาติเสียไป และอันตรายต่อการบริโภค

ชา สามารถจัดประเภทตามกระบวนการแปรรูปต่างๆ ได้ดังนี้

  • ชาขาว: ใบชาที่ถูกทิ้งให้สลด แต่ไม่ได้บ่ม
  • ชาเหลือง: ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลด และไม่ได้บ่ม แต่ทิ้งใบชาให้เป็นสีเหลือง
  • ชาเขียว: ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลดและไม่ได้บ่ม
  • ชาอูหลง: ใบชาที่ทิ้งให้สลด นวด และบ่มเล็กน้อย
  • ชาดำ: ใบชาที่ทิ้งให้สลด (อาจมีการนวดอย่างแรง) และผ่านการบ่มเต็มกระบวนการ
  • ชาหมัก: ชาเขียวที่ผ่านกระบวนการหมักนานนับปี

[แก้] ประวัติ

[แก้] ตามตำนาน

ตำนานของจีนเกี่ยวกับชาที่นิยมเล่าขานกันเรื่องหนึ่ง มีอยู่ว่า เมื่อประมาณ 2,737 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะที่เสินหนง ฮ่องเต้ในตำนานของจีน ผู้คิดค้นเกษตรกรรม และยาจีน กำลังเสวยน้ำร้อนถ้วยหนึ่งอยู่นั้น ใบไม้จากต้นไม้แถวนั้นก็ได้ร่วงลงในถ้วยใบฮ่องเต้ สีของน้ำในถ้วยก็เปลี่ยนไป ฮ่องเต้ก็ได้เสวยน้ำนั้นอีก และทรงประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่าน้ำนั้นกลับมีรสชาติดี และทรงรู้สึกสดชื่นอีกด้วย อีกตำนาน เล่าว่า ขณะที่เสินหนงฮ่องเต้ทรงกำลังทดลองสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆ ด้วยพระองค์เองอยู่นั้น พระองค์ทรงค้นพบว่าสมุนไพรบางชนิดเป็นพิษ แต่ชาก็เป็นยาถอนพิษนั้นได้ ในงานประพันธ์ของ ลู่อวี่ (陆羽, Lù Yǔ) เรื่อง ฉาจิง (茶经, 茶經, chájīng) ก็ได้มีการกล่าวถึงเสินหนงฮ่องเต้เช่นกัน ตำนานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีกตำนานหนึ่ง เล่าว่า เทพแห่งเกษตรกรรม ได้เคี้ยวพืชต่างๆ เพื่อทดสอบหาสรรพคุณของสมุนไพร ท่านเทพก็ได้ใช้ใบชาเป็ยาถอนพิษด้วยเช่นกัน

ยังมีอีกตำนานที่ย้อนไปในสมัยราชวงศ์ถัง พระโพธิธรรม ผู้ก่อตั้งนิกายเซน ได้เผลอหลับไปหลังจากการทำสมาธิหน้ากำแพงเป็นเวลาเก้าปี เมื่อท่านตื่นขึ้น ก็ได้ละอายต่อความง่วงของตนเอง จึงตัดเปลือกตาของท่านออกทั้งสองข้าง เปลือกตานั้นได้ตกลงบนพื้นดินและแทงราก ต่อมาจึงเติบโตเป็นต้นชา

แม้ว่าตำนานเหล่านี้จะไม่มีเค้าโครงความเป็นจริง แต่ชาก็มีบทบาทอย่างสูงต่อวัฒนธรรมของชาติเอเชียมาหลายศตวรรษ ในฐานะที่เป็นเครื่องดื่มหลักในชีวิตประจำวัน ยารักษาโรค หรือแม้แต่สัญลักษณ์แสดงฐานะ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่บ่อยครั้ง ตำนานเหล่านี้จะกำเนิดบนพื้นฐานทางศาสนาและพระมหากษัตริย์

[แก้] จีน

ชาวจีนรู้จักการบริโภคชามาแล้วกว่าพันปี ชาวบ้านในสมัยราชวงศ์ฮั่นใช้ชาเป็นยารักษาโรค (แม้ว่าการดื่มชาเพื่อช่วยให้กระปรี้กระเปร่านั้นเริ่มขึ้นเมื่อใด) จีนถือเป็นประเทศแรกที่รู้จักการดื่มชา โดยมีหลักฐานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสต์ศักราช

[แก้] ชนิดของชา

ชาดำ

การผลิตชาดำ ทำได้โดยการนำใบชามาทำให้แห้งโดยการรีดน้ำที่หล่อเลี้ยงให้ใบชาชุ่มชื้นออกมาเพื่อทำให้ใบชาเหี่ยวและอ่อนลีบ โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 16 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำใบชาที่แห้งแล้วนั้นมากลิ้งด้วยลูกกลิ้ง บดและฉีก ต่อจากนั้นจึงนำไปหมัก ซึ่งหลังจากกระบวนการหมักทั้งสิ้นแล้ว จะได้ใบชาที่แห้งสนิท

ชาอูหลง

การผลิตชาอูหลง ผ่านกระบวนการผลิตด้วยการหมักแต่เพียงครึ่งหนึ่ง จึงทำให้รสชาติและสรรพคุณอยู่ระหว่างชาดำและชาเขียว กระบวนการผลิตชาอูหลงเริ่มจากนำใบชามาทำให้แห้งลีบโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำไปกลิ้งด้วยลูกกลิ้ง ฉีก และหมักด้วยระยะเวลาสั้น ๆ

ชาเขียว

การผลิตชาเขียว ทำโดยนำใบชามาอบไอน้ำ หลังจากนั้นจึงนำไปกลิ้งด้วยลูกกลิ้งและทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการดังกล่าว จึงทำให้ใบชายังคงมีสีเขียว จากกระบวนการผลิตที่ง่ายและน้อยขั้นตอน ทำให้ชาเขียวยังคงมีสารในพืชที่มีประโยชน์หลงเหลืออยู่มากกว่าชาชนิดอื่น ๆ

มีการทำผลิตภัณฑ์ชาหลากหลายชนิดในยุคปัจจุบัน เช่น ชาเย็นพร้อมดื่ม และ ผสมส่วนผสมอย่างอื่นเพื่อแต่งกลิ่นและรส เช่น เนสที ชาโออิชิ

ชาตะไคร้เตยหอม

เป็นชาที่ไม่ได้ใช้ส่วนผสมจากต้นชาเลย แต่ว่านำพืชที่มีกลิ่นหอม มาหั่นพอประมาณ และอบแห้ง เป็นชาที่มีกลิ่นค่อนข้างแรง และราคาถูกกว่าชาแท้ๆ แต่รสชาติจะสู้ไม่ได้

ชามะลิ

เป็นชาที่นำชาเขียว (หรืออาจเป็นชาอื่นๆ) มาใส่ดอกมะลิที่รีดน้ำ และกลิ้งแล้ว ใส่ลงไป ปกติถ้าเป็นชาที่คุณภาพต่ำ จะไม่ใช้มะลิแท้ๆมาทำ เพียงแค่แต่งกลิ่นประกอบเพิ่มเท่านั้น ส่วนชามะลิแท้ๆ จะใส่มะลิอบแห้งไปด้วย ทำให้ได้รส และกลิ่นมะลิเต็มตัว ทำให้ราคาของชามะลิแท้จะค่อนข้างแพง

ชาใบหม่อน

เป็นชาที่กำลังได้รับความนิยม ไม่แพ้ชาชนิดอื่น โดยสรรพคุณของใบหม่อนจะช่วยป้องกันรักษา โรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด และช่วยขจัดไขมันส่วนเกินในร่างกายได้ดี อีกทั้งยังมีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับชาชนิดอื่นๆ

หม่อน (Morus spp.) สมุนไพรพื้นบ้าน อาหารของหนอนไหม กลายมาเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพชั้นเยี่ยมของมนุษย์ สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (สมมช.) ได้บุกเบิกการค้นคว้าวิจัยการผลิตชาใบหม่อนและสรรพคุณของพืชชนิดนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ร่วมกับสถาบันอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบใบหม่อนมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทุกชนิด มีแคลเซียมสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญหลายชนิด เช่น เควอซิติน (quercetin) แคมเฟอรอล (kaempferol) และ รูติน(rutin) นอกจากนั้นยังพบชาใบหม่อนมีสารดีเอ็นเจ (1-deoxynojirimycin) มีสรรพคุณลดระดับน้ำตาลในเลือด มีสารกาบา (gamma amino-butyric acid) ลดความดันโลหิต มีสารกลุ่มฟายโตสเตอโรล (Phytosterol) ลดไขมันในเลือด อีกทั้งไม่พบผลข้างเคียง จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ชาเจี่ยวกู้หลาน

เจียวกู่หลานหรือที่คนไทยเรียกว่า "ปัญจขันธุ์" มีสรรพคุณใช้บำรุงร่างกาย ระงับประสาท ช่วยให้นอนหลับ ลดความตื่นเต้น ลดความดันในโลหิต ลดคอเลสเตอรอล และกรดไขมันอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด ชะลอความชรา ยืดอายุของเซลล์เพิ่มจำนวนอสุจิ รักษาโรคปวดหัวข้างเดียว ช่วยควบคุมน้ำหนัก ได้โดยไม่ต้องอดอาหาร และช่วยสร้างภูมิต้าน ทานโรคต่าง ๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีสรรพ คุณในการควบคุมการเจริญ ของเซลล์มะเร็ง และสามารถควบคุมการแพร่การเจริญของเซลล์มะเร็งเองได้ รวมทั้งสามารถยับยั้งการทำงานของเชื้อ HIV

นพ.สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดปัญจขันธ์หรือ เจียวกู่หลาน เป็นพืชล้มลุกชนิดเถา พบมากในประเทศญี่ปุ่น จีน และในไทยสามารถปลูกได้คุณภาพดีที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ตัวยาที่สกัดได้แสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์เอชไอวีโพรทีเอส ทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีไม่เพิ่มจำนวน มีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทานในหลอดทดลอง เมื่อทดสอบกับสัตว์ทดลอง ไม่พบพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง นอกจากนั้น เมื่อทดสอบในอาสาสมัครให้รับประทานสารสกัดในแคปซูล พบว่า มีความปลอดภัย ทางสถาบันวิจัยสมุนไพรเตรียมขยายผลนำสมุนไพรมาพัฒนาเป็นยาทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน ทั้งนี้ในญี่ปุ่นและจีนใช้ปัญจขันธ์เป็นยาต้านการอักเสบ แก้ปวด แก้ไอขับเสมหะ ลดระดับไขมันในเลือด เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการเติบโตของเนื้องอก รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด

ชาหญ้าหวาน

[แก้] ประโยชน์

นักวิทยาศาสตร์ชาวสิงคโปร์พบว่า การดื่มน้ำชา ช่วยให้สมองสดชื่น ป้องกัน[[โรคอัลไซเมอร์][1] นอกจากนั้น ชาบางชนิด เช่น ชาใบหม่อน เจี่ยวกู้หลาน และชาหญ้าหวาน ยังมีประโยชน์ที่จะช่วยต้านอนุมูลอิสระ และลดคอเลสเตอรอลภายในร่างกาย ช่วยยับยั้งโรคมะเร็ง และโรคเบาหวานอีกด้วย [1]

[แก้] ข้อห้ามสำหรับผู้ดื่มชา

สตรีมีครรภ์ เด็กที่อายุน้อยกว่า3ขวบ หรือ กำลังมีประจำเดือน ไม่ควรดื่มชา เนื่องจากชา (โดยเฉพาะคุณภาพต่ำ) จะรวมตัวกับสารอาหารต่างๆที่มีประโยชน์ เช่นธาตุเหล็ก ซึ่งจะทำให้ ผู้นั้นขาดสารอาหารบางชนิดได้

ผู้ป่วยไม่ควรดื่มชา เนื่องจากยาที่กินเข้าไป อาจทำปฏิกิริยากับชานั้นๆได้

ไม่ควรดื่มชา ใกล้ๆเวลาอาหาร ควรดื่มหลังอาหารไป2-3ชั่วโมง เนื่องจากจะไปรวมตัวกับสารอาหารสำคัญได้ [ต้องการอ้างอิง]

[แก้] อ้างอิง

Commons

ดึงข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8A%E0%B8%B2".