วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
ตราสัญลักษณ์วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นสถาบันผลิตแพทย์ทหารแห่งเดียวในประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง]ก่อตั้งเป็นสถาบันแพทยศาสตร์ลำดับที่ 7 ของประเทศ จากกระแสพระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ โดยดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

  • ในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้อนุมัติจัดตั้งโรงเรียนเสนารักษ์กองทัพบกขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร ระยะเวลาศึกษา 4 ปี 6 เดือน ดำเนินการผลิตแพทย์เพื่อรับใช้กองทัพจนถึงปี พ.ศ. 2490 รวมทั้งสิ้น 4 รุ่น แล้วจึงต้องหยุดไป เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรอาจารย์แพทย์และอุปกรณ์การเรียนการสอน อย่างไรก็ตามกระทรวงกลาโหมมีความตระหนักถึงภารกิจที่สำคัญของแพทย์ทหาร คือ การอนุรักษ์กำลังรบ เพื่อทำให้กำลังพลและครอบครัว มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ พร้อมในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ จึงได้หาแนวทางปฏิบัติต่างๆ อาทิ การรับแพทย์ปริญญาที่จบจากมหาวิทยาลัยภายในประเทศเข้ารับราชการในกองทัพ ตลอดจนการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนเตรียมทหาร จากโรงเรียนเตรียมทหารที่เรียนดี ให้เลือกเข้าศึกษาวิชาแพทย์ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในระหว่างปีการศึกษา 2511 ถึงปีการศึกษา 2516 แล้วก็ต้องยุติไป เนื่องจากกระแสต่อต้านที่รุนแรงจากหลายฝ่าย ที่เกรงว่าจะทำให้ผลิตแพทย์ที่ไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่
พระราชวังพญาไท


  • วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 โดยกรมแพทย์ทหารบกได้เสนอเรื่องขอจัดตั้ง "โรงเรียนแพทย์ทหาร" เนื่องเกิดความขาดแคลนแพทย์ทหารอย่างมากในกองทัพ ทำให้มีการรื้อฟื้นแนวคิดในการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารขึ้นมาอีกครั้ง และได้รับอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ต่ต้องชะลอโครงการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารไว้ก่อน เนื่องจากการเรียนการสอนขั้นเตรียมแพทย์ ไม่ได้รับสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล


  • โครงการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารได้เริ่มขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงพระราชทานจากกระแสพระบรมราโชวาทแก่นิสิตแพทย์ ณ หอประชุมราชแพทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2516 มีใจความสำคัญว่า "เดิมทางทหารมีความจำเป็นที่จะรับสมัครแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลทหารและกิจการของทหาร เพราะว่าเวลารับสมัครแล้วไม่มีใครสมัคร และทำไมไม่มีใครสมัคร ก็เข้าใจว่า เพราะว่าการเป็นแพทย์ทหารนั้นเหนื่อย การเป็นแพทย์นี้ก็เหนื่อยอยู่แล้ว คือต้องรักษาพยาบาลคนไข้ไม่เลือก มีงานในเวลาราชการแล้ว นอกเวลาราชการก็ต้องมีงานอีก นอกจากนั้นเป็นแพทย์ทหารก็ยังมีว่า ต้องออกไปปฏิบัติงานสนาม ซึ่งอาจต้องฝ่าอันตราย คนเราที่จะต้องฝ่าอันตรายก็อาจกลัวได้ อาจเสียวว่าอาจต้องเสียชีวิต หรือจะต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้เวลาเป็นแพทย์ทหาร ไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ต้องปฏิบัติงานของตน เครื่องมือเครื่องใช้ก็อาจจะไม่ครบถ้วน ก็เกิดความรู้สึกที่ท้อใจ เพราะว่าเรียนมาแล้วมีความรู้ดี ไม่สามารถที่จะเรียนต่อ ไม่สามารถที่จะค้นคว้า ไม่สามารถที่จะมีเครื่องมือ ที่ทันสมัยที่ใหญ่โต นอกจากนั้นก็มีอื่น ๆ ก็คือเงินเดือนไม่มาก ทั้งการไปดูงานเมืองนอกก็ไม่ค่อยมีนัก ฉะนั้นก็ไม่มีใครอยากเป็นแพทย์ทหาร ก็มีความจำเป็นที่จะมีแพทย์ทหารทางราชการทหาร ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในด้านวิชานี้ ซึ่งก็มีเหตุผลอยู่เมื่อมีการแสดงความไม่พอใจ หรือไม่เห็นด้วยในการนี้ก็ทำตาม คือระงับการเรียนในมหาวิทยาลัย ก็เป็นอันว่าการวุ่นวายก็ได้ผลดีคือ ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้ ซึ่งจุดประสงค์อันนี้ก็ไม่ต้องขอบอกว่า ไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง คิดเอาเอง ครั้นมาถึงเวลาที่บอกว่าไม่มาฝากแล้ว ทางราชการทหารจะตั้งโรงเรียนแพทย์เอง คือ โรงเรียน สำหรับแพทย์ทหาร ก็เกิดโวยวายขึ้นมาใหม่โวยวายว่า ทำไมทหารต้องมีแพทย์ทหาร มีโรงเรียนแพทย์ทหาร ตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ในการที่ทหารมาฝากเรียนก็มากินที่คนอื่น เมื่อกินที่คนอื่นเขาก็ต้องทำที่ที่อื่น ไม่มาเบียดเบียน ทำไมเมื่อเขาตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารขึ้นมาจะต้องโวยวาย อันนี้ก็ต้องมีเหตุผลในสมอง ไม่ขอผ่าสมองดู ว่าคิดถูกหรือไม่ถูก หรืออาจเป็นคนละคนก็ได้ หรืออาจไม่ได้ทันคิดว่าคำพูดสองอย่างนี้มันขัดกัน ฉะนั้นก็ถึงขอร้องท่านทั้งหลายว่า ถ้าจะคิดอะไรหรือจะปฏิบัติการใด ๆ ก็ขอให้คิดให้รอบคอบเสียก่อน ว่าจะเอาอะไรแน่ ถ้าเอาอะไรแน่แล้วก็ปฏิบัติไปจะได้ผลดี" อันเป็นผลสำคัญยิ่งให้สภาการศึกษาวิชาทหารได้ให้ความเห็นชอบ ในการจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์ทหารเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2516


  • ต่อมาเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2517 กรมแพทย์ทหารบกได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นชื่อของสถาบัน จึงขออนุมัติเปลี่ยนชื่อจาก "วิทยาลัยแพทย์ทหาร" เป็น "วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า" จนถึงปัจจุบัน


  • วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ในการประชุมร่วมระหว่างกองบัญชาการทหารสูงสุดและผู้แทนสามเหล่าทัพ ได้อนุมัติให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นหน่วยงานในความรับผิดชอบของกองทัพบก โดยให้กรมแพทย์ทหารบก มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการผลิตนักเรียนแพทย์ทหารปีละ 32 นาย ในโครงการจัดตั้ง 10 รุ่น (รุ่นที่ 1 จบปีการศึกษา 2524 ถึงรุ่นที่ 10 จบปีการศึกษา 2534)


  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าแบ่งการจัดการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1.การเรียนการสอนชั้นเตรียมแพทย์ ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ตามข้อตกลงกับกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518) ให้นิสิตเตรียมแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเตรียมแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า)

2.การเรียนการสอนระดับชั้นปรีคลินิก จัดการเรียนการสอน ณ สถานที่ตั้งปัจจุบัน บริเวณวังอัศวินเดิม บนเนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน 90 ตารางวา (เดิมการเรียนการสอนใช้สถานที่สถาบันพยาธิวิทยา กรมแพทย์ทหารบก ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า)

3.การเรียนการสอนระดับชั้นคลินิก ใช้สถานที่ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (รพ.รร.6)


  • เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2518 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้รับอนุมัติเข้าสมทบกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประสาทปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต ทำให้การก่อตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีความสมบูรณ์ กระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่ง เฉพาะ) ที่ 75/18 เรื่องการแก้อัตรากองทัพบก 2506 (ครั้งที่ 123) ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมแพทย์ทหารบก และอนุมัติให้เปิดดำเนินการได้ จึงถือเอาวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 เป็นวันสถาปนาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 จึงได้ให้หน่วยขึ้นตรงและหน่วยงานต่างๆ ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ย้ายจากตึกตรวจโรค โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าไปดำเนินการต่อ ณ ตึกอำนวยการ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า)


  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้เปิดดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตรของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาเป็นเวลา 7 ปี (เตรียมแพทย์ 2 ปี ปรีคลินิก 2 ปี คลินิก 2 ปี และแพทย์ฝึกหัด 1 ปี) ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2523 จนกระทั่งทบวงมหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตเป็นเวลา 6 ปี (เตรียมแพทย์ 1 ปี ปรีคลินิก 2 ปี คลินิก 3 ปี) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าจึงได้ใช้หลักสูตรนี้มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนการเรียนในชั้นเตรียมแพทยศาสตร์ใด้เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตลอด ยกเว้นในปีการศึกษา 2528 และ ปีการศึกษา 2529 เท่านั้น ที่เรียนชั้นเตรียมแพทยศาสตร์ที่โรงเรียนเตรียมทหารร่วมด้วย


  • เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2530 ผู้บัญชาการทหารบกจึงได้อนุมัติหลักการให้ผลิตนักเรียนแพทย์ทหารเพิ่มจาก 32 นายต่อปี เป็น 65 นายต่อปี กอปรกับในขณะนั้นรัฐบาลมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มให้พอกับความต้องการของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ทำให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าเข้าร่วมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ถึงปี พ.ศ. 2544 จึงชะลอโครงการประมาณ 2 ปีเนื่องจากสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ แต่ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มดังกล่าวต่อ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าจึงกลับมารับนักเรียนแพทย์ทหารเป็น 65 นายต่อปี ในปี พ.ศ. 2547


  • ในปี พ.ศ. 2548 ด้วยเหตุผลของความขาดแคลนแพทย์และศักยภาพของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ทำให้กระทรวงสาธารณสุขให้งบประมาณสนับสนุนการผลิตแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ทำให้สามารถรับนักเรียนแพทย์ทหารได้เป็น 100 นายต่อปี แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านกำลังพลของกองทัพ ทำให้ไม่สามารถบรรจุนักเรียนแพทย์ทหารเข้ารับราชการเมื่อจบการศึกษาได้ทุกนาย วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าจึงได้ทำข้อตกลงกับสถาบันพระบรมราชชนก ให้รับบัณฑิตแพทย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าเข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุขแทน และด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้เกิดนโยบายการรับบุคคลเข้าศึกษาในวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า 100 นายแบ่งเป็น นักเรียนแพทย์ทหาร และนักศึกษาแพทย์ชาย-หญิง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนักศึกษาแพทย์ทั้งชายและหญิงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข มีสถานะเป็นพลเรือนในโรงเรียนทหาร แต่ต้องฝึกศึกษาวิชาทหารด้วย เมื่อจบแล้วทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข


  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีการพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน อาทิเช่น สนับสนุนการวิจัยให้แก่นักเรียนแพทย์ทหาร ตลอดจนอาจารย์แพทย์ทั้งชั้นปรีคลินิก และให้ทุนการศึกษาแก่ผู้มีผลการเรียนดีไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ การสนับสนุนการศึกษาต่อและดูงานต่างประเทศของอาจารย์และนักเรียนแพทย์ทหาร การก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ สระว่ายน้ำ อาคารหอพัก โรงประกอบเลี้ยงและซักรีด ทั้งยังหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อให้เพียงพอต่อการเรียนการสอน และการเรียนรู้ของนักเรียนแพทย์ทหาร เป็นต้น


  • เนื่องในโอกาสที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าก่อตั้งครบ 20 ปี จึงได้ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ขึ้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานนามว่า "พระมงกุฎเกล้าเวชวิทยา" พร้อมทั้งยังเสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2538 นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับเป็นองค์อุปถัมถ์ "มูลนิธิเพื่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า" อีกด้วย สร้างความปลาบปลื้มแก่ข้าราชการของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าเป็นอย่างยิ่ง


  • ปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้ผลิตบัณฑิตแพทย์ทหารมาแล้ว 30 รุ่น ซึ่งได้จัดสรรให้แก่เหล่าทัพต่างๆ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการทหารสูงสุด รวมทั้งกระทรวงสาธารณุสข กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือกำลังพล ครอบครัว ตลอดจนประชาชนที่อยู่ห่างไกล หรือพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งเป็นการบรรเทาการขาดแคลนแพทย์ในกองทัพ และในชนบทของประเทศได้เป็นอย่างดี

[แก้] สัญลักษณ์ประจำ

  • พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมรัศมี และพระนามาภิไธยย่อ "รร๖"ซึ่งหมายถึง รามราชาธิบดีรัชกาลที่ 6 ผู้ทรงสร้างพระราชวังพญาไท และ พญานาค ซึ่งหมายถึงวิชาแพทย์
  • ดอกอินทนิล เป็นดอกไม้ประจำวิทยาลัย
  • สีขาบ หรือ น้ำเงินเข้ม เป็นสีประจำวิทยาลัย
  • วันสถาปนา วพม. 16 มิถุนายน ของทุกปี

[แก้] ภาควิชา

ปัจจุบัน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ประกอบด้วยภาควิชา 21 ภาควิชา ได้แก่

  • ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
  • ภาควิชาชีวเคมี
  • ภาควิชาสรีรวิทยา
  • ภาควิชาเภสัชวิทยา
  • ภาควิชาจุลชีววิทยา
  • ภาควิชาพยาธิวิทยา
  • ภาควิชาปาราสิตวิทยา
  • ภาควิชาเวชศาสตร์ทหารและชุมชน
  • ภาควิชาอายุรศาสตร์
  • ภาควิชาศัลยศาสตร์
  • ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
  • ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
  • ภาควิชาศัลยศาสตร์ออโธปิดิกส์
  • ภาควิชาจิตเวชและประสาทวิทยา
  • ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
  • ภาควิชารังสีวิทยา
  • ภาควิชาจักษุวิทยา
  • ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
  • ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
  • ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว

[แก้] ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

  • 1. พลตรี ยง วัชระคุปต์ พ.ศ. 2518-2520
  • 2. พลตรี สอาด ประเสริฐสม พ.ศ. 2520-2524
  • 3. พลตรี สิงหา เสาวภาพ พ.ศ. 2524-2527
  • 4. พลตรี อมฤต ณ สงขลา พ.ศ. 2527-2531
  • 5. พลตรี ปัญญา อยู่ประเสริฐ พ.ศ. 2531-2532
  • 6. พลตรี ธรรมนูญ ยงใจยุทธ พ.ศ. 2532-2535
  • 7. พลตรี สุจินต์ อุบลวัตร พ.ศ. 2535-2536
  • 8. พลตรี ปรียพาส นิลอุบล พ.ศ. 2536-2538
  • 9. พลตรี จุลเทพ ธีระธาดา พ.ศ. 2538-2540
  • 10.พลตรี ประวิชช์ ตันประเสริฐ พ.ศ. 2540-2541
  • 11.พลตรี บุญเลิศ จันทราภาส พ.ศ. 2541-2544
  • 12.พลตรี อิสสระชัย จุลโมกข์ พ.ศ. 2544-2546
  • 13.พลตรี สหชาติ พิพิธกุล พ.ศ. 2546-2549
  • 14.พลตรี ภานุวิชญ์ พุ่มหิรัญ พ.ศ. 2549-2550
  • 15.พลตรี กิตติพล ภัคโชตานนท์ พ.ศ. 2550-2552
  • 15.พลตรี กฤษฎา ดวงอุไร พ.ศ. 2552-ปัจจุบัน

[แก้] สิทธิที่จะได้รับขณะกำลังศึกษาและเมื่อจบการศึกษา

  • นักเรียนแพทย์ทหารชายและหญิง มีสภาพเป็นนักเรียนทหารของกองทัพบก มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่านักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
  • นักเรียนแพทย์ทหารชายจะได้รับการขึ้นทะเบียนกองประจำการตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 และนักเรียนแพทย์ทหารหญิงก็จะได้รับการบรรจุรับราชการตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 หากได้รับบบรจุเข้าสังกัดกองทัพ
  • นักเรียนแพทย์ทหารได้รับการจัดสถานที่พัก เครื่องนอน เครื่องแต่งกาย เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง อุปกรณ์การเรียน การรักษาพยาบาล และสิทธิอื่นๆ ตามที่ทางราชการกำหนด
  • นักเรียนแพทย์ทหารเข้าศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน และค่าหน่วยกิตใดๆ ทั้งสิ้นตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 จนจบการศึกษา ทั้งนี้ตามที่ระเบียบวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ากำหนดไว้ในแต่ละปี
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีทุนการศึกษาให้กับนักเรียนแพทย์ทหารที่มีผลการเรียนดี หรือที่มีปัญหาทางด้านการเงิน
  • เมื่อจบการศึกษาจะได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล
  • นักเรียนแพทย์ทหาร ทุนกองทัพบกจะได้รับยศเป็นนายทหารสัญญาบัตร(ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี) และบรรจุเข้ารับราชการเป็นแพทย์ทหารในสังกัดกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หรือกองบัญชาการทหารสูงสุด
  • นักเรียนแพทย์ทหาร ทุนสาธารณสุข หากไม่ได้รับบรรจุเป็นแพทย์ทหารเข้าสังกัดกองทัพ จะได้รับยศว่าที่ร้อยตรี และบรรจุเข้ารับราชการเป็นแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับแพทย์ที่จบจากสถาบันพลเรือนอื่น ๆ
  • ปัจจุบันวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้เปิดรับนักศึกษาแพทย์ชายและหญิงด้วย โดยมีสถานะเป็นนักศึกษาแพทย์พลเรือนที่ศึกษาในโรงเรียนทหาร แต่จะได้รับการฝึกฝนวินัยทางทหารด้วย สิทธิที่ได้รับให้อ่านได้ตามประกาศในแต่ละปีที่รับสมัคร
  • ผู้ที่มีผลการเรียนดีตลอดหลักสูตร มีทุนกองทัพบกสนับสนุนให้ไปศึกษาต่อเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ

[แก้] โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร กรมแพทย์ทหารบก กองทัพบก

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น