โปรเตสแตนต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก นิกายโปรแตสแตนท์)

ส่วนหนึ่งของ
คริสต์ศาสนา


Gold Christian Cross no Red.svg
ประวัติคริสต์ศาสนา
พระเจ้า
พระยาห์เวห์
ศาสดา
พระเยซู
ความเชื่อและการปฏิบัติ
ปรัชญา · เทวดา · พิธีสำคัญ
คัมภีร์และหนังสือ
ไบเบิล · พันธสัญญาเดิม ·
พันธสัญญาใหม่ · พระวรสาร
นิกาย
โรมันคาทอลิก ·
อีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ ·
โอเรียนทัลออร์โธด็อกซ์ ·
อังกลิคัน · โปรเตสแตนต์ ·
คริสต์ศาสนปฏิรูป
สังคมคริสต์ศาสนา
เมือง · คริสตกาล · คริสต์ศักราช ·
สถาปัตยกรรม · ศิลปะ · บุคคล ·
นักบุญ
ดูเพิ่มเติม
กฏบัตร ·
ศัพท์เกี่ยวกับคริสต์ศาสนา ·
หมวดหมู่คริสต์ศาสนา
จัดการ: แม่แบบ  พูดคุย  แก้ไข

โปรเตสแตนต์ (Protestant) เป็นนิกายหนึ่งในคริสต์ศาสนา

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

นิกายโปรเตสแตนต์มีกำเนิดมาจากความคิดเห็นที่แตกแยกกันในเรื่องความเชื่อและการใช้ชีวิตของคริสตชน โดยคำว่า "โปรเตสแตนต์" (Protestant) แปลว่า "ผู้ประท้วง" หรือ "ผู้คัดค้าน" แยกตัวออกมาในปี ค.ศ. 1529 โดย มาร์ติน ลูเทอร์ และผู้สนับสนุน ในยุคที่ฝ่ายคาทอลิกเกิดปัญหาขึ้นมากมาย

มาร์ติน ลูเทอร์ (10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1483-1546) เกิดที่เมืองไอสเลเบน แคว้นแซกโซนี ประเทศเยอรมนี บิดามารดาเป็นคนยากจนและไม่ได้รับศึกษา เมื่อเติบโตขึ้นก็ไม่มีเงินจะให้ลูเทอร์เข้าโรงเรียน ลูเทอร์ต้องเที่ยวร้องเพลงขอทานตามบ้านต่าง ๆ เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนในโรงเรียน เผอิญมีหญิงมั่งคั่งคนหนึ่งเกิดความเมตตาได้ช่วยเหลือให้เข้ามหาวิทยาลัยเมื่อ ค.ศ. 1500

ลูเทอร์ได้ศึกษาศาสนศาสตร์ วรรณคดี ดนตรี และที่เอาใจใส่มากที่สุดคือกฎหมาย บิดาของลูเทอร์ก็ปรารถนาให้ลูเทอร์เป็นนักกฎหมาย แต่เมื่ออายุ 22 ปีเกิดเหตุการณ์หนึ่งคือเพื่อนของลูเทอร์ถูกฆ่าตายในระหว่างดวลต่อสู้กับบุคคลหนึ่ง ทำให้ลูเทอร์กลายเป็นคนกลัวผี ขี้ขลาด ต่อมาอีก 2-3 วันลูเทอร์จะเข้าประตูมหาวิทยาลัย ก็เกิดฝนตกฟ้าร้อง ฟ้าผ่ามาใกล้ ๆ ลูเทอร์ได้อธิษฐานว่า ถ้ารอดพ้นไปได้จะบวชเป็นพระ

ต่อมาในไม่ช้าในวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1505 ลูเทอร์ก็เข้าไปอยู่ในอารามออกัสติเนียน (Augustinian Monastery) ในมหาวิทยาลัยวิตเตนเบิร์ก ตั้งหน้าศึกษาพระคัมภีร์อย่างเอาใจใส่ เป็นคนเฉลียวฉลาด พูดเก่ง จนในที่สุดก็ได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้น

ในปี ค.ศ. 1511 ขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในอาราม ลูเทอร์ได้มีโอกาสไปแสวงบุญที่โรม และได้พบเห็นชีวิตของสันตะปาปาโอ่โถงหรูหราจนเกือบไม่มีกษัตริย์องค์ใดสู้ได้ และเห็นว่าพระไม่ควรดำเนินชีวิตอย่างนั้น

จนในปี ค.ศ. 1515 สันตะปาปาเลโอที่ 20 อยากจะสร้างโบสถ์ให้งดงามสมตำแหน่งจึงได้ตั้งบัญญัติใหม่ว่า ถึงแม้จะทำความผิดเป็นอุกฉกรรจ์มหันตโทษเพียงไร ก็สามารถล้างบาปได้โดยซื้อใบฎีกาไถ่บาป และบรรดานายธนาคารทั้งหลายในประเทศต่าง ๆ ก็ตกลงเป็นเอเยนต์รับฝากเงินที่คนทั้งหลายจะชำระล้างบาปโดยไม่ต้องส่งไปโรม ลูเทอร์ได้เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกประชุมผู้รู้ทั้งหลายมาปรึกษา โต้เถียงกับบัญญัติใหม่

จนเดือนตุลาคม ค.ศ. 1517 ลูเทอร์ได้นำประกาศที่เรียกว่า ”ข้อวินิจฉัย 95 เรื่อง” (The 95 Theses) ไปปิดไว้ที่ประตู้หน้าโบสถ์เมืองวิตเตนเบิร์ก ซึ่งมีเนื้อหาประณามการขายใบไถ่บาปของสันตะปาปา และการกระทำที่เหลวแหลกอื่น ๆ ความคิดของลูเทอร์ได้รับการสนับสนุนจากมหาชนเยอรมันเป็นจำนวนมาก แล้วแพร่หลายออกไปทั่วยุโรป

การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้พระสันตะปาปาและฝ่ายสังฆราชไม่พอใจ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1520 ลูเทอร์ได้รับหมายบัพพาชนียกรรม ”ขับออกจากการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร” (Excommunication) โดยที่ลูเทอร์ต้องออกจากเขตปกครองของจักรพรรดิ ไปหลบที่วอร์มส์พร้อมกับผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่ง ที่นั่นท่านได้แปลพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาเยอรมัน และได้เขียนงานเกี่ยวกับพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งมิซซาและศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacraments) ซึ่งลูเทอร์ตั้งใจที่จะให้ชาวบ้านซึ่งไม่เข้าใจภาษาละติน สามารถเข้าถึงหลักคำสอนและมีส่วนร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆ ได้

[แก้] ลูเทอร์ได้ตั้งลัทธิลูเทอรัน

ขึ้นโดยมีหลักความเชื่อดังนี้

1. ผู้ชอบธรรมจะต้องดำรงชีวิตด้วยความเชื่อเท่านั้น (The Just shall live by Faith alone) คือยืนยันว่าชีวิตนิรันดร์และความรอด เป็นรางวัลที่พระเจ้าประทานให้แก่ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ และการไถ่บาปได้มาจากพระเมตตาของพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งเป็นการต่อต้านความเชื่อของสถาบันสันตะปาปา เกี่ยวกับความจำเป็นของพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความรอด และการไถ่บาป

2. ผู้ที่เชื่อทุกคนคือผู้รับใช้พระเจ้า (Priesthood of all Believers) คือการยกเลิกนักบวชในศานาว่าเป็นผู้กุมกรรมสิทธิ์ในการติดต่อกับพระเจ้า ตามการกล่าวอ้างของสถาบันศาสนา แต่เน้นสิทธิของแต่ละบุคคลที่จะสามารถมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพระเจ้าได้

3. เชื่อในคำตรัสของพระเยซูในการรับประทานอาหารมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ถือว่ามีความหมายยิ่งของศาสนาเพราะเป็นการสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูและมนุษย์

4. สิทธิอำนาจสูงสุดมีสิ่งเดียวคือ ”พระวจนะของพระเจ้า” (Word of God) นั่นคือพระวจนะที่อยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล, พระวจนะที่ได้ยินจากคำเทศน์บนธรรมมาสน์ และพระวจนะที่อยู่ในพิธีบัพติสมาและศีลมหาสนิท ดังนั้นจึงเป็นการยกเลิกการยอมรับตามสถาบันสันตะปาปาที่ว่าที่มาแห่งสิทธิอำนาจในศาสนาประกอบด้วยพระคัมภีร์ พิธีกรรม และสถาบันศาสนา คือเป็นการประกาศยกเลิกอำนาจของสันตะปาปานั่นเอง

5. เชื่อในพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระเจ้า ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจพระองค์ ทำให้มนุษย์ไร้ความหมายที่จะกระทำสิ่งใดด้วยใจอิสระของตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงพระประสงค์ และน้ำพระทัยของพระเจ้าได้

โดยข้อคิดทั้งหมดนี้ถือเป็นหลักของ ”กลุ่มคริสต์ศาสนปฏิรูป” (Reformed Church) ซึ่งประกาศเป็นทางการในปี ค.ศ. 1530 ณ การประชุมที่เมืองออกสเบิร์ก (The Diet of Augsburg) ที่แบ่งแยกผู้ติดตามลูเทอร์เป็นนิกายใหม่แยกจากสถาบันศาสนาที่โรม เอกสารรวมความเชื่อนี้เรียกว่าเอกสาร ”การสารภาพแห่งเมืองออกสเบิร์ก” (The Confession of Augsburg) ซึ่งเรียกรวมขบวนการปฏิรูปศาสนาที่แยกตัวจากโรมนี้เรียกว่า พวกโปรเตสแตนต์ (The Protestants)

หลังจากการประท้วงดังกล่าวได้ทำให้เกิดคลื่นกระแสการปฏิรูปศาสนาในยุโรปขยายออกไป เริ่มจากในเยอรมนีโดยลูเทอร์ ไปสวิสเซอร์แลนด์โดยอูลริค สวิงกลิ (Ulrich Zwingli ค.ศ. 1484-1531), ในฝรั่งเศสโดยจอห์น คาลวิน (John Calvin ค.ศ. 1509-1564) และกลายเป็นนิกายคาลวิน (Calvinism) ซึ่งแพร่หลายอย่างรวดเร็วไปยังเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ฮังการี สกอตแลนด์ และโปแลนด์ ในประเทศอังกฤษ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (ค.ศ. 1509-1547) ซึ่งประสงค์จะหย่าจากพระมเหสีเพื่อจะอภิเษกสมรสกับคนใหม่ เพราะคนเดิมไม่สามารถมีพระโอรสเพื่อสืบราชบัลลังก์ แต่พระสันตะปาปาไม่อนุญาตให้หย่า อังกฤษจึงแยกจากโรมนับแต่นั้นโดยตั้งองค์การขึ้นมาใหม่เรียกว่า ”คริสตจักรอังกฤษ” (Church of England) ซึ่งพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขเสียเอง ซึ่งนิกายอังกลิคันนี้ยังคงรักษาหลักสำคัญบางประการของคาทอลิกไว้เพียงแต่ไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของสันตะปาปาเท่านั้น

[แก้] การปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์

การปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์ คือขบวนการการปฏิรูปศาสนาที่เริ่มโดย มาร์ติน ลูเทอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1517 เพื่อแก้ไขความเสื่อมโทรมของนิกายโรมันคาทอลิก และสถาบันสันตะปาปา มาเสร็จสิ้นลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย ค.ศ. 1648[1] ผลจากการปฏิรูปคือการแยกตัวจากนิกายคาทอลิกมาเป็นนิกายโปรเตสแตนต์

[แก้] นิกายต่าง ๆ ของโปรเตสแตนต์

การกำเนิดของนิกายโปรเตสแตนต์ มีผลสำคัญทั้งทางศาสนา และการเมืองมาก เพราะเป็นการทำลาย การติดต่อเกี่ยวพัน ในระหว่างพวกคริสต์ และทำให้กลุ่มคาทอลิก สังคายนาระเบียบ ของตัวเองให้เรียบร้อยขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้ฝ่ายคาทอลิก ตัดรอนอำนาจของสันตปาปาในกรุงโรม ทำให้เกิดรัฐอิสระอีกหลายแห่ง ดังนั้น ในช่วงนี้ จึงเรียกว่าเป็น ช่วงปฏิรูปศาสนาหรือ Reformation การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อนิกายเล็ก ๆ ในภายหลัง โดยกลุ่มที่เป็นตัวเคลื่อนไหวนี้ มีดังนี้คือ

[แก้] นิกายลูเทอรัน (Lutheranism)

ตรงจุดนี้ ได้นำไปสู่การแตกแยกเป็นนิกายใหม่ ในเวลาต่อมา ชีวิตของลูเทอร์ ในระยะนี้ต้องหลบตลอดเวลา แต่ก็ทำให้มีเวลาแปลพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาเยอรมัน และได้เขียนเกี่ยวกับพิธีกรรมรวมทั้งศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นภาษาเยอรมัน เพื่อให้ชาวบ้านและคนทั่วไปสามารถเข้าใจหลักคำสอนและพิธีกรรม ซึ่งแต่เดิมมาเขียนเป็นภาษาละติน จึงยากแก่การสื่อความหมายให้เข้าถึงได้ จึงรู้ได้เฉพาะปัญญาชน นักบวช และนักศาสนาเท่านั้น

ผลงานของลูเทอร์นี้ ได้สร้างคุณประโยชน์ แก่ผู้ที่ไม่รู้หนังสือละติน ได้มีโอกาสเข้าใจแก่นแท้ ของศาสนาได้ด้วยตนเอง ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของลูเทอร์ ที่ต้องการให้บุคคลสามารถ รับผิดชอบใน ความเชื่อของตน โดยไม่ต้องอาศัยบุคคลที่ 3 เช่น พระหรือนักบวช กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในศาสนา เป็นเพียง สิ่งเปลือกนอก ที่ไม่สำคัญเท่ากับการที่บุคคลนั้นได้เผชิญหน้า ต่อพระพักตร์พระเจ้า ด้วยตนเอง นิกายนี้ จึงได้ตัดประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนศีลศักดิ์สิทธิ์บางเรื่องออกไปเหลือแต่ศีลล้างบาป และศีลมหาสนิท และสนับสนุนให้บุคคลเอาใจใส่ต่อพระคัมภีร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระวจนะของพระเจ้า ที่ทำให้มนุษย์ เข้าถึง ความรอด ส่วนบุคคลภายในโบสถ์ของโปรเตสแตนต์ จึงไม่มีรูปเคารพ และศิลปกรรมที่ตกแต่ง ดังเช่น โบสถ์คาทอลิก บนแท่นบูชามีเพียงพระคัมภีร์เท่านั้น ที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ส่วนอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากนี้เป็นเพียง เปลือกนอกที่มาจากตัณหาของมนุษย์ และทำให้เราเกิดความยึดถือ ยึดติด ไม่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้

[แก้] กลุ่มคริสต์ศาสนปฏิรูป (Reformed Christianity)

ฮุลดริค ซวิงกลี (Ulrich Zwingli) เกิดที่สวิสเซอร์แลนด์ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1484 - 1531 ได้รับแนวความคิดจากลูเทอร์ และปรัชญามนุษยนิยม อูลริชไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า พิธีล้างบาป และพิธีศีลมหาสนิท เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นเพียงความเชื่อภายนอกเท่านั้น หาใช่ความเชื่อในพระเจ้าอย่างแท้จริง เพราะพิธีล้างบาป ก็คือการปฏิญาณตน และพิธีศีล มหาสนิท ก็คือการระลึกถึงวันเลี้ยงมื้อสุดท้ายของพระเยซูเท่านั้น พิธีเหล่านี้ไม่ใช่พิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ในตัวของมันเอง ดังที่เชื่อกัน ในสมัยนั้น จนทำให้คนส่วนมากละเลยที่จะศึกษาพระวจนะ เขาได้ปรับพิธีกรรมให้เรียบง่าย และเน้นที่แก่นแท้ของคำสอน

นิกายคาลวิน (Calvinism) ผู้ริเริ่มและบุกเบิกนิกายนี้ คือ จอห์น คาลวิน หรือกาลแวง เป็นชาว ฝรั่งเศส ได้รับการศึกษาที่ มหาวิทยาลัยปารีส ต่อมาได้สนใจ แนวคิดทางศาสนาของลูเทอร์และสวิงลี จึงได้รับคำสอนเหล่านั้นมาปรับปรุง คำสอนของเขาแพร่หลายเข้าไปถึงประเทศอังกฤษ ซึ่งเรียกว่า เปรสไบทีเรียน

คาลวินมีอิทธิพลในกรุงเจนีวา เขาถูกเชิญไปที่นั่นหลายครั้ง จนกระทั่ง ได้อาศัยอยู่ที่เจนีวา จนสิ้นใจ ในปี 1564 ผลงานที่สำคัญ คือ หนังสือศาสนา ที่ต่อมาได้กลายเป็นหลัก เทวศาสตร์ ของโปรเตสแตนต์ ชื่อ "สถาบันทางศาสนาคริสต์" (The Institutes of the Christian Religion) แต่เดิมเขียนเป็นภาษาละติน แต่ถูกแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ในเวลาต่อมา และถูกพิมพ์ถึง4 ครั้ง ในช่วงที่คาลวินมีชีวิตอยู่ หนังสือเล่มนี้ ช่วยให้เราสามารถเข้าใจ ศรัทธาของชาวคริสต์ คำสอนของ นักบุญออกกัสติน (Augustin) อีกทั้งทำให้เราเข้าใจ อำนาจของพระเจ้า เข้าใจในเรื่องบาปกำเนิด และชะตาที่ถูกลิขิตโดยพระเจ้า นอกจากนี้ คาลวินได้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยเจนีวา และทำให้กรุงเจนีวา เป็นศูนย์นัดพบของชาวโปรเตสแตนต์ทั่วยุโรป

[แก้] นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ (Church of England)

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "แองกลิกัน" มีกำเนิดในประเทศอังกฤษ โดยมีสาเหตุมาจากพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ต้องการให้พระสันตะปาปา ที่กรุงโรมอนุญาตให้หย่าร้าง และอภิเษกสมรสใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธจาก พระสันตะปาปา จึงไม่พอพระทัย ประกาศตั้งนิกายใหม่ที่เรียกว่า เชิร์ชออฟอิงแลนด์ ไม่ขึ้นต่อกรุงโรม และทรงแต่งตั้ง โธมัส แคลนเมอร์ เป็นอาร์คบิชอป แห่งแคนเทอเบอรี่

[แก้] กลุ่มคณะเพ็นเทคอส (Pentecostal)

สหรัฐอเมริกาได้รับอิทธิพลคำสอนของกลุ่มขบวนการชีวิตที่บริสุทธิ์ (Holiness Movement) แล้วนำมาสอนในโรงเรียน ให้มีการรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ มีพระคัมภีร์เป็นมาตรฐานของความเชื่อและการดำเนินชีวิต แต่จะเน้นหนักในเรื่องของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของประทานและการอัศจรรย์ ให้ความสำคัญเรื่องของนิมิตคำพยากรณ์และการทรงสำแดงของพระเจ้า เน้นให้พระวิญญาณทรงนำ เพราะฉะนั้นแม้จะมีระเบียบการนมัสการ แต่ก็ไม่ได้ยึดถืออย่างเคร่งครัด ให้เป็นอิสระภายใต้การนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์

[แก้] กลุ่มคณะแบ๊พติสต์ (Baptist)

เริ่มมาจาก กลุ่มหนึ่งของพิวริตินในอังกฤษ ที่แยกตัวจากคริสตจักรแห่งอังกฤษ ต่อมาได้ขยายไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา เน้นว่าความรอดเป็นของส่วนบุคคล จึงควรให้ศีลจุ่ม (บัพติศมา) แก่ผู้ที่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้เท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการให้บัพติศมาแก่เด็ก และต้องเป็นแบบจุ่มทั้งตัวลงไป โดยอ้างจากรากภาษาเดิมของคำว่า แบ๊พติสต์ แปลว่า การฝังลงไป เป็นเครื่องหมายของ การฝังชีวิตเก่าขึ้นจากน้ำ หรือ การเป็นขึ้นมาใหม่ กลุ่มนี้มีพระคัมภีร์เป็นมาตรฐานความเชื่อ และการดำเนินชีวิต ให้ความสำคัญด้านสัมพันธภาพสมาชิก

[แก้] กลุ่มคณะเพรสไบทีเรียน (Presbyterian)

ก่อตั้งในช่วงปี ค.ศ. 1530 โดย จอห์น กาลแวง เป็นนิกายที่แยกย่อยมาจากโปรเตสแตนต์ มุ่งหวังให้จัดวงการบาดหลวง ให้เป็นระเบียบแบบแผน ความเชื่อของนิกายนี้คือถือศรัทธาเป็นใหญ่ ถือว่าพระพรของพระเจ้า เปลื้องทุกข์ให้มนุษย์ มาถึงโดยตรงต่อผู้มีศรัทธา ไม่ใช่มาจากพระผู้ทำพิธี ซึ่งเป็นเพียงผู้ทำตามระเบียบปกครองของคณะที่มีอยู่เท่านั้น

[แก้] กลุ่มคณะเมทอดิสต์ (Methodism)

เกิดขึ้นโดยจอห์น เวสลีย์ (John Wesley ค.ศ. 1703 - 1791) เป็นชาวอังกฤษ ที่มีจุดประสงค์ ต้องการให้ ผู้นับถือพระเจ้า มีอิสรภาพมากขึ้น สามารถปฏิบัติศาสนา ไปตามหลักของเหตุผลให้เหมาะแก่ชีวิตของตน

[แก้] กลุ่มเควกเกอร์ (Quaker) หรือสมาคมมิตรภาพ (Society of Friends)

เกิดในอังกฤษ โดยยอร์ช ฟอกซ์ (George Fox ค.ศ. 1624 - 1691) แต่แพร่หลายในอเมริกาโดย วิลเลี่ยม เพน (William Penn ค.ศ. 1644-1718) โดยเฉพาะในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นดินแดนแห่งแรกที่เพนได้มาตั้งรกรากและทำการเผยแพร่ศาสนา นิกายนี้ต้องการรื้อฟื้นศาสนาคริสต์แบบดั้งเดิม จึงเน้นประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงพระเจ้า โดยใช้แสงสว่างที่เกิดขึ้นภายใน (Inner Light)

[แก้] กลุ่มเซเวนเดย์ แอดเวนติสต์ (Seven Day Adventists)

เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของกลุ่มแอดแวนติสต์ กลุ่มนี้เน้นวันสุดท้ายของโลก และการเสด็จมาของพระคริสต์ในวันพิพากษาโลกเพื่อทำให้บริสุทธิ์อีกครั้ง ผู้นับถือมีทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้น กลุ่มนี้ได้ส่งศาสนทูตเข้ามาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1918

นอกจากนี้ ยังมีลัทธิที่มีหลักข้อเชื่อแตกต่าง แตกแขนงต่าง ๆ ออกไปอีกมากมาย โดยมีรายละเอียดความเชื่อแตกต่างกันไป ได้แก่ พยานพระยะโฮวาห์ (Jehovah's Witnesses), มอร์มอน (Mormon), ลัทธิมูนนี่, โยเร (Joreh) ฯลฯ

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Simon, Edith (1966). Great Ages of Man: The Reformation. Time-Life Books. pp. pp. 120-121. ISBN 0662278208.