สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก โมเดิร์นไนน์ทีวี)
สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์
Modernine TV
ตราสัญลักษณ์ โมเดิร์นไนน์ทีวี
เริ่มออกอากาศ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 (อายุ 54 ปี)
เครือข่าย สถานีโทรทัศน์
เจ้าของ บมจ.อสมท (SET:MCOT)
ก่อตั้ง: 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495
(อายุ 57 ปี)
ระบบภาพ 576i (PAL)
4:3 SDTV
บุคลากรหลัก ธนวัฒน์ วันสม ผู้อำนวยการสถานีฯ
คำขวัญ สังคมอุดมปัญญา
ก้าวไกลรับใช้ประชาชน
ประเทศ Flag of ไทย ไทย
พื้นที่แพร่ภาพ Flag of ไทย ประเทศไทย
สำนักงานใหญ่ เลขที่ 63/1 ถนนพระรามที่ 9
แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ชื่อเดิม สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4
(พ.ศ. 2498-พ.ศ. 2517)
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 และ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
(พ.ศ. 2519-พ.ศ. 2545)
สถานีพี่น้อง สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
สถานีวิทยุเอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิร์ตซ์
เว็บไซต์ modernine.mcot.net
ช่องรายการที่แพร่ภาพ
ภาคพื้นดิน
แอนะล็อก
(วีเอชเอฟ)
ช่อง 9
โทรทัศน์ดาวเทียม
ไทยคม 5 H-3520 SR.15625
ทรูวิชั่นส์ ช่อง 4
ดีทีวี ช่อง 4
โทรทัศน์เคเบิล
ทรูวิชั่นส์ ช่อง 4

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (อังกฤษ: Modernine TV) เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย บริหารงานโดย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.อสมท โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ในนาม สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ที่ตั้งปัจจุบัน อยู่ภายในที่ทำการ บมจ.อสมท เลขที่ 63/1 ถนนพระรามที่ 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

เนื้อหา

[แก้] สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 หรือ TTV (อังกฤษ: Thai Television Channel 4 ชื่อย่อ: ไทย ที.วี.) นับว่าเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Co.,Ltd. ชื่อย่อ: ท.ท.ท.) โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 มีชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ว่า HS1-TV ตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน อันเป็นที่มาของชื่อสถานีฯ ที่รู้จักกันทั่วไปคือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม

กล้องช่อง 4 บางขุนพรหม
เสาส่งช่อง 4 บางขุนพรหม

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 ถือกำเนิดขึ้นจากความคิดเห็นของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และบรรดาข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น ว่าต้องการที่จะให้ประเทศไทย มีการส่งโทรทัศน์ในประเทศขึ้น โดยมีข้าราชการของกรมฯรายหนึ่งคือ นายสรรพสิริ วิริยศิริ ข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ ได้เขียนบทความลงในหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เผยแพร่เทคโนโลยีการสื่อสารชนิดใหม่ในขณะนั้น โดยเขียนชื่อหนังสือว่า วิทยุภาพ ในปี พ.ศ. 2492 ต่อมา กลุ่มข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมฯ ให้ไปศึกษางานด้านโทรทัศน์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2492 ถึง พ.ศ. 2493 หลังจากกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็ได้แสดงความคิดเห็นกับรัฐบาลเรื่องการจัดตั้งกิจการโทรทัศน์ไว้ว่า "ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมี TELEVISION" ผู้นำรัฐบาลจึงได้ให้ กรมประชาสัมพันธ์ จัดตั้ง โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ ต่อที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2493 และต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งวิทยุโทรภาพและตั้งงบประมาณขึ้น ในปี พ.ศ. 2494 และในระหว่างเดือนกันยายน - พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เหล่าข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์รวมไปถึงบุคคลในคณะรัฐมนตรีทั้ง 7 คน ได้จัดตั้ง บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ขึ้น เพื่อดำเนินการส่งโทรทัศน์ครั้งแรกในประเทศไทย

คณะผู้ก่อตั้งบริษัท มีอยู่ 7 คน ประกอบไปด้วย หลวงสารานุประพันธ์ , ขาบ กุญชร , ประสงค์ หงสนันทน์, เผ่า ศรียานนท์, เล็ก สงวนชาติสรไกร, มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์ และ เลื่อน พงษ์โสภณ ก่อนการจัดตั้งบริษัทฯนั้น ได้มีการระดมทุนจาก กรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 11 ล้านบาท และหน่วยงานภาครัฐแห่งอีก จำนวน 8 แห่ง ถือหุ้นมูลค่า 9 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท

คณะผู้ปฏิบัติงานในยุคแรก ได้แก่

ต่อมา นายประสิทธิ์ ทวีสิน ประธานกรรมการ บริษัท วิเชียรวิทยุและโทรภาพ จำกัด โดยนำเครื่องส่ง 1 เครื่อง เครื่องรับ 4 เครื่องหนักกว่า 2 ตัน ทำการทดลองให้คณะรัฐมนตรีชมเป็นครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาล และเมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เปิดให้ประชาชนที่ศาลาเฉลิมกรุง

เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2497 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 โดยมีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อธิบดีกรมตำรวจ ในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธี ในขณะเดียวกัน ได้เริ่มทดลองส่ง จากห้องส่ง สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. บริเวณสี่แยกคอกวัว

เมื่ออาคารดังกล่าวสร้างเสร็จ และติดตั้งเครื่องส่งแล้ว จึงมีพิธีเปิด สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 เมื่อวันศุกร์ที่24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งถือเป็นวันชาติในสมัยนั้น โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยนายจำนง รังสิกุล เป็นหัวหน้าสถานีคนแรก

ในช่วงแรกมีการแพร่ภาพออกอากาศในวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 18.30-23.00 น. ต่อมา จึงได้เพิ่มวันและเวลาออกอากาศมากขึ้นตามลำดับ โดยใช้เครื่องส่งขนาด 10 กิโลวัตต์ แพร่ภาพขาวดำ ระบบ 525 เส้นต่อภาพ 30 ภาพต่อวินาที

เพลงเปิดการออกอากาศของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 และ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด คือเพลงต้นบรเทศ (ซึ่งปัจจุบันเป็นเพลง ต้นวรเชรฐ์ [1]) ในวันออกอากาศวันแรก ได้ให้นางสาวอารีย์ นักดนตรี ผู้ประกาศ รำบรเทศออกอากาศสด ส่วนนางสาวเย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ ทำหน้าที่ผู้ประกาศแจ้งรายการ โดยผู้ประกาศในยุคแรกเป็นสตรี ได้แก่ นางสาวเย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ (ปัจจุบันคือ นางเย็นจิตต์ รพีพัฒน์ ณ อยุธยา), นางสาวอารีย์ นักดนตรี (ปัจจุบันคือ นางอารีย์ จันทร์เกษม), นางสาวดาเรศร์ ศาตะจันทร์, นางสาวนวลละออ ทองเนื้อดี (ปัจจุบันคือ นางนวลละออ เศวตโสภณ), นางสาวชะนะ สาตราภัย และ นางสาวประไพพัฒน์ นิรัตพันธ์ ส่วนผู้ประกาศข่าวเป็นชาย ได้แก่ นายสรรพสิริ วิรยศิริ, นายสมชาย มาลาเจริญ, นายอาคม มกรานนท์ และ นายบรรจบ จันทิมางกูร

ในช่วงจัดตั้งสถานี และ บริษัทฯนั้น รัฐบาลก็ได้พบอุปสรรคพอสมควร เนื่องจากรัฐบาลไทยและกรมประชาสัมพันธ์ ถูกหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็น เสียงกลุ่มคนในสภาผู้แทนราษฎร บางส่วนของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านได้โจมตีอย่างแรงอันเนื่องมาจากการจัดตั้งโทรทัศน์ โดยให้สาเหตุเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าว เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน แต่ก็สามารถรอดพ้นออกมาได้ หลังจากนั้น ก่อนจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ บริษัทฯ ได้จัดตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. เสียก่อน เพื่อระดมเงินทุนมาบริหารงานโทรทัศน์ และฝึกบุคลากรในบริษัทฯ พร้อมกับเตรียมงานด้านอื่นอีกด้วย และด้วยความที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ออกอากาศการเผยแพร่ผลงาน,การปราศรัยหาเสียงของรัฐบาล การประชุมสภา จนกระทั่ง การถ่ายทอดสด งานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. 2500 ทางโทรทัศน์เป็นฝ่ายเดียวนั้น ส่งผลทำให้สาเหตุดังกล่าว ที่ทำให้เกิดคู่แข่ง ระหว่างภาครัฐและภาคทหาร จึงทำให้กองทัพบก โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น จัดตั้ง สถานีแห่งที่ 2 คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในระหว่างปี พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2501

[แก้] สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 และ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.

ราวเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2517 ท.ท.ท. ได้หยุดทำการออกอากาศในระบบ 525 เส้น ทางช่อง 4 โดยได้ย้ายห้องส่งโทรทัศน์ไปที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู และประมาณปี พ.ศ. 2517 ปีเดียวกัน ได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากภาพขาวดำ เป็นภาพสี ในระบบ 625 เส้น ระบบวีเอชเอฟ ทางช่อง 9 อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ออกอากาศจริงในราวปี พ.ศ. 2519 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ส่งผลทำให้ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 สิ้นสุดลงด้วย

วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 โดยใช้ชี่อหน่วยงานว่า องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Mass Communication Organisation of Thailand ชื่อย่อ: อ.ส.ม.ท., M.C.O.T.) โดยมี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐ ให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่น่าเชื่อถือต่อสาธารณชน อ.ส.ม.ท.จึงรับโอนกิจการ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Channel 9) มาดำเนินการต่อ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนา อ.ส.ม.ท. โดยรัฐบาลมอบทุนประเดิม จำนวน 10 ล้านบาท ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. โดยทันที

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารที่ทำการ อ.ส.ม.ท.ที่มีห้องส่งโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 บนเนื้อที่ 14 ไร่ ต่อมา ในราวปี พ.ศ. 2529 ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิธีกรรายการความรู้คือประทีปในขณะนั้น ตอบรับคำเชิญของผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในขณะนั้น ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการนำเสนอ ข่าว 9 อ.ส.ม.ท. ร่วมกับบริษัท แปซิฟิค คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ส่งผลให้คู่ผู้ประกาศข่าวที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น ก็คือ ดร.สมเกียรติ และนางสาวกรรณิกา ธรรมเกษร นั่นเอง

วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 อ.ส.ม.ท. ได้ร่วมกันลงนามทำสัญญากับ ไทยทีวีสีช่อง 3 อ.ส.ม.ท. และ ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ทำการขยายเครือข่ายกิจการโทรทัศน์ไปสู่ส่วนภูมิภาค และทางหน่วยงานภาครัฐฯทำการจัดสรรคลื่นความถี่ส่งด้วยระบบวีเอชเอฟพร้อมอุปกรณ์การออกอากาศ เพื่อจัดตั้งสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ อ.ส.ม.ท. ในแต่ละแห่ง (ตอนหลังก็ได้มีระบบยูเอชเอฟเข้ามา) เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ มิถุนายน พ.ศ. 2531 จนถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2534 จนในที่สุด สถานีในการกำกับของ อ.ส.ม.ท. ทั้ง 2 แห่ง ก็สามารถออกอากาศได้ทั่วประเทศเป็นการสำเร็จ

ราวปี พ.ศ. 2535 นาย แสงชัย สุนทรวัฒน์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ในช่วงที่ อ.ส.ม.ท.ถูกเรียกว่า “แดนสนธยา” เนื่องจากมีกลุ่มอิทธิพลมืดฝังตัวอยู่ในองค์กร แต่นายแสงชัยก็สามารถขจัดอิทธิพลมืดเหล่านั้นได้สำเร็จ รวมถึงสามารถพัฒนา อ.ส.ม.ท.ได้เป็นอย่างดี แต่แล้วนายแสงชัยก็ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืนเสียชีวิต ระหว่างนั่งรถยนต์เดินทางกลับบ้านพัก ที่เมืองทองธานีถนนแจ้งวัฒนะ จากผลการสอบสวนของตำรวจระบุว่า นางอุบล บุญญชโลธร จ้างวานให้ นายทวี พุทธจันทร์ บุตรเขย ส่งมือปืนไปลอบสังหารนายแสงชัย ต่อมา นางอุบลถูกลอบสังหารเสียชีวิตบนรถยนต์ก่อนกลับถึงบ้านพัก เช่นเดียวกับนายแสงชัย

[แก้] สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ถือกำเนิดขึ้นจากดำริของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในขณะนั้น ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และฉับไว ในด้านการรายงานเสนอข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงทั้งหมด และเพื่อทันต่อเทคโนโลยี การสื่อสารของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ และเพื่อเป็นการปราศจากความเป็นแดนสนธยาภายในองค์กรอีกด้วย

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 มีพิธีเปิดตัว สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแล อ.ส.ม.ท. และ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เป็นสักขีพยาน

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น ประกอบด้วย การเปลี่ยนสัญลักษณ์ของสถานีเป็นรูปดวงตาสีม่วง และปรับรูปแบบการนำเสนอเป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เพิ่มข่าวต้นชั่วโมง และแถบตัววิ่งข่าว (News Bar) เพิ่มช่วงแมกกาซีนออนทีวี ในข่าวภาคค่ำ นำเสนอข่าวสาร และสาระความรู้ ในประเด็น และการนำเสนอแบบสบายๆ โดยใช้วิธีการนำเสนอแบบนิตยสาร รวมถึงประกาศเพิ่มความสัมพันธ์ และเพิ่มบทบาทให้กับเครือข่ายข่าวชั้นนำทั่วโลก เช่น สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น (สหรัฐอเมริกา) สถานีโทรทัศน์บีบีซี (สหราชอาณาจักร) สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค (ญี่ปุ่น) สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (จีน) เป็นต้น โดยได้เริ่มออกอากาศตั้งแต่เวลา 18:30 น. เป็นต้นมา

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ดำเนินการผลิตรายการโทรทัศน์ การออกอากาศโทรทัศน์ ตลอดจนการควบคุมการออกอากาศ โดยแพร่ภาพออกอากาศ จากกรุงเทพมหานคร ไปยังสถานีเครือข่ายในส่วนภูมิภาค 32 สถานี สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 79.5 ของประเทศ มีประชากรใน ขอบเขตการออกอากาศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 96.5 ของประเทศ โดยมีรายการประเภทข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิง กีฬา และรายการเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้จัดให้มีรายการประเภทข่าวสาร และสาระความรู้ในด้านต่างๆ นำเสนอในช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด (Prime Time) เพื่อให้ผู้ชมได้รับข่าวสาร และความรู้ ที่เป็นประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และมุ่งหวังว่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชน

มีเหตุการณ์สำคัญที่โมเดิร์นไนน์เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เมื่อเวลา 22.15 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์สถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านดาวเทียม จากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ แต่เมื่ออ่านแถลงการณ์ได้ 3 ฉบับ ก็มีกำลังทหารพร้อมอาวุธกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปยังสถานีฯ พร้อมออกคำสั่งให้หยุดการแพร่ภาพ เป็นผลให้เจ้าหน้าที่สถานีฯ ต้องตัดสัญญาณการแถลงข่าวลงทันที

ถึงแม้ปัจจุบัน ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. จะเปลี่ยนเป็น โมเดิร์นไนน์ทีวีแล้ว แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังเรียกโมเดิร์นไนน์ทีวีว่า ช่อง 9 เนื่องจากเรียกได้ง่าย ตามชื่อเดิมของสถานี ซึ่งมาจากคำว่า ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.

[แก้] ตราสัญลักษณ์

[แก้] พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2517

Ch4 Logo.png

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม มีตราสัญลักษณ์เป็นรูป "วิชชุประภาเทวี" หมายถึงเทวดาผู้หญิง ที่เป็นเจ้าแห่งสายฟ้า หรือนางพญาแห่งสายฟ้า ประดับด้วยลายเมฆ และสายฟ้า อยู่ภายในรูปวงกลม ที่ออกแบบโดย กรมศิลปากร

[แก้] พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2519

Channel9 1976.png

หลังจากที่สถานีได้เปลี่ยนไปออกอากาศในระบบวีเอชเอฟ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 แล้ว จึงได้เปลี่ยนสัญลักษณ์ เป็นรูปกรอบจอโทรทัศน์ ภายในเป็นรูปคลื่นกระจายสัญญาณ โดยฝั่งซ้ายมีสีที่กระจายอยู่ 3 สี คือแดง เขียว น้ำเงิน และตัวเลข 9 สีดำ อยู่ภายในวงกลมสีเหลือง ซึ่งอยู่ฝั่งขวา แต่อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์นี้ใช้อยู่เพียงระยะสั้นๆ ก่อนจะโอนกิจการไปเป็นของ อ.ส.ม.ท. ในปี พ.ศ. 2520

[แก้] พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2545

Channel9 Logo.png

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปกรอบจอโทรทัศน์ ภายในแบ่งเป็นแถบเส้นโค้งสามแถบ มีสามแม่สีแสง คือ แดง เขียว น้ำเงิน และตัวเลข 9 สีดำ ทับอยู่ใจกลางสัญลักษณ์ ทั้งหมดเดินเส้นด้วยสีขาว และมีเส้นขอบสีดำอยู่ภายนอกสุด แต่ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 อ.ส.ม.ท. ได้จัดตั้งขึ้น ก็ได้มีการเพิ่มคำย่อของหน่วยงานว่า อ.ส.ม.ท. ประทับไว้อยู่ข้างล่างสุดของตราสัญลักษณ์ดังกล่าว

[แก้] พ.ศ. 2545 - ปัจจุบัน

MCOTPCL ThaiLogo.png

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปวงกลม มีเส้นตัดกันอยู่ทางซ้ายมือ แทนลูกโลก ทางขวามือมีตัวเลข 9 สีม่วงซ่อนอยู่ ด้านบนมีเส้นโค้งสีเทา ลักษณะโดยรวมคล้ายดวงตา ด้านล่างมีตัวอักษรย่อ “MCOT” หรือ “อสมท” สีส้ม เดินเส้นขอบสีเทา กำกับอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นตราแรก ก่อนที่ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย จะถูกแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

[แก้] ผู้ประกาศข่าวและพิธีกร

[แก้] ในปัจจุบัน

[แก้] ในอดีต

[แก้] พิธีกรสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

[แก้] รายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงของสถานี

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ รายการคุณพระช่วย ออกอากาศราวเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

สมัยก่อนหน้า สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ สมัยถัดไป
Ch4 Logo.png
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4
(24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 - พ.ศ. 2517)
Channel9 1976.png Channel9 Logo.png
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 และ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
(พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2545)
2leftarrow.png MCOTPCL ThaiLogo.png
สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์
(6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 - ปัจจุบัน)
2rightarrow.png ยังออกอากาศอยู่
ภาษาอื่น