วิกิพีเดีย:การพิสูจน์ยืนยันได้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เว็บย่อ:
นโยบาย
นโยบายและแนวปฏิบัติในวิกิพีเดีย
หลักการสากล
ห้าเสาหลัก
อะไรที่ไม่ใช่วิกิพีเดีย
ปล่อยวางกฎทั้งหมด
พฤติกรรม
ประพฤติเยี่ยงอารยชน
นโยบายการเขียน
สงครามแก้ไข
ความเป็นเจ้าของบทความ
อย่าว่าร้ายผู้อื่น
เนื้อหา
มุมมองที่เป็นกลาง
งดงานค้นคว้าต้นฉบับ
การพิสูจน์ยืนยันได้
หลักการตั้งชื่อบทความ
ชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่
การลบ
นโยบายการลบ
เงื่อนไขสำหรับการลบทันที
กฎข้อบังคับ
ผู้ดูแลระบบ
นโยบายการบล็อกผู้ใช้
บอต
นโยบายการล็อก
หุ่นเชิด
ชื่อผู้ใช้
การก่อกวน
ลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์
นโยบายการใช้ภาพ
เนื้อหาที่ใช้งานโดยชอบธรรม
ดูเพิ่ม
รายชื่อนโยบายทั้งหมด
รายชื่อแนวปฏิบัติทั้งหมด

การพิสูจน์ยืนยันได้ ในวิกิพีเดีย หมายความว่า ผู้ที่อ่านและแก้ไขวิกิพีเดียตรวจสอบได้ว่าสารสนเทศมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เนื้อหาของวิกิพีเดียถูกกำหนดโดยสารสนเทศที่ผ่านการตีพิมพ์แล้วมากกว่าความเชื่อหรือประสบการณ์ของผู้เขียน แม้คุณจะมั่นใจว่าข้อมูลบางอย่างเป็นจริง ข้อมูลนั้นก็ต้องพิสูจน์ยืนยันได้เสียก่อนแล้วค่อยเพิ่มเข้ามาในวิกิพีเดีย ("การพิสูจน์ยืนยันได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นจริง")

เนื้อหาทั้งหมดในเนมสเปซหลัก ซึ่งรวมถึงทุกอย่างในบทความ รายชื่อและคำบรรยายใต้ภาพ ต้องพิสูจน์ยืนยันได้ ข้อกล่าวอ้าง (quotation) และเนื้อหา (material) ใด ๆ ที่มีการคัดค้านหรือมีแนวโน้มว่าจะมีการคัดค้านการพิสูจน์ยืนยันได้ ต้องมีการอ้างอิงแทรกในเนื้อหา (inline citation) ที่สนับสนุนเนื้อหานั้นโดยตรง เนื้อหาใดที่ต้องมีแหล่งข้อมูลแต่กลับไม่มีอาจถูกนำออกได้ โปรดนำเนื้อหาที่มีข้อพิพาทและไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาเกี่ยวกับบุคคลที่มีชีวิตอยู่ออกทันที

สำหรับรูปแบบการเขียนอ้างอิง ดูที่ การอ้างอิงแหล่งที่มา การพิสูจน์ยืนยันได้เป็นหนึ่งในนโยบายแกนกลางด้านเนื้อหาของวิกิพีเดีย เช่นเดียวกับงดงานค้นคว้าต้นฉบับและมุมมองที่เป็นกลาง นโยบายทั้งสามร่วมกันกำหนดเนื้อหา ฉะนั้นผู้เขียนควรทำความเข้าใจข้อสำคัญของนโยบายดังกล่าว บทความยังต้องเป็นไปตามนโยบายด้านลิขสิทธิ์

ภาระหลักฐาน

ข้อกล่าวอ้างทั้งหมดและเนื้อหาใด ๆ ที่ถูกคัดค้านหรือมีแนวโน้มว่าจะถูกคัดค้าน จะต้องนำมาจากแหล่งข้อมูลตีพิมพ์ที่น่าเชื่อถือโดยใช้การอ้างอิงแทรกในเนื้อหา อ้างอิงแหล่งข้อมูลอย่างชัดเจนและแม่นยำ โดยเจาะจงเลขหน้า ส่วนหรือการแบ่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม การอ้างอิงต้องสนับสนุนเนื้อหาที่นำเสนอในบทความอย่างชัดเจน

เนื้อหาใด ๆ ที่ขาดแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือสนับสนุนโดยตรงอาจถูกนำออก ส่วนข้อที่ว่า การนำเนื้อหาออกนั้นควรเกิดขึ้นหรือไม่และอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อหาและสภาพโดยรวมของบทความ อาจมีผู้เขียนแย้งหากคุณนำเนื้อหาออกโดยไม่ให้เวลาพอที่จะหาแหล่งข้อมูล พิจารณาเพิ่มป้ายต้องการแหล่งอ้างอิงเป็นการชั่วคราวไปก่อน เมื่อติดป้ายหรือนำเนื้อหาออกเพราะไม่มีการอ้างอิงแทรกในเนื้อหา โปรดแจ้งความกังวลของคุณว่าอาจไม่มีแหล่งข้อมูลตีพิมพ์น่าเชื่อถือสำหรับเนื้อหาดังกล่าว ฉะนั้นจึงไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ แต่หากคุณคิดว่าเนื้อหานั้นพิสูจน์ยืนยันได้ ลองหาการอ้างอิงแทรกในเนื้อหาด้วยตนเองก่อนพิจารณาว่าจะนำเนื้อหาออกหรือแจ้งต้องการอ้างอิง

อย่างไรก็ดี อย่าทิ้งเนื้อหาที่ไม่มีแหล่งข้อมูลหรือมีแหล่งข้อมูลอย่างเลวในบทความซึ่งอาจทำลายชื่อเสียงของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ และอย่าย้ายไปยังหน้าอภิปราย คุณยังควรตระหนักว่านโยบายชีวประวัติของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่มีผลต่อกลุ่มอย่างไร

บางครั้งผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยว่าเนื้อหานั้นพิสูจน์ยืนยันได้ ภาระหลักฐานตกอยู่กับผู้เขียนที่เพิ่มหรือนำเนื้อหากลับเข้ามา โดยต้องหาแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือที่สนับสนุนเนื้อหานั้นโดยตรง

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

คำว่า "แหล่งข้อมูล" ในวิกิพีเดียมีสามความหมาย

  • ชิ้นงานนั้นเอง (เอกสาร บทความ รายงาน หรือหนังสือ)
  • ผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้น (เช่น ผู้ประพันธ์) และ
  • ผู้จัดพิมพ์ (เช่น เดอะนิวยอร์กไทมส์)

ทั้งสามข้อล้วนกระทบต่อความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลทั้งสิ้น

ยึดบทความตามแหล่งข้อมูลตีพิมพ์บุคคลภายนอก (third-party) ที่นาเชื่อถือซึ่งมีชื่อเสียงด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงและความแม่น เนื้อหาแหล่งข้อมูลจะต้องถูกตีพิมพ์ (คือ ทำให้สาธารณะเข้าถึงได้ในรูปแบบหนึ่ง) แหล่งข้อมูลที่ไม่ถูกตีพิมพ์ไม่ถือว่าน่าเชื่อถือ ใช้แหล่งข้อมูลที่สนับสนุนเนื้อหาที่นำเสนอในบทความโดยตรงและเหมาะสมแก่ข้ออ้าง ความเหมาะสมของแหล่งข้อมูลใด ๆ ขึ้นอยู่กับบริบท แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดมีโครงสร้างแบบมืออาชีพ เพื่อตรวจสอบหรือวิเคราะห์ข้อเท็จจริง ประเด็นข้อกฎหมาย หลักฐานและการโต้แย้ง ยิ่งมีระดับการตรวจสอบในประเด็นนี้มากขึ้นเท่าใด แหล่งข้อมูลก็ยิ่งน่าเชื่อถือเท่านั้น ระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเนื้อหาแหล่งอ้างอิงเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่และแพทยศาสตร์

สิ่งพิมพ์วิชาการและที่ได้รับการพิจารณากลั่นกรองแล้ว (peer-review) หากสามารถหาได้ มักเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุด เช่น ในวิชาประวัติศาสตร์ แพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คุณยังอาจใช้เนื้อหาจากแหล่งข้อมูลที่มิใช่เชิงวิชาการที่น่าเชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปรากฏในสิ่งพิมพ์กระแสหลักที่น่าเชื่อถือ แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออื่นรวมถึงตำราเรียนระดับมหาวิทยาลัย หนังสือที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ที่น่าเชื่อถือ นิตยสาร วารสารและหนังสือพิมพ์กระแสหลัก คุณยังอาจใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีหลักเกณฑ์เดียวกัน

บล็อกหนังสือพิมพ์และนิตยสาร

หนังสือพิมพ์ นิตยสารและองค์การข่าวอื่นหลายสำนักมีคอลัมน์ในเว็บไซต์ของเขาที่เรียกว่า บล็อก บล็อกนี้อาจยอมรับเป็นแหล่งข้อมูลได้หากผู้เขียนเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ต้องใช้บล็อกด้วยความระมัดระวัง เพราะบล็อกอาจไม่อยู่ภายใต้กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงขององค์การข่าวตามปกติ เมื่อองค์การข่าวตีพิมพ์ความคิดเห็นลงในบล็อก ให้พิจารณาว่าถ้อยแถลงมาจากผู้เขียน (คือ "ก เขียนว่า ...") อย่าใช้โพสต์บล็อกที่ผู้อ่านทิ้งไว้เป็นแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลที่โดยปกติไม่น่าเชื่อถือ

แหล่งข้อมูลที่น่าสงสัย

"แหล่งข้อมูลที่น่าสงสัย" หมายถึงแหล่งข้อมูลที่มีชื่อเสียงเลวในการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือซึ่งปราศจากการควบคุมคุณภาพ (editorial oversight) อย่างสำคัญ แหล่งข้อมูลเช่นว่ารวมถึงเว็บไซต์หรือสิ่งตีพิมพ์ซึ่งแสดงมุมมองที่คนจำนวนมากเห็นว่าสุดโต่ง (extremist) หรือส่งเสริมการขาย หรือซึ่งอิงข่าวลือหรือความเห็นส่วนบุคคลเป็นหลัก แหล่งข้อมูลที่น่าสงสัยนี้ควรถูกใช้เฉพาะเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับหัวเรื่องนั้นเองเท่านั้น และไม่เหมาะสมที่จะใช้สำหรับอ้างอิงการอ้างเกี่ยวกับบุคคลที่สาม

แหล่งข้อมูลที่ตีพิมพ์เอง

ใคร ๆ ก็สามารถสร้างเว็บเพจส่วนตัวหรือจ่ายเงินเพื่อให้ตีพิมพ์หนังสือได้ แล้วอ้างตนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่ง ด้วยเหตุนั้น สื่อที่ตีพิมพ์เอง อย่างหนังสือ สิทธิบัตร จดหมายข่าว เว็บไซต์ส่วนตัว วิกิเปิด บล็อกส่วนตัวหรือกลุ่ม โพสต์ในฟอรัมอินเทอร์เน็ต และข้อความทวิต ส่วนใหญ่ไม่อาจถือเป็นแหล่งอ้างอิงได้ แหล่งอ้างอิงที่ตีพิมพ์เองของผู้เชี่ยวชาญอาจถือว่าน่าเชื่อถือเมื่อทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับในหัวเรื่องของบทความนั้น ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานในสาขาที่เกี่ยวข้องและเคยตีพิมพ์ในสิ่งตีพิมพ์บุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือแล้ว พึงเอาใจใส่เมื่อใช่แหล่งอ้างอิงเช่นว่านี้ ถ้าข้อมูลที่กล่าวถึงนั้นควรค่าแก่การรายงานโดยแท้จริง อาจมีผู้อื่นที่รายงานแล้วด้วยเช่นกัน อย่าใช้แหล่งข้อมูลที่ตีพิมพ์เองเป็นแหล่งข้อมูลบุคคลที่สามเกี่ยวกับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้ผู้ประพันธ์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยอาชีพที่เป็นที่รู้จักกันดี หรือนักเขียนก็ตาม

การใช้แหล่งข้อมูลที่ตีพิมพ์เองและที่น่าสงสัยเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง

แหล่งข้อมูลตีพิมพ์เองและที่น่าสงสัยอาจใช้เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองได้ โดยมักปรากฏในบทความเกี่ยวกับตัวเองหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และไม่ต้องมีสิ่งจำเป็น ตราบเท่าที่:

  1. แหล่งอ้างอิงนั้นไม่เอื้อประโยชน์แก่ตัวเองมากเกินไป
  2. แหล่งอ้างอิงนั้นไม่มีการอ้างเกี่ยวกับบุคคลที่สาม
  3. แหล่งอ้างอิงนั้นไม่มีการอ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแหล่งอ้างอิงนั้น
  4. ไม่มีข้อสงสัยอย่างสมเหตุสมผลถึงความถูกต้อง
  5. บทความนั้นไม่อิงอยู่บนแหล่งอ้างอิงเช่นว่าเป็นหลัก

นโยบายนี้ยังมผลต่อหน้าที่ว่าด้วยเว็บเครือข่ายสังคม อย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก

วิกิพีเดียและแหล่งข้อมูลที่ลอกหรือใช้วิกิพีเดีย

อย่าใช้บทความจากวิกิพีเดียหรือจากเว็บไซต์ที่ลอกเนื้อหาจากวิกิพีเดียไปลงเป็นแหล่งข้อมูล เพราะมีค่าเท่ากับการอ้างตัวเอง เช่นเดียวกัน อย่าใช้แหล่งข้อมูลที่นำเสนอสื่อที่กำเนิดจากวิกิพีเดียสนับสนุนเนื้อหาเดียวกันในวิกิพีเดีย ซึ่งไม่ต่างอะไร วิกิพีเดียอาจใช้เป็นแหล่งอ้างอิงด้วยความระมัดระวังเป็นแหล่งอ้างอิงปฐมภูมิหากเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง เช่น ในบทความเกี่ยวกับวิกิพีเดีย

การเข้าถึงได้

การเข้าถึงแหล่งข้อมูล

การพิสูจน์ยืนยันได้ในบริบทนี้หมายความว่า ทุกคนควรสามารถตรวจสอบว่าข้อมูลในบทความวิกิพีเดียเคยได้รับการตีพิมพ์ในแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หลักการของการพิสูจน์ยืนยันได้นั้นไม่แสดงนัยอื่นใดนอกจากความง่ายในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล แหล่งข้อมูลบางแห่งอาจต้องจ่ายเงินก่อน ขณะที่แหล่งข้อมูลตีพิมพ์บางเล่มอาจเข้าถึงได้เฉพาะในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย

แหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่ภาษาไทย

เพราะว่านี่คือวิกิพีเดียภาษาไทย จึงแนะนำให้ใช้แหล่งข้อมูลที่เป็นภาษาไทยมากกว่าแหล่งข้อมูลภาษาต่างประเทศ หากแหล่งข้อมูลที่เป็นภาษาไทยที่มีคุณภาพและความสัมพันธ์เท่ากันเข้าถึงได้

  • เมื่อยกคำพูดจากแหล่งอ้างอิงในภาษาอื่น ให้เขียนข้อความดั้งเดิมกำกับด้วย พร้อมคำแปลภาษาไทย ซึ่งอาจอยู่ในตัวบทความหรืออยู่ในเชิงอรรถ
  • เมื่ออ้างข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่ภาษาไทย ไม่จำเป็นต้องมีคำแปลเสมอไป อย่างไรก็ดี หากมีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่าแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่ภาษาไทยนั้นสนับสนุนข้อมูลจริงหรือไม่ ส่วนข้อความดั้งเดิมและคำแปลที่เกี่ยวข้องควรระบุไว้ในเชิงอรรถ เป็นมารยาท

การแปลโดยแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือนั้นควรถือเอาก่อนการแปลของชาววิกิพีเดีย แต่การแปลของชาววิกิพีเดียควรถือเอาก่อนเครือ่งแปลภาษา เมื่อคุณนำข้อความจากแหล่งข้อมูลมาแปลด้วยเครื่องแปลภาษา ผู้แก้ไขควรมั่นใจอย่างมีเหตุผลว่าการแปลนั้นถูกต้องแม่นยำและแหล่งข้อมูลนั้นเหมาะสม เมื่อโพสต์ข้อความเดิมจากแหล่งข้อมูล พึงระวังมิให้ละเมิดลิขสิทธิ์ ดู แนวปฏิบัติการใช้งานโดยชอบธรรม

กรณีพิเศษ : การอ้างถึงพิเศษต้องการแหล่งข้อมูลพิเศษ

การอ้างอิงถึงพิเศษ (exceptional claim) ต้องมีแหล่งข้อมูลคุณภาพสูงหลายแหล่ง สัญญาณเตือนว่าควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษมี:

  • การอ้างถึงอย่างน่าประหลาดใจหรือสำคัญชัดเจนซึ่งไม่มีในแหล่งข้อมูลกระแสหลักหลายแหล่ง
  • การอ้างถึงที่ถูกคัดค้านซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิหรือที่ตีพิมพ์เองทั้งหมด หรือที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน
  • รายงานถ้อยแถลงโดยบางคนที่ดูพ้นวิสัยที่ถูกต้องหรือสมเหตุสมผล (out of character) หรือขัดต่อส่วนได้เสียที่เขาเคยแก้ต่างป้องกัน
  • ข้ออ้างที่ขัดแย้งโดยมุมมองทั่วไปในชุมชนที่เกี่ยวข้อง หรือที่จะเปลี่ยนแปลงข้อสันนิษฐานกระแสหลักอย่างสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมืองและชีวประวัติของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นจริงโดยเฉพาะเมื่อผู้เสนอกล่าวว่ามีการคบคิดเพื่อปกปิดข้ออ้างเหล่านี้

ดูเพิ่ม