จังหวัดพระตะบอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จังหวัดพระตะบอง
ខេត្តបាត់ដំបង
สถิติ
เมืองเอก: พระตะบอง
พื้นที่: 11,702 กม²
ประชากร: 793,129 (2541)
ความหนาแน่น: 67.7 คน/กม²
ISO 3166-2: KH-2
แผนที่
แผนที่ของจังหวัดพระตะบอง

พระตะบอง (เขมร: ខេត្តបាត់ដំបង Kettbatdombng อ่านว่า แคตบัดตัมบอง) เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศกัมพูชา อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ มีเขตติดต่อกับจังหวัดสระแก้ว และจันทบุรี ประเทศไทย พื้นที่นี้อดีตเคยเป็นจังหวัดพระตะบองในมณฑลบูรพาของสยาม

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

[แก้] ประวัติศาสตร์ยุคต้น

ระหว่างคริตส์ศตวรรษที่ 15 - 18 พื้นที่ที่เรียกว่าจังหวัดพระตะบองนี้ตกอยู่ในความยึดครองของสยาม ผู้คนในแถบนี้แตกฉานซ่านเซ็น ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยในถิ่นต่างๆ

ในช่วงปลายคริตส์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริตส์ศตวรรษที่ 20 ตรงกับสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของสยาม สยามได้จัดการปกครองโดยตรงต่อดินแดนเมืองพระตะบองและส่วนอื่นๆ ซึ่งเรียกรวมกันว่า ดินแดนเขมรส่วนใน โดยตั้งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน - ต้นสกุลอภัยวงศ์) ให้เป็นผู้ปกครองดินแดนส่วนนี้ และมีเจ้าเมืองในสกุลอภัยวงศ์สืบทอดต่อมาอีก 5 คน จนถึงปี พ.ศ. 2449 (พ.ศ. 2450 ตามปฏิทินสากล) ซึ่งเป็นปีที่สยามเสียดินแดนเขมรส่วนในและดินแดนลาวฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการคืนเมืองตราดตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 หลังจากนั้นในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีสุวัตถิ์ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการ ให้แบ่งเขตการปกครองของเมืองพระตะบองออกเป็น 3 เขต (จังหวัด) ได้แก่ เขตพระตะบอง เขตเสียมราฐ และเขตศรีโสภณ ต่อมาจึงแบ่งเขตการปกครองใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2468 เป็น 2 เขต คือ เขตพระตะบองและเขตเสียมราฐ โดยเขตพระตะบองมีเมือง (อำเภอ) ในความปกครอง 2 เมือง คือ เมืองพระตะบองกับเมืองศรีโสภณ ถึงปี พ.ศ. 2483 เขตพระตระบองก็มีเมืองในความปกครองเพิ่มขึ้นเป็น 7 เมือง คือ เมืองพระตะบอง เมืองสังแก เมืองระสือ (โมงฤๅษี) เมืองตึกโช เมืองมงคลบุรี เมืองศรีโสภณ และเมือง Bei Thbaung

[แก้] ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ตราประจำจังหวัดพระตะบอง (สมัยไทยปกครอง พ.ศ. 2484 - 2489)
แผนที่ดินแดนจังหวัดพระตะบอง (แสดงด้วยพื้นที่สีแดง)

ในปี พ.ศ. 2484 หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทอินโดจีนไทย-ฝรั่งเศส ไทยได้ดินแดนส่วนที่เรียกว่าเขมรส่วนในและลาวฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืน จึงได้ประกาศจัดตั้งจังหวัดขึ้นใหม่ในดินแดนเหล่านี้ 4 จังหวัดคือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง เฉพาะจังหวัดพระตะบองนั้นเมื่อแรกตั้งจังหวัดนั้น ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ ตามประกาศเรื่องตั้งอำเภอ ลงวันที่ 23 กรกฎาคม พุทธศักราช 2484 ดังนี้

  1. อำเภอเมืองพระตะบอง ตามเขตอำเภอพระตะบองเดิม
  2. อำเภอพรหมโยธี ตามเขตอำเภอสังแกเดิม
  3. อำเภออธึกเทวเดช ตามเขตอำเภอระสือเดิม
  4. อำเภอมงคลบุรี ตามเขตอำเภอมงคลบุรีเดิม
  5. อำเภอศรีโสภณ ตามเขตอำเภอศรีโสภณเดิม
  6. อำเภอสินธุสงครามชัย ตามเขตอำเภอตึกโชเดิม
  7. อำเภอไพลิน ตามเขตอำเภอไพลินเดิม

ต่อมาทางการไทยได้ปรับปรุงเขตการปกครองจังหวัดพระตะบองเสียใหม่ โดยโอนท้องที่อำเภอศรีโสภณ และอำเภอสินธุสงครามชัย ไปขึ้นจังหวัดพิบูลสงครามแทนในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน

จังหวัดพระตะบองจึงมีเขตการปกครองตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 จนถึง พ.ศ. 2489 รวมทั้งสิ้น 5 อำเภอ คือ อำเภอเมืองพระตะบอง อำเภอพรหมโยธี อำเภออธึกเทวเดช อำเภอมงคลบุรี และอำเภอไพลิน

อนึ่ง ชื่ออำเภอที่ไทยตั้งขึ้นใหมในทั้ง 4 จังหวัด ที่ได้คืนมาจากฝรั่งเศสนั้น ส่วนหนึ่งตั้งชื่อตามบุคคลที่มีบทบาทอย่างสูงในการรบสงครามอินโดจีน ในจังหวัดพระตะบอง มีชื่ออำเภอลักษณะดังกล่าวดังต่อไปนี้

  • อำเภอพรหมโยธี ตั้งชื่อตาม นายพันเอกหลวงพรหมโยธี (มังกร พรหมโยธี ยศสุดท้ายเป็นที่พลเอก)
  • อำเภออธึกเทวเดช ตั้งชื่อตามพลอากาศโท หลวงอธึกเทวเดช (บุญเจียม โกมลมิศร์) แม่ทัพอากาศสนาม

ภายหลังในเดิอนเมษายน 2486 ได้เปลี่ยนชื่อ อำเภออธึกเทวเดช เป็นอำเภอรณนภากาศ เนื่องจาก แม่ทัพอากาศ/ผู้บัญชาการทหารอากาศ (พลอากาศโท หลวงอธึกเทวเดช) ได้ลาออกจากตำแหน่ง

  • อำเภอสินธุสงครามชัย (ภายหลังโอนไปขึ้นกับจังหวัดพิบูลสงคราม) ตั้งชื่อตาม นายพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน ยศสุดท้ายเป็นที่พลเรือเอก) ผู้บัญชาการทหารเรือ และแม่ทัพเรือในขณะนั้น

สำหรับตราประจำจังหวัดนั้น กรมศิลปากรได้กำหนดให้จังหวัดพระตะบองใช้ตราประจำจังหวัด เป็นรูปพระยาโคตรตระบองยืนทำท่าจะขว้างตะบอง ตามตำนานในท้องถิ่นที่เล่าถึงที่มาของชื่อจังหวัด

[แก้] หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2496 ได้มีการจัดตั้งเขตบริหารปอยเปต (Poi Pet administration) โดยอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองศรีโสภณ (เมืองนี้ได้ถูกแบ่งเป็น 2 เมืองในปีนั้น คือ เมืองศรีโสภณและเมืองบันทายฉมาร์) ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองชื่อว่า เมือง O Chrov ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2508 และในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ได้มีการแบ่งเขตการปกครองของเมืองระสือส่วนหนึ่งออกเป็นเขตการปกครองใหม่ คือ เขตบริหาร Kors Kralor หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2509 รัฐบาลกัมพูชาก็ได้ตั้งเมืองทมอปุก (Thmar Pouk) ขึ้นเป็นเมืองในความปกครองของจังหวัดพระตะบอง และได้แบ่งเมืองบันทายฉมาร์ไปขึ้นกับจังหวัด (เขต) อุดรมีชัยซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในปีนั้น

ในสมัยการปกครองของเขมรแดง ได้มีการอพยพประชาชนออกจากเมืองต่างๆ ไปอยู่ในชนบทเพื่อขยายผลผลิตทางการเกษตร จังหวัดพระตะบองกลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้ชื่อว่าทุ่งสังหาร อันเนื่องมาจากการปกครองที่เลวร้ายของเขมรแดง ในยุคนี้ เขมรแดงได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ในเขตจังหวัดพระตะบองอีก 2 เมือง คือ เมืองบานันและเมืองโกรส ลอร์ (Kors Lor)

จังหวัดพระตะบองได้รับการปลดปล่อยจากระบอบเขมรแดงในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2522 และได้มีการจัดตั้งคณะกรมการเมืองขึ้นปกครองจังหวัดนี้จนกระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2526 โดยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 - 2529 จังหวัดพระตะบองมีเมืองในปกครอง 9 เมือง และ 1 เขตการปกครอง

ในปี พ.ศ. 2529 ตั้งมีการจัดตั้งเมืองบานัน เมืองโบเวล และเมืองเอกพมนขึ้น ทำให้จังหวัดพระตะบองมีเมืองในความปกครองรวม 12 เมือง แต่สองปีต่อมา ก็ได้แบ่งเอาเมือง 5 เมืองในความปกครอง ไปจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบันเตียเมียนเจย

ในปี พ.ศ. 2542 หลังจากการสลายตัวของเขมรแดงอย่างแท้จริงแล้ว ก็ได้มีการแบ่งอาณาเขตของจังหวัดพระตะบองไปจัดตั้งเป็นเทศบาลนครไพลิน และในปี พ.ศ. 2543 ก็ได้แบ่งเอาเขตเมืองระสือส่วนหนึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นเมืองกะห์กรอลอ[1]

[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง

จังหวัดพระตะบองแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 เมือง (ស្រុក)

รหัสเมือง ชื่อเมือง
(ภาษาเขมร)
เขียนด้วยอักษรไทย เขียนด้วยอักษรโรมัน
0201 បាណន់ บานัน (บาณาน่) Banan
0202 ថ្មគោល ทมอโกล (ถฺมโคล) Thmgol
0203 បាត់ដំបង บัตตัมบอง, พระตะบอง (บาต่ฏํบง) Batdombng
0204 បវេល บอเวล (บเวล) Bowel
0205 ឯកភ្នំ เอกพนม (เอภฺนุ ํ) Aekphnom
0206 មោងប្ញស្សី โมงรืซเซ็ย, เมืองระสือ (โมงฤสฺสี) Mongrossy
0207 រតនមណ្ឌល รัตนมณฑล (รตนมณฺฑล) Rotana Mondol
0208 សង្កែ สังแก (สฺงแก) Sanggae
0209 សំឡូត ซ็อมลูต (สํฬูต) Samlut
0210 សំពៅលូន ซ็อมปึวลูน (สํเพาลูน) Sampoulun
0211 ភ្នំព្រឹក พนมพรึก (ภฺนุ ํพฺรึก) Phnomprug
0212 កំរៀង ก็อมเรียง (กํเรียง) Gamrieng
0213 គាស់ក្រឡ กะห์กรอลอ (คาส่กฺรฬ) Gasgrala

[แก้] อ้างอิง