มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตราธรรมจักร สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ เป็นเลิศ เป็นธรรม ร่วมนำสังคม
(ทางการ)
ฉันรักธรรมศาสตร์
เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน
(ไม่เป็นทางการ)

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อังกฤษ: Thammasat University; ชื่อย่อ: มธ. - TU) เป็นมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตลาดวิชา เพื่อการศึกษาด้านกฎหมายและการเมือง สำหรับประชาชนทั่วไป เมื่อเริ่มก่อตั้งใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (อังกฤษ: University of Moral and Political Sciences; ชื่อย่อ: มธก. - UMPS) เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย และมีประวัติศาสตร์ผูกพันกับพัฒนาการทางการเมืองและความเป็นไปของชาติ ตลอดจนเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยตลอดมา[1] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519[2]

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบโดยตรง[3] ผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า “การเมือง” ออกจากชื่อมหาวิทยาลัย เหลือเพียง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ตำแหน่งผู้ประศาสน์การถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นตำแหน่งอธิการบดี[1] หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิต ถูกเปลี่ยนแปลงเป็น นิติศาสตร์, รัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ และ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ความเป็นตลาดวิชาหมดไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2477 มีนักศึกษากว่า 240,000 คน เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในจำนวนนี้ได้รวมถึงผู้ที่เข้ามาบทบาททางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูง, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการทุกสาขา

มหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกของเครือข่าย LAOTSE ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในเอเชียและยุโรป ตามกรอบความร่วมมืออาเซม รวมทั้งเป็นสมาชิกของเครือข่ายการศึกษาและวิจัยในลุ่มแม่น้ำโขง (GMSARN) อีกด้วย

อธิการบดีมหาวิทยาลัยคนปัจจุบันคือ นายสุรพล นิติไกรพจน์ และมีนายสุเมธ ตันติเวชกุลเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" ที่หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถือได้ว่าเป็นผลพวงหรือ “คู่แฝด” ของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยในคำประกาศของคณะราษฎรในวันยึดอำนาจกล่าวว่า การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น “เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่”[4] นโยบายหรือหลักประการที่ 6 ใน หลัก 6 ประการของคณะราษฎร จึงระบุไว้ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”[4] สถาบันศึกษาแบบใหม่ที่เปิดกว้างให้ประชาชนชาวสยามได้รับการศึกษาชั้นสูง โดยเฉพาะที่จะรองรับการปกครองบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมาคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังที่ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวไว้ในโอกาสจัดตั้งมหาวิทยาลัยว่า “การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้นการที่จะอำนวยความประสงค์และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำต้องมีสถานการศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น” และ “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น”[1][5]

อีกแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้เกิดการก่อตั้ง มธก. ขึ้น อาจมาจากกลุ่มอดีตนักเรียนโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม กล่าวคือใน พ.ศ. 2476 รัฐบาลอนุรักษนิยมช่วงเปลี่ยนผ่านของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมได้ถูกโอนไปขึ้นกับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่หนึ่งปี[6] ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่นักเรียนโรงเรียนกฎหมาย ที่ต้องการให้ยกฐานะโรงเรียนของตนเป็นมหาวิทยาลัยดังเช่นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่กลับถูกทำให้เสมือนถูกยุบหายไป จึงมีผลผลักดันให้นักเรียนกฎหมายดังกล่าวเคลื่อนไหวหนุนให้มีการก่อตั้ง มธก. ขึ้น[1] โดยเมื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ได้โอนทรัพย์สินตลอดจนคณาจารย์ของโรงเรียนกฎหมายเดิม เข้ามาสังกัดในมหาวิทยาลัยใหม่นี้ด้วย[7]

ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ณ ที่ตั้งเก่าของโรงเรียนกฎหมาย บนถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา[1] โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัย[8][9]

ในช่วงเวลา 2 ปีแรก (พ.ศ. 2477-2479) การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยยังคงดำเนินอยู่ที่ตึกโรงเรียนกฎหมายเดิม หลังจากนั้นจึงได้ย้ายมาที่บริเวณวังหน้า ท่าพระจันทร์ ดังเช่นในปัจจุบัน[1] และต่อมาได้มีการขยายการเรียนการสอนออกไปที่จังหวัดปทุมธานี ลำปาง ชลบุรี นราธิวาส และอุดรธานี

[แก้] สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีตราธรรมจักรที่มีพานรัฐธรรมนูญอยู่ตรงกลางเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย[10]

สีประจำมหาวิทยาลัยคือสีเหลือง-แดง ดังปรากฏในเนื้อเพลง “เพลงประจำมหาวิทยาลัย” (มอญดูดาว) ที่ว่า “เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้” ซึ่งนับเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ปีแรกของการก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2477 หมายถึง ความสำนึกในความเป็นธรรมและความเสียสละเพื่อสังคม[11] ส่วนต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือหางนกยูงหรือ "ยูงทอง" ซึ่งสีของดอกยูงทองนี้มีสีเหลือง-แดง สัมพันธ์กับสีประจำมหาวิทยาลัย ต้นยูงทองนี้ถูกนำไปใช้แต่งเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันด้วย คือเพลงยูงทอง

สัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็คือ ตึกโดม ซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัย โดยคำว่า “ลูกแม่โดม” หมายถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[แก้] วิชาการ

ตึกโดมท่าพระจันทร์

แต่เดิมเมื่อเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ในระดับปริญญาตรีมีเปิดสอนเพียงหลักสูตรเดียวคือ "ธรรมศาสตร์บัณฑิต" (ธ.บ.) ซึ่งเน้นวิชากฎหมาย รวมถึงกฎหมายที่เป็นเรื่องใหม่ในขณะนั้นคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ[1] และมีวิชารัฐศาสตร์และวิชาเศรษฐศาสตร์แทรกอยู่ด้วย[3][12] ส่วนในระดับปริญญาโทนั้นมีแยกสามแขนงคือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และต่อมาได้มีหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชีซึ่งเทียบเท่าปริญญาโท และในระดับระดับปริญญาเอกมีสี่แขนงคือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต แต่ใน พ.ศ. 2492 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตก็ได้ถูกยกเลิกไป และเปลี่ยนเป็นหลักสูตรปริญญาตรีเฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ แทน ตาม “ข้อบังคับเพิ่มเติมว่าด้วยการแบ่งแยกการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ และกำหนดสมัยการศึกษาและการสอบไล่ พ.ศ. 2492”[3]

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดการศึกษาครอบคลุมทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทุกระดับจำนวนทั้งสิ้น 256 หลักสูตร เป็นระดับปริญญาตรี 111 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 8 หลักสูตร ปริญญาตรีควบปริญญาโท 4 หลักสูตร ปริญญาโท 99 หลักสูตร และปริญญาเอก 34 หลักสูตร จัดการศึกษาทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำ (ข้อมูลปี พ.ศ. 2550[13])

[แก้] กลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

[แก้] กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


[แก้] กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีหลายหน่วยงานที่จัดหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษา อาทิ สถาบันภาษา, กองกิจการนักศึกษา เป็นต้น อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยยังมีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนเฉพาะระดับสูงกว่าปริญญาตรีอีกด้วย อันได้แก่ วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร

[แก้] หลักสูตรนานาชาติ

นอกจาก วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นวิทยาลัยนานาชาติของมหาวิทยาลัยแล้ว[14][15] คณะต่าง ๆ ได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนนานาชาติสำหรับนักศึกษาทั้งชาวไทยและต่างประเทศหลายหลักสูตรด้วยกัน โดยคณะที่เปิดหลักสูตรในลักษณะดังกล่าว ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, คณะรัฐศาสตร์, คณะเศรษฐศาสตร์, คณะศิลปศาสตร์, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะวิศวกรรมศาสตร์, และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร

[แก้] หน่วยงานวิจัยและบริการวิชาการ

[แก้] วิทยาเขต

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีศูนย์กลางบริหารอยู่ที่ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร และมีวิทยาเขตในภูมิภาคอีก 5 วิทยาเขต

[แก้] ท่าพระจันทร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุมมองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2551

ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าพระจันทร์ ในเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร ในเริ่มแรกแห่งการสถาปนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดการเรียนการสอนที่ตึกโรงเรียนกฎหมายเดิม (เพราะบุคคลากรตลอดจนทรัพย์สินของโรงเรียนกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนแปลง หลังจากรอการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัย จึงโอนมาเป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งหมด) เป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงซื้อที่ดินจากกรมทหารซึ่งเป็นคลังแสงเดิม แล้วจึงย้ายมาอยู่บริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและสนามหลวง มีเนื้อที่ 49 ไร่ เป็นศูนย์แรกของมหาวิทยาลัยตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เดิมบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวังหน้า (พระราชวังบวรสถานมงคล)

ศูนย์ท่าพระจันทร์แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2519 เป็นสถานที่ที่นักศึกษาและประชาชนได้มาชุมนุมประท้วงกัน กรณี จอมพลประภาส จารุเสถียร และ จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับมาประเทศไทย (หลังลี้ภัยออกนอกประเทศไปเมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516) และนำไปสู่เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 คน.

ศูนย์ท่าพระจันทร์ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถ.พระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 มี รศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต เป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ท่าพระจันทร์

[แก้] การขยายไปศูนย์รังสิต

แต่เดิมศูนย์ท่าพระจันทร์นี้ เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในระดับปริญญาตรีด้วย แต่ในปัจจุบันหลักสูตรทั้งหมดดังกล่าวได้ขยายไปอยู่ที่ศูนย์รังสิตแล้วตามนโยบายมหาวิทยาลัย เหลือเพียงหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรควบปริญาตรี-โท และปริญญาตรีโครงการพิเศษ

ในช่วงของการพิจารณาขยายการเรียนการสอนไปยังศูนย์รังสิตดังกล่าวนั้น ได้มีการต่อต้านอย่างหนักจากประชาคมธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษา ศิษย์เก่า อาจารย์ และชุมชนท่าพระจันทร์ (ดู จิตวิญญาณธรรมศาสตร์)

[แก้] ศูนย์รังสิต

ตึกโดมบริหาร มธ. ศูนย์รังสิต

ศูนย์รังสิตเป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ 2,744 ไร่ ตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางเหนือประมาณ 42 ก.ม. อยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “กลุ่มวิสาหกิจเทคโนโลยีกรุงเทพตอนบน”[16] โดยมีสถาบันที่อยู่ใกล้เคียงได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีสวนอุตสาหกรรมจำนวนมากในพื้นที่ใกล้เคียง. ศูนย์รังสิตก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยวิสัยทัศน์ของ ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีในขณะนั้น ที่เห็นว่าในการพัฒนาประเทศนั้น จะขาดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้ จึงได้เปิดคณะวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นคณะแรกที่ศูนย์รังสิต. ปัจจุบัน ศูนย์นี้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน สำหรับกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมไปถึง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภายในศูนย์ประกอบด้วยกลุ่มอาคารเรียนต่าง ๆ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อาคารอำนวยการ อาคารบริการวิชาการ เช่น ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา โรงพิมพ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเช่น ร้านอาหาร ร้านค้าและธนาคาร กลุ่มหอพักนักศึกษาขนาดใหญ่ กลุ่มหอพักบุคลากร โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และอาคารระบบสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้าย่อย และโรงบำบัดน้ำเสีย ศูนย์นี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นศูนย์กีฬากลางแจ้งและในร่มขนาดใหญ่ ที่เคยเป็นสนามกีฬารองรับการแข่งขันระดับนานาชาติ เช่น เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2541 และ กีฬามหาวิทยาลัยโลก พ.ศ. 2550

ศูนย์รังสิตตั้งอยู่ที่เลขที่ 99 หมู่ 18 ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12121 มี รศ.ดร.ศิริพร ขัมภลิขิต เป็นรองอธิการฝ่ายบริหารศูนย์รังสิต

[แก้] ศูนย์ลำปาง

อาคารสิรินธรารัตน์ (ตึกโดมแก้ว) มธ.ศูนย์ลำปาง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง แต่เดิมตั้งอยู่ที่ อาคารศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ถ.บุญวาทย์ อ.เมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 52000 เมื่อปีการศึกษา 2546 ได้ย้ายไปยังอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่จากการบริจาคของนายบุญชู ตรีทอง มีพื้นที่ 365 ไร่ เป็นที่ตั้งของ วิทยาลัยสหวิทยาการ มีอาคารเรียนรวมหลังแรกชื่อ "อาคารสิรินธรารัตน์" มี ผศ.ดร.เดชา สังขวรรณ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลำปาง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีปณิธานที่มุ่งจะจัดการศึกษาสำหรับประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกชนชั้น จึงได้เริ่มขยายโอกาสทางการศึกษาออกสู่ส่วนภูมิภาคในจังหวัดลำปาง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2535 โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับสถาบันราชภัฏลำปาง ได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง มายังจังหวัดลำปางเป็นครั้งแรก ทำให้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล็งเห็นถึงความพร้อม และความเหมาะสมของจังหวัดลำปางในฐานะที่จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการศึกษาในเขตภาคเหนือได้

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2537-2539 เมื่อทบวงมหาวิทยาลัยมีนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาคอย่างมีคุณภาพ โดยส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางวิชาการขยายการจัดการศึกษาสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้ตามโครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาคมชาวลำปางให้จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีขึ้นในจังหวัดลำปาง เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนในเขตภาคเหนือ จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับเยาวชนในกรุงเทพมหานคร จึงได้เริ่มโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 8 กรกฎาคม พุทธศักราช 2539 โดยมหาวิทยาลัยได้จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต ในปีการศึกษา 2541 และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสหวิทยาการสังคมศาสตร์ ในปีการศึกษา 2542

ในระยะแรกเนื่องจากข้อจำกัดในด้านงบประมาณและสถานที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวงมหาดไทยให้ใช้ศาลากลางจังหวัดหลังเดิมเป็นอาคารเพื่อจัดการเรียนการสอนชั่วคราว โดยดำเนินการมาตั้งแต่พุทธศักราช 2539–2546 อย่างไรก็ดี ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดหาพื้นที่ก่อสร้างอาคารถาวรสำหรับจัดการศึกษา เพื่อรองรับการเรียนการสอนและจำนวนนักศึกษาที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ในการนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับความอนุเคราะห์จากนายบุญชู ตรีทอง ซึ่งได้มอบที่ดินและทุนทรัพย์ในการก่อสร้างอาคารเรียนรวม ณ ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร โดยเมื่อการก่อสร้าง แล้วเสร็จได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ใช้พระนาม “สิรินธรารัตน์” เป็นนามอาคาร และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ” ประดับที่อาคาร อีกทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พุทธศักราช 2548 ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้ย้ายสถานที่จัดการเรียนการสอนมายังอาคาร “สิรินธรารัตน์” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ณ ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นมา

ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เปิดการเรียนการสอนนักศึกษาในระดับปริญญาตรี จำนวน 4 คณะ คือ 1.คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 2.สาขาสหวิทยาการสังคมศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ 3.สาขาศิลปะการออกแบบหัตถอุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ และ 4.คณะนิติศาสตร์

สถานที่ตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เลขที่ 248 หมู่ 2 ถนนลำปาง-เชียงใหม่ ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง 52190 อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปาง ประมาณ 15 กิโลเมตร ไปตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์สายลำปาง-เชียงใหม่ (ทางหลวงหมายเลข 11)

[แก้] ศูนย์อื่น ๆ

[แก้] กิจกรรมมหาวิทยาลัย

กิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยของนักศึกษานั้น จะอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรของนักศึกษา ที่แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนบริหารจัดการ ได้แก่ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ส่วนการพิจารณาโครงการ งบประมาณ การจัดตั้ง-ยุบชุมนุม ชมรม รวมไปถึงการพิจารณากฏ ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ได้แก่ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำงานประสานกับ งานกิจกรรมนักศึกษา กองกิจการนักศึกษา ของมหาวิทยาลัย และส่วนบริหารจัดการ พิจารณาโครงการ การจัดตั้ง-ยุบชุมนุม ชมรม ในหอพัก และกำกับดูแลหอพักนักศึกษา ได้แก่ คณะกรรมการหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กพน.) โดยทำงานประสานกับ ฝ่ายทะเบียนและผู้ช่วยอาจารย์หอพัก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน ของมหาวิทยาลัย

[แก้] ชุมนุม ชมรม กลุ่มกิจกรรม กลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัย

[แก้] กีฬาและนันทนาการ

การแปรอักษรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 63
งานธรรมศาสตร์รวมใจจุดเทียนชัยถวายพระพร ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

[แก้] ศิลปะวัฒนธรรม

  • คอนเสิร์ตประสานเสียงสามสถาบัน จุฬาฯ เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (CKT) การแสดงคอนเสิร์ตร่วมของ 3 สถาบันที่ได้รับพระราชทานเพลงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • งิ้วธรรมศาสตร์ การแสดงล้อเลียนเสียดสีสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ที่นำเอาอุปรากรจีนหรืองิ้วมาดัดแปลง เริ่มมีตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ที่ชุมนุมนาฏศิลป์ ส่วนใหญ่มักใช้เรื่องสามก๊กผสานกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ๆ เป็นสำคัญ การแสดงงิ้วธรรมศาสตร์หยุดไปช่วงหนึ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลามหาวิปโยค และกลับมาอีกครั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 จากนั้นก็หยุดไป และมาเริ่มอีกครั้งในการขับไล่ทักษิณ ชินวัตร ปัจจุบันงิ้วธรรมศาสตร์ที่เล่นอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จริงๆกับงิ้วที่เล่นในการชุมนุมเรียกร้อง ขับไล่นายกทักษิณนั้นเป็นคนละงิ้วกัน แต่มีที่มาเดียวกัน กล่าวคือเป็นงิ้วที่เริ่มจากคณะนิติศาสตร์ และต่อมาคณะนิติศาสตร์ไม่มีคนสืบงานต่อ งิ้วล้อการเมืองธรรมศาสตร์ปัจจุบันจึงตกสืบเนื่องมาเป็นงิ้วของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นชมรมปิด รับเฉพาะนักศึกษาสังคมสงเคราะห์เท่านั้น เรียกได้ว่า งิ้วล้อการเมืองคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เล่นโดยนักศึกษาจริงๆ ซึ่งการเล่นนั้นจะเล่นบทให้เข้ากับสถานณ์บ้านเมืองและใช้เหตุและผล ความคิดของนักศึกษาอย่างแท้จริง ส่วนงิ้วที่เล่น ณ เวทีพันธมิตร เป็น แค่ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนฝ่ายพันธมิตรและเคยเล่นงิ้วมาก่อน และใช้ชื่อว่า งิ้วธรรมศาสตร์ ทั้งๆที่งิ้วธรรมศาสตร์ที่แท้จริงและเล่นโดยนักศึกษาธรรมศาสตร์นั้นคือ งิ้วล้อการเมือง คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยงานประจำที่งิ้วล้อการเมืองเล่นทุกปี คือ งานรับเพื่อนใหม่ และงานเปิดโลกกิจกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ [18][19]
  • โขนธรรมศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. 2509 ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในความอุปถัมถ์ของ มูลนิธิคึกฤทธิ์80[20]

[แก้] งานบำเพ็ญประโยชน์และอาสาสมัคร

  • ทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ Thammasat University Ambassador เป็นผู้แทนนักศึกษาในการนำขบวนอัญเชิญธรรมจักรหรือถ้วยพระราชทาน และเป็นดรัมเมเยอร์ในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการดำเนินการจัดกิจกรรมและร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยในโอกาสต่าง ๆ เป็นพรีเซ็นเตอร์ วิทยากร พิธีกร เดินแบบ ให้แก่สถาบันและหน่วยงานสาธารณกุศล ทั้งยังเป็นผู้แทนนักศึกษาในการ ต้อนรับบุคคลสำคัญในงานของมหาวิทยาลัย ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยและกิจกรรมของนักศึกษาให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ตลอดจนการเชิญชวนให้นักศึกษามาร่วมกันทำกิจกรรมกันมากขึ้น แต่ ณ ปัจจุบันการคัดเลือกทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์นั้นไม่ได้ดูนักศึกษาที่มีความพร้อมเท่าใดนัก โดยเน้นนักศึกษาที่รูปร่างหน้าตาและบุคคลิกดี ไม่คำนึงถึง "จิตอาสา" รวมถึงการเป็นบุตรหลานของคนสำคัญในระดับสังคมที่เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนพิจารณาถึงฐานะของครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งการวางตัวของทูตกิจกรรมฯ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น การดื่มสุรา ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่า ควรใช้ชื่อทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สืบต่อไปหรือไม่ เพราะหน้าที่หลักเท่าที่มีตอนนี้คือผู้อัญป้ายมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่ได้จัดกิจกรรมที่ประโยชน์ต่อสังคมเหมือนแต่ก่อน
  • Thammasat Sharing Festival หรือ TU Sharing เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันกันความดีในรูปแบบต่างๆ และสร้างกระแสให้นักศึกษาทุกคนรู้สึกว่าการทำความดีไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ Share Idea with Idol , T-Shirt sharing , กิจกรรมปล่อยนก ,บริจาคเงินเพื่อเด็กกำพร้า,คนพิการ,คนชรา , อ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตา , Best sharing award , ธรรมศาสตร์ตักบาตรเพื่อพ่อ และกิจกรรมนั่งสมาธิ โดยเริ่มจัดครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2552 โดยกลุ่มอิสระพัฒนาศักยภาพ R&DTC (ยังไม่เป็นชมรมเนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาติการจัดตั้งจาก องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสภานักศึกษาสภานักศึกษา) มีผู้ร่วมทำกิจกรรมทั้งหมดกว่า 3,000 คน
  • บัณฑิตอาสาสมัคร เป็นโครงการระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ให้บัณฑิตออกไปสู่ชุมชนและชนบท เพื่อเรียนรู้ เข้าใจ และทำงานประสานร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานพัฒนาต่าง ๆ โครงการนี้ดูแลโดย สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร

[แก้] บุคคลเด่นในประชาคมธรรมศาสตร์

ดูเพิ่มที่ รายชื่อบุคคลเด่นในประชาคมธรรมศาสตร์

[แก้] เกร็ด

  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่มีประเพณีการรับน้องใหม่ที่จัดโดยมหาวิทยาลัย แต่มีประเพณี “รับเพื่อนใหม่”

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ปรีดีกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, สถาบันปรีดี พนมยงค์
  2. ^ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” จงไปสู่สุขคติ
  3. ^ 3.0 3.1 3.2 ประวัติคณะรัฐศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  4. ^ 4.0 4.1 คณะราษฎร, ประกาศคณะราษฏร ฉบับที่ ๑, วิกิซอร์ซ
  5. ^ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ด้วยจิตวิญญาณธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, พ.ศ. 2544. ปรับปรุงจากบทความ ฟื้นอุดมศึกษาไทย ด้วยจิตวิญญาณธรรมศาสตร์, ปาฐกถางาน “เดินประชาธิปไตย” เนื่องในวาระ 69 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, 24 มิถุนายน 2544 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
  6. ^ ประกาศโอนโรงเรียนกฎหมายไปขึ้นแก่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ราชกิจจานุเบกษา
  7. ^ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476, ราชกิจจานุเบกษา
  8. ^ ประวัติคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  9. ^ ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  10. ^ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 50) (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี), ราชกิจจานุเบกษา
  11. ^ สถานที่สำคัญหรือจุดประวัติศาสตร์, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  12. ^ ประวัติคณะเศรษฐศาสตร์ มธ., โครงการปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  13. ^ สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, คู่มือการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (โครงการปกติและโครงการพิเศษ) ปีการศึกษา 2550, น.3
  14. ^ มติชน, 'สุรพล'ชนะคะแนนโหวต สภามธ. 25-6 ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมธ.สมัยที่ 2, มติชน, 24 กันยายน พ.ศ. 2550
  15. ^ งานประชาสัมพันธ์, ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 25 กันยายน พ.ศ. 2550
  16. ^ ทวีศักดิ์ กออนันตกูล, NECTEC Technology Roadmap in Software Technology
  17. ^ http://socadmin.tu.ac.th/about/about.htm
  18. ^ อนันต์ ลือประดิษฐ์, จับกระแส : อาวุธเพื่อการขับไล่ทรราช, กรุงเทพธุรกิจ, 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
  19. ^ กองบรรณาธิการ, งิ้วกู้ชาติ, ไทยโพสต์, 4 มีนาคม พ.ศ. 2549
  20. ^ พิชามญชุ์, “โขนธรรมศาสตร์เฉลมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา” สู่เวลาผลัดใบของโขนธรรมศาสตร์รุ่นใหม่, สกุลไทย, ฉบับที่ 2381 ปีที่ 46 ประจำวันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2543

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




มหาวิทยาลัยในกลุ่ม LAOTSE

ม.เซี่ยงไฮ้เจียวถง : มวท.ฮ่องกง : ม.ชิงหัว : ม.เจ้อเจียง : ม.Tongji : ม.โคเปนเฮเกน : มท.มิวนิก  : สท.โตเกียว : ม.โตเกียว : ม.เคโอ : สท.คิวชู : ม.มัลติมีเดีย (มาเลเซีย) : ม.สิงคโปร์ : มท.นานยาง : สจ.สิงคโปร์ : สวท.เกาหลี : สท.เอเชีย (ไทย) : สท.สิรินธร : ม.ธรรมศาสตร์


มหาวิทยาลัยในกลุ่ม ISEP ISEP logo.gif

เกาหลี · คันไซ · ซันเดอร์แลนด์ · เดนเวอร์ · ธรรมศาสตร์ · บอลล์สเตต · พลีมัท · มินนิโซตา · รูสเวลต์ · ไวโอมิง · อาร์เอ็มไอที · ไอโอวา · ไอโอวาสเตต