ประเทศรัสเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก รัสเซีย)
Российская Федерация
Rossijskaja Federatsija
ราสซีสกายา เฟเดราซียา
สหพันธรัฐรัสเซีย
ธงชาติรัสเซีย ตราแผ่นดินของรัสเซีย
ธงชาติ ตราแผ่นดิน
คำขวัญไม่มี
เพลงชาติHymn of the Russian Federation
ที่ตั้งของรัสเซีย
เมืองหลวง
(และเมืองใหญ่สุด)
มอสโก

55°45′N 37°37′E

ภาษาทางการ ภาษารัสเซียและภาษาทางการอื่น ๆ ในแต่ละสาธารณรัฐ
รัฐบาล สหพันธรัฐระบบกึ่งประธานาธิบดี
  ประธานาธิบดี
นายกรัฐมนตรี
ดมิตรี มิดเวดิฟ
วลาดิมีร์ ปูติน
ได้รับเอกราช
   - ประกาศ
 - Finalized
 - อดีต
จาก สหภาพโซเวียต
12 มิถุนายน พ.ศ. 2533 (วันรัสเซีย)
26 ธันวาคม พ.ศ. 2534
สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย 
เนื้อที่
 -  ทั้งหมด 17,098,242 กม.² (ลำดับที่ 1)
 -  พื้นน้ำ (%) 0.5
ประชากร
 -  2549 ประมาณ 142,893,540 (อันดับที่ 8)
 -  2545 สำรวจ 145,513,037 
 -  ความหนาแน่น 8.4/กม.² (อันดับที่ 178)
GDP (PPP) 2548 ประมาณ
 -  รวม 1.778 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 7-9)
 -  ต่อประชากร 12,254 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 54)
HDI (2550) 0.802 (สูง) (อันดับที่ 63)
สกุลเงิน รูเบิล (RUB)
เขตเวลา (UTC+2 ถึง +12)
 -  ฤดูร้อน (DST)  (UTC+3 ถึง +13)
รหัสอินเทอร์เน็ต .ru, .su (จองไว้)
รหัสโทรศัพท์ +7
แสตมป์ของประเทศรัสเซีย "รัสเซีย — ประเทศไทย" พิมพ์ขึ้นในปี 1997

รัสเซีย (อังกฤษ: Russia; รัสเซีย: Росси́я, Rossija [rʌ'sʲi.jə]) หรือ สหพันธรัฐรัสเซีย (อังกฤษ: Russian Federation; รัสเซีย: Росси́йская Федера́ция, Rossijskaja Federatsija [rʌ'sʲi.skə.jə fʲɪ.dʲɪ'ra.ʦɪ.jə]) เป็นประเทศที่มีอาณาบริเวณตั้งแต่ทางตะวันออกของทวีปยุโรป และทางเหนือของทวีปเอเชีย เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก (เป็นสองเท่าของอันดับสอง คือ ประเทศแคนาดา) เดิมเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียต และเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด มีอิทธิพลที่สุดของโซเวียต

เนื้อหา

[แก้] ประวัติศาสตร์

ดูที่บทความหลักได้ที่ ประวัติศาสตร์รัสเซีย

[แก้] ยุคแห่งการตั้งอาณาจักร

ชาวสลาฟตะวันออกเป็นชนชาติแรกที่เข้ามาตั้งถื่นฐานในรัสเซีย บริเวณแม่น้ำนีเปอร์และแม่น้ำวอลกาทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนทางตอนเหนือชนชาติสแกนดิเนเวียและไวกิ้งที่รู้จักในนามวาแรนเจียน ได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำเนวา และทะเลสาบลาโดกา ทำการติดต่อค้าขายกับชาวสลาฟ แต่แล้วในปี ค.ศ.880 กษัตริย์แห่งวาแรนเจียนก็เข้ามายึดเมืองเคียฟของชาวสลาฟ และได้ตั้งเคียฟเป็นเมืองหลวง โดยผนวกดินแดนเหนือและใต้เข้าด้วยกันแล้วขนานนามว่า เคียฟรุส (Kievan Rus')

ในปี ค.ศ. 978 เจ้าชายวลาดีมีร์ โมโนมัค ขึ้นครองราชย์และทรงนำศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์เข้าสู่รัสเซีย ซึ่งต่อมามีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงต่อศิลปะ สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของประเทศ ในช่วงศตวรรษที่ 11 เคียฟเป็นนครหลวง ศูนย์รวมของอำนาจกษัตริย์และเป็นศูนย์กลางของคริสต์จักรออร์ทอดอกซ์ ในขณะที่เมืองอื่นๆ ก็มีประชากรก่อตั้งขึ้นมา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวอ้างถึงมอสโกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1147 ว่าเจ้าชายยูริ ดอลโกรูกี มกุฎราชกุมารแห่งนครเคียฟ มีรับสั่งให้สร้างป้อมปราการไม้หรือเครมลินขึ้นที่เนินเขาโบโรวิตสกายา ริมแม่น้ำมอสควา และตั้งชื่อเมืองว่า มอสโก

[แก้] อาณาจักรมัสโควี

ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 กองทัพมองโกล นำโดยบาตูข่าน เข้ารุกรานรัสเซีย และยึดเมืองเคียฟได้สำเร็จ หลังจากนั้นรัสเซียก็ถูกตัดจากโลกภายนอก ถูกควบคุมทางการเมือง การปกครอง และต้องจ่ายภาษีให้กับมองโกล กษัตริย์และพระราชาคณะจึงย้ายศูนย์กลางอำนาจมาทางตอนเหนือ

ในปี 1328 พระเจ้าอีวานที่ 1 ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงมีฉายาว่า lvan kalita หรืออีวานถุงเงิน เนื่องจากทรงเก็บส่วยและเครื่องบรรณาการให้มองโกล และในยุคนี้เองที่กษัตริย์ได้ย้ายที่ประทับมาที่มอสโก ต่อมาในยุคของพระเจ้าอีวานที่ 2 (ค.ศ. 1353-1359) มองโกลเริ่มเสื่อมอำนาจ เจ้าชายดมีตรี โอรสแห่งพระเจ้าอีวานที่ 2 ทรงขับไล่มองโกลได้สำเร็จในการรบที่คูลีโคโว บนฝั่งแม่น้าดอน ในปี 1380 พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็น ดมีตรี ดอนสกอย (ดมีตรีแห่งแม่น้ำดอน) ได้รวมเมืองวลาดีมีร์และซุลดัล อันเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรมัสโควี และยังได้บูรณะเครมลินเป็นกำแพงหินขาวแทนไม้โอ๊ก มอสโกจึงมีอีกชื่อเรียกว่า เมืองกำแพงหินขาวในยุคนั้น แต่เพียงไม่นานพวกตาตาร์ก็กลับมาทำลายเครมลินจนพินาศ รัสเซียต้องเป็นเมืองขึ้นของตาตาร์อีกครั้งหนึ่งในปี 1382

จนเข้าสู่สมัยของพระเจ้าอีวานที่ 3 หรือพระเจ้าอีวานมหาราช (ค.ศ. 1462-1505) พระองค์ทรงอภิเษกกับหลานสาวของจักรพรรดิองค์ก่อนแห่งไบแซนไทน์ในปี 1472 และรับอินทรีสองเศียรเป็นสัญลักษณ์ของรัสเซีย ในยุคของพระองค์ได้รวบรวมดินแดนให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1480 ทรงขับไล่กองกำลังตาตาร์ออกจากรัสเซียจนหมดสิ้น ปิดฉากสองศตวรรษภายใต้การปกครองของมองโกล ทรงบูรณะเคนมลินให้เป็นหอคอยสูงและโบสถ์งดงามไว้ภายในเครมลิน นับเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองของรัสเซีย

ปี 1574 พระเจ้าอีวานที่ 4 (1533-1584) หลานของพระเจ้าอีวานมหาราช ได้รับสถาปนาเป็นซาร์พระองค์แรก (ซาร์ มาจากคำว่า ซีซาร์ ผู้ครองอำนาจแห่งจักรวรรดิโรมันและไบแซนไทน์) พระองค์ทรงปกครองอาณาจักรด้วยความเหี้ยมโหด ปราศจากความเมตตา ว่ากันว่าทรงรับสั่งให้ควักลูกตาสถาปนิกผู้ออกแบบสร้างมหาวิหารเซนต์บาซิล เพื่อมิให้สร้างสิ่งก่อสร้างที่งดงามเช่นนี้ได้ที่ใดอีก เมื่อหมดยุคของพระเจ้าอีวานที่ 4 ในปี ค.ศ. 1584 มอสโกก็ประสบปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจอย่างรุนแรง มีการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์รูริก และโรมานอฟ ในที่สุดสมัชชาแห่งชาติและพระราชาคณะแห่งคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ ก็มีมติเลือกมิคาอิล โรมานอฟ ขึ้นเป็นซาร์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์โรมานอฟ

[แก้] จักรวรรดิรัสเซีย

ค.ศ. 1613-1917 พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 มหาราช (ค.ศ. 1682-1725) ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์รัสเซีย พระองค์ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ 10 ชันษา พร้อมกับพระเจ้าอีวานที่ 5 (เป็นกษัตริย์บัลลังก์คู่) จนในปี 1696 เมื่อพระเจ้าอีวานที่ 5 สิ้นพระชนม์ พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 มหาราช จึงมีพระราชอำนาจโดยแท้จริง ในยุคของพระองค์ทรงขยายอาณาเขตรัสเซียออกไปทางตะวันออกถึงวลาดีวอสตอค และทรงใช้นโยบายสู้ตะวันตก ทรงนำรัสเซียเข้าสู่ยุคใหม่ โดยในปีค.ศ. 1712 ทรงย้ายเมืองหลวงจากมอสโกมาที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งกองทหารราชนาวีขึ้นในรัสเซีย ทั้งยังทรงนำช่างฝีมือจากฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มาสร้างวิหารและพระราชวังที่งดงามอีกมากมาย และทรงนำพาจักรวรรดิรัสเซียให้เป็นที่รู้จักเกรียงไกรในสังคมโลก ถัดจากพระเจ้าปีเตอร์มหาราชยังมีซาร์และซารีนาอีกหลายพระองค์ที่สืบราชบัลลังก์ ทว่าผู้ที่สร้างความเจริญเฟื่องฟูให้กับรัสเซียสูงสุด ได้แก่ พระนางเจ้าแคทเธอรีนที่ 2 (ค.ศ. 1762-1796) พระนางได้รับการยกย่องให้เป็นราชินี ด้วยทรงเชี่ยวชาญด้านการปกครองอย่างมาก กระนั้นพระนางก็มีชื่อเสียงด้านลบด้วยพระนางมีคู่เสน่หามากมาย

ผู้สืบราชวงศ์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าพอลล์ที่ 1 (ค.ศ. 1796-1801) พระราชโอรสของพระนางเจ้าแคทเทอรีน ทรงครองราชย์อยู่เพียงระยะสั้น จากนั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 (1801- 1825) พระราชโอรสสืบพระราชบัลลังก์ต่อ ในปี 1812 ทรงทำศึกชนะจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส แต่แล้วในช่วงปลายรัชกาล เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบบรัฐสภา ปี 1825 เกิดกบฏต่อต้านราชวงศ์ขึ้นในเดือนธันวาคม เรียก กบฏธันวาคม (Decembrist Movement) แต่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 (ค.ศ. 1825-1855) ก็ทรงปราบกลุ่มผู้ต่อต้านไว้ได้ พอมาในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 (ค.ศ. 1855-1881) พระองค์ทรงมีฉายาว่า Tzar Liberator (ซาร์ผู้ปลดปล่อย) เนื่องจากพระองค์ทรงปลดปล่อยทาสติดที่ดิน (Serf) หลายล้านคนให้พ้นจากการเป็นทาส แต่พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี 1881 ทิ้งไว้เพียงอนุสรณ์สถานที่สร้างอุทิศแด่พระองค์ ณ จุดที่ถูกลอบปลงพระชนม์ ซาร์องค์ต่อมาคือ อเล็กซานเดอร์ที่ 3 (ค.ศ. 1881-1894) จนถึงซาร์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โรมานอฟ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (1894-1917) ความเหลื่อมล้ำกันทางชนชั้น และความยากจน ก่อให้เกิดการปฏิวัติเป็นครั้งแรกโดนกรรมการชาวนาในปี 1905 ซึ่งมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า วันอาทิตย์เลือด Bloody Sunday และสุดท้ายคือการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 กระนั้นชนวนที่ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟและระบอบซาร์ถึงกาลอวสานก็มีปัจจัยอื่นเช่นกัน

[แก้] สมัยสหภาพโซเวียต

การตัดสินใจเขาร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของซาร์นิโคลัสที่ 2 นั้นนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ทั้งชีวิตของทหารและชาวรัสเซียนับล้านที่เมื่อรัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ การจลาจลเกิดขึ้นทั่วเมือง ในที่สุดปี 1917 จึงเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบซาร์ พระเจ้านิโคลัสที่ 2 สละราชสมบัติ มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลเฉพาะกิจเคอเรนสกีขึ้นบริหารประเทศ แต่พรรคบอลเชวิค (Bolshevik) นำโดยวลาดีมีร์ เลนินก็ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการบริหารประเทศไว้ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งประกาศให้ประเทศเป็น สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Repubilcs หรือ USSR)

ปี ค.ศ. 1918 ย้ายเมืองหลวงและฐานอำนาจกลับสู่มอสโก กระนั้นก็ยังมีผู้ไม่พอใจกับสภาพแร้นแค้น การขาดสิทธิเสรีภาพ จึงทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เลนินถึงแก่อสัญกรรมในปี 1924 โจเซฟ สตาลิน (1924-1953) ขึ้นบริหารประเทศแทนด้วยความเผด็จการ และกวาดล้างทุกคนผู้ที่มีความคิดต่อต้าน เขาเปิดการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ จนเทียบเคียงสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาความอดอยาก ที่เรื้อรังมานานก็ยากเกินเยียวยา และยิ่งเลวร้ายเมื่อฮิตเลอร์สั่งล้อมมอสโกไว้ โดยเฉพาะที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถูกปิดล้อมไว้นานถึง 900 วันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชาวรัสเซียเรียกสงครามครั้งนั้นว่า The Great Patriotic War กระนั้นสตาลินก็มีบทบาทในการพิชิตนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1941-1945) นี้ไว้ได้

ปี ค.ศ. 1955 นีกีตา ครุชชอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำโดยมีแนวคิดในการบริหารประเทศที่เน้นการอยู่ร่วมกัน มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนผ่อนคลายความเข้มงวดให้น้อยกว่าสมัยสตาลิน รวมถึงเปิดเครมลินเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนได้เข้าชมอีกด้วย ปี 1964 ครุชชอฟลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคแทน เบรจเนฟแผ่อิทธิพลไปถึงจีน คิวบา และอัฟกานิสถาน เพิ่มความเครียดไปทั่วโลก เขาจึงนำนโยบายต่างประเทศที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ การผ่อนคลายความตึงเครียด มาใช้โดยปี1980 มอสโกได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 22

ปี ค.ศ. 1985 มิฮาอิล กอร์บาชอฟขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมิวนิสต์ เขาเป็นผู้นำการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เรียกว่า เปเรสตรอยกา (Perestroyka) โดยนำพาประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยม มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาฝีมือแรงงานรวมถึงเสนอนโยบายเปิดกว้างกลาสนอสต์ (Glasnost) คือให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชน มีการติดต่อด้านการค้ากับตะวันตก รวมถึงถอนกำลังออกจากยุโรปตะวันออกและอัฟกานิสถานและยังได้เข้าร่วมกับองค์การนาโต หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ในปี ค.ศ. 1990 กอร์บาชอฟได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รวมถึงได้รับยกย่องจากนิตยสารไทม์เป็นบุรุษแห่งศตวรรษ (Man of the Decade) กระนั้นปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค และความล้าหลังทางการผลิตที่สั่งสมมานานก็ทำให้นโยบายเปเรสตรอยกาล้มเหลว ความนิยมในกอร์บาชอฟเริ่มตกลง ต่อมาเกิดรัฐประหารขึ้นในเดือนสิงหาคม 1991 โดยกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวเก่าที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงสู่ตลาดเสรี แต่บอริส เยลต์ซิน ก็สามารถกู้สถานการณ์เอาไว้ได้ กอร์บาชอฟจึงสิ้นคะแนนนิยมอย่างแท้จริง เขาประกาศลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงประกาศยกเลิกพรรคคอมมิวนิสต์ต่อหน้ามหาชน พร้อมด้วยการก้าวขึ้นเป็นผู้นำของเยลต์ชิน สหภาพโซเวียตจึงล่มสลาย สาธารณรัฐต่างๆ ทั้ง 15 สาธารณรัฐแยกตัวเป็นอิสระ รวมทั้งสาธารณรัฐรัสเซีย (Russian SFSR) ภายใต้ชื่อใหม่ว่า สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation)

[แก้] หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต การเมืองในรัสเซียขาดเอกภาพ เนื่องจากเกิดการแก่งแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ความปั่นป่วนทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นการก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2536แต่นายบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีในขณะนั้น สามารถปราบปรามการก่อรัฐประหารได้สำเร็จ และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจสูงสุดแก่ประธานาธิบดี

[แก้] ชื่อภาษาอังกฤษของรัสเซีย

  • รุ่นแรกเป็น USSR
  • รุ่นปัจจุบันเป็น RUSSIA

[แก้] การเมืองการปกครอง

หลังจากวิกฤติทางการเมืองในปี 1993 รัสเซียมีการออกรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งได้รับการยอมรับโดยประชามติในวันที่ 12 ธันวาคม 1993 และเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัสเซียเป็นสหพันธรัฐซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุข[1] และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล สหพันธรัฐรัสเซียปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน รัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจบริหาร[2] ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือนายดมิตรี เมดเวเดฟ

[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง

ประเทศรัสเซียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 เขตสหพันธ์ (federal districts) แต่ละเขตสหพันธ์แบ่งย่อยลงไปอีกเป็น สาธารณรัฐ (Republics - respubliki ) ดินแดน (Territories - kraya ) แคว้น (Provinces - oblasti ) นครสหพันธ์ (Federal cities - federalnyye goroda ) แคว้นปกครองตนเอง (Autonomous oblast - avtonomnaya oblast ) เขตปกครองตนเอง (Autonomous districts - avtonomnyye okruga ) รวมทั้งหมด 21 สาธารณรัฐ 7 ดินแดน 47 แคว้น 2 นครสหพันธ์ 1 แคว้นปกครองตนเอง และ 6 เขตปกตรองตนเอง ได้แก่


ดูเพิ่มได้ที่ เขตการปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย

เขตการปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย
  1. สาธารณรัฐอะดีเกยา (Adygeya)
  2. สาธารณรัฐบัชคอร์โตสถาน (Bashkortostan)
  3. สาธารณรัฐบูเรียตียา (Buryatia)
  4. สาธารณรัฐอัลไต (Altai)
  5. สาธารณรัฐดาเกสถาน(Dagestan)
  6. สาธารณัฐอินกูเชเตีย (Ingushetia)
  7. สาธารณรัฐคาบาร์ดีโน-บัลคาเรีย (Kabardino-Balkaria)
  8. สาธารณรัฐคัลมืยคียา (Kalmykia)
  9. สาธารณรัฐคาราไช-เชียร์เคสส์ (Karachay-Cherkessia)
  10. สาธารณรัฐคาเรลียา (Kareliya)
  11. สาธาณรัฐโคมิ (Komi)
  12. สาธารณรัฐมารีอิ-เอล (Marii-El)
  13. สาธารณรัฐมอร์โดเวีย (Mordovia)
  14. สาธารณรัฐซาฮา (ยาคูตียา) (Sakha; Yakutia)
  15. สาธารณรัฐนอร์ทออสซีเชีย-อาลาเนีย(North Ossetia-Alania)
  16. สาธารณรัฐตาตาร์สถาน (Tatarstan)
  17. สาธารณรัฐตูวา (Tuva)
  18. สาธารณรัฐอุดมูร์ต (Udmurtia)
  19. สาธารณรัฐฮาคาซียา(Khakassia)
  20. สาธารณรัฐเชชเนีย (Chechnya)
  21. สาธารณรัฐชูวัช (Chuvashia)
  22. ดินแดนอัลไต (Altai)
  23. ดินแดนครัสโนดาร์ (Krasnodar)
  24. ดินแดนครัสโนยาสค์ (Krasnoyarsk)
  25. ดินแดนปรีมอร์สกี(Primorsky)
  26. ดินแดนสตัฟโรปอล (Stavropol)
  27. ดินแดนฮาบารอฟสค์ (Khabarovsk)
  28. แคว้นอามูร์ (Amur)
  29. แคว้นอาร์ฮันเกลสค์ (Arkhangelsk)
  30. แคว้นอัสตราฮัน (Astrakhan)
  31. แคว้นเบลโกรอด (Belgorod)
  32. แคว้นบรีอันสค์ (Bryansk)
  33. แคว้นวลาดีมีร์ (Vladimir)
  34. แคว้นวอลโกกราด (Volgograd)
  35. แคว้นโวลอกดา(Vologda)
  36. แคว้นโวโรเนช (Voronezh)
  37. แคว้นอีวาโนโว (Ivanovo)
  38. แคว้นอีคุตคส์ (Irkutsk)
  39. แคว้นคาลินินกราด (Kaliningrad)
  40. แคว้นคาลูกา (Kaluga)
  41. แคว้นเคเมโรโว (Kemerovo)
  1. แคว้นคีรอฟ (Kirov)
  2. แคว้นโคสโตมา (Kostroma)
  3. แคว้นคูร์กัน (Kurgan)
  4. แคว้นครุสค์ (Kursk)
  5. แคว้นเลนินกราด (Leningrad)
  6. แคว้นลีเปตสค์ (Lipetsk)
  7. แคว้นมากาดาน (Magadan)
  8. แคว้นมอสโก (Moscow)
  9. แคว้นมูร์มันสค์ (Murmansk)
  10. แคว้นนิจนีนอฟโกรอด (Nizhny Novgorod)
  11. แคว้นนอฟโกรอด (Novgorod)
  12. แคว้นโนโวซีบีสค์ (Novosibirsk)
  13. แคว้นออมสค์ (Omsk)
  14. แคว้นโอเรนบูร์ก (Orenburg)
  15. แคว้นโอริออล (Oryol)
  16. แคว้นเปนซา (Penza)
  17. แคว้นปัสคอฟ (Pskov)
  18. แคว้นรอสตอฟ (Rostov)
  19. แคว้นรีซาน (Ryazan)
  20. แคว้นซามารา (Samara)
  21. แคว้นซาราตอฟ (Saratov)
  22. แคว้นซาฮาลิน (Sakhalin)
  23. แคว้นสเวียร์ดอฟสค์ (Sverdlovsk)
  24. แคว้นสโมเลนสค์ (Smolensk)
  25. แคว้นตัมบอฟ (Tambov)
  26. แคว้นตเวียร์ (Tver)
  27. แคว้นตอมสค์ (Tomsk)
  28. แคว้นตูลา (Тula)
  29. แคว้นตูย์เมน (Tyumen)
  30. แคว้นอูลยานอฟสค์ (Ulyanovsk)
  31. แคว้นเชเลียบินสค์ (Chelyabinsk)
  32. แคว้นชีตา (Chita)
  33. แคว้นยาโรสลัฟล์ (Yaroslavl)
  34. นครสหพันธ์มอสโก (Moscow)
  35. นครสหพันธ์เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก (St. Petersburg)
  36. แคว้นปกครองตนเองยิว (เยฟเรสกายา) (Jewish)
  37. เขตปกตรองตนเองอะกิน-บูเรียต (Aga Buryatia)
  38. เขตปกครองตนเองเนเนสต์ (Nenetsia)
  39. เขตปกครองตนเองอุสต์-ออร์ดินสกีบูเรียต (Ust-Orda Buryatia)
  40. เขตปกครองตนเองฮันดี-มันซี (Khantia-Mansia)
  41. เขตปกครองตนเองซูคอตตา (Chukotka)
  42. เขตปกครองตนเองยามาโล-เนเนสต์ (Yamalia)
  43. ดินแดนเปียร์ม (Perm)

[แก้] ภูมิศาสตร์

ดินแดนอันกว้างใหญ่ของสหพันธรัฐรัสเซียครอบคลุมพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือเหนือของทวีปยูเรเชีย จุดที่ห่างไกลกันที่สุดของรัสเซีย ซึ่งได้แก่ชายแดนที่ติดต่อกับโปแลนด์และหมู่เกาะคูริล มีระยะห่างถึง 8,000 กิโลเมตร ทำให้รัสเซียมีถึง 11 เขตเวลา[3] รัสเซียมีเขตป่าสงวนที่ใหญ่ที่สุดในโลก[4] และถูกเรียกว่าเป็น "ปอดของยุโรป"[5] เพราะปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซึมนั้นเป็นรองเพียงแค่ป่าดิบชื้นแอมะซอนเท่านั้น[5] รัสเซียมีทางออกสู่มหาสมุทรถึงสามแห่ง ได้แก่มหาสมุทรแอตแลนติก อาร์กติก และแปซิฟิก จึงทำให้รัสเซียเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่ออุปทานของสินค้าประมงในโลก[6]

พื้นที่ส่วนใหญ่ของรัสเซียเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ทางตอนใต้ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสเตปป์ มีป่าไม้มากทางตอนเหนือ และมีพื้นที่แบบทุนดราตามชายฝั่งทางเหนือ เทือกเขาจะอยู่ตามชายแดนทางใต้ เช่นเทือกเขาคอเคซัส ซึ่งมียอดเขาเอลบรุส ที่มีความสูง 5,642 เมตรและเป็นจุดสูงสุดของรัสเซียและยุโรป หรือเทือกเขาอัลไต และทางตะวันออก เช่นเทือกเขาเวอร์โฮยันสค์ หรือภูเขาไฟในแหลมคัมชัตคา เทือกเขาอูรัลทางตะวันตกวางตัวเหนือใต้และเป็นเขตแดนทางธรรมชาติของทวีปเอเชียและทวีปยุโรป

รัสเซียมีชายฝั่งที่ยาวถึง 37,000 กิโลเมตร ตามแนวมหาสมุทรอาร์กติก มหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลบอลติก ทะเลอะซอฟ ทะเลดำ และทะเลแคสเปียน[7] นอกจากนั้น รัสเซียยังมีทางออกสู่ทะเลแบเร็นตส์ ทะเลขาว ทะเลคารา ทะเลแลปทิฟ ทะเลไซบีเรียนตะวันออก ทะเลชุกชี ทะเลเบริง ทะเลโอค็อตสก์ และทะเลญี่ปุ่น เกาะและหมู่เกาะที่สำคัญได้แก่ หมู่เกาะโนวายาเซมเลีย หมู่เกาะฟรัสซ์โยเซฟแลนด์ หมู่เกาะเซเวอร์นายาเซมเลีย หมู่เกาะนิวไซบีเรีย เกาะแวรงเกล เกาะคูริล และเกาะซาคาลิน เกาะดีโอมีด (ซึ่งเกาะหนึ่งปกครองโดยรัสเซีย ส่วนอีกเกาะปกครองโดยสหรัฐอเมริกา) อยู่ห่างกันเพียง 3 กิโลเมตร และเกาะคุนาชิร์ก็อยู่ห่างจากฮอกไกโดเพียงประมาณ 20 กิโลเมตร

[แก้] ประชากร

สัดส่วนของเชื้อชาติ (ค.ศ. 2002)[8]
ชาวรัสเซีย 79.8%
ทาทาร์ 3.8%
ชาวยูเครน 2.0%
ชูวาช 1.1%
เชเชน 0.9%
ชาวอาร์เมเนีย 0.8%
อื่น ๆ/ไม่ระบุ 10.3%
จำนวนประชากรระหว่าง ค.ศ. 1991-2009 (ล้านคน)[9]

จากการประมาณวันที่ 1 มกราคม 2008 ประเทศรัสเซียมีประชากร 142 ล้านคน จำนวนประชากรของรัสเซียมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่คริสตทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเป็นผลจากอัตราการตายที่สูงและอัตราการเกิดที่ต่ำ ในขณะที่อัตราการเกิดในรัสเซียมีพอ ๆ กับประเทศยุโรปอื่น ๆ (อัตราการเกิด 11.3 คนต่อประชากร 1000 คนในปี 2007[10] เทียบกับอัตราเฉลี่ย 10.25 คนต่อประชากร 1000 คนของสหภาพยุโรป[11]) แต่ประชากรกลับลดลงเพราะอัตราการตายสูงกว่า (ในปี 2007 อัตราการตายของรัสเซียคือ 14.7 คนต่อประชากร 1000 คน[10] เมื่อเที่ยบกับอัตราเฉลี่ยของสหภาพยุโรป 10.39 คนต่อ 1000 คน[12]) ปัญหาประชากรที่ลดลงนี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ[13] รัฐบาลจึงตั้งมาตรการต่าง ๆ ในการลดอัตราการตาย เพิ่มอัตราการเกิด พัฒนาสุขภาพของประชาชน[14] กระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียคาดการณ์ว่าอัตราการตายและอัตราการเกิดจะปรับตัวจนเท่ากันภายในปี 2011[14]

ประชากรส่วนมากนับถือศาสนาคริสต์ นิกายรัสเซียนออร์ทอดอกซ์ รัสเซียมีพื้นที่มากที่สุดในโลก แต่เมื่อเทียบกับประชากรแล้ว ความหนาแน่นเพียงแค่ 40 เปอร์เซนต์เท่านั้น

[แก้] เศรษฐกิจ

รัสเซียเป็นแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติที่สำคัญของยุโรป[15]

รัสเซียสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติทางการเงินในปี 1998 และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของการบริโภคในประเทศ และความมั่นคงทางการเมือง[7] ในปี 2007 รัสเซียมีจีดีพีใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก[16] (มูลค่า 2.088 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อวัดด้วยความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ[16]) ค่าแรงเฉลี่ยต่อเดือนในรัสเซียเพิ่มขึ้นจาก 80 ดอลลาร์ในปี 2000 เป็น 640 ดอลลาร์ในต้นปี 2008[17] ชาวรัสเซียที่ยากจนมีประมาณร้อยละ 14 ในปี 2007[18] ซึ่งลดลงอย่างมากจากร้อยละ 40 ในปี 1998 ซึ่งสถิติสูงสุดหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย[19] อัตราว่างงานในรัสเซียลดลงจากร้อยละ 12.4 ในปี 1999 เหลือร้อยละ 6 ในปี 2007[20][21] การที่ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ตลาดของชนชั้นกลางในรัสเซียขยายตัวหลายเท่า[22]

รัสเซียมีแหล่งทรัพยากรแก๊สธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก[23] มีแหล่งทรัพยากรถ่านหินใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และมีแหล่งทรัพยากรน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับแปดของโลก[24] รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกแก๊สธรรมชาติมากเป็นอันดับหนึ่ง[25] และส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับสองของโลก[23] น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ โลหะ และไม้ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและมีมูลค่ามากถึงร้อยละ 80 ของการส่งออกทั้งหมด[7][26]แต่หลังปี 2003 การส่งออกทรัพยากรธรรมชาติก็เริ่มลดความสำคัญลงเพราะตลาดภายในประเทศขยายตัวขึ้นอย่างมาก แม้ว่าราคาทรัพยากรด้านพลังงานจะสูงขึ้นมาก แต่น้ำมันและแก๊สธรรมชาติก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.7 ของจีดีพี และรัฐบาลคาดการณ์ว่าสัดส่วนนี้จะลดลงเหลือร้อยละ 3.7 ภายในปี 2011[27] รัสเซียยังนับว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรอื่น ๆ[22] รัสเซียมีจำนวนประชากรที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากกว่าประเทศอื่นในทวีปยุโรป[28]

ระบบภาษีที่เข้าใจง่ายกว่าเดิมเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งทำให้ภาระต่อประชาชนลดลงในขณะที่รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น[29] รัสเซียใช้ระบบอัตราภาษีคงที่ที่ร้อยละ 13 กับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และทำให้กลายเป็นประเทศที่มีระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ดึงดูดผู้บริหารได้ดีเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากการสำรวจในปี 2007[30][31] งบประมาณของรัฐเกินดุลตั้งแต่ปี 2001 และจนถึงสิ้นปี 2007 มีงบประมาณเกินดุลมาร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ รัสเซียใช้รายได้จากน้ำมันที่ได้รับผ่านกองทุนความมั่นคงของสหพันธรัฐรัสเซียในการจ่ายหนี้ซึ่งเกิดขึ้นในยุคโซเวียตคืนแก่ปารีสคลับและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รายได้จากการส่งออกน้ำมันยังสามารถทำให้รัสเซียมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มจาก 1 หมื่น 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1999 เป็น 5.97 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2008 ซึ่งสูงเป็นอันดับสามของโลก[32] รัสเซียยังสามารถลดหนี้ต่างประเทศที่ก่อขึ้นในอดีตได้อย่างมาก[33]

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภูมิภาค โดยเขตมอสโกเป็นเขตที่ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมากที่สุด[34]

[แก้] วัฒนธรรม

ศาสนา ส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายออร์โธดอกซ์รัสเซีย (ร้อยละ 70) ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 5.5) คริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก (ร้อยละ 1.8) และพุทธศาสนานิกายมหายาน (ร้อยละ 0.6)

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ The Constitution of the Russia Federation: Article 80. สืบค้นวันที่ 2009-01-09
  2. ^ The Constitution of the Russia Federation: Article 110. สืบค้นวันที่ 2009-01-09
  3. ^ World Time Zone: Russia
  4. ^ Library of Congress. Topography and Drainage. สืบค้นวันที่ 2007-12-26
  5. ^ 5.0 5.1 Walsh, Nick Paton. It's Europe's lungs and home to many rare species. But to Russia it's £100bn of wood. Guardian (UK). สืบค้นวันที่ 2009-01-17
  6. ^ Fish Industry of Russia — Production, Trade, Markets and Investment. Eurofish, Copenhagen, Denmark. August 2006. p. 211. http://www.eurofish.dk/indexSub.php?id=3308&easysitestatid=255998662. เรียกดูวันที่ 2007-12-26. 
  7. ^ 7.0 7.1 7.2 The World Factbook: Russia. CIA. สืบค้นวันที่ 2008-12-20
  8. ^ Russian Census of 2002. 4.1. National composition of population. Federal State Statistics Service. สืบค้นวันที่ 2008-01-16
  9. ^ Demographics. Federal State Statistics Service. สืบค้นวันที่ 2008-1-15
  10. ^ 10.0 10.1 Demography. Federal State Statistics Service. สืบค้นวันที่ 2008-03-05
  11. ^ The World Factbook. Rank Order — Birth rate. Central Intelligence Agency. สืบค้นวันที่ 2007-12-27
  12. ^ The World Factbook. Rank Order — Death rate. Central Intelligence Agency. สืบค้นวันที่ 2007-12-27
  13. ^ The incredible shrinking people. The Economist (2008-11-27).
  14. ^ 14.0 14.1 Russia's birth, mortality rates to equal by 2011 - ministry. RIA Novosti. สืบค้นวันที่ 2008-02-10
  15. ^ The City Built on Oil: EU-Russia Summit Visits Siberia's Boomtown, Spiegel
  16. ^ 16.0 16.1 Gross domestic product 2007, PPP. The World Bank. สืบค้นวันที่ 2008-12-20
  17. ^ Russians weigh an enigma with Putin’s protégé. MSNBC. สืบค้นวันที่ 2009-01-10
  18. ^ Russia’s economy under Vladimir Putin: achievements and failures. RIA Novosti. สืบค้นวันที่ 2008-05-09
  19. ^ Branko Milanovic (1998). Income, Inequality, and Poverty During the Transformation from Planned to Market Economy. The World Bank. pp. 186–189. 
  20. ^ Russia's unemployment rate down 10% in 2007 - report. RIA Novosti. สืบค้นวันที่ 2008-05-09
  21. ^ Russia — Unemployment rate (%). indexmundi.com. สืบค้นวันที่ 2008-05-09
  22. ^ 22.0 22.1 Jason Bush (2006-12-07). Russia: How Long Can The Fun Last?. BusinessWeek. สืบค้นวันที่ 2009-01-13
  23. ^ 23.0 23.1 Russia Key facts: Energy. BBC News. สืบค้นวันที่ 2008-12-21
  24. ^ Rank Order - Oil - proved reserves. CIA. สืบค้นวันที่ 2008-12-21
  25. ^ Rank Order - Natural gas - exports. CIA. สืบค้นวันที่ 2008-12-21
  26. ^ Russia Factsheet. The Economist (2008-12-16).
  27. ^ Russia fixed asset investment to reach $370 bln by 2010 - Kudrin. RIA Novosti. สืบค้นวันที่ 2007-12-27
  28. ^ CEE Biweekly (page 6) (PDF). UNESCO Institute for Statistics, UniCredit New Europe Research Network. สืบค้นวันที่ 2008-03-28
  29. ^ Tavernise, Sabrina (23 March 2002). Russia Imposes Flat Tax on Income, and Its Coffers Swell. The New York Times. สืบค้นวันที่ 2007-12-27
  30. ^ Rabushka, Alvin. The Flat Tax at Work in Russia: Year Three. Hoover Institution. สืบค้นวันที่ 2007-12-27
  31. ^ Global personal taxation comparison survey – market rankings. Mercer (consulting firms). สืบค้นวันที่ 2007-12-27
  32. ^ International Reserves of the Russian Federation in 2008. The Central Bank of the Russian Federation. สืบค้นวันที่ 2008-07-30
  33. ^ Russia's foreign debt down 31.3% in Q3—finance ministry. RIA Novosti. สืบค้นวันที่ 2007-12-27
  34. ^ Gross regional product by federal subjects of the Russian Federation 1998–2006. Federal State Statistics Service. สืบค้นวันที่ 2008-06-30 (รัสเซีย)

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

คุณสามารถหาข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ ประเทศรัสเซีย ได้โดยค้นหาจากโครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย:
Wiktionary-logo-th.png หาความหมาย จากวิกิพจนานุกรม
Wikibooks-logo.svg หนังสือ จากวิกิตำรา
Wikiquote-logo.svg คำคม จากวิกิคำคม
Wikisource-logo.svg ข้อมูลต้นฉบับ จากวิกิซอร์ซ
Commons-logo.svg ภาพและสื่อ จากคอมมอนส์
Wikinews-logo.svg เนื้อหาข่าว จากวิกิข่าว
Wikiversity-logo-Snorky.svg แหล่งเรียนรู้ จากวิกิวิทยาลัย

ภาษาอื่น