จังหวัดยะลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก ยะลา)
จังหวัดยะลา
ตราประจำจังหวัดยะลา ตราผ้าพันคอลูกเสือ จังหวัดยะลา
ตราประจำจังหวัด ตราผ้าผูกคอลูกเสือ
Cquote1.png ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน Cquote2.png
ข้อมูลทั่วไป
ชื่ออักษรไทย ยะลา
ชื่ออักษรโรมัน Yala
ผู้ว่าราชการ นายกฤษฎา บุญราช
(ตั้งแต่ พ.ศ. 2552)
ISO 3166-2 TH-95
ต้นไม้ประจำจังหวัด ศรียะลา
ดอกไม้ประจำจังหวัด พิกุล
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ 4,521.078 ตร.กม.[1]
(อันดับที่ 48)
ประชากร 480,334 คน[2] (พ.ศ. 2552)
(อันดับที่ 55)
ความหนาแน่น 106.24 คน/ตร.กม.
(อันดับที่ 46)
ศูนย์ราชการ
ที่ตั้ง ศาลากลางจังหวัดยะลา ถนนสุขยางค์ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา 95000
โทรศัพท์ (+66) 0 7322 1014
โทรสาร (+66) 0 7321 1586
เว็บไซต์ จังหวัดยะลา
แผนที่
 
แผนที่ประเทศไทย เน้นจังหวัดยะลา

สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

จังหวัดยะลา เป็นจังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทย

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

ยะลาเดิมเป็นท้องที่หนึ่งของเมืองปัตตานี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีการปรับปรุงการปกครองใหม่เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาลและได้ออกประกาศข้อบังคับสำหรับปกครอง 7 หัวเมือง รัตนโกสินทรศก 120 ซึ่งประกอบด้วยเมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา ระแงะ และรามัน ในแต่ละเมืองจะแบ่งเขตการปกครองเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 ประกาศจัดตั้งมณฑลปัตตานีขึ้นดูแลหัวเมืองทั้ง 7 แทนมณฑลนครศรีธรรมราช และยุบเมืองเหลือ 4 เมือง ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สายบุรี และระแงะ ต่อมา พ.ศ. 2450 เมืองยะลาแบ่งเขตการปกครองเป็น 2 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองยะลาและอำเภอยะหา ต่อมา พ.ศ. 2475 ได้มีการยกเลิกมณฑลปัตตานี และในปี พ.ศ. 2476 เมืองยะลาได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นจังหวัดยะลาตามพระราชบัญญัติราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 เรื่อง การจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค ออกเป็นจังหวัด เป็นอำเภอ และให้มีข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารราชการ

[แก้] ความหมายของชื่อจังหวัด

เหตุที่เรียกชื่อว่ายะลานั้นเพราะพระยาเมืองคนแรกได้ตั้งที่ทำการขึ้นที่บ้านยะลา คำว่า ยะลา เป็นชื่อเรียกสำเนียงภาษามลายูพื้นเมือง มาจากคำว่า “ยาลอ” (جال) แปลว่า “แห” แต่ตามประวัติศาสตร์ซึ่งได้เขียนไว้ในสมัยเจ็ดหัวเมือง โดยเจ้าผู้ครองเมืองเดิมได้เขียนไว้เป็นประวัติศาสตร์เป็นภาษามลายูว่า “เมืองยะลา” เป็นสำเนียงภาษาอาหรับ โดยชาวอินโดนีเซียที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในบริเวณเจ็ดหัวเมือง ซึ่งอยู่ในแหลมมลายูเป็นผู้ตั้งชื่อเมืองไว้

เมืองยะลาเดิมตั้งอยู่ใกล้ภูเขายาลอ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองยะลาปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ต่อมาเมืองยะลาได้ยกฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่งของบริเวณเจ็ดหัวเมือง คำว่าเมืองยะลาหรือยาลอ ยังคงเรียกกันจนถึงปัจจุบันนี้

[แก้] เมืองที่สวยงาม

ยะลาเป็นจังหวัดที่เทศบาลมีการจัดวางผังเมืองแบบใยแมงมุมที่สวยที่สุดของประเทศไทย และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดความสะอาด 3 ปีซ้อนระหว่าง พ.ศ. 2528-2530 และได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลนครยะลา ในปี พ.ศ. 2538 ในปี พ.ศ. 2540 ได้รับการคัดเลือกจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นเป็น 1 ใน 5 เมืองของประเทศไทยในโครงการเมืองน่าอยู่ทั่วโลก

[แก้] ประชากร

จังหวัดยะลาเป็นหนึ่งใน 4 จังหวัดของไทย ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 68.9 และประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูถึงร้อยละ 66.1นอกจากนั้นก็จะมีชาวไทย ชาวจีน และชาวญวน ภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวันก็จะมีภาษามลายูถิ่น ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันออกไป ภาษาไทย ซึ่งก็มีการใช้สนทนา รวมถึงภาษาจีน ซึ่งแพร่หลายอยู่ในกลุ่มชาวจีนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยะลา รวมถึงภาษาของชาวซาไก ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอำเภอธารโต

[แก้] หน่วยการปกครอง

การปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ 56 ตำบล 341 หมู่บ้าน

  1. อำเภอเมืองยะลา
  2. อำเภอเบตง
  3. อำเภอบันนังสตา
  4. อำเภอธารโต
  5. อำเภอยะหา
  6. อำเภอรามัน
  7. อำเภอกาบัง
  8. อำเภอกรงปินัง
 แผนที่

[แก้] อุทยาน

วนอุทยานน้ำตกธารโต อยู่ที่ตำบลแม่หวาดอำเภอธารโต เป็นวนอุทยาน และป่าสงวนมีพื้นที่1,000 ไร่ เป็นน้ำตกที่สวยงามลดหลั่นกันลงมาถึง9 ชั้น ห่างจากตัวเมืองออกไปตามถนนยะลา-เบตงประมาณ กิโลเมตรที่ 57-58 มีทาง ลูกรังแยกเข้าไป2 กิโลเมตร ประกาศเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 1ตุลาคม 2503 ค่ะ

[แก้] สถานที่ท่องเที่ยว

[แก้] การศึกษา

ระดับอุดมศึกษา

ระดับมัธมยมศึกษา


[แก้] สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ สำนักงานสถิติจังหวัดยะลา. "สภาพทั่วไปของจังหวัดยะลา." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://yala.nso.go.th/yala/yala.html [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
  2. ^ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/stat/y_stat.html 2553. สืบค้น 30 มีนาคม 2553.

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

พิกัดภูมิศาสตร์: 6°33′N 101°17′E / 6.55°N 101.29°E / 6.55; 101.29


BlankMap Thailand icon.png จังหวัดยะลา เป็นบทความเกี่ยวกับ จังหวัด อำเภอ หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ จังหวัดยะลา ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ประเทศไทย