คริสต์ศาสนสถาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก โบสถ์คริสต์)
วัดแบบฟื้นฟูคลาสสิคเซนต์นิโคโลที่เมืองมองทู โรโร ประเทศอิตาลี
ด้านหน้ามหาวิหารปิซา, อิตาลี
ชาเปลที่ Malsch ประเทศเยอรมนี
แท่นบูชาภายในคูหาสวดมนต์, มหาวิหารอาเคิน ประเทศเยอรมนี
ภายในชาเปลพระแม่มารีในมหาวิหารกลอสเตอร์, อังกฤษ
อนุสาวรีย์ตรีเอกภาพที่ประเทศสโลเวเนีย
หอศึลจุ่มที่ปิซา, อิตาลี
ศาลริมทางในประเทศโปแลนด์

คริสต์ศาสนสถาน หรือ สิ่งก่อสร้างของคริสต์ศาสนา หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่ใช้เป็นที่สักการะบูชาหรือเป็นที่ประกอบศาสนพิธีของคริสต์ศาสนา

เนื้อหา

[แก้] Basilica

ภาษาไทยใช้ มหาวิหาร หรือทับศัพท์ว่า บาซิลิกา. บาซิลิกา มาจากภาษาละติน “basilica” ซึ่งมาจากคำว่า “Basiliké Stoà” ในภาษาละติน ที่แปลว่า “สิ่งก่อสร้างแบบบาซิลิกา” เดิมเป็นคำที่หมายถึงสิ่งก่อสร้างสาธารณะแบบสถาปัตยกรรมโรมันลักษณะหนึ่ง เช่นเดียวกับศาลของกรีซ ซึ่งมักจะตั้งอยู่ในเมืองโรมัน ในเมืองกรีซบาซิลิกาเริ่มปรากฏราว 2 ศตวรรษก่อนคริสต์ศาสนา หลังจากจักรวรรดิโรมันหันมานับถือศาสนาคริสต์ ความหมายของคำก็ขยายไปคลุมวัดใหญ่และสำคัญที่ได้รับแต่งตั้งโดยพระสันตะปาปา ฉะนั้นในปัจจุบันคำว่า “บาซิลิกา” จึงมีความหมายทั้งทางสถาปัตยกรรมและศาสนา

[แก้] Cathedral (Duomo)

ดูบทความหลักที่ มหาวิหาร

ภาษาไทยใช้ มหาวิหาร. ดูโอโม่ (ภาษาอังกฤษ: Cathedral "คาธีดรอล" ภาษาฝรั่งเศส: Cathédrale ภาษาเยอรมนี: Kathedrale/Dom ภาษาอิตาลี: Cattedrale/Duomo "คัททีดราเล่"/"ดูโอโม่") คือวัดของคริสต์ศาสนาที่มีบาทหลวง (bishop) เป็นประมุขและที่เป็นทีตั้งของ “อาสนะบาทหลวง” (bishop's cathedra) เป็นสถานที่ทางศาสนาที่ใช้ในการสักการะบูชา (โดยเฉพาะสำหรับนิกายที่มีระบบฐานันดรการปกครองเช่นนิกาย นิกายโรมันคาทอลิก นิกายอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ นิกายอังกลิคัน และ นิกายลูเทอรัน มหาวิหารจะเป็นวัดที่เป็นที่นั่งของบาทหลวง (วัดประจำตำแหน่ง) ที่ใช้เป็นศูนย์กลางของสังฆมณฑล (Diocese หรือ See) ที่อยู่ภายใต้การปกครองของบาทหลวงที่กำหนดไว้[1]

[แก้] Chapel

ดูบทความหลักที่ ชาเปล

ภาษาไทยใช้ ชาเปล (อ่านว่า ชา-เปว) ถ้าเป็นศาสนสถานที่ใช้เป็นที่สักการะของคริสต์ศาสนิกชน ชาเปล คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มักจะมีขนาดเล็กแต่บางครั้งก็ใหญ่ ที่อาจจะสร้างเป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างอื่นๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่ใหญ่กว่าเช่น วัดใหญ่ๆ วัง วิทยาลัย โรงพยาบาล คุก หรือสุสาน บางครั้งชาเปลที่สร้างในมหาวิหารจะสร้างเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น “ชาเปลพระแม่มารี” ที่มักจะสร้างเป็นชาเปลที่อยู่ทางตะวันออกสุดของตัววัด หรือ “ชาเปลศีลศักดิ์สิทธิ์” ที่ตั้งติดกับตัววัดและใช้เป็นที่เก็บไวน์ และขนมปังที่ใช้ในพิธีศีลมหาสนิท ถ้าชาเปลมีขนาดค่อนข้างเล็กที่สร้างเป็นคูหาภายในทางด้านข้างหรือทางด้านหลังของมหาวิหารหรือวัดก็อาจจะเรียกว่า “คูหาสวดมนต์”

  • Chantry chapel ภาษาไทยใช้ ชาเปลสวดมนต์ หรือ ชาเปลแชนทรี. ชาเปลสวดมนต์ เป็นศาสนสถานที่ที่ผู้สร้างจะเป็นผู้มีอันจะกินหรือเป็นบาทหลวงที่อุทิศเงินให้สร้างชาเปลส่วนตัว ชาเปลชนิดนี้ที่เป็นสมบัติของผู้สร้าง การสร้างจะสร้างในตัวมหาวิหารหรือวัดใหญ่ๆ และใช้เป็นที่ที่ให้นักบวชมาสวดมนต์ให้ผู้สร้างหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ชาเปลลักษณะนี้มักจะสร้างในขณะที่ผู้อุทิศเงินยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นห้องแคบๆ เล็กๆ ภายในบางทีจะเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์ของผู้ตาย มีประตูทางเข้าทางหนึ่งออกทางหนึ่งเพื่อให้ผู้สวดมนต์เดินเข้าออก การสร้างก็พยายามให้ใกล้แท่นบูชาเอกที่สุดเท่าที่กำลังทรัพย์จะอำนวย “Chantry chapel” มาจากภาษาละตินว่า “Cantaria” ซึ่งแปลว่า “ใบอนุญาตให้สวดมนต์” ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “chapellenie”
  • Lady chapel ภาษาไทยใช้ ชาเปลพระแม่มารี หรือ เลดีชาเปล. “ชาเปลพระแม่มารี” มักจะเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหารหรือวัดใหญ่ๆ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของตัววัดและอุทิศให้พระแม่มารี และมักจะเป็นชาเปลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวัด
  • Side chapel ภาษาไทยใช้ คูหาสวดมนต์. คูหาสวดมนต์ คือบริเวณภายในมหาวิหารหรือวัดใหญ่ๆ ที่อุทิศให้เป็นบริเวณแยกจากส่วนกลางซึ่งอาจจะใช้เป็นทำพิธีย่อยหรือสวดมนต์วิปัสนาเป็นการส่วนตัว ที่ตั้งอาจจะเป็นมุขยื่นออกไปจากสองข้างทางเดินข้าง หรือรอบมุขด้านตะวันออก หรือบางครั้งก็ยื่นออกไปจากแขนกางเขน
  • Wayside chapels ภาษาไทยใช้ ชาเปล หรือ ชาเปลริมทาง. ชาเปลริมทาง คือเป็นศาสนสถานที่ใช้เป็นที่สักการะของคริสต์ศาสนิกชนที่มีขนาดเล็กและมักจะตั้งอยู่ในชนบท

[แก้] Church

ภาษาไทยใช้ วัด เป็นคำที่ใช้เรียกวัดโดยทั่วไปที่มิได้เป็นแบบใดแบบหนึ่งที่อธิบายในบทความนี้ เช่นวัดประจำท้องถิ่น หรือใช้เป็นคำสรรพนามที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับคริสต์ศาสนสถาน

  • Collegiate church ภาษาไทยใช้ วัดคอลเลจิเอท. วัดคอลเลจิเอท คือวัดที่ปกครองโดยกลุ่มนักบวชที่เรียกว่าแคนนอน (Canon) หรือ “Prebendary” ซึ่งมี “Dean” หรือ “Provost” เป็นประมุข การปกครองของวัดแบบคอลเลจิเอทจะคล้ายคลึงกับการปกครองของมหาวิหารเพียงแต่วัดคอลเลจิเอทไม่มีบาทหลวงประจำเท่านั้น
  • Parish church ภาษาไทยใช้ วัด หรือ วัดประจำเขต หรือ วัดประจำท้องถิ่น (เมื่อเป็นคำอธิบาย). วัดประจำท้องถิ่น คือวัดที่เป็นศูนย์กลางของเขตเช่นชุมชน มักจะใช้กับวัดในชนบท เช่น “Parish church of St. Mary” ก็จะเรียกเพียง “วัดเซนต์แมรี”

[แก้] Monastery หรือ Friary

ภาษาไทยใช้ สำนักสงฆ์ หรือ โมนาสเตอรี คำว่า โมนาสเตอรี คือหมายถึงกลุ่มนักบวชผู้ชายหรือผู้หญิงที่มาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และถือหลักปฏิบัติเดียวกัน สิ่งก่อสร้างมักจะประกอบอาคารสถานหลายอาคารที่จะมีวัดใหญ่เป็นหลัก

  • Abbey ภาษาไทยใช้ แอบบี. แอบบี มาจากภาษาละติน “abbatia” ซึ่งมาจากคำว่า “abba” ในภาษาซีเรียคที่แปลว่า “พ่อ” เป็นสำนักสงฆ์คริสต์ศาสนา หรือ คอนแวนต์ ที่ปกครองโดยหลวงพ่อ (Abbot) หรือ แอบเบส (Abbess) ซึ่งเปรียบเหมือนพ่อแม่ผู้เป็นผู้นำทางความศรัทธาของชุมชนที่อยู่ใต้การนำสำนัก “แอบบี”
  • Convent ภาษาไทยใช้ คอนแวนต์. คอนแวนต์ คือสำนักสงฆ์ของพระ หรือหลวงพ่อ หรือชี โดยเฉพาะในนิกายโรมันคาทอลิก และ นิกายอังกลิคัน ความหมายในปัจจุบันมักจะจำกัดว่าเป็นสำนักนักบวชสตรีเท่านั้น และคำว่า “monastery” ใช้สำหรับนักบวชผู้ชาย แต่ในประวัติศาสตร์สองคำนี้ใช้เปลี่ยนกันได้
  • Hermitage ภาษาไทยใช้ อาศรม หรือ เฮอร์มิเทจ. ในปัจจุบัน เฮอร์มิเทจ จะหมายถึงสถานที่อยู่ของนักบวชที่ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เฮอร์มิเทจมักจะใช้กับผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยกันอย่างสันโดษไกลจากตัวเมืองหรือหมู่บ้าน เฮอร์มิเทจเป็นคริสต์ศาสนสถานอย่างหนึ่งของสำนักสงฆ์
  • Minster หรือ Munster ภาษาไทยใช้ มหาวิหาร. มินส์เตอร์ แต่เดิมเป็นคำที่ใช้เรียกสำนักสงฆ์ หรือสาขาซึ่งปกครองโดยหลวงพ่อมิใช่บาทหลวง แต่ในปัจจุบันหมายถึงวัดที่เคยเป็นสำนักสงฆ์มาก่อนหรือวัดใหญ่
  • Nunery ภาษาไทยใช้ สำนักชี หรือ นันเนอรี. สำนักชี คือสำนักชีทางคริสต์ศาสนา หรือ คอนแวนต์ ที่ปกครองโดยแอบเบส (Abbess) ซึ่งเปรียบเหมือนแม่ผู้เป็นผู้นำทางความศรัทธาของชุมชนที่อยู่ใต้การนำสำนัก “นันเนอรี”
  • Priory ภาษาไทยใช้ ไพรออรี. ไพรออรี เป็นสำนักสงฆ์ทางคริสต์ศาสนา ที่ปกครองโดย “Prior” ซึ่งเป็นตำแหน่งต่ำกว่าบาทหลวง

[แก้] Mother Church

ภาษาไทยใช้ วัดแม่. วัดแม่ อาจจะเป็นตำแหน่งที่แสดงลำดับความสำคัญของวัด เช่น“มหาวิหารเซ็นต์จอห์นแลเตอร์รัน” “วัดแม่” ของนิกายโรมันคาทอลิก หรือ มหาวิหารในสังฆมณฑลก็ถือว่าเป็น“วัดแม่” ของเขตในสังฆมณฑลที่ตั้งอยู่ คำนี้มักจะใช้กับวัดในนิกายคาทอลิกหรืออังกลิคันและจะไม่ค่อยใช้กันในนิกายโปรเตสแตนต์ ยกเว้น “First Church of Christ” ที่ บอสตัน ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ที่มักจะเรียกกันว่า “วัดแม่”

[แก้] Oratory

ภาษาไทยใช้ ชาเปล หรือ ออราทอรี. ออราทอรี คือห้องสวดมนต์เฉพาะส่วนภายในสำนักสงฆ์ นอกจากนั้นอาจจะเป็นสถานที่สักการะแบบกึ่งสาธารณะซึ่งสร้างโดยกลุ่มคนเช่นกลุ่มช่าง ออราทอรีจะเป็นสถานที่สักการะที่เป็นส่วนตัวมากกว่าวัดโดยทั่วไป เพราะวัดใครจะเข้ามาสักการะก็ได้ แต่ออราทอรีผู้มีสิทธิใช้คือผู้สร้างเท่านั้น

[แก้] Ossuary

ภาษาไทยใช้ วัดบรรจุกระดูก หรือ ชาเปลบรรจุกระดูก. วัดบรรจุกระดูก เป็นสถานที่ที่ใช้เก็บกระดูก[1]

[แก้] Marian column และ Holy Trinity column

ภาษาไทยใช้ อนุสาวรีย์ตรีเอกภาพ หรือ อนุสาวรีย์ตรีพระแม่มารี. อนุสาวรีย์ตรีเอกภาพ เป็นอนุสาวรีย์ทางศาสนาสร้างเพื่ออุทิศแก่พระแม่มารี หรือ พระตรีเอกภาพเพื่อแสดงความขอบคุณที่กาฬโรคระบาดในยุโรปหยุดลงหรือในกรณีอื่นๆ การสร้างอนุสาวรีย์ตรีพระแม่มารีมีความนิยมกันระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง 18 และเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมบาโรก ตัวอนุสาวรีย์มักตั้งอยู่กลางเมือง

[แก้] Shrines

ภาษาไทยใช้ ศาล หรือ ไชรน์. ไชรน์ มาจากภาษาละติน “scrinium” ซึ่งแปลว่า “กล่อง” หรือโต๊ะเขียนหนังสือ ในสมัยแรกหมายถึงกล่องที่ทำด้วยอัญมณีมีค่าเป็นที่เก็บ วัตถุมงคล หรือรูปสัญลักษณ์ของลัทธินิยม ต่อมาความหมายก็ขยายเพิ่มโดยรวมถึงสถานที่ที่เป็นที่เก็บวัตถุมงคลหรือที่ฝังศพที่อุทิศให้กับวีรบุรุษ, ผู้พลีชีพเพื่อศาสนา, นักบุญ หรือบุคคลที่เป็นที่นับถือ

[แก้] Baptistery

ดูบทความหลักที่ หอศีลจุ่ม

ภาษาไทยใช้ หอศีลจุ่ม หรือ หอล้างบาป. หอศีลจุ่ม เป็นคริสต์ศาสนสถาน ที่สร้างเป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างอื่นโดยมีอ่างศีลจุ่มเป็นศูนย์กลาง หอศีลจุ่มอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของวัดหรือมหาวิหารซึ่งมีแท่นบูชาและคูหาสวดมนต์ ในวัดสมัยคริสเตียนยุคแรกหอศีลจุ่มจะเป็นสถานสำหรับเรียนรู้เรื่องศาสนาก่อนจะรับศีลจุ่ม และเป็นที่ทำพิธีรับศีลจุ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ New Standard Encyclopedia, 1992 by Standard Educational Corporation, Chicago, Illinois; page B-262c

[แก้] ข้อมูลเพิ่มเติม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้] สมุดภาพ