สุริโยไท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โปสเตอร์ภาพยนตร์

สุริโยไท เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ดำเนินเรื่องผ่านคำบอกเล่าของ โดมิงโก ดือ ซีซัส (Domingos De Seixas) ทหารรับจ้างของชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรอโยธยาช่วง พ.ศ. 2067 ถึง 2092 โดยเน้นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวละครเอก คือพระสุริโยไท (สมเด็จพระสุริโยทัย) พระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

เรื่องราวเหตุการณ์ของแผ่นดิน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพระชนม์ชีพของพระสุริโยไท ตั้งแต่พระชนมายุ 15 พรรษา นับตั้งแต่เรื่องของความรักความผูกพัน การอภิเษกสมรส การย้ายถิ่นฐานเข้าสู่ราชธานีชีวิตในราชสำนัก การดำรงรักษาสถานภาพ และเกียรติยศของพระราชวงศ์

ความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการสืบทอดราชสมบัติ ผลัดแผ่นดิน สะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชน ซึ่งมีทั้งความเข้มแข็ง ความอ่อนแอ ความซื่อสัตย์จงรักภักดี ความทะเยอะทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง ความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่งแข่งดี และการเสียสละเพื่อความอยู่รอด

เนื้อหา

[แก้] เนื้อเรื่อง

พระสุริโยไท (รับบทวัยรุ่นโดย พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) เจ้านายฝ่ายเหนือราชวงศ์พระร่วง เมื่อพระชนมายุ 15 พรรษา ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระเยาวราชจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ คือ พระเฑียรราชา (รับบทวัยรุ่นโดย วิทยา โกมลฐิติกานต์) โอรสขององค์อุปราช พระอาทิตยา (สุเชาว์ พงษ์วิไล) กับพระสนม ซึ่งครองเมืองพิษณุโลกอยู่ในเวลานั้น

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พิศาล อัครเศรณี) สวรรคตในปี พ.ศ. 2072 (ค.ศ. 1529) ซึ่งเป็นปีที่ดาวหางฮัลเลย์ปรากฏ พระอาทิตยาจึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4) ทุกพระองค์เสด็จย้ายจากพิษณุโลกไปประทับ ณ กรุงศรีอยุยาเมืองหลวง พระเฑียรราชา (รับบทวัยหนุ่มโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) และ พระสุริโยไท (รับบทวัยสาวโดย คุณหญิง หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี) มีโอรสธิดาทั้งสิ้น 5 พระองค์ คือ พระราเมศวร (เกียรติศักดิ์ ศักดานุภาพ), พระมหินทร (อภิญญ์ รัชตะหิรัญ), พระบรมดิลก (ชมพูนุท เศวตวงศ์), พระสวัสดิราช (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) และ พระเทพกษัตรี (จีระนันท์ กิจประสาน) ประทับอยู่ ณ วังชัย ดำรงอิสริยยศเป็นพระเยาวราช

เมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรสวรรคตด้วยโรคไข้ทรพิษ พระไชยราชา (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ผู้ซึ่งดำรงพระยศเป็นพระอุปราช ควรจะได้สืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ แต่สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรทรงขอให้ สมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร (ด.ช. ลูคัส อดัม บุญธนากิจ) พระโอรสวัย 5 พรรษา อันเกิดแต่พระอัครชายา (วรรณษา ทองวิเศษ) วัย 17 พรรษา เป็นผู้ขึ้นครองราชย์แทน ระหว่างนั้น บ้านเมืองถูกบริหารโดยขุนนางผู้ทุจริต ติดสินบนเถลิงอำนาจ โดยเฉพาะ เจ้าพระยายมราช (มีศักดิ์ นาครัตน์) บิดาของพระอัครชายา

5 เดือนให้หลังสมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงเข้ายึดราชบัลลังก์ และให้สำเร็จโทษพระรัษฏาธิราช ตามราชประเพณีโบราณ รวมถึงสั่งประหารขุนนางทุตจริตทุกคน และได้ขึ้นครองราชย์ แผ่บุญญาธิการ เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป ทรงออกรบปราบหัวเมืองอยู่เนือง ๆ และได้แต่งตั้งพระเฑียรราชาขึ้นเป็นอุปราช ว่าราชการแทนพระองค์ อยู่ที่กรุงอโยธยา ส่วนพระมเหสีของพระไชยราชา คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ (ใหม่ เจริญปุระ) ได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับ ขุนชินราช (จอนนี่ แอนโฟเน่) ผู้ดูแลหอพระ เชื้อราชวงศ์อู่ทองด้วยกัน และได้สมคบคิดกัน ลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชา พระยอดฟ้า (ด.ช. ปรมัติ ธรรมมล ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น พชร ธรรมมล) พระโอรสของพระไชยราชา ที่ประสูติจาก ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (สินจัย เปล่งพานิช) ได้ขึ้นครองราชย์แทน ในขณะที่มีพระชนม์เพียง 10 พรรษา แต่ต่อมาไม่นาน ก็ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์อีกองค์หนึ่ง แล้วสถาปนาขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า ขุนวรวงศาธิราช

นับตั้งแต่สิ้นรัชกาลพระไชยราชา พระเฑียรราชาก็ได้ทรงผนวชเพื่อเลี่ยงภัย ส่วนพระสุริโยไทครองพระองค์เงียบ ๆ ในวัง โดยมีผู้จงรักภักดี คือ ขุนพิเรนทรเทพ (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ขุนอินทรเทพ (อำพล ลำพูน) หมื่นราชเสน่หานอกราชการ (สรพงษ์ ชาตรี) หลวงศรียศ (ศุภกร กิจสุวรรณ) เฝ้าคุ้มกันภัยให้ ได้ร่วมกันปลงพระชนม์ขุนวรวงศา และท้าวศรีสุดาจันทร์ เสียบหัวประจานไว้ที่วัดแร้ง แล้วอัญเชิญพระเฑียรราชา ให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091 - 2111 / ค.ศ. 1548 - 1568)

ระหว่างนั้นทางพม่า ประเทศเพื่อนบ้านได้รวบรวมกำลังเป็นปึกแผ่น แผ่ขยายอำนาจรุกรานไทยภายใต้พระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์) และได้เดินทัพมายังอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2091 เกิดเป็นสงครามยุทธหัตถี ที่ทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งเป็นเหตุให้ พระสุริโยไทสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

เรื่องจบลงด้วยสงครามยุทธหัตถี อันเป็นเรื่องราวความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญและความตายของวีรกษัตรีย์ "สุริโยไท" ที่พลีชีพเพื่อรักษาแผ่นดินไทย

[แก้] ผู้แสดง

[แก้] ข้อมูลจำเพาะ

  • แนว : ดราม่า / สงคราม / อิงประวัติศาสตร์
  • ความยาว : 185 นาที
  • กำหนดฉาย : 17 สิงหาคม พ.ศ. 2544
โปสเตอร์ The Legend of Suriyothai

[แก้] ทีมสร้าง

[แก้] หมายเหตุ

  1. จากเดิม "สุริโยทัย" เปลี่ยนเป็น "สุริโยไท" ใช้ทั้งชื่อตัวละครและชื่อภาพยนตร์ ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมของภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ และเป็นคำไทยโบราณที่ใช้ในยุคสมัยนั้น
  2. ตัวละครบางตัวไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ หรืออาจเป็นไปได้ว่ามีแต่ไม่มีประวัติหรือที่มาที่ไปที่ชัดเจน ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเติมช่องว่างทางประวัติศาสตร์ให้ครบ เช่น พระอัครชายา, พระยายมราช หรือแม้แต่ตัว พระสุริโยไท เป็นต้น
  3. ตัวละครพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ในเรื่องที่มีใบหน้าขาว อีกทั้งยังมีจริตจะก้านกระเดียดไปทางกะเทย เป็นการนำบุคลิกมาจากนักเขียนแนวชาตินิยมชาวญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ชื่อ ยูกิโอะ มิชิม่า เพราะจากบันทึกของโดมิงโก ดือ ซีซัส ที่ระบุว่าพระองค์ตอนทำสงครามยึดเมืองแปรได้ ทรงกระทำทารุณเป็นพิเศษต่อผู้หญิงและเด็ก ๆ สำหรับผู้ชายก็ให้ใช้หลาวสวนทวารหนักจนตาย
  4. ในปี พ.ศ. 2547 ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ผู้กำกับชาวอเมริกันได้ตัดต่อและเพิ่มฉากใหม่ เป็นฉบับใหม่สำหรับฉายในต่างประเทศ ใช้ชื่อว่า "The Legend of Suriyothai"
  5. ภาพยนตร์ต้นฉบับจริงมีความยาวถึง 5 ชั่วโมง ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการออกวีซีดีและดีวีดีต้นฉบับเต็มความยาวนี้ออกจำหน่ายและให้เช่า ลิขสิทธิ์โดย บริษัทแมงป่อง
  6. แรกเริ่มนั้นผู้สร้างต้องการให้ภาพยนตร์มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Sun and The Moon" หมายถึงพระสุริโยไท และท้าวศรีสุดาจันทร์ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น Suriyothai แทน
  7. ในตอนแรกทางผู้สร้างตั้งใจจะให้มีบทของ โดมิงโก ดือ ซีซัส ด้วย โดยได้วางตัวนักแสดงที่จะมารับบทบาทนี้คือ เจเรมี ไอออนส์ นักแสดงชาวอังกฤษ

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น