พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Bhumibol Adulyadej.jpg
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบรมนามาภิไธย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช
พระปรมาภิไธย Loudspeaker.svg พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร [1]
พระราชอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย
ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี
ครองราชย์ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489
บรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493
รัชกาลก่อนหน้า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
วัดประจำรัชกาล วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
พระพุทธรูป
ประจำพระชนมวาร
พระพุทธรูปปางอภัยมุทรา พุทธลักษณะสุโขทัย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบัน ทรงดำรงพระสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระชนมชีพอยู่และทรงอยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก และเสวยราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยเช่นกัน[2]

พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระภัทรมหาราช" ซึ่งมีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง" ต่อมาได้มีการถวายพระราชสมัญญาใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช" เมื่อ พ.ศ. 2539 [3] และ "พระภูมิพลมหาราช" อนุโลมตามธรรมเนียมเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า "พระปิยมหาราช" อนึ่ง ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า "ในหลวง" คำดังกล่าวคาดว่าย่อมาจาก "ใน (พระบรมมหาราชวัง) หลวง" บ้างก็ว่าเพี้ยนมาจากคำว่า "นายหลวง" ซึ่งแปลว่าเจ้านายผู้เป็นใหญ่


เนื้อหา

พระนาม

พระนาม "ภูมิพลอดุลเดช" นั้น พระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า "Bhumibala Aduladeja" ซึ่งในระยะแรกสะกดเป็นภาษาไทยว่า "ภูมิพลอดุลเดช" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเองทรงเขียนว่า "ภูมิพลอดุลเดช" โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว "ย" สะกดตราบปัจจุบัน [4][5]

ทั้งนี้ เดิมที ด้วยเหตุที่ได้รับตัวโรมันว่า "Bhumibala" สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงเข้าพระทัยว่า ได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า "ภูมิบาล" ต่อมาจึงเปลี่ยนการสะกดเป็น "Bhumibol"[4]

ความหมายของพระนาม

  • ปรมินทร - มาจากการสนธิคำระหว่าง "ปรม (ป.,ส. : อย่างยิ่ง, ที่สุด) + อินฺทฺร (ส. , ป. อินฺท : ผู้เป็นใหญ่) " หมายความว่า "ผู้เป็นใหญ่ที่สุด" หรือ "ผู้เป็นใหญ่อย่างยิ่ง"
  • ภูมิพล - ภูมิ หมายความว่า "แผ่นดิน" และ พล หมายความว่า "พลัง" รวมกันแล้วหมายถึง "พลังแห่งแผ่นดิน"
  • อดุลยเดช - อดุลย หมายความว่า "ไม่อาจเทียบได้" และ เดช หมายความว่า "อำนาจ" รวมกันแล้วหมายถึง "ผู้มีอำนาจที่ไม่อาจเทียบได้"[6]

พระราชประวัติ

พระราชสมภพและขณะทรงพระเยาว์

(ด้านหน้า จากขวามาซ้าย) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช; สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดลอันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งเหตุที่พระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา) และหม่อมสังวาล ตะละภัฎ (ชูกระมล) (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในกาลต่อมา) ทรงมีพระนามขณะนั้นว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า "เล็ก"[4][7]

เมื่อ พ.ศ. 2471 ได้เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา

พระราชวงศ์ไทย
Emblem of the House of Chakri.svg

การศึกษา

พ.ศ. 2475 เมื่อเจริญพระชนมายุได้สี่พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ "โรงเรียนแห่งใหม่ของซืออีสโรมองด์" (ฝรั่งเศส: École Nouvelle de la Suisse Romande, เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออีส โรมองด์) เมืองแชลลี-ซูร์-โลซาน (ฝรั่งเศส: Chailly-sur-Lausanne)

พ.ศ. 2477 เมื่อพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี ก็ทรงได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุยเดช" เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตประเทศไทย เป็นเวลา 2 เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงปี พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง[8]

เสด็จขึ้นครองราชย์

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน โดยต้องพระแสงปืนที่พระกระหม่อม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน[9] สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชได้ตัดสินพระทัยรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับตำแหน่งประมุขของประเทศ

ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติแต่ในช่วงการจัดงานพระบรมศพของพระบรมเชษฐาเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามบินดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้"[10] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา[11]

ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์

หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จไปเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นลูกสาวของเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก[12] โดยที่ตอนนั้นทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุเพียง 21 และ 15 พรรษาตามลำดับ

ในระหว่างประทับในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ขณะที่พระองค์ทรงขับรถเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังโลซาน ก็ได้ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ รถพระที่นั่ง ไปชนกับรถ บรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้า พระเนตรข้างขวา พระอาการ สาหัสเมื่อตอนที่พระชนยุ ครบ 20 พรรษา หลังจากนั้นพระองค์ท่านทรง มีพระอาการแทรกซ้อนเรื่อง พระเนตรขวา ซึ่งแพทย์ถวายการรักษาอีกหลายครั้งก็ ไม่ดีขึ้นจึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด ซึ่งหมายถึงพระเนตรขวาของพระองค์ได้บอดสนิทแล้ว ทั้งนี้ ม.ร.ว. สิริกิติ์ ได้มีโอกาสเยี่ยมเป็นประจำจนหายประชวร นับตั้งแต่นั้นมาทั้งสองพระองค์ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด[13][14][15]

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ในวันราชาภิเษกสมรส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครในปีถัดมา โดยประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และในโอกาสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี[16]

ทรงผนวช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับบาตร ขณะทรงผนวช

เมื่อ พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมณนามว่า ภูมิพโลภิกขุ และเสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ผนวช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ในปีเดียว[17]

เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในทุกภาคส่วนของประเทศไทย เพื่อทรงศึกษาปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร เพื่อทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์

เสด็จฯ เยือนต่างประเทศ

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2502 - พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย จำนวนถึง 27 ประเทศ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรี กับบรรดามิตรประเทศทั้งหลาย รวมถึงได้ทรงนำความปรารถนาดีของชาวไทย ไปมอบให้แก่ประชาชนในประเทศต่างๆ เหล่านั้นด้วย

พระราชบุตร

(จากทางขวา) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถมีพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยกันสี่พระองค์ตามลำดับดังต่อไปนี้

  1. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (พระนามเดิม: สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี; ประสูติ: 5 เมษายน พ.ศ. 2494, สถานพยาบาลมงต์ชัวซี เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ได้ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เพื่อทรงสมรสกับนายปีเตอร์ เจนเซ่น ชาวอเมริกัน โดยมีพระโอรสหนึ่งองค์และพระธิดาสององค์ ทั้งนี้ คำว่า "ทูลกระหม่อมหญิง" เป็นคำเรียกพระราชวงศ์ที่มีพระชนนีเป็นสมเด็จพระบรมราชินี
  2. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระนามเดิม: สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร; ประสูติ: 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495, พระที่นั่งอัมพรสถาน) ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ นางสุจาริณี วิวัชรวงศ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ ตามลำดับ โดยมีพระโอรสหนึ่งพระองค์และสี่องค์ กับพระธิดาสองพระองค์
  3. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี (พระนามเดิม: สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์; ประสูติ: 2 เมษายน พ.ศ. 2498, พระที่นั่งอัมพรสถาน)
  4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (ประสูติ: 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500, พระที่นั่งอัมพรสถาน) ทรงอภิเษกสมรสกับนาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยะศริน โดยมีพระธิดาสองพระองค์

ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 คุณพุ่ม เจนเซ่น พระโอรสของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสียชีวิตจากคลื่นสึนามิ ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547[18]

พระราชกรณียกิจ พระราชนิพนธ์ และผลงานอื่น

เขื่อนภูมิพล

ด้านการปกครอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้พลเอกสุจินดรา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเข้าฯ เพื่อยุติเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในทศพิธราชธรรมตลอดเวลา พระองค์ทุ่มเทพระวรกายอุทิศแรงกายให้กับประชาชนทุกยามไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ ใดๆ ก็ตาม พระองค์ก็ไม่เคยท้อแท้ พร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ประชาชนของพระองค์อยู่ดีมีสุขภายใต้พระปฐมบรมราชโองการก่อนเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" พระองค์ปกครองโดยผ่านทางรัฐบาล รัฐสภา และศาล[ต้องการอ้างอิง] ที่เราเรียกว่า "อำนาจอธิปไตย" ที่พระองค์ต้องมีพระราชวินิจฉัยก่อนลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายต่างๆ ทุกครั้ง ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาและพระบรมราชโองการ พระราชกฤษฎีกา[19]

บางครั้งเหตุการณ์ทางการเมืองถึงขั้นวิกฤติ อย่างในเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแนวทางแก้ไขความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ในชาติ[20]

ด้านศาสนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพุทธมามกะ และองค์พระอัครศาสนูปถัมภก และให้ความเสมอภาคในการนับถือศาสนาของประชาชน โดยไม่ปิดกั้นเชื้อชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทุกๆ วันสำคัญพระองค์จะเสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น และเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามหลวงต่างๆ มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายทบวง เช่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก และวัดญาณสังวราราม โดยที่พระองค์ทรงนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปสร้าง[21]

ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี

ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในศิลปะแขนงต่างๆ หลายแขนง จนได้รับการยกย่องให้พระองค์เป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ งานทางด้านทัศนศิลป์และประติมากรรม พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในการฝึกเขียนภาพ และมีพระปรีชาสามารถในเรื่องการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก ทรงถ่ายรูปภาพได้หลายรูปแบบ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทรงปั้นพระพุทธรูปต่างๆ ได้อย่างงดงาม เช่น พระสมเด็จจิตรลดา พระพุทธนวราชบพิตร เป็นต้น

งานทางด้านวรรณศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญในภาษาหลากหลายภาษา ทรงพระราชนิพนธ์บทความ แปลหนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน เรื่อง ทองแดง เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง เป็นต้น บทความและพระราชนิพนธ์ของพระองค์ ทรงเลือกถ้อยคำที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย อีกทั้งได้อรรถรสในการอ่านอีกด้วย[22]

ด้านการพัฒนาชนบท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทุกหนแห่งไม่ว่าดินแดนแห่งนั้นจะทุรกันดารเพียงใด ไม่ว่าใกล้ไกลแค่ไหน พระองค์จัดทำโครงการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริควบคู่ไปในทุกๆ ด้าน ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่ง พระองค์มีจุดประสงค์เดียวคือ เพื่อขจัดความทุกข์ยากของชาวชนบท และสนับสนุนส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาสังคมเมืองให้ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากโครงการในพระราชดำริหลายโครงการที่เกิดขึ้นจากความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะเป็นโครงการเกี่ยวกับปรับปรุงถนนหนทาง การก่อสร้างถนนเพื่อการ สัญจรไปมาได้สะดวกและทั่วถึง การคมนาคมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ สำคัญของการนำความเจริญไปสู่ชนบท การสื่อสาร ติดต่อที่ดียังผล สำคัญทำให้เศรษฐกิจของราษฎรในพื้นที่ดีขึ้น ราษฎรก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในการพัฒนาชนบทนั้น การคมนาคม เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่จะมองข้ามไปเสียมิได้ เพราะเป็นเสมือนประตูเชื่อม ระหว่างในเมือง และชนบท ดังนั้น การที่จะเริ่มโครงการพัฒนาใดๆ นั้นจะต้องเริ่มจากการปรับปรุง และการก่อสร้างถนนหนทางเป็นการเปิดประตูนำความเจริญเข้าไปสู่พื้นที่

ด้านการเกษตรและชลประทาน

ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือความแปรปรวนทางการตลาด แต่เกษตรกรควรจะมีรายได้จากด้านอื่นนอกเหนือไปจากการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง

การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะเกษตรกรจะสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ และไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น

ด้านการแพทย์

โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรกๆ ล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุข เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า หากประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีไปด้วย พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญกับงานด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากดรงพยาบาลต่างๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้ได้ทันที

นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริที่ให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร ได้เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน แก่เด้กนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากแพทย์ทั่วทุกภาค โดยให้การบริการรักษาโรคฟัน โดยไม่คิดมูลค่า ทางด้านหน่วยแพทย์หลวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ประทับแรมทุกแห่งนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้มาขอรับการรักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทาง ไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย[23][24]

ด้านการศึกษา

นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อสนับสนุนทางด้านคัดเลือกบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อจะได้ให้บัณฑิตเหล่านั้นนำความรู้ที่ได้ไปศึกษาวิิจัยนำผลงานที่ได้กลับมาพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยพระองค์ออกทุนให้ตลอดจนดูแลเกี่ยวกับความเป้นอยู่ในต่างประเทศนั้นๆ อีกด้วย[25]

ส่วนในประเทศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเป็นผู้ดพเนินการจัดการบริหารทางการศึกษา แบบให้เปล่าตั้งแต่ระดับชั้นประถมศกษา จนถึงระดับมัธบมศึกษาตอนปลาย ในลักษณะทั้งอยู่ประจำและไปกลับ แบ่งเป็น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 26 โรงเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 14 โรงเรียน[25]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ทรงครองราชย์เป็นประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย โดยสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้:

พระเกียรติยศ

ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลและเกียรติยศต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากบุคคลและคณะบุคคลในประเทศและต่างประเทศ อันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจและพระราชอัธยาศัยในการแสวงหาความรู้ ที่สำคัญเป็นต้นว่า

ชีวิตส่วนพระองค์

ด้านดนตรี

งานทางด้านดนตรี พระองค์ทรงรอบรู้เรื่องดนตรีเป็นอย่างดีและทรงดนตรีได้หลายชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คราริเน็ต ทรัมเป็ต กีตาร์ และเปียโน ทรงโปรดดนตรีแจ๊สเป็นอย่างมาก และพระองค์ได้ประพันธ์เพลงที่มีความหมายและไพเราะหลายเพลงด้วยกัน เช่น เพลงพระราชนิพันธ์แสงเทียน เป็นเพลงแรก สายฝน ยามเย้น ใกล้รุ่ง ลมหนาว ยิ้มสู้ ค่ำแล้ว ไกลกังวล ความฝันอันสูงสุด และเราสู้ หรือจะเป็นพรปีใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวไทย เป็นต้น[29][30]

ด้านกีฬา

เรือใบเป็นกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเป็นพิเศษ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนของประเทศไทยลงแข่งเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึกซ้อม และทรงได้รับเบี้ยเลี้ยงในฐานะนักกีฬา เช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่น ๆ ในที่สุด ด้วยพระปรีชาสามารถ พระองค์ทรงชนะเลิศเหรียญทอง และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510[31] ท่ามกลางความปลื้มปีติของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ และเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั่วโลก ทำให้พระอัจฉริยภาพทางกีฬาเรือใบของพระองค์ที่ยอมรับกันทั่วโลก พระองค์ยังได้ทรงออกแบบและประดิษฐ์เรือใบยามว่างออกมาหลายรุ่น พระองค์พระราชทานนามเรือใบประเภทม็อธ (Moth) ที่ทรงสร้างขึ้นว่า เรือใบมด เรือใบซูเปอร์มด และ เรือใบไมโครมด ถึงแม้ว่าเรือใบลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงต่อคือ เรือโม้ค (Moke) เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 เรือใบซูเปอร์มดยังถูกใช้แข่งขันในระดับนานาชาติที่จัดในประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายคือเมื่อ พ.ศ. 2528 ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13[32][33]

พระราชทรัพย์

พระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของที่ดินและหุ้น โดยแบ่งออกได้เป็นส่วน ๆ ได้โดยสังเขป คือทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ใช่ทรัพย์สินของส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[34] และได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย[35] ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกบริหารงานในรูปแบบองค์กรนิติบุคคลภายใต้ชื่อ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ ได้แก่ ที่ดินและหุ้น โดยปัจจุบันมีผู้เช่าที่ดินทั่วประเทศมากกว่า 3 หมื่นสัญญา[35] โดยแปลงสำคัญ ๆ ประกอบด้วย ที่ดินโรงแรมโฟร์ซีซั่น ที่ดินสยามพารากอน ที่ดินเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า ที่ดินองค์การสะพานปลา และที่ดินริมถนนพระรามที่ 4 ฝั่งเหนือ จากสวนลุมไนท์บาร์ซาร์ ยาวจรดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์[ต้องการอ้างอิง] ทั้งนี้บริษัทซีบีริชาร์ดเอลลิส บริษัทโบรกเกอร์ด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของโลก ได้เคยประมาณการตัวเลขพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ที่ 32,500 ไร่ โดยในบางพื้นที่มีมูลค่าสูงกว่า 380 ล้านบาทต่อไร่[36] ทั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยังได้ลงทุนในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ อีกด้วย โดยถ้านับรวมทั้งหมด หุ้นที่สำนักงานทรัพย์สินฯ มีอยู่ทั้งหมดคิดเป็น 7.5% ของมูลค่าตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย[36] ทำให้พระองค์ทรงได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บ ให้เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก[37] แต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ชี้แจงถึงบทความดังกล่าวว่า "มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากในความเป็นจริง ทรัพย์สินที่นับมาประเมินนั้นเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน มิใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์"[34]

ทรัพย์สินส่วนพระองค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีการลงทุนส่วนพระองค์เอง โดยไม่ผ่านสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยการเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) 43.87%[38] บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 18.56%[39] และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 2.04%[40] เป็นต้น ทรัพย์สินส่วนพระองค์นี้ยังหมายรวมถึง เงินทูลเกล้าถวายฯ ตามพระราชอัธยาศัยต่าง ๆ ซึ่งทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้นไม่ได้รับการยกเว้นเรื่องภาษี และต้องเสียภาษีอากรตามปกติ[35]

ราชตระกูล

พระราชตระกูลในสามรุ่นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระชนก:
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม
พระบรมราชชนก
พระอัยกาฝ่ายพระชนก:
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
พระชนนี:
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี:
พระชนกชู
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
คหบดี (ชุ่ม)
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่ทราบ
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
พระชนนีคำ
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่ทราบ
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ผา

ดูเพิ่ม

แหล่งอ้างอิงและเชิงอรรถ

  1. ^ ราชบัณฑิตยสถาน. (2552, 11 มีนาคม). การเขียนพระปรมาภิไธยย่อ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=2854>. (เข้าถึงเมื่อ: 14 มีนาคม 2552)
  2. ^ A Royal Occasion speeches. Worldhop.com Journal (1996). สืบค้นวันที่ 2006-07-05
  3. ^ พระราชสมัญญานาม “มหาราช”. พระบรมเดชานุภาพแห่งรัชกาลที่ 9.
  4. ^ 4.0 4.1 4.2 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา. เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์. กรุงเทพ : ซิลค์เวอร์ม บุคส์, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549. 450 หน้า. ISBN 974-7047-55-1
  5. ^ Wimuttanon, Suvit (ed.) (2001). Amazing Thailand (special collector's edition). World Class Publishing. pp. Page 33. ISBN 974-91020-3-7. 
  6. ^ Kanchanapisek.or.th (อังกฤษ)
  7. ^ The Illustrious Chakri Family. Tudtu. สืบค้นวันที่ 2006-08-13
  8. ^ Biography of His Majesty King Bhumibol Adulyadej. The Golden Jubilee Network. Kanchanapisek Network (1999). สืบค้นวันที่ 2006-08-05
  9. ^ Asia Biography:Bhumibol Adulyadej (อังกฤษ)
  10. ^ ภปร., พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2511, ไม่มีเลขหน้า.
  11. ^ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์", วงวรรณคดี (สิงหาคม 2490).
  12. ^ Bhumibol Adulyadej. The Encyclopedia of Asian History the Asia Society 1988.. Asia Source (1988). สืบค้นวันที่ 2007-09-25
  13. ^ A Royal Romance. Srinai Tripod.com. สืบค้นวันที่ 2006-07-12
  14. ^ The Making of a Monarch. Bangkok Post (December 5, 2005). สืบค้นวันที่ 2006-07-12
  15. ^ Handley, Paul M. (2006). The King Never Smiles. Yale University Press, Page 104. ISBN 0-300-10682-3.
  16. ^ Royal Power Controversy. 2Bangkok.com. สืบค้นวันที่ 2007-01-04
  17. ^ Thailand Monarchy. Thailand Travel and Tours (2006). สืบค้นวันที่ 2007-09-26
  18. ^ Khun Poom Jensen, Son of Princess Ubolratana. Soravij.com. สืบค้นวันที่ 2007-11-24
  19. ^ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
  20. ^ แก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติด้วยพระบารมี “ในหลวง”
  21. ^ ในหลวงกับพระพุทธศาสนา
  22. ^ HM King Bhumibol Adulyadej of Thailand. The Story of Tongdaeng. Amarin, Bangkok. 2004. ISBN 9742729174
  23. ^ พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข
  24. ^ ในหลวงกับการแพทย์-การสาธารณสุข
  25. ^ 25.0 25.1 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช กับการศึกษาไทย, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2530.
  26. ^ With new Human Development award, Annan hails Thai King as example for the world. UN News Center (2006). สืบค้นวันที่ 2006-07-05
  27. ^ ห้องข่าว WIPO King of Thailand to Receive WIPO's First Global Leaders Award
  28. ^ มติชนรายวัน วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11267 เทิดพระเกียรติ
  29. ^ Tang, Alisa (13 June 2006). Thailand's monarch is ruler, jazz musician. Boston.com News, Associated Press. สืบค้นวันที่ 28 February 2007
  30. ^ Home Grown Shows Planned for White House Dinners, The New York Times, 30 May 1967
  31. ^ Cummins, Peter (December 2004). His Majesty King Bhumibol Adulyadej The Great: Monarch of Peace and Unity. Chiang Mai Mail. สืบค้นวันที่ 20 July 2006
  32. ^ The Heart for Art. Bangkok Post (6 February 2006). สืบค้นวันที่ 20 July 2006
  33. ^ H.M. King Bhumibol Adulyadej. Minsitry of Foreign Affairs, Kingdom of Thailand. สืบค้นวันที่ 4 March 2008
  34. ^ 34.0 34.1 บทความพิเศษของนิตยสารฟอร์บ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุด จากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
  35. ^ 35.0 35.1 35.2 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (www.crownproperty.or.th) เรียกข้อมูลวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550
  36. ^ 36.0 36.1 Thai King Strengthens Grip on Stocks as Nation's No. 1 Investor (www.bloomberg.com) เรียกข้อมูลวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550
  37. ^ The World's Richest Royals. No. 5, King Bhumibol Adulyadej (www.forbes.com) เรียกข้อมูลวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550
  38. ^ รายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) : SAMCO (www.set.or.th) เรียกข้อมูลวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550
  39. ^ รายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) : TIC (www.set.or.th) เรียกข้อมูลวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550
  40. ^ รายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) : MINT (www.set.or.th) เรียกข้อมูลวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550
  • ธนากิต, พระราชประวัติ 9 รัชกาลและพระบรมราชินี, สุวีริยาสาส์น, 2542, หน้า 383-427.
  • วิเชียร เกษประทุม, ราชาศัพท์และพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พร้อมพระราชวงศ์ โดยสังเขป, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา, 2546, หน้า 147-157.
  • พระเจ้าอยู่หัว, กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2530.

แหล่งข้อมูลอื่น

สมัยก่อนหน้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมัยถัดไป
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล 2leftarrow.png Thai Garuda emblem.svg
พระมหากษัตริย์ไทย
(ราชวงศ์จักรี)

(พ.ศ. 2489-ปัจจุบัน)
2rightarrow.png ยังอยู่ในราชสมบัติ