ประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ราชอาณาจักรไทย
ธงชาติไทย ตราแผ่นดินของไทย
ธงชาติ ตราแผ่นดิน
คำขวัญไม่มีคำขวัญอย่างเป็นทางการ
เพลงชาติเพลงชาติไทย
เพลงสรรเสริญพระบารมีสรรเสริญพระบารมี
ที่ตั้งของไทย
ตำแหน่งของประเทศไทย (สีเขียว)
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สีเทาเข้ม)
เมืองหลวง
(และเมืองใหญ่สุด)
กรุงเทพมหานคร

13°44′N 100°30′E

ภาษาทางการ ภาษาไทย
รัฐบาล ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[1] (ปรมิตตาญาสิทธิราชย์) [2], ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
 -  พระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 -  นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สถาปนาเป็น
 -  กรุงสุโขทัย พ.ศ. 1781พ.ศ. 1911 
 -  กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893พ.ศ. 2310 
 -  กรุงธนบุรี พ.ศ. 23106 เมษายน พ.ศ. 2325 
 -  กรุงรัตนโกสินทร์ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 – ปัจจุบัน 
เนื้อที่
 -  ทั้งหมด 513,115 กม.² (ลำดับที่ 50)
 -  พื้นน้ำ (%) 0.4%
ประชากร
 -  2551 ประมาณ 63,389,730[3] (อันดับที่ 21)
 -  2543 สำรวจ 60,606,947[4] 
 -  ความหนาแน่น 122/กม.² (อันดับที่ 85)
GDP (PPP) 2551 ประมาณ
 -  รวม $608.0 พันล้าน[5] (อันดับที่ 24)
 -  ต่อประชากร $9,727[5] (อันดับที่ 83)
GDP (ราคาปัจจุบัน) 2550 ประมาณ
 -  รวม $273.248 พันล้าน[5] (อันดับที่ 34)
 -  ต่อประชากร $4,405[5] (อันดับที่ 92)
จีนี (2545) 42 
HDI (2550) 0.783[6] (ปานกลาง) (อันดับที่ 87)
สกุลเงิน บาท (฿) (THB)
เขตเวลา (UTC+7)
รหัสอินเทอร์เน็ต .th
รหัสโทรศัพท์ +66

ประเทศไทย หรือชื่อทางการว่า ราชอาณาจักรไทย เป็นรัฐชาติที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปแบบเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และปกครองในประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีพรมแดนทางทิศตะวันออกติดกับประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ทิศใต้มีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซียและอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดกับทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือติดกับประเทศพม่าและประเทศลาว มีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น 75 จังหวัด[3] โดยมีศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวงและศูนย์กลางการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของประเทศ

ประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก มีเนื้อที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร[7] และมีประชากรมากเป็นอันดับ 21 ของโลก คือ ประมาณ 64 ล้านคน ประกอบด้วยเชื้อสายไทยประมาณร้อยละ 75 ชาวจีนร้อยละ 14 ชาวมาเลย์ร้อยละ 3[8] มีภาษาไทยเป็นภาษาทางการ พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท กว่าร้อยละ 95[9] วัฒนธรรมหลักของไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย, จีน และประเทศตะวันตก ซึ่งนำมาผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่[10][11][12][13] โดยมีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมและการบริการ[14] โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง อาทิ พัทยา, จังหวัดภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร และจังหวัดเชียงใหม่ เช่นเดียวกับการส่งออกซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ[15] อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม[14] ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญที่สุดของประเทศ[16] และถือได้ว่าเป็นประเทศซึ่งส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก[17] ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงิน "ต้มยำกุ้ง" เมื่อปี พ.ศ. 2540 จนกระทั่งเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในปี พ.ศ. 2542

เนื้อหา

ชื่อเรียก

ดูเพิ่มที่ สยาม

คำว่า "สยาม" เป็นคำที่ชาวต่างประเทศใช้เรียกอาณาจักรอยุธยา เมื่อราว พ.ศ. 2000[18] เดิมทีประเทศไทยเองก็เคยใช้ชื่อว่า สยาม มานับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2398) [19] เป็นต้นมา แต่ทว่าคนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า "สยาม" หรือ "ชาวสยาม" อย่างชาวต่างชาติหรือตามชื่อประเทศอย่างเป็นทางการในสมัยนั้นเลย[20] ส่วนคำว่า "คนไทย" นั้น จดหมายเหตุลาลูแบร์ได้บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ชาวอยุธยาได้เรียกตนเองเช่นนั้นมานานแล้ว[21]

ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ตามประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ 1 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482) [22] ได้เปลี่ยนชื่อประเทศ พร้อมกับเรียกประชาชน และสัญชาติจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย"[23] โดยในช่วงต่อมาได้เปลี่ยนกลับเป็นสยามเมื่อปี พ.ศ. 2488[23] แต่ก็ได้เปลี่ยนกลับมาชื่อไทยอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ยังเปลี่ยนจาก "Siam" ในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เป็น "Thaïlande" ในภาษาฝรั่งเศส และ "Thailand" ในภาษาอังกฤษอย่างในปัจจุบัน[20] อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ

ประวัติศาสตร์

ดูบทความหลักที่ ประวัติศาสตร์ไทย

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

เครื่องปั้นดินเผาซึ่งถูกพบใกล้กับบ้านเชียง สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า 2,000 ปี

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในอดีต พื้นที่ซึ่งเป็นประเทศไทยในปัจจุบันได้มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคหินเก่าเป็นต้นมา คือ ราว 20,000 ปีที่แล้ว[19] ภูมิภาคดังกล่าวได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและทางศาสนาจากอินเดีย นับตั้งแต่อาณาจักรฟูนัน ราวศตวรรษที่ 1 ของศักราชกลาง แต่สำหรับรัฐของคนไทยแล้ว ตามตำนานโยนกได้บันทึกว่า การก่อตั้งอาณาจักรของคนไทยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1400[24]

อาณาจักรสุโขทัย

ภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิขะแมร์ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13[25] ทำให้มีรัฐเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาไม่นานนัก อาทิ ชาวไท มอญ ชาวเขมร และชาวมาเลย์ นักประวัติศาสตร์ไทยเริ่มถือเอาสมัยอาณาจักรสุโขทัย นับตั้งแต่ พ.ศ. 1781 เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งตรงกับสมัยรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรสุโขทัยขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่เริ่มอ่อนแอลงภายหลังการสวรรคตของพระองค์ การรับพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์เข้ามา ทำให้อาณาจักรสุโขทัยเริ่มมีการปกครองแบบธรรมราชา

อาณาจักรอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระเจ้าอู่ทองทรงก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรของชนชาติไทยขึ้น ในปี พ.ศ. 1893 มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งยึดมาจากหลักของศาสนาพราหมณ์ การเข้าแทรกแซงสุโขทัยอย่างต่อเนื่องทำให้อาณาจักรสุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา ต่อมา ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระร่วงเจ้าสุโขทัย คนสุดท้าย พระยายุทธิษฐิระ เอาใจออกห่างไปเข้ากับอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช พระองค์จึงทรงไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกและทำสงครามกับอาณาจักรล้านนาเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ ซึ่งบางส่วนได้ใช้มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ราชทูตอยุธยาซึ่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส

การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสในปี พ.ศ. 2054 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทำให้อยุธยาเริ่มการติดต่อกับชาติตะวันตก[26] อย่างไรก็ตาม ราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อราชวงศ์ตองอูของพม่าเริ่มมีอำนาจมากขึ้น จึงได้เริ่มการขยายดินแดนมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนอง การสงครามอันยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2091 ส่งผลให้อยุธยาตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรตองอูในที่สุด สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้เวลา 15 ปีเพื่อสร้างภาวะครอบงำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่ง[27]

จากนั้น อยุธยาจึงกลายมาเป็นรัฐที่ทรงอำนาจมากที่สุดในภูมิภาค โดยมีอำนาจครอบคลุมหัวเมืองเหนือ สุโขทัย ล้านนา เช่นเดียวกับอำนาจทางทะเลในคาบสมุทรทางตอนใต้ โดยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอยุธยารุ่งเรืองขึ้นอย่างมากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส, ดัตช์, และอังกฤษ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลซึ่งเพิ่มมากขึ้นของชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยา นำไปสู่การสังหารคอนสแตนติน ฟอลคอน สมุหนายก โดยพระเพทราชา[28] ความสัมพันธ์กับต่างชาติก็เสื่อมโทรมลงตั้งแต่นั้น

อาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมอำนาจลงราวพุทธศตวรรษที่ 24 การสงครามกับราชวงศ์อลองพญา ส่งผลให้อยุธยาถูกปล้นสะดมและเผาทำลาย เมื่อปี พ.ศ. 2310 ในปีเดียวกัน พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช และย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของคนไทยเป็นเวลานาน 15 ปี ถือเป็นช่วงเวลาของการทำสงครามและการฟื้นฟูความเจริญของชาติ จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง

ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยเผชิญกับการรุกรานจากพม่าครั้งใหญ่ ได้แก่ สงครามเก้าทัพ ผลจากสงครามทำให้พม่าไม่รุกรานไทยอีกเลย นอกจากนี้ ไทยยังมีอำนาจครอบคลุมส่วนใหญ่ของลาวและกัมพูชา แต่ไทยประสบกับการรุกรานในกบฎเจ้าอนุวงศ์ และการรุกรานจากเวียดนามหลายครั้ง

การเผชิญหน้ากับชาติตะวันตก

การสูญเสียดินแดนให้กับฝรั่งเศสและอังกฤษ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษ ได้เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริง อันเป็นสนธิสัญญาซึ่งไม่เป็นธรรมฉบับแรกที่ทำกับต่างชาติ ตามด้วยการทำสนธิสัญญาอีกหลายฉบับ ต่อมา การคุกคามของฝรั่งเศสและอังกฤษทำให้สยามเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากชาติมหาอำนาจ อาณาจักรสยามก็ยีงสามารถธำรงตนเป็นรัฐเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกเลย หากแต่สยามก็ต้องรับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกเข้าสู่ประเทศอย่างมาก จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิรูปทางสังคมและวัฒนธรรมในเวลาต่อมา และดำรงบทบาทของตนเป็นรัฐกันชนระหว่างประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งสอง[29]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยอยู่ฝ่ายเดียวกับฝ่ายพันธมิตร ทำให้ประเทศได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ นำมาซึ่งการแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมทั้งหลายเพื่อให้ชาติมีอธิปไตยอย่างแท้จริง แต่กว่าจะเสร็จก็ล่วงถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[30]

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็น

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการปฏิวัติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎรเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แต่เนื่องจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรให้การยอมรับในขบวนการเสรีไทย ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากสถานะประเทศผู้แพ้สงคราม

ในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา โดยมีนโยบายในการต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค และส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ต่อมา ประเทศไทยประสบกับปัญหาการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในประเทศ แต่ในภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็กลับอ่อนแอลงจนไม่สามารถปฏิบัติการได้อีก

การพัฒนาประชาธิปไตย

ผู้ร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ในเหตุการณ์ 14 ตุลา

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยยังถือได้ว่าอยู่ในระบอบเผด็จการทหารในทางปฏิบัติอยู่หลายทศวรรษ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนแรกเป็นผลมาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2516 ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และได้มีการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารผ่านรัฐประหารหลายสิบครั้ง อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นได้มีเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญถึงสองครั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาธิปไตยในประเทศไทยจึงเริ่มมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของทักษิณ ชินวัตร เป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยมีการประท้วงเพื่อขับไล่ออกจากตำแหน่งโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลังจากนั้นได้เกิดรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ ทำให้ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนที่การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นการฟื้นฟูประชาธิปไตยอีกสมัยหนึ่ง การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงดำเนินต่อไปในสมัยรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย ก่อนที่การเมืองจะพลิกขั้ว[31] เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน จึงเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์

การปกครอง

ห้องประชุมรัฐสภาไทย
ที่ทำการศาลฎีกา

เดิมประเทศไทยมีการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา จนกระทั่งมีการปกครองในลักษณะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแบบเด็ดขาดตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[32] จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้กระทำการปฏิวัติในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยเป็นสามส่วน โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาควบคู่ไปกับราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในทางนิตินัย ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดรูปแบบองค์กรบริหารอำนาจทั้งสามส่วนดังนี้

สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยผู้แทนราษฎรจำนวน 480 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน 80 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี; วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน (รวมกรุงเทพมหานคร) และมาจากการสรรหาจากกลุ่มอาชีพ 74 คน โดยมีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 7 คน[35] อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี และไม่สามารถเป็นสมาชิกวุฒิสภาติดต่อกันเกิน 1 วาระ[35]; นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ตามสภาผู้แทนราษฎร และไม่สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้เกิน 8 ปี[35] นายกรัฐมนตรีมิได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ได้รับการลงมติเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎร; ศาลรัฐธรรมนูญมีวาระ 9 ปี ประกอบด้วยตุลาการ 9 คน[35]

การแบ่งเขตการปกครอง

การแบ่งภูมิภาคของประเทศไทยโดยใช้เกณฑ์อย่างเป็นทางการของราชบัณฑิตยสถาน[36]

ประเทศไทยแบ่งเขตการบริหารออกเป็น การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด 75 จังหวัด โดยที่ไม่นับกรุงเทพมหานครว่าเป็นจังหวัด; 877 อำเภอ (50 เขตในกรุงเทพมหานคร) และ 7,255 ตำบล[3] และการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล โดย "สุขาภิบาล" นั้นถูกยกฐานะไปเป็นเทศบาลทั้งหมดในปี พ.ศ. 2542[37]

ส่วนกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาเป็นเขตการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดนครปฐม ถูกเรียกเป็นเขตที่เรียกว่า "กรุงเทพมหานครและปริมณฑล"

เมืองใหญ่ / จังหวัดใหญ่

เมืองที่มีประชากรมากที่สุด 5 อันดับของประเทศไทย

กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร
เมืองพัทยา
เมืองพัทยา

จังหวัดนครราชสีมา
จังหวัดนครราชสีมา

อันดับ พื้นที่ ประชากร

จังหวัดเชียงใหม่
เชียงใหม่

หาดใหญ่
เทศบาลนครหาดใหญ่

1 กรุงเทพมหานคร 11,971,000
2 เมืองพัทยา และ จังหวัดชลบุรี 1,183,604
3 เทศบาลนครเชียงใหม่ 960,906
4 เทศบาลนครหาดใหญ่ 801,747
5 เทศบาลนครนครราชสีมา 439,546

ภูมิประเทศและภูมิอากาศ

ภูมิประเทศ

บางส่วนของเทือกเขาเพชรบูรณ์

ประเทศไทยมีขนาดประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นอันดับที่ 51 ของโลก เป็นประเทศซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีนเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศพม่า และมีขนาดใกล้เคียงกับประเทศสเปนมากที่สุด

ประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย ภาคเหนือประกอบด้วยเทือกเขาจำนวนมาก จุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ ดอยอินทนนท์ ณ 2,565 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล[38] ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงโคราชติดกับแม่น้ำโขงทางด้านตะวันออก ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสายน้ำไหลลงสู่อ่าวไทย ภาคใต้มีจุดที่แคบลง ณ คอคอดกระ แล้วขยายใหญ่เป็นคาบสมุทรมลายู ซึ่งในทางรัฐกิจแล้ว ได้มีการจัดแบ่งภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ออกเป็น 6 ภูมิภาค เนื่องจากความแตกต่างทางประชากร ทรัพยากรพื้นฐาน ลักษณะทางธรรมชาติ และระดับของการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ และความแตกต่างของภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ได้กลายมาเป็นตัวแบ่งที่สำคัญที่สุดในลักษณะทางกายภาพของประเทศไทย

แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทย การผลิตของอุตสาหกรรมการเกษตรจะต้องอาศัยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จากแม่น้ำทั้งสองและสาขาทั้งหลาย อ่าวไทยกินพื้นที่ประมาณ 320,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตาปี ซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว เนื่องจากน้ำตื้นใสตามแนวชายฝั่งของภาคใต้และคอคอดกระ อ่าวไทยยังเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของประเทศ เนื่องจากมีท่าเรือหลักในสัตหีบ และถือได้ว่าเป็นประตูที่จะนำไปสู่ท่าเรืออื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ส่วนทะเลอันดามันถือได้ว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามากที่สุดของไทย เนื่องจากมีรีสอร์ตที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในทวีปเอเชีย รวมไปถึงจังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดตรัง และหมู่เกาะตามแนวชายฝั่งของทะเลอันดามัน ซึ่งนักท่องเที่ยวมักจะมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ

ภูมิอากาศ

ภูมิอากาศของไทยเป็นแบบเขตร้อน หรือแบบสะวันนา มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-34 °C และมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยตลอดปีกว่า 1,500 มิลลิเมตร สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดูกาล: อากาศร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนเป็นฤดูร้อน; ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้เป็นฤดูฝน; ส่วนในเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคม ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนเป็นฤดูหนาว[39]

ส่วนภาคใต้มีสภาพอากาศแบบป่าดงดิบ ซึ่งมีอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี จึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ฤดู: โดยฝั่งทะเลตะวันออก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน และฝั่งทะเลตะวันตก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน[39]

เศรษฐกิจ

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของโลก ประเทศไทยเคยมีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดในโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปี พ.ศ. 2539 (คิดเป็น 9.4% ต่อปี) แต่ก็ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทอย่างเป็นอันตราย ในปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจไทยหดตัวลงถึง 1.9% และนำไปสู่วิกฤตซึ่งเผยให้เห็นถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชวลิต ยงใจยุทธได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทซึ่งเคยแข็งค่าถึง 25 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2521 จนถึงปี พ.ศ. 2540 อ่อนตัวลงเหลือ 56 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2541 และเศรษฐกิจหดตัวลงกว่า 10.8% ในปีนั้น จนกลายมาเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540

หลังจากนั้น เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งขยายตัวกว่า 4.2% และ 4.4% ในปีต่อมา เนื่องจากสภาพการส่งออกที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2545-พ.ศ. 2547 เศรษฐกิจไทยได้ขยายตัวกว่า 5-7% ต่อปี ภายหลังจากการกระตุ้นการส่งออกและการเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศจากนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และ 4-5% ต่อปี ระหว่างปี พ.ศ. 2548-พ.ศ. 2550 เมื่อประกอบกับสภาพค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐซึ่งอ่อนตัวลง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลล่าร์สหรัฐอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลดเหลือเพียงเฉลี่ย 4.9% ต่อปี ระหว่างปี พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2550 จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ อัตราการส่งออกระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 อยู่ที่เฉลี่ย 17.5% ต่อปี และหลังจากรัฐบาลชั่วคราวภายหลังการก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ และวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกยังได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย และความขาดเสถียรภาพทางการเมืองยังเป็นการขัดขวางการดำเนินการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่อไป[8]

ตลาดนำเข้าสินค้าไทยที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และอินโดนีเซีย[40]

เศรษฐกิจหลัก

แรงงานส่วนใหญ่ของไทยขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ เกษตรกรรมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยภาพรวมทางเศรษฐกิจอ้างอิงเมื่อ พ.ศ. 2546 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศกว่า 5,930.4 พันล้านบาท ส่งออกมูลค่า 78.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้า 74.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ[41]

ข้าวเป็นเศรษฐกิจหลักที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย จนได้ชื่อว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งอออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ในด้านเกษตรกรรม ข้าว ถือเป็นผลผลิตที่สำคัญที่สุด ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก ด้วยสัดส่วนการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 36 ของโลก[42] ประเทศไทยมีพื้นที่ซึ่งเหมาะต่อการเพาะปลูกกว่า 27.25%[43] ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 55% ใช้สำหรับการปลูกข้าว[44] ส่วนพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ได้แก่ ยางพารา ผักและผลไม้ต่าง ๆ รวมไปถึงมีการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น วัว สุกร เป็ด ไก่ สัตว์น้ำทั้งปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็มในกระชัง การทำนากุ้ง การเลี้ยงหอย รวมไปถึงการประมงทางทะเล อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่จะทำงานในภาคเกษตรกรรมมากที่สุด แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในภาคการส่งออกสินค้าและบริการกลับมีมูลค่าสูงกว่ามาก[45]

จากข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ประเทศไทยส่งออกสินค้ากว่า 406,990 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร 141,401 ล้านบาท อาหาร 52,332 ล้านบาท สินค้าอุคสาหกรรม 45,959 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้าราว 285,965 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร 113,421 ล้านบาท น้ำมันและเชื้อเพลิง 50,824 ล้านบาท และเคมีภัณฑ์ 46,376 ล้านบาท มีมูลค่าการค้าสุทธิ 121,025 ล้านบาท[46]

เกาะพีพี สถานท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ

ส่วนภาคการท่องเที่ยว การบริการและโรงแรม ในปี พ.ศ. 2547 มีนักท่องเที่ยวรวม 11.74 ล้านคน 56.52% มาจากเอเชียตะวันออกและกลุ่มประเทศอาเซียน (โดยเฉพาะมาเลเซีย คิดเป็น 11.97% ญี่ปุ่น 10.33%) ยุโรป 24.29% ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้รวมกัน 7.02%[47] โดยแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ กรุงเทพมหานคร พัทยา ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และจังหวัดเชียงใหม่[15][48]

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การคมนาคม

ดูบทความหลักที่ การคมนาคมในประเทศไทย

ส่วนใหญ่การคมนามคมในประเทศไทยจะใช้การขนส่งทางบกเป็นหลัก คือ อาศัยรถยนต์และจักรยานยนต์ ทางหลวงสายหลักในประเทศไทย ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิท และถนนเพชรเกษม นอกจากนี้ระบบขนส่งมวลชนจะมีการบริการตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ได้แก่ระบบรถเมล์ และรถไฟ รวมถึงระบบที่เริ่มมีการใช้งาน รถไฟลอยฟ้า และรถไฟใต้ดิน และในหลายพื้นที่จะมีการบริการรถสองแถว รวมถึงรถรับจ้างต่าง ๆ ได้แก่ แท็กซี่ เมลเครื่อง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และรถตุ๊กตุ๊ก

สำหรับการคมนาคมทางอากาศนั้น ปัจจุบันประเทศไทยได้เปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งถือได้ว่าเป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยเปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 แทนที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง

ส่วนการคมนาคมทางน้ำ ประเทศไทยมีท่าเรือหลัก ๆ คือ ท่าเรือกรุงเทพ คลองเตย และท่าเรือแหลมฉบัง[ต้องการอ้างอิง] ในบางพื้นที่ ที่อยู่ริมน้ำจะมีเรือรับจ้าง และแพข้ามฟากบริการ

การสื่อสาร

  • ระบบโทรศัพท์ในประเทศไทยมีโทรศัพท์พื้นฐาน 7.024 ล้านหมายเลข (2550) และโทรศัพท์มือถือ 51.377 ล้านหมายเลข (2550) [8]
  • สถานีวิทยุ: คลื่นเอฟเอ็ม 351 สถานี คลื่นเอเอ็ม 238 สถานี และคลื่นสั้น 6 สถานี (2550) [8]
  • สถานีโทรทัศน์ มี 6 ช่องสถานี มีสถานีเครือข่ายทั้งหมด 111 สถานี และจำนวนผู้ใช้โทรทัศน์ 15.19 ล้านคน (2549) [8]
  • ดาวเทียมสื่อสาร 4 ดวง (2548) [8]
อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 
ในประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 13 ล้านคน (2550) จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 20 บริษัท (2552) [49] โดยมีโฮสติงมากกว่า 1.116 ล้าน (2550) [8] โดเมนระดับบนสุดใช้ในรหัสชื่อ .th โดยมีระดับรองลงมาได้แก่ .ac, .co, .go, .in และ .or

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทหาร

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับยูกิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างการเดินทางเยือนญี่ปุ่น พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศและองค์การท้องถิ่น ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และยังได้กระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การธนาคาร การเมือง และด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ให้ความร่วมมือกับองค์การท้องถิ่น อาทิ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป[50] นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเคยส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก, อัฟกานิสถาน, อิรัก[51], บุรุนดี[52] และปัจจุบัน ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน[53]

นาวิกโยธินไทยระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2553

พระมหากษัตริย์ไทยดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยโดยพฤตินัย[54] ในขณะที่ทางปฏิบัติ กองทัพอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจบริหารจัดการของกระทรวงกลาโหม ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองบัญชาการกองทัพไทย ภายใต้การนำของผู้บัญชาการกองทัพไทย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 เหล่าทัพ คือ กองทัพบก, กองทัพเรือ (ราชนาวี) และกองทัพอากาศ นาวิกโยธินเป็นหน่วยซึ่งขึ้นกับกองทัพเรือ ประเทศไทยมีกำลังทหารทั้งสิ้นราว 1,025,640 นาย และมีกำลังหนุนกว่า 200,000 นาย และมีกำลังกึ่งทหารประจำการกว่า 113,700 นาย[54] เมื่อปี พ.ศ. 2553 กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 154,032,478,600 บาท[55]

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้ว่าการป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคน[56] ชายไทยทุกคนมีหน้าที่รับราชการทหาร[57] กองทัพจะเรียกเกณฑ์ชายซึ่งมีอายุย่างเข้า 21 ปี โดยอาศัยความตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยจะถูกเรียกมาตรวจเลือกหรือรับเข้ากองประจำการ[57] ชายที่ได้รับการตรวจเลือกจะต้องทำการฝึกเป็นระยะเวลาระหว่าง 6 เดือน ถึง 2 ปี ยกเว้นผู้ที่จับสลากดำ[58] และนักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ไม่ต้องบรรจุในกองประจำการ แต่ยังอาจถูกเรียกพลในฐานะทหารกองหนุนประเภท 1[59]

ลักษณะประชากร

ชนชาติ

ดูเพิ่มที่ ชาวไทย

ในประเทศไทยถือได้ว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยมีทั้ง ชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายลาว ชาวไทยเชื้อสายมอญ ชาวไทยเชื้อสายเขมร รวมไปถึงกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายมลายู ชาวชวา (แขกแพ) ชาวจาม (แขกจาม) ชาวเวียด ไปจนถึงชาวพม่า และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เช่น ชาวกะเหรี่ยง ชาวลีซอ ชาวอ่าข่า ชาวอีก้อ ชาวม้ง ชาวเย้า รวมไปจนถึงชาวส่วย ชาวกูบ ชาวกวย ชาวจะราย ชาวระแดว์ ชาวข่า ชาวขมุ

ศาสนา

ประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ประมาณร้อยละ 94.7[60] ซึ่งถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยโดยพฤตินัย[61] แม้ว่าจะยังไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใดเลยก็ตาม รองลงมา ได้แก่ ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 4.6[60] ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยทางภาคใต้ตอนล่าง และยังมีประชาคมของกลุ่มศาสนาที่มีอิทธิพลอยู่ภายในประเทศ เช่น ศาสนาคริสต์ ชาวซิกข์ ชาวฮินดู หรือชาวยิว เป็นต้น

ภาษา

ดูบทความหลักที่ ภาษาในประเทศไทย

ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาทางการ และเป็นภาษาหลักที่ใช้ติดต่อสื่อสาร การศึกษาและเป็นภาษาพูดที่ใช้กันทั่วประเทศ โดยใช้อักษรไทยเป็นรูปแบบมาตรฐานในการเขียน ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยสุโขทัยโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นอกเหนือจากภาษาไทยกลางแล้ว ภาษาไทยสำเนียงอื่นยังมีการใช้งานในแต่ละภูมิภาคเช่น ภาษาไทยถิ่นเหนือในภาคเหนือ ภาษาไทยถิ่นใต้ในภาคใต้ และภาษาไทยถิ่นอีสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกเหนือจากภาษาไทยแล้ว ในประเทศไทยยังมีการใช้งานภาษาของชนกลุ่มน้อยเช่น ภาษาจีนโดยเฉพาะสำเนียงแต้จิ๋ว ภาษาลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งบางครั้งนิยามว่าภาษาลาวสำเนียงไทย ภาษามลายูปัตตานีทางภาคใต้ นอกจากนี้ก็มีภาษาอื่นเช่น ภาษากวย ภาษากะยาตะวันออก ภาษาพวน ภาษาไทลื้อ ภาษาไทใหญ่ รวมไปถึงภาษาที่ใช้กันในชนเผ่าภูเขา ประกอบด้วยตระกูลภาษามอญ-เขมร เช่น ภาษามอญ ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม และภาษามลาบรี; ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน เช่น ภาษาจาม; ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เช่น ภาษาม้ง ภาษากะเหรี่ยง และภาษาไตอื่น ๆ เช่น ภาษาผู้ไท ภาษาแสก เป็นต้น

ภาษาอังกฤษและอักษรอังกฤษมีสอนในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่จำนวนผู้ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องในประเทศไทยยังคงมีจำนวนน้อยอยู่ และส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมืองและในครอบครัวที่มีการศึกษาดีเท่านั้น ซึ่งในด้านความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษนั้น จากที่ประเทศไทยเคยอยู่ในระดับแนวหน้าในปี พ.ศ. 2540 แต่เมื่อกลางปี พ.ศ. 2549 ไทยกลับล้าหลังประเทศลาวและประเทศเวียดนาม[62]

การศึกษา

ประเทศไทยมีอัตราการรู้หนังสือสูง โดยการศึกษามีระบบโรงเรียนที่ถูกจัดเป็นระบบอย่างดี ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้นตามลำดับ หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมต้น บุคคลสามารถเลือกได้ระหว่างศึกษาต่อสายสามัญในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่อ หรือเลือกศึกษาต่อสายวิชาชีพ หรืออาจเลือกศึกษาต่อในสถาบันทางทหารหรือตำรวจ ตามกฎหมายไทย รัฐบาลจะต้องจัดการศึกษาให้ขั้นพื้นฐานแบบให้เปล่าแก่ประชาชนเป็นเวลาสิบสองปี ส่วนการศึกษาภาคบังคับในปัจจุบันกำหนดไว้เก้าปี

แต่กระนั้น ก็ยังมีการเป็นห่วงในประเด็นทางด้านระดับเชาวน์ปัญญาของเยาวชนชาวไทย ซึ่งจากการศึกษาของหนังสือพิมพ์เนชั่นได้รายงานว่า "กรมอนามัยและกรมสุขภาพจิตจะต้องรับมือกับความฉลาดที่ต่ำลง หลังจากได้พบว่าระดับเชาวน์ปัญญาโดยเฉลี่ยในกลุ่มเยาวชนต่ำกว่า 80"[63] วัชระ พรรณเชษฐ์ได้รายงานในปี พ.ศ. 2549 ว่า "ค่าเฉลี่ยของระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กไทยอยู่ระหว่าง 87-88 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับ 'ต่ำกว่ามาตรฐาน' จากการจัดระดับในระดับสากล"[64]

วัฒนธรรม

วัฒนธรรมไทยได้รับเอาวัฒนธรรมอินเดีย จีน ขอมและดินแดนบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาอย่างมาก พุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเอกลักษณ์และศรัทธาของไทยสมัยใหม่ ทำให้พุทธศาสนาในประเทศไทยได้มีการพัฒนาตามกาลเวลา ซึ่งรวมไปถึงการรวมเอาความเชื่อท้องถิ่นที่มาจากศาสนาฮินดู การถือผี และการบูชาบรรพบุรุษ ส่วนชาวมุสลิมอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามามีส่วนสำคัญอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและใกล้เคียง ซึ่งการปรับตัวเข้ากับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้กลุ่มชาวจีนได้มีตำแหน่งในอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง

วัฒนธรรมไทยมีส่วนที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวคือ มีการให้ความเคารพแก่บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน ชาวไทยมักจะมีความเป็นเจ้าบ้านและความกรุณาอย่างดี แต่ก็มีความรู้สึกในการแบ่งแยกลำดับชั้นอย่างรุนแรงเช่นกัน ความอาวุโสเป็นแนวคิดที่สำคัญในวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง ผู้อาวุโสจะต้องปกครองดูแลครอบครัวของตนตามธรรมเนียม และน้องจะต้องเชื่อฟังพี่

การทักทายตามประเพณีของไทย คือ การไหว้ ผู้น้อยมักจะเป็นผู้ทักทายก่อนเมื่อพบกัน และผู้ที่อาวุโสกว่าก็จะทักทายตอบในลักษณะที่คล้าย ๆ กัน สถานะและตำแหน่งทางสังคมก็มีส่วนต่อการตัดสินว่าผู้ใดควรจะไหว้อีกผู้หนึ่งก่อนเช่นกัน การไหว้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ในการให้ความเคารพและความนับถือแก่อีกผู้หนึ่ง

อาหารไทยเป็นการผสมผสานรสชาติความหวาน ความเผ็ด ความเปรี้ยว ความขมและความเค็ม ส่วนประกอบซึ่งมักจะใช้ในการปรุงอาหารไทย รวมไปถึง กระเทียม พริก น้ำมะนาว และน้ำปลา และวัตถุดิบสำคัญของอาหารในประเทศไทย คือ ข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวหอมมะลิ ซึ่งมักจะใช้เป็นองค์ประกอบในอาหารเกือบทุกมื้อ ตามสถิติพบว่า ชาวไทยรับประทานข้าวขาวมากกว่า 100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี[65]

ศิลปะ

ดูเพิ่มที่ ศิลปะไทย
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ศิลปะไทยมีลักษณะเฉพาะตัวค่อนข้างสูง โดยมีความกลมกลืนและคล้ายคลึงกับศิลปวัฒนธรรมเพื่อนบ้านอยู่บ้าง แต่ด้วยการสืบทอดและการสร้างสรรค์ใหม่ ทำให้ศิลปะไทยมีเอกลักษณ์สูง[ต้องการอ้างอิง]

  • จิตรกรรม งานจิตรกรรมไทยนับว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูง ได้รับการสืบทอดมาช้านาน มักปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนัง ตามวัดวาอาราม รวมทั้งในสมุดข่อยโบราณ งานจิตรกรรมไทยยังเกี่ยวข้องกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น งานลงรักปิดทอง ภาพวาดพระบฏ เป็นต้น
  • ประติมากรรม เดิมนั้นช่างไทยทำงานประติมากรรมเฉพาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป โดยมีสกุลช่างต่างๆ นับตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย เรียกว่า สกุลช่างเชียงแสน สกุลช่างสุโขทัย อยุธยา และกระทั่งรัตนโกสินทร์ โดยใช้ทองสำริดเป็นวัสดุหลักในงานประติมากรรม เนื่องจากสามารถแกะแบบด้วยขี้ผึ้งและตกแต่งได้ แล้วจึงนำไปหล่อโลหะ เมื่อเทียบกับประติมากรรมศิลาในยุคก่อนนั้น งานสำริดนับว่าอ่อนช้อยงดงามกว่ามาก
  • สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมไทยมีปรากฏให้เห็นในชั้นหลัง เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมได้ง่าย โดยเฉพาะงานไม้ ไม่ปรากฏร่องรอยสมัยโบราณเลย สถาปัตยกรรมไทยมีให้เห็นอยู่ในรูปของบ้านเรือนไทย โบสถ์ วัด และปราสาทราชวัง ซึ่งล้วนแต่สร้างขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและการใช้สอยจริง

กีฬา

กีฬาซึ่งเป็นของชาวไทยแท้ คือ มวยไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นกีฬาประจำชาติของไทยโดยพฤตินัย เป็นศิลปะการต่อสู้ที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลก โดยมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับศิลปะการต่อสู้ของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ

ส่วนกีฬาที่กำลังเติบโตในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ได้แก่ รักบี้และกอล์ฟ โดยผลงานของนักกีฬารักบี้ทีมชาติไทย ทำผลงานได้ถึงอันดับที่ 61 ของโลก[66] ส่วนกีฬากอล์ฟเอง ไทยได้รับสมญานามว่าเป็น "เมืองหลวงของกอล์ฟในทวีปเอเชีย"[67] ในประเทศไทย มีสนามกอล์ฟคุณภาพระดับโลกกว่า 200 แห่ง[68] ซึ่งดึงดูดนักกอล์ฟจำนวนมาก

สำหรับผลงานทางด้านกีฬา ประเทศไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในระดับโลกหลายอย่าง เช่น โอลิมปิกฤดูร้อน โอลิมปิกฤดูหนาว เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ ซึ่งประเทศไทยเองได้รับสิทธิเป็นผู้จัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 4 ครั้ง และซีเกมส์ 6 ครั้ง นอกจากนี้ยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เอเชียนคัพ และฟุตบอลโลกหญิงเยาวชน อีกด้วย

วันสำคัญ

ดูบทความหลักที่ รายชื่อวันสำคัญของไทย

วันสำคัญในประเทศไทยจะมีจำนวนมากโดยเฉพาะวันที่ไม่ใช่วันหยุดราชการ ซึ่งจะตั้งขึ้นหลังจากมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น โดยวันชาติของประเทศไทยในปัจจุบัน ใช้วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี[69]

อ้างอิง

  1. ^ กำพล จำปาพันธ์. สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ (ตอนที่ ๑). มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน.
  2. ^ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ข้อมูลประเทศไทย - การเมืองการปกครอง
  3. ^ 3.0 3.1 3.2 กรมการปกครอง, กระทรวงมหาดไทย. ประกาศกรมการปกครอง เรื่อง แจ้งข้อมูลทางการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2553.
  4. ^ สำนักงานสถิติแห่งชาติ. Population and Housing Census 2000 (Preliminary results). สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  5. ^ 5.0 5.1 5.2 5.3 "Thailand". กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
  6. ^ Human Development Report 2009. Human development index trends: Table G. The United Nations. สืบค้นวันที่ 2009-10-05
  7. ^ ราชบัณฑิตยสถาน. (2545). อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1. ราชบัณฑิตยสถาน. หน้า 4.
  8. ^ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 CIA -- The World Factbook -- Thailand
  9. ^ Population by religion, sex, area and region, National Statistic Office of Thailand.
  10. ^ Paweł Bożyk (2006). "Newly Industrialized Countries". Globalization and the Transformation of Foreign Economic Policy. Ashgate Publishing, Ltd. pp. 164. ISBN 0-75-464638-6. 
  11. ^ Mauro F. Guillén (2003). "Multinationals, Ideology, and Organized Labor". The Limits of Convergence. Princeton University Press. pp. 126 (Table 5.1). ISBN 0-69-111633-4. 
  12. ^ David Waugh (3rd edition 2000). "Manufacturing industries (chapter 19), World development (chapter 22)". Geography, An Integrated Approach. Nelson Thornes Ltd.. pp. 563, 576–579, 633, and 640. ISBN 0-17-444706-X. 
  13. ^ N. Gregory Mankiw (4th Edition 2007). Principles of Economics. ISBN 0-32-422472-9. 
  14. ^ 14.0 14.1 ธนาคารแห่งประเทศไทย. ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจไทย. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2553.
  15. ^ 15.0 15.1 Thailand and the World Bank, World Bank on Thailand country overview.
  16. ^ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย. ข้าวขาว 5% Both Options (BWR5). สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2553.
  17. ^ www.ch7.com. ปี 52 ไทยส่งออกข้าวทะลุเป้า เงินเฟ้อติดลบน้อย. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2553.
  18. ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. คนไทยมาจากไหน?. สำนักพิมพ์มติชน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน). หน้า 73.
  19. ^ 19.0 19.1 Libary of Congress Federal Reserach Division. Country Profile: Thailand. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2553.
  20. ^ 20.0 20.1 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ประเทศไทย หรือประเทศสยาม
  21. ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. คนไทยมาจากไหน?. สำนักพิมพ์มติชน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน). หน้า 217.
  22. ^ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล. จินตนาการความเป็นไทย สิทธิที่จะแตกต่าง. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  23. ^ 23.0 23.1 วีรวิท คงศักดิ์. ร้องเพลงชาติ...ต้องร้องด้วย “ใจ”. คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  24. ^ พลาดิสัย สิทธิธัญกิจ. (2547). ประวัติศาสตร์ไทย. ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัทตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด. หน้า 401.
  25. ^ 4th edition "ANKOR an introduction to the temples" Dawn Rooney ISBN: 962-217-683-6
  26. ^ Library of Congress Country Studies. (DOCID+th0021) THAILAND Contacts with the West. สืบค้น 15 พฤษภาคม 2553.
  27. ^ Christopher John Baker, Pasuk Phongpaichit. (2005). A history of Thailand. Everbest Printing Co., Ltd. p.11. สืบค้น 9 พฤษภาคม 2553.
  28. ^ ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม ๑. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. หน้า 298.
  29. ^ เพ็ญศรี ดุ๊ก. (2542). การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. บริษัท เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด. หน้า 3.
  30. ^ เพ็ญศรี ดุ๊ก. (2542). การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. บริษัท เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด. หน้า 186.
  31. ^ giggog.com อ้างจาก มติชน. เบื้องลึก ปชป.พลิกขั้วชิงธงแถลงตั้งรัฐบาล หนุน อภิสิทธิ์นายกฯ-ประกาศิตคำขอที่ไม่อาจปฏิเสธได้. สืบค้น 9 พฤษภาคม 2553.
  32. ^ ธเนศวร์ เจริญเมือง. (2547). รัฐศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ แนวคิดประชาธิปไตย, การเมืองไทย และแผ่นดินแม่. ยูโรปา เพรส บริษัท จำกัด. หน้า 82.
  33. ^ รัฐสภาไทย อ้างจาก โพสต์ทูเดย์. ข้อคิดอดีตประมุขนิติบัญญัติ สภาใหม่ไม่สำคัญเท่าคุณภาพผู้แทน. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2553.
  34. ^ HiClassSociety.com. NO.275/2009 27 สุภาพบุรุษบนเก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหาร. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2553.
  35. ^ 35.0 35.1 35.2 35.3 โพสต์ทูเดย์ และ บางกอกโพสต์. (10 สิงหาคม พ.ศ. 2550). รัฐธรรมนูญ:ประชามติเพื่อชาติ. บริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2553.
  36. ^ การแบ่งภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ จาก ราชบัณฑิตยสถาน
  37. ^ พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542
  38. ^ National Park of Thailand. Doi Inthanon National Park. สืบค้น 9 พฤษภาคม 2553.
  39. ^ 39.0 39.1 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ข้อมูลประเทศไทย - ภูมิอากาศ
  40. ^ Office of Commercial Affiar, Royal Thai Embassy, Washington DC. Thai economic overview. p.2
  41. ^ ดัชนีเศรษฐกิจประเทศไทย จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
  42. ^ Thailand backs away from rice cartel plan." The International Herald Tribune 7 May 2008: 12. 2 Feb. 2009 [1]
  43. ^ CIA - The World Factbook :: Land use (อังกฤษ)
  44. ^ IRRI - Science - Rice Statistics - Info by Country - Thailand (อังกฤษ)
  45. ^ ธนาคารแห่งประเทศไทย. Thailand at a Glance
  46. ^ ธนาคารแห่งประเทศไทย. สินค้าออกและสินค้าเข้าจำแนกตามกลุ่มสินค้า
  47. ^ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. International tourist arrival to Thailand by nationality and mode of transport
  48. ^ The Guardian, Country profile: Thailand, 25 April 2009.
  49. ^ จำนวนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เนคเทค
  50. ^ OSCE. Partners for Co-operation. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  51. ^ ส่องโลก. ปฏิบัติการเปี่ยมมนุษยธรรมในอิรัก. อ้างจาก วารสารกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนเมษายน 2547. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  52. ^ ทีมข่าวความมั่นคง คม ชัด ลึก. ผ่าภารกิจ"กองทัพไทย"ในดาร์ฟูร์!"รักษาสันติภาพก็เหมือนได้ซ้อมรบ". สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  53. ^ กองบัญชาการกองทัพไทย. บทความประชาสัมพันธ์ กองกำลังกองทัพไทยในภารกิจรักษาสันติภาพผสมสหประชาชาติ-สหภาพแอฟริกาในดาร์ฟูร์. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  54. ^ 54.0 54.1 Mongabay.com. COUNTRY PROFILES Thailand: NATIONAL SECURITY. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2553.
  55. ^ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 126 ตอนที่ 79 ก. วันที่ 22 ตุลาคม 2552. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2553.
  56. ^ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก ราชกิจจานุเบกษา 24 สิงหาคม 2550 หน้า 20.
  57. ^ 57.0 57.1 อรรณพ จันทร์กิติสกุล. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ พร้อมด้วยกฎกระทรวง และระเบียบ. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  58. ^ สำนักงานเลขานุการ ในศาลาว่าการกลาโหม. การตรวจเลือก (การเกณฑ์ทหาร). สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  59. ^ สำนักงานเลขานุการ ในศาลาว่าการกลาโหม. การเข้ารับการเรียกพลของทหารกองหนุน. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2553.
  60. ^ 60.0 60.1 สำนักงานสถิติแห่งชาติ. Population and Housing Census 2000 (Advance Results). สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  61. ^ พระธรรมโกศาจารย์. "ศาสนาประจำชาติไทย". มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2553.
  62. ^ SAMEO Conference, Singapore, April 2006
  63. ^ http://nationmultimedia.com/2005/08/13/headlines/index.php?news=headlines_18334355.html
  64. ^ http://www.nationmultimedia.com/2006/07/19/headlines/headlines_30009114.php
  65. ^ IRRI country profile Thailand
  66. ^ http://www.irb.com/unions/union=11000019/index.html
  67. ^ http://www.golfasia.com/golfthailand.php
  68. ^ http://www.golf2thailand.com/golf_course_thailand.asp
  69. ^ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพ เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย; ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 77 ตอน 43 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 หน้า 1452

แหล่งข้อมูลอื่น

คุณสามารถหาข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ ประเทศไทย ได้โดยค้นหาจากโครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย:
Wiktionary-logo-th.png หาความหมาย จากวิกิพจนานุกรม
Wikibooks-logo.svg หนังสือ จากวิกิตำรา
Wikiquote-logo.svg คำคม จากวิกิคำคม
Wikisource-logo.svg ข้อมูลต้นฉบับ จากวิกิซอร์ซ
Commons-logo.svg ภาพและสื่อ จากคอมมอนส์
Wikinews-logo.svg เนื้อหาข่าว จากวิกิข่าว
Wikiversity-logo-Snorky.svg แหล่งเรียนรู้ จากวิกิวิทยาลัย
รัฐบาล
อื่น ๆ


ภาษาอื่น