กรุงเทพมหานคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กรุงเทพมหานคร
ตราประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร
ตราประจำจังหวัด
เหรียญที่ระลึกประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครด้านหน้า เหรียญที่ระลึกประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครด้านหลัง
เหรียญที่ระลึกประจำจังหวัด
Cquote1.png ทั้งชีวิต เราดูแล[1] Cquote2.png
ข้อมูลทั่วไป
ชื่ออักษรไทย กรุงเทพมหานคร
ชื่ออักษรโรมัน Bangkok
ชื่อไทยอื่นๆ บางกอก
ผู้ว่าราชการ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร
(ตั้งแต่ พ.ศ. 2552)
ISO 3166-2 TH-10
สีประจำกลุ่มจังหวัด เหลืองทอง ███
ต้นไม้ประจำจังหวัด ไทรย้อยใบแหลม
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ 1,568.737 ตร.กม.[2]
(อันดับที่ 68)
ประชากร 5,702,595 คน[3] (พ.ศ. 2552)
(อันดับที่ 1)
ความหนาแน่น 3,635.15 คน/ตร.กม.
(อันดับที่ 1)
ศูนย์ราชการ
ที่ตั้ง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เลขที่ 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ (+66) 0 2221 2141-69
เว็บไซต์ กรุงเทพมหานคร
แผนที่
 
แผนที่ประเทศไทย เน้นกรุงเทพมหานคร

สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย[3] รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร และความเจริญก้าวหน้าด้านอื่น ๆ ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกอีกด้วย มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้แบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี (เดิมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเป็นที่ตั้งของกรุงธนบุรี ซึ่งต่อมาภายหลังได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานคร) โดยกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทั้งหมด 1,568.737 ตารางกิโลเมตร พิกัดทางภูมิศาสตร์คือ ละติจูด 13° 45’ เหนือ ลองจิจูด 100° 31’ ตะวันออก[4]

กรุงเทพมหานครเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศไทย โดยมิได้มีสถานะเป็นจังหวัด ซึ่งคำว่า กรุงเทพมหานคร นั้น ยังใช้เป็นคำเรียกสำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครอีกด้วย ปัจจุบันกรุงเทพมหานครใช้วิธีการเลือกตั้งผู้บริหารแบบ การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง

เนื้อหา

[แก้] ชื่อเมือง

คำว่า กรุงเทพมหานคร แปลว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร" มาจากชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์[5] มีความหมายว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้"[6]

โดยนามเดิมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานในตอนแรกนั้น ใช้ชื่อว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์ อโยธยา” ต่อมาในในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้นามพระนครเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า บวร เป็น อมร เปลี่ยนคำว่า มหินทอยุธยา โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น มหินทรายุธยา และเติมสร้อยนามต่อ ทั้งเปลี่ยนการสะกดคำ สินท์ เป็น สินทร์ จนเป็นที่มาของชื่อเต็มของ กรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ) ข้างต้น[6]

ชื่อทางการของกรุงเทพมหานครเมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน คือ Krung Thep Maha Nakhon แต่คนทั่วไปนิยมทับศัพท์ตามชื่อที่ผู้พูดภาษาอังกฤษเรียกเมืองนี้ว่า Bangkok ซึ่งมาจากชื่อเดิมของกรุงเทพมหานคร คือ บางกอก

ชื่อเต็มของกรุงเทพมหานครเมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน คือ Krungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharayutthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonphimanawatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit[5] ซึ่งเป็นชื่อสถานที่ที่ยาวที่สุดในโลกและได้จดบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊ค[7] (169 ตัวอักษร) ยาวกว่าชื่อภูเขา Taumatawhakatangihangakoauauotamateaturipukakapikimaungahoronukupokaiwhenuaki
tanatahu
(85 ตัวอักษร) ในนิวซีแลนด์ และชื่อทะเลสาบ Chargoggagogg­manchauggagogg­chaubunagungamaugg (45 ตัวอักษร) ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

[แก้] ประวัติ

กรุงเทพมหานครริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

พื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีสมุทร ชาวต่างชาติเรียกกันว่า "บางกอก" มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา[8] มีความสำคัญเนื่องจากเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลและติดต่อค้าขายกับอาณาจักรต่าง ๆ เป็นเมืองหน้าด่านขนอน คอยดูแลเก็บภาษีกับเรือสินค้าทุกลำที่ผ่านเข้าออก ส่วนบริเวณปากน้ำตรงอ่าวไทย เรียกกันว่า "นิวอัมสเตอร์ดัม" มีชุมชนใหญ่และโกดังของชาวต่างประเทศไว้สำหรับพักสินค้า ปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณอำเภอพระประแดง[8]

ที่มาของคำว่า "บางกอก" นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า "บางเกาะ" หรือ "บางโคก" หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า "บางมะกอก" โดยคำว่า "บางมะกอก" มาจากวัดอรุณ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดดังกล่าว และต่อมาต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่าบางกอก[8][9]

ต่อมาเมื่อถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 หลังการกอบกู้อิสรภาพจากพม่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ คือ กรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2313[8] แต่กรุงธนบุรีมีสภาพเป็นเมืองอกแตก ตรงกลางมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน เป็นเหตุให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) มีความคิดจะย้ายเมืองไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้การป้องกันรักษาเมืองเป็นไปได้โดยง่าย[8]

ทิวทัศน์ยามค่ำคืนของกรุงเทพมหานคร

เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระราชดำริว่า ฟากตะวันออกของกรุงธนบุรีมีชัยภูมิดีกว่าตะวันตก เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง หากข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนคร ก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ข้างตะวันตก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา[8]

พระองค์มีพระบรมราชโองการให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดกะที่ดินเพื่อสร้างพระนครใหม่ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2325 ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 9 บาท (54 นาที) ปีขาล จ.ศ. 1144 จัตวาศก ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 น.[8] และทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325[8]

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อพระนครจาก บวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์ และมีฐานะในการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น "จังหวัดพระนคร"[ต้องการอ้างอิง]

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนใหม่ขึ้น และเปลี่ยนรูปแบบผังเมืองกรุงเทพมหานครเฉกเช่นอารยประเทศ เนื่องจากในสมัยนั้นสยามประเทศถูกคุกคามจากมหาอำนาจยุโรป และตรงจุดนี้เป็นหนึ่งในข้ออ้างที่มหาอำนาจนำมาใช้เพื่อแทรกแซงและคุกคามสยามประเทศ ภายหลัง ต่างชาติยุโรปเองได้ยอมรับกรุงเทพมหานครว่า เป็นหนึ่งในเมืองที่มีผังเมืองงดงามที่สุดในโลกในสมัยนั้น[10]

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรได้รวม จังหวัดพระนคร และ จังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี[11] และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียกกันว่า กรุงเทพฯ[12]

[แก้] การปกครอง

ตราประจำจังหวัดพระนคร

กรุงเทพมหานครมีลักษณะเป็นเขตการปกครองพิเศษ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้ง และเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน อยู่ในตำแหน่งตามวาระคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง การดำเนินงานมีสภากรุงเทพมหานครที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงทำงานร่วมด้วย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพคนปัจจุบัน คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และปลัดกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันคือ นายพงศักติฐ์ เสมสันต์

การปกครองในกรุงเทพมหานครแบ่งออกเป็น 50 เขตการปกครอง

[แก้] อาณาเขตติดต่อ

กรุงเทพมหานครมีอาณาเขตติดต่อทางบกกับจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนอาณาเขตทางทะเล อ่าวไทยตอนใน ติดต่อจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดชลบุรี โดยมีรายละเอียดดังนี้

[แก้] ภูมิอากาศ

แผนภูมิแสดงลักษณะภูมิอากาศในรอบปี ของกรุงเทพมหานคร
ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค.
 
 
9
 
32
21
 
 
30
 
33
23
 
 
29
 
34
25
 
 
65
 
35
26
 
 
220
 
34
26
 
 
149
 
33
25
 
 
154
 
33
25
 
 
197
 
33
25
 
 
344
 
32
25
 
 
242
 
32
24
 
 
48
 
32
23
 
 
10
 
31
21
อุณหภูมิ วัดเป็นองศาเซลเซียสปริมาณหยาดน้ำฟ้า วัดเป็นมิลลิเมตร
ที่มา: อุณหภูมิและปริมาณฝนกรุงเทพมหานครค่าเฉลี่ย30ปี[13]

กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในโซนเขตร้อน มีภูมิอากาศร้อนแบบทุ่งหญ้าสะวันนา (Aw) ตามเกณฑ์การแบ่งภูมิอากาศโลกของวลาดิเมียร์ เคิปเปน คืออุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนที่หนาวเย็นที่สุดสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส มีอย่างน้อย 1 เดือนที่ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่า 60 มิลลิเมตร และเดือนที่มีฝนตกน้อยที่สุด จะมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 100 ลบปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี หารด้วย 25 [14]นั่นก็คือเป็นภูมิอากาศแบบมีฤดูฝนและฤดูแล้ง

อากาศของกรุงเทพมหานครได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (กลางเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม) และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (พฤศจิกายน-กลางเดือนกุมภาพันธ์) โดยมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดเอาไอน้ำและความอุ่นชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาด้วย ทำให้มีฝนตกในช่วงบ่ายถึงค่ำอย่างสม่ำเสมอ และยังก่อให้เกิดร่องมรสุมพาดผ่านในเดือนพฤษภาคมกับเดือนกันยายน ซึ่งทำให้มีฝนตกหนักกว่าปกติ แต่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ร่องมรสุมนี้จะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านทางเหนือ จนถึงมณฑลหยุนหนานของจีน ทำให้ฝนตกน้อยลง เดือนพฤศจิกายน เมื่อซีกโลกเหนือหันออกจากดวงอาทิตย์ หย่อมความกดอากาศสูงในเขตไซบีเรียจะแผ่ออกไปโดยรอบ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดเอาความแห้งแล้งและหนาวเย็นมา ทำให้อากาศเย็นและแห้ง ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีเมฆและฝนตก อุณหภูมิต่ำสุดของกรุงเทพฯที่เคยบันทึกได้คือ 9.9 องศาเซลเซียสที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2498 [15] ครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะอ่อนกำลังลง เป็นการเปลี่ยนเข้าสู่หน้าร้อน อากาศในตอนกลางวันจะร้อนขึ้นมาก ทำให้บนบกร้อนกว่าพื้นน้ำมาก ลมจากอ่าวไทยจะพัดเข้าสู่บกเป็นระยะๆ เรียกลมนี้ว่าลมตะเภา [16] ซึ่งจะนำฝนมาตกหลังจากอากาศร้อนหลายๆ วัน และในช่วงวันที่ 25-30 เมษายนของทุกปี ดวงอาทิตย์จะส่องตั้งฉากกับกรุงเทพมหานครพอดี เป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุด อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึกได้คือ 40.8 องศาเซลเซียสที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 [17] กรุงเทพจะมีกลางวันยาวนานที่สุดราวๆ วันที่ 23 มิถุนายน (12.55 ชั่วโมง) สั้นที่สุดราวๆ 21 ธันวาคม (11.20 ชั่วโมง) และกลางวันเท่ากับกลางคืนประมาณเดือนมีนาคมกับกันยายน [18]

ตารางแสดงค่าสถิติเกี่ยวกับภูมิอากาศในกรุงเทพมหานคร
ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ปี
ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุด (°C) 32.0 32.7 33.7 34.9 34.0 33.1 32.7 32.5 32.2 32.0 31.6 31.3 32.7
ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุด (°C) 21.0 23.3 24.9 26.1 25.6 25.4 25.0 24.9 24.6 24.3 23.1 20.8 24.1
ค่าเฉลี่ยปริมาณฝน (มม.) 9.1 29.9 28.6 64.7 220.4 149.3 153.5 196.7 344.2 241.6 48.1 9.7 1,496.8
ค่าเฉลี่ยของวันที่ฝนตก (วัน) 1 3 3 6 16 16 18 20 21 17 6 1 128
ชั่วโมงที่มีแสงแดด (ชม.) [19] 9 9 8 8 7 6 6 5 5 6 8 8 85
เวลากลางวันเฉลี่ย (ชม.) 11 12 12 12 13 13 13 13 12 12 12 11 146

[แก้] สถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อน

กรุงเทพมหานครเป็นจุดท่องเที่ยวจุดหนึ่ง โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) วัดอรุณราชวราราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระที่นั่งอนันตสมาคม ตึกใบหยก 2 (ตึกระฟ้าสูงอันดับที่ 44 ของโลก[20]) นอกจากนี้แหล่งช้อปปิ้งต่าง ๆ ได้แก่ สยามพารากอน ตลาดนัดจตุจักร มาบุญครอง เซ็นทรัลเวิลด์ สยามสแควร์ ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ เยาวราช และแหล่งร้านอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ ถนนข้าวสาร พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ นอกจากนี้ในกรุงเทพมหานครยังมีพื้นที่สีเขียวมากมาย สำหรับพักผ่อนหย่อนใจรวมทั้งใช้ออกกำลังกายและพบปะสังสรรค์ ซึ่งได้แก่ สวนหลวง ร.9 อุทยานเบญจสิริ สวนลุมพินี สวนจตุจักร เป็นต้น

ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บริเวณถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะมีการจัดแต่งประดับไฟเพื่อเฉลิมฉลองอย่างสวยงาม นอกจากนี้ เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การค้า การลงทุน และการปกครองในทุก ๆ ด้านของประเทศ จึงส่งผลให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีตึกระฟ้ามากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกอีกด้วย

กรุงเทพมหานครได้รับเลือกให้เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในโลกประจำปี 2551 ซึ่งจัดอันดับโดยนิตยสารทราเวลแอนด์เลเชอร์[21]

[แก้] การคมนาคม

เดิมทีกรุงเทพมหานครใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก โดยมีคลองมากจนได้ฉายาว่า เวนิสตะวันออก แต่ปัจจุบันบางแห่งได้มีการถมคลองเพื่อที่อยู่อาศัย การคมนาคมจึงเน้นหนักไปทางบกแทน

กรุงเทพมหานครได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่การจราจรติดขัดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ได้มีการแก้ไขปัญหาการจราจรมากมาย เช่น การสร้างทางด่วน หรือ รถไฟฟ้า ขึ้น

การคมนาคมในกรุงเทพมหานคร นั่นสามารถทำได้หลายทาง เช่น การนั่งรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) แท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง

รถโดยสารประจำทาง จะมีหลายสายเพื่อเป็นการบริการประชาชน ให้บริการในราคาย่อมเยา สำหรับรถโดยสารประจำทางจะเริ่มต้นที่ 7 บาท สำหรับรถพัดลมของขสมก. และ 11 บาทสำหรับรถปรับอากาศ และ 12 บาทสำหรับรถโดยสารปรับอากาศแบบยูโร 2

นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ได้มีการปรับอัตราค่าโดยสารแท๊กซี่ขึ้น โดยอัตราค่าโดยสารที่ใช้กันอยู่ จะคิดรวมกันจาก 2 องค์ประกอบ คือ ค่าโดยสารตามระยะทาง (คิดเป็นจำนวนเต็มคี่ เศษปัดขึ้น) รวมกับค่าโดยสารตามเวลาที่รถจอด หรือเคลี่อนที่ได้ไม่เกิน 6 กม./ช.ม. (คิดเป็นจำนวนเต็มคู่ เศษปัดทิ้ง)

กิโลเมตรที่ ค่าโดยสาร
0-1 35 บาท
1-12 5 บาท/กิโลเมตร
12-20 5.50 บาท/กิโลเมตร
20-40 6 บาท/กิโลเมตร
40-60 6.50 บาท/กิโลเมตร
60-80 7.50 บาท/กิโลเมตร
80 ขึ้นไป 8.50 บาท/กิโลเมตร

และรวมกับค่าโดยสารตามระยะเวลาที่รถจอด หรือเคลื่อนที่ได้ไม่เกิน 6 กม./ช.ม. คิดในอัตรานาทีละ 1.50 บาท (คิดเป็นจำนวนเต็มคู่ เศษปัดทิ้ง)

การจราจรในกรุงเทพมหานคร

[แก้] ทางรถยนต์

กรุงเทพมหานครเป็นจุดเริ่มต้นของถนนหลักของประเทศไทย ได้แก่

[แก้] ทางรถไฟ

การเดินทางด้วยรถไฟสามารถทำได้ โดยมีสถานีรถไฟต้นทางสามแห่งคือ

ในอนาคต การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีแผนที่จะปรับปรุงสถานีรถไฟชุมทางบางซื่อให้เป็นสถานีหลักเพียงแห่งเดียวของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ จะมีการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟทางไกลทั้งสามส่วนเข้าด้วยกันภายใต้โครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดงเข้ม รังสิต-มหาชัย และสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-สุวรรณภูมิ)

รถไฟฟ้าบีทีเอสบริเวณแยกศาลาแดง

[แก้] ทางรถไฟฟ้าบีทีเอส

เมื่อปี พ.ศ. 2542 โครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS - ย่อมาจาก Bangkok Transit System) ได้เปิดใช้งาน ซึ่งเป็นรถไฟระบบรางคู่ที่สร้างบนทางยกระดับ เป็นรางมาตรฐาน 1.435 เมตร

ทางเข้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินห้วยขวาง

[แก้] ทางรถไฟฟ้าใต้ดิน

รถไฟใต้ดินได้เปิดบริการเมื่อปีพ.ศ. 2547 ในชื่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร เป็นรางมาตรฐาน 1.435 เมตร

[แก้] รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เป็นรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อไปยัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นรถไฟระบบรางคู่ที่สร้างบนทางยกระดับ เป็นรางมาตรฐาน 1.435 เมตร โดยวิ่งเป็น 2 ระบบ 1.รถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2.รถไฟฟ้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โดยรถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วิ่งตรงระหว่างสถานีมักกะสัน-อโศก ถึง สถานีสุวรรณภูมิ ภายในเวลา 15 นาที

ส่วน รถไฟฟ้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้บริการผู้โดยสาร วิ่งรับ-ส่งระหว่างทางเริ่มต้นที่สถานีพญาไท และจอดรายทาง 7 สถานี สู่ปลายทางที่สถานีสุวรรณภูมิ ภายในเวลา 28 นาที

[แก้] ทางรถโดยสารประจำทาง (ต่างจังหวัด)

รถโดยสารประจำทางหรือรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สำหรับเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีสถานีหลักอยู่ที่

[แก้] ทางรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ

รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ คือระบบขนส่งมวลชนใหม่ของกรุงเทพมหานคร มีลักษณะคล้ายกับรถประจำทาง แต่การเดินของรถนั้นแยกออกจากถนนปกติ สายที่กำลังก่อสร้างอยู่ในปัจจุบันคือ สายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ระยะทาง 16.5 กิโลเมตร โดยจะสามารถเปิดทดลองวิ่งได้ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ และจะให้บริการฟรีเป็นเวลา 6 เดือน [24]

[แก้] ทางอากาศ

การเดินทางทางอากาศ ในอดีตได้ใช้สนามบินดอนเมือง (ท่าอากาศยานกรุงเทพ) ซึ่งได้เปิดใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 ต่อมาได้มีการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ) ซึ่งได้เปิดใช้มาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 03.00 น

ในปัจจุบัน ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานสำหรับรองรับเที่ยวบินภายในประเทศ และมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสำหรับเที่ยวบินต่างประเทศและเที่ยวบินในประเทศบางส่วน

[แก้] ทางน้ำ

เรือโดยสารทั้งทางแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองมีดังนี้

[แก้] ปัญหาในปัจจุบัน

[แก้] การจราจรติดขัด

ถือเป็นปัญหาหลักของกรุงเทพมหานคร รัฐบาลที่ผ่านมาหลายสมัยมีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ มีโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการทางด่วนยกระดับ การก่อสร้างสะพานและอุโมงค์ข้ามแยก การก่อสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน รวมถึงการตัดถนนเพิ่ม แต่ก็ยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรให้ลดลงได้มากนัก เนื่องจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน (06.00-09.00 น. และ 16:00-19:00 น.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเช้าวันจันทร์และเย็นวันศุกร์

นอกเหนือไปจากสาเหตุขั้นต้นแล้ว การที่ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ขาดสำนึกและวินัยจราจร รวมถึงการไม่เข้มงวดกวดขันให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎจราจร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด การจอดรถหรือหยุดรถในเขตห้ามจอดของทั้งรถส่วนบุคคลและรถสาธารณะ การเปลี่ยนช่องจราจรอย่างกระทันหันซึ่งมักจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดมารยาทและวินัยในการใช้รถใช้ถนน

[แก้] มหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการศึกษาของประเทศ มีสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่

[แก้] มหาวิทยาลัยของรัฐบาลและในกำกับของรัฐบาล

[แก้] มหาวิทยาลัยของเอกชน


นอกจากนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาในต่างจังหวัดที่เข้ามาตั้งศูนย์วิทยบริการและศูนย์การศึกษาในกรุงเทพมหานครอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นต้น

ส่วนข้อมูลโรงเรียนโปรดดูที่ รายชื่อโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร

[แก้] เมืองพี่น้อง

กรุงเทพมหานครได้สถาปนาความสัมพันธ์ เมืองพี่น้อง กับหลายเมืองในหลายประเทศ[25] ได้แก่

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ เป็นคำขวัญในปี 2552
  2. ^ สมุดสถิติรายปีประเทศไทย พ.ศ. 2550 (ฉบับพิเศษ) - สำนักงานสถิติแห่งชาติ
  3. ^ 3.0 3.1 กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/stat/y_stat.html 2553. สืบค้น 30 มีนาคม 2553.
  4. ^ NGA GEOnet Names Server (อังกฤษ)
  5. ^ 5.0 5.1 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 3 ฉบับที่ 31, ธันวาคม 2536
  6. ^ 6.0 6.1 ความเป็นมากรุงเทพฯ โดยกรุงเทพมหานคร
  7. ^ Bangkok Post, "Maori claims world's longest place name", 1 September 2006.
  8. ^ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. กรุงเทพศึกษา. กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม, 2551. 288 หน้า. ISBN 978-974-13-0411-0
  9. ^ รายการวิกสยาม ออกอากาศวันที่ 17 สิงหาคม 2551
  10. ^ รายการ 100 ปี ไกลบ้าน ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง และ รายการพินิจนคร, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
  11. ^ "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔" (in Thai) (๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๔). ราชกิจจานุเบกษา ๘๘ (๑๔๔ ก): ๘๑๖-๘๑๙ 
  12. ^ "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๖๘" (in Thai) (๑๗ มิถุนายน ๒๕๑๕). ราชกิจจานุเบกษา ๘๙ (๙๓ ก ฉบับพิเศษ): ๑๘๗-๒๐๑ 
  13. ^ อุณหภูมิและปริมาณฝนกรุงเทพมหานครค่าเฉลี่ย30ปี
  14. ^ "Chapter 4 Global Climate System"การกระจายเขตภูมิอากาศของโลกแบบเคิปเปน
  15. ^ "กรมอุตุนิยมวิทยา"สถิติภูมิอากาศ อุณหภูมิต่ำสุด
  16. ^ "ลมที่พัดในประเทศไทย"ลมตะเภา
  17. ^ "กรมอุตุนิยมวิทยา"สถิติภูมิอากาศ อุณหภูมิสูงสุด
  18. ^ "กองบัญชาการกองทัพเรือ Royal Thai Navy Headquarters"เวลาดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์ ขึ้น-ตก
  19. ^ "Weather2travel"Bangkok Climate Guide
  20. ^ About.com:Architecture, "World's Tallest Buildings", 2007
  21. ^ 2008 World's Best Cities
  22. ^ เปิดทำการเดินรถ 1 พฤศจิกายน 2550
  23. ^ เปิดทำการเดินรถ 15 พฤศจิกายน 2550
  24. ^ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=24115&catid=27 กทม.เล็งซื้อคืน'บีทีเอส' ตามความต้องการนายกฯ
  25. ^ การสถาปนาความสัมพันธ์ บ้านพี่เมืองน้อง, กรุงเทพมหานคร, เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2550
  26. ^ "Bangkok er ny vennskapsby". Adresseavisen. Retrieved on 29 May 2009.
  27. ^ >Istanbul and Bangkok Become Sister Cities
  28. ^ [1]. Retrieved on 14 November 2009.

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′00″N 100°31′01″E / 13.75°N 100.517°E / 13.75; 100.517


ภาษาอื่น